xs
xsm
sm
md
lg

เมืองไทยในสิบปีหน้า (2)

เผยแพร่:   โดย: ชัยอนันต์ สมุทวณิช

ในแง่นี้ สังคมไทยอีก 10 ปีหน้า ก็ยังคงจะเหมือนกับสังคมไทยเมื่อ 100 ปีมาแล้ว คือเป็นสังคมที่ผมเรียกว่า สังคมทอนกำลัง เทียนวรรณ เคยกล่าวไว้ว่า คนไทยเรานั้นเก่งในทางข่มเหงผู้เป็นลูกไล่อ่อนแอกว่าเท่านั้น สังคมทอนกำลังเป็นสังคมที่คนดี คนเก่ง คนมีความคิดอยู่ได้ยาก เพราะสังคมแบบนี้ไม่ชอบให้คนดี คนเก่ง คนมีความคิดได้รวมตัวกันเป็นปึกแผ่น ใครอยากประกอบกรรมดีก็จะถูกทำลายไปอย่างรวดเร็ว ส่วนคนโฉด คนสุกๆ ดิบๆ ที่ไม่ควรจะได้รับการยกย่องกลับได้มีอำนาจวาสนาในเมืองไทย 100 ปีที่ผ่านมา และอีก 10 ปีหน้า การที่คนสุกๆ ดิบๆ จะคุมอำนาจทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองก็ยังจะมีอยู่ต่อไป แล้วสร้างปัญหาเป็นระยะๆ ให้กับบ้านเมือง

สังคมที่ไม่ได้ผ่านการเป็นอาณานิคมของต่างชาติมา แต่มีการกดขี่ภายใน เอาเปรียบกันเองอย่างสังคมไทย มีผลทำให้การกดขี่นั้นมองเห็นไม่ชัด การรวมกำลังกันเข้าสู้กับความเอาเปรียบนั้นจึงเกิดขึ้นได้ยาก ผมเคยคิดว่าหลัง 14 ตุลา 2516 แล้ว “บ้านเมืองคงดีขึ้น” ในแง่ของการช่วยกันสร้างสรรค์ชาติ แต่เมื่อมี 6 ตุลา 2519 และพฤษภาคม 2535 ผมก็ได้ข้อสรุปว่าสังคมเราเป็นสังคมทอนกำลัง แต่ในระยะเวลา 100 ปีที่ผ่านมา โลกเราแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่ก็ยังถือว่าไม่เร็วมากนัก บ้านเมืองเราจึงสามารถทะเลาะเบาะแว้ง ฆ่ากันเองอยู่ได้เรื่อยๆ โดยที่ไม่มีการพลิกผันดิ่งลงเหวไปเหมือนอย่างชาติอื่น แต่ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งกำลังจะมาถึง โลกได้เปลี่ยนไปอย่างใหญ่หลวง ในแง่ของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและข้อมูลข่าวสาร โลกภายหลังสงครามเย็นแม้จะมีแง่ดี เพราะมีความสงบก็จริงอยู่ แต่ภายใต้ความสงบนั้น ก็มีการแข่งขันทางเศรษฐกิจมากขึ้น และการแข่งขันทางเศรษฐกิจนี้มีความรุนแรง ความถี่และความต่อเนื่องยิ่งกว่าสงคราม ซึ่งนานๆ จะเกิดขึ้นสักครั้ง และเป็นความขัดแย้งทางกำลังอาวุธที่มีความซับซ้อนน้อยกว่าการแข่งขันทางเศรษฐกิจ

โลกที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ได้เปลี่ยนไปในแง่ของเอกภาพทางความคิดอีกด้วย แต่เป็น เอกภาพของความคิดที่เน้นความหลากหลาย ในขณะที่ในยุคก่อนๆ เป็นการแบ่งขั้วทางความคิดซึ่งมีพี่เบิ้มคอยกำหนด อธิบาย และตีความ ประยุกต์ ความคิด-อุดมการณ์นั้น ให้กลุ่มประเทศที่สังกัดขั้วของตน การล้มละลายของพวกคอมมิวนิสต์ทำให้พวกประชาธิปไตยกลายเป็นระเบียบโลกใหม่ แต่มีข้อแตกต่างเชิงคุณภาพที่สำคัญอยู่อย่างหนึ่ง คือ ระเบียบโลกใหม่นี้มีการเกาะกลุ่มของคุณค่าที่ส่งผลสะเทือนต่อประเทศที่ด้อยด้านทุนและเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก

ในสมัยสงครามเย็น สหรัฐอเมริกา ใช้ ประชาธิปไตยเพื่อต่อสู้กับลัทธิคอมมิวนิสต์ในแง่ของการอ้างอิงเท่านั้น แต่มิได้ตั้งใจจริงที่จะเกื้อหนุนการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ปัจจุบันทั้งอเมริกา ยุโรป อังกฤษ และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่ร่ำรวย ได้อาศัยกรอบระเบียบโลกใหม่ในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจ-การเมืองระหว่างประเทศ

