xs
xsm
sm
md
lg

"มาร์ค"ขันนอตตำรวจปกป้องเทิดทูนสถาบันฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-"มาร์ค"มอบนโยบายตำรวจ ต้องสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้ประชาชนเชื่อมั่น เชื่อใจ กำชับภารกิจปกป้องเทิดทูนสถาบันฯ รักษากฎหมายโดยเคร่งครัด ไม่ปล่อยให้"เสื้อแดง"เหิมเกริม และให้ช่วยแก้ปัญหาหนี้นอกระบบให้สำเร็จ "เทือก"ยันไม่มีการเมืองแทรกแซงตำรวจ เมินข้อเสนอแยกตำรวจเป็นหน่วยงานอิสระเหมือนอัยการ

เมื่อเวลา 09.00 น. วานนี้ (25 ธ.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) เป็นประธานพิธีมอบนโยบายการปฏิบัติราชการแก่ข้าราชการตำรวจ ณ สโมสรตำรวจ ถนนวิภาวดีรังสิต โดยมี พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ รักษาการ ผบ.ตร. รอต้อนรับ และมีนายตำรวจกว่า 300 นาย มารับฟังนโยบาย

นายอภิสิทธิ์ กล่าวมอบนโยบายว่า ตนขอแสดงความยินดีกับข้าราชการตำรวจตั้งแต่ระดับรองผู้บังคับการขึ้นไป ผู้ที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ ซึ่งแน่นอนว่าจากนี้ต่อไปภารกิจของท่านจะต้องสูงขึ้น ท่านก็ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ข้าราชการตำรวจ และช่วยให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้รับความศรัทธาจากประชาชนด้วย

**ต้องรักษาภาพลักษณ์ให้น่าเชื่อถือ

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตำรวจต้องเป็นหลักของสังคม เพราะตำรวจคือต้นทางของกระบวนการยุติธรรม และบ้านเมืองสังคมของเราจะมีความก้าวหน้าได้ ต้องอยู่บนความสงบสุข ซึ่งข้าราชการตำรวจทุกคนอยู่ในฐานะทำให้ประชาชนรู้สึกว่ามีอำนาจ ให้คุณให้โทษได้ และภาพลักษณ์องค์กรตำรวจผูกพันกับข่าวสาร เวลามีเหตุการณ์ใหญ่ หรือเวลามีตำรวจสัมผัสกับประชาชนโดยตรง ภาพลักษณ์จึงมีส่วนสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่ของท่านทั้งหลาย ดังนั้นเวลาภาพลักษณ์ดีการทำงานก็ง่าย ได้รับความร่วมมือไว้วางใจ ถ้าภาพลักษณ์ไม่ดี ความไม่มั่นใจ ความหวาดระแวงก็จะเกิดขึ้น เพราะทุกองค์กร มีทั้งคนดีและคนไม่ดี เมื่อประชาชนสัมผัสคนไม่ดี ก็จะเหมารวมว่าทั้งองค์กรเป็นเช่นนั้น

**ขันนอต ตร.ปกป้องสถาบันฯ

นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงนโยบายสำคัญที่เป็นการเฉพาะว่า
1. คือเรื่องของการปกป้องเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่ต้องพูดอีกครั้งเพราะว่า 2-3 ปีที่ผ่านมา สถาบันฯได้ถูกดึงเข้ามาสู่วังวนความขัดแย้งทางการเมือง โดยคนบางกลุ่ม ที่จริงเป็นคนกลุ่มน้อย เพราะประชาชนส่วนใหญ่เห็นได้จากบรรยากาศช่วงต้นเดือนธันวาคม ที่รัฐบาลได้จัดงานเฉลิมพระเกิยรติฯ ที่ประชาชนเกือบทั้งหมด ทั้งประเทศ หลอมรวมจิตใจเป็นหนึ่งเดียวในการถวายความจงรักภักดี

"แต่มีคนกลุ่มหนึ่งดึงสถาบันฯ มาสู่วังวนความขัดแย้ง ที่นำเงื่อนไขมาเกี่ยวโยงกับเรื่องคดีความต่างๆ ที่เรื่องนี้เป็นภาระของเจ้าหน้าที่ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้มีความละเอียดอ่อนที่เจ้าหน้าที่ต้องทำงานด้วยความลำบากใจ ดังนั้นเรื่องที่เกี่ยวกับสถาบันฯ ก็ใช้เวลาอยู่นานมาก วนไป วนมา ซึ่งไม่เป็นผลดี เพราะว่าจำนวนคดีที่สะสมคั่งค้างอยู่ ก็ถูกไปเป็นเหยื่อขยายผลของฝ่ายการเมืองที่ต้องการให้ลุกลามไปถึงสถาบันฯ ที่เป็นสถาบันหลักของชาติ ดังนั้นผมยืนยันว่า นโนบายภาพใหญ่ จึงมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมากลั่นกรองคดีเหล่านี้ และผมจะเร่งให้มีการประชุม เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ต่อกรณีที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ ต่อไป"

นายอภิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า การปฏิบัติในเรื่องนี้ ตนคิดว่าดีที่สุดก็คือ ทำอย่างตรงไปตรงมา ดูเจตนา ดูที่มาที่ไปของคดีต่างๆ ด้วยสามัญสำนึก และด้วยความรักความเทิดทูนสถาบันฯของท่าน หลายเรื่องจะมีคำตอบในตัวของมันเอง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เคยมีกระแสพระราชดำรัสในเรื่องนี้โดยตรง ถ้าท่านศึกษาและดูเรื่องเหล่านี้ รวมทั้งได้รับคำแนะนำจากคณะกรรมการฯ การทำงานจะเป็นไปตามเป้าหมายนโยบายของรัฐบาลในด้านนี้ เพื่อให้สถาบันฯ เป็นสถาบันหลักของชาติเพื่อความมั่นคงของประเทศ

2. เรื่องสำคัญที่เกี่ยวกับความมั่นคง คือปัญหาความขัดแย้งต่างๆ เรื่องนี้ตนขอยืนยันว่า รัฐบาลต้องการเห็นการบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาค ตรงไปตรงมา ตนเป็นรัฐบาลในระบบรัฐสภา ไม่พูดหรอกว่า รัฐบาลเป็นกลางในทุกๆเรื่อง เพราะพรรคการเมือง นักการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ในเรื่องนโยบายการแข่งขันทางการเมืองไม่มีใครเป็นกลาง และโดยหลักของประชาธิปไตย ก็เป็นการแข่งขันกัน

"แต่การเป็นกลางทางการเมือง ต้องแยกออกจากการใช้อำนาจในการบริหาร ผมยืนยันว่า ตรงนี้ผมแยกแยะแน่นอน จะให้ผมชอบ เห็นด้วยกับคนที่กลุ่มเคลื่อนทุกกลุ่มไม่ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ผมต้องทำ ก็คือว่าคนที่เห็น หรือไม่เห็นด้วยกับผม คนที่จะชอบหรือไม่ชอบ ผมจะชอบหรือไม่ชอบ การปฏิบัติต้องเสมอภาค" นายอภิสิทธิ์กล่าว

**อย่าปล่อยให้เสื้อแดงเหิมเกริม

นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อไปว่า อยากจะยืนยันว่าหนึ่งปีที่ผ่านมาตนได้พูดกับผบ.ตร. หรือรักษาการแล้วว่า ขอให้การปฏิบัติต้องตรงไปตรงมาไม่เอื้อ และกลั่นแกล้งใคร เวลามีความผิดเห็นชัดเจน ตนบอกว่าไม่ต้องลังเล อย่างที่กลุ่มเสื้อแดงต่อว่า ว่าภายหลังเดือนเม.ย.ทำไมคดีเสร็จเร็ว เพราะมันมีภาพปรากฏชัดเจนต่อสื่อ แต่ตนก็บอกได้ว่า คดีของพันธมิตรฯ ตนก็กำชับว่าอันไหนมีความชัดเจน ก็ต้องเร่งให้เสร็จ เช่น ตนบอกเลยว่าช่วงที่มีการชุมนุมที่ถนนวิภาวดี ที่มีคนยิงปืนเข้าใส่ ตนก็บอกเองว่า ไม่ต้องลังเลต้องเร่งดำเนินการ หาทางจัดการให้ได้

"เพราะฉะนั้นผมเรียนว่า ประเด็นที่จะมีการนำมาใช้ในการปลุกระดมให้เกิดความวุ่นวายทางการเมืองขณะนี้ จะพูดเรื่องสองมาตรฐาน ผมยืนยันว่าไม่ต้องการเห็นการสองมาตรฐาน ท่านทั้งหลายต้องพิสูจน์ว่า ไม่สองมาตรฐาน และผมไม่แทรกแซง และถ้าท่านมีปัญหา มีข้อจำกัด มีเงื่อนไขอะไรเป็นอุปสรรค ขอให้บอกมา ผมจะต้องแก้ไขให้ได้"