ระเบียบโลกใหม่ ซึ่งรวมประชาธิปไตยที่เน้นสิทธิมนุษยชนการกระจายอำนาจ การมีส่วนร่วม การปกครองที่สะอาด-มีประสิทธิภาพ ยังเน้นให้มีการลดกำลังอาวุธและทหาร การรักษาสิ่งแวดล้อม และการส่งเสริมระบบเศรษฐกิจแบบการตลาดที่เสรีอีกด้วย ดังนั้นคุณค่าของระเบียบโลกใหม่นี้จึงบังคับไปในตัวให้เราต้องรู้จักคิด และมีการกระทำในแง่ของการร่วมมือเพื่อจรรโลงส่งเสริมคุณค่าดังกล่าวอย่างขันแข็ง

สรุปได้ว่า ระเบียบโลกใหม่มีข้อเรียกร้องให้เรารับผิดชอบทั้งต่อสังคมภายในและภายนอกมากขึ้น จะอ้างว่าเราอยากอยู่ของเราอย่างนี้ไม่ยุ่งกับใครไม่ได้

ผมเห็นว่านี่เป็นประเด็นหลักที่จะกำหนดทิศทางของบ้านเมืองไทยอีก 10 ปีข้างหน้า หากเป็นเช่นนี้เราก็ควรจะคิดให้กว้างไกลออกไปว่าอีก 10 ปีข้างหน้าโลกจะเป็นอย่างไร ภูมิภาคนี้จะเป็นอย่างไร เราจึงจะคาดคะเนได้ว่าเมืองไทยอีก 10 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร

ผมได้พูดถึงระเบียบโลกใหม่แล้ว คำถามก็คือ ในขณะนี้บ้านเมืองเรากำลังเตรียมตัวที่จะเป็นส่วนหนึ่งของโลกใหม่นี้อย่างไรบ้าง เป็นที่น่าเสียดายว่าผู้นำรุ่นเก่าของเรามีน้อยคนมากที่เข้าใจในพลังของการเปลี่ยนแปลงนี้ การรัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2535 เกิดขึ้นเพราะกรอบความคิดเก่าๆ ความหวาดกลัวแบบเก่าๆ ที่มองเข้าหาตัวและพรรคพวกมากกว่ามองออกนอกตัว ผมเคยพูดถึง พ.ศ. 2534-35 ว่าเป็นรอยต่อของประวัติศาสตร์ในแง่ที่คนรุ่นเก่าจะประคับประคองบ้านเมืองให้เกิดการปรับตัวไปสู่ความเป็นสากล และนำทางการเปลี่ยนทัศนคติ คุณค่าเพื่อรับกับกระแสประชาธิปไตย แต่โมหะคติ โทสะคติ และภยาคติ ของคนแก่ๆ บางคน ผสมผสานกับความคับแคบอย่างไร้เดียงสาของคนบางกลุ่ม หนุนด้วยความโฉดของนักวิชาการและนักกฎหมายเลวทรามอีกไม่กี่คน ทำให้เราต้องเห็นคนไทยฆ่ากันเองอย่างที่ทราบกันอยู่แล้ว

อีก 10 ปีหน้า เมืองไทยก็จะต้องมีการเติบโตทางเศรษฐกิจไปอย่างรวดเร็ว จะต้องเข้าสู่สภาวะของสังคมเมือง และมีระบบการผลิตทางอุตสาหกรรมมากขึ้น ผมเองไม่อยากพูดในรายละเอียดเพราะจะเป็นการคาดการณ์ทางเศรษฐศาสตร์ไป แต่ที่เรายังขบไม่แตกก็คือ ปัญหาที่ติดกับเรามาเป็น 100 ปีแล้ว คือปัญหาของความล่าช้าในการปรับกรอบความคิดใหม่ของกลุ่มคนที่สืบทอดวัฒนธรรมย่อยของรายการมาเป็นเวลานาน ขณะนี้เราเริ่มเห็นการแปรผันของอำนาจทางการเมืองแล้ว แต่อำนาจที่ดูเหมือนว่าจะมีเพิ่มมากขึ้นในสถาบันหลักทางการเมือง อย่างในบทบาทของ ส.ส.ก็ดี พรรคการเมืองและสภาผู้แทนราษฎรก็ดี ล้วนแต่เป็นอำนาจที่มี ความชอบธรรมลดต่ำลง ในระยะยาวทั้งสิ้น

เหตุที่เกิดสภาวะของการกลุ้มรุมแย่งทรัพยากร ในกลุ่มชนชั้นนำขึ้นนี้ ก็เพราะตลอดเวลา 60 กว่าปีที่ผ่านมา เราไม่เคยมีกติกา และธรรมเนียมปฏิบัติ ทางการเมืองที่ศิวิไลซ์เลย ส่วนใหญ่เป็นการแบ่งปันอำนาจและทรัพยากรกันในระหว่างข้าราชการโดยอาศัยนามของราษฎรทั้งสิ้น มาบัดนี้มีกลุ่มใหม่เข้ามาขอส่วนแบ่งด้วยคือ ส.ส. ซึ่งก็อ้างนามของราษฎรอีกเช่นกัน (อ่านต่อวันจันทร์หน้า)
กำลังโหลดความคิดเห็น