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนรู้ว่าการทำหน้าที่ระดับปฏิบัติส่วนหน้า ยากที่สุด แต่เราต้องยึดหลัก 1. หลักการเคารพสิทธิมนุษยชน 2. สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ หรือสิทธิเสรีภาพทางการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องที่พวกเราต้องเคารพ แม้ถืออำนาจรัฐอยู่ ตนขอบคุณตลอดปีที่ผ่านมา ที่มีการชุมนุมเยอะมาก มีมวลชนจำนวนมาก แต่หนึ่งปีที่ผ่านมา ตนคิดว่าการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเรียบร้อย แม้มีการร้องเรียนบ้างก็ตาม

"ขอให้ใช้ความระมัดระวัง เพราะเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนเป็นพิเศษ แต่ไม่ได้หมายความว่า ปล่อยให้เหมือนบ้านเมืองไม่มีกฎหมาย เพราะสิทธิตามรัฐธรรมนูญ หรือสิทธิทางการเมืองไม่ใช่ไม่มีเงื่อนไข เพราะรัฐธรรมนูญ ก็เขียนว่า ต้องชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ เพราะฉะนั้นถ้ามีการชุมนุมแล้วเอาอาวุธเข้ามา นั่นไม่ใช่การชุมนุม ก็เห็นในการชุมนุมบางพื้นที่เอาอาวุธเข้าไป เช่นที่ จ.เชียงใหม่ ก็ขอบคุณที่ทางภาคดำเนินการอย่างจริงจัง ในการรักษาหลักของกฎหมาย"

นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า นอกแหนือจากเรื่องการพกพาอาวุธแล้ว ถ้ามีการเชิญชวนประชาชนให้ทำผิดกฎหมาย นั่นก็ไม่ใช่สิทธิการชุมนุม ไม่ใช่วิถีของนักประชาธิปไตย และถ้าจงใจที่จะปิดกั้นการสัญจรไปมา จงใจทำผิดกฎหมาย จงใจขวางการทำหน้าที่ ก็ไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้อง ซึ่งเรื่องนี้ศาล เคยวินิจฉัยมาแล้วหลายครั้ง

นอกจากนี้ การทำงานต้องเข้มแข็ง เพราะถ้าไม่เข้มแข็งงานของท่านก็จะยากและหนักขึ้นเรื่อยๆ เพราะคนจะคิดว่าทำตัวเหนือกฎหมายได้

นโยบายที่ 3. เรื่องของภาคใต้ ในช่วงปีที่ผ่านมา เรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนของตำรวจลดน้อยลงมาจากก่อนหน้านี้ เพราะว่าปัญหาความรุนแรงยังคงอิงเงื่อนไขว่ารัฐใช้อำนาจเกินขอบเขต และละเมิดสิทธิฯ รวมทั้งเรื่องเก่าๆ ที่เกิดขึ้นยังเป็นที่ฝ่ายที่เคลื่อนไหวออกมาปลุกระดมกับประชาชน ซึ่งนั่นเกินเลยอำนาจตำรวจไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม นายกฯ ชมเชยในการทำคดียิงถล่มที่สัมยิดไอปาแย ว่า ที่ทำมาถือว่าดี ออกหมายจับด้วยความรวดเร็ว เปิดเผยตรงไปตรงมา แต่สิ่งที่ท้าทายคือ จะจับกุมลงโทษได้หรือไม่ เพราะถ้าการทำงานที่คนสงสัยว่าเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่หรือไม่ ถ้าเราหาคนมาลงโทษได้ จะเป็นจุดเปลี่ยนว่า รัฐบาลไทยจริงจังในการให้ความยุติธรรมกับพี่น้องในพื้นที่

4. เรื่องยาเสพติด ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ ตัวเลขแม้จะดีขึ้นมา แต่ประชาชนยังร้องเรียนเข้ามามาก ฉะนั้นจึงเป็นภารกิจที่หวังว่าจะได้ดำเนิเนการอย่างต่อเนื่องเป็นรูปธรรม และตนกำลังดูงบประมาณสนับสนุนเพิ่มเติม ในส่วนที่อุปกรณ์ขาดแคลน โดยจะประสานกับ ปปส. กระทรวงยุติธรรม สำนักงบประมาณ ที่ปรึษาหารือกันอยู่ คาดว่าจะจัดหางบให้ได้ เพราะอุปกรณ์จะช่วยให้เราปฏิบัติตามนโยบายรั้วชายแดนได้มากขึ้นในการสกัดกั้นยาเสพติด

5. ปัญหาสังคม อาชญากรรม เศรษฐกิจ และเรื่องทั่วไป ก็เป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่ที่ประสิทธิภาพและขวัญกำลังใจ ดังนั้น ตนขอให้ช่วยกันทำงานอย่างจริงจัง และถ้ามีปัญหาอุปสรรคอะไรก็รายงานมาได้

**กำชับช่วยแก้หนี้นอกระบบ

นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวถึงนโยบายพิเศษ ที่ตำรวจต้องทำงานอย่างจริงจังคือ การแก้ปัญหนี้นอกระบบ ที่เป็นปัญหาใหญ่ของสังคม มีความพยายามแก้มาตลอดแต่ไม่สำเร็จ ล่าสุดตัวเลขคนมาลงทะเบียน ประมาณ 6-7 แสน ใกล้หนึ่งล้านคนแล้ว ซึ่งเยอะกว่าช่วงแรก ที่ตัวเลขออยู่ที่ 2-3 แสนคน

"ความสำเร็จหรือความล้มเหลวในเรื่องนี้ โยงกับผู้มีอิทธิพลในการปล่อยเงินกู้ ตำรวจอยู่ในฐานะที่ทราบเรื่องนี้ ถ้าทำตามแนวอย่างจริงจัง คือให้ทุกฝ่ายมาร่วมมือกัน เพราะลูกหนี้ต้องการปลดแอกอยู่แล้ว และเจ้าหนี้ ถ้าเข้ามาในระบบ ก็จะได้รับการชำระหนี้และจะต้องหยุดการข่มขู่คุกคามทั้งหลาย ผมจะให้งานนี้เป็นตัวชี้วัดการทำงานของตำรวจ เพราะหลายหน่วยงานทำเรื่องนี้แล้ว และนายตำรวจผู้ใหญ่หลายท่าน เข้ามาอยู่ในคณะกรรมการในเรื่องนี้ด้วย "

นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า นี่ คือนโยบายทั้งหมดที่อยากจะเรียนกับท่านทั้งหลาย แต่มันมีเรื่องที่ต้องช่วยกันคิดทำต่อไปเพื่อให้เราประสบความสำเร็จ ไม่ใช่แค่แง่ภารกิจประจำ แต่จะต้องขับเคลื่อนองค์กรให้ตำรวจมีขวัญกำลังใจ อะไรที่รัฐบาลตอบสนองได้ เช่น ที่อยู่อาศัย งบประมาณ บุคลากร รัฐบาลจะสนับสนุนเต็มที่ แม้มีข้อจำกัด

" แต่สิ่งที่อยากให้เกิดเพื่อเดินหน้า คือความเป็นเอกภาพ และสามัคคีในองค์กร ธรรมดาครับ ที่มีการแข่งขันในองค์กร แต่ว่าการแข่งขัน ถ้าเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ ด้วยผลงานคุณภาพของงาน จะทำให้องค์กรเข้มแข็ง แต่ถ้าแข่งแล้วแตกแยก บั่นทอนระหว่างกันเอง สุดท้ายไม่มีใครในองค์กรมีความสุข ผมจึงอยากเห็นการช่วยกันสร้างค่านิยมของการสามัคคีในองค์กร เพื่อให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างเต็มที่" นายกฯกล่าว

2. องค์กรจะเป็นที่ศรัทธาก็ด้วย ธรรมาภิบาล ความโปร่งใสด้วยความซื่อสัตย์ ไม่แสวงหาผลประโยชน์ให้ตัวเอง และพวกพ้อง การสร้างเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน

3. อยากจะเรียนว่า ตัวองค์กรคงต้องมีการคิดเรื่องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ การกระจายอำนาจ ตนทำหน้าที่ประธาน ก.ต.ช. และรับรายงานของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ในเรื่อง ก.ตร. ก็มีความเป็นห่วงว่า สภาพโครงสร้างขณะนี้ในการรวมศูนย์ ถือว่าตำรวจเป็นองค์กรที่ถือว่าโตมากขึ้น จึงอยากให้ช่วยกันคิด-ผลักดัน แนวทางให้อำนาจโครงสร้าง กระจายลงไปในระดับที่อยู่ใกล้ชิดประชาชน

" ผมอยากให้มีระดมความคิดเพื่อให้เป็นโครงสร้างเอื้อ ต่อการรักษาความสงบให้บ้านเมืองอย่างแท้จริง และให้ผู้ปฏิบัติมีความขวัญกำลังใจด้วย ทั้งหมดเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับนโยบายที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญ และสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล และสอดคล้องกับท่านทั้งหลาย ที่ต้องรับใช้แผ่นดิน หวังว่าความร่วมมือจากนี้ไปจะเป็นการรวบรวมประสิทธิภาพการทำงานของตำรวจได้" นายกรัฐมนตรีกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนจบการมอบโนยบาย นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวอวยพรปีใหม่ บรรดาข้าราชการตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ที่เข้าร่วมในการรับฟังแนวนโยบายในครั้งนี้ รวมทั้งข้าราชการตำรวจทั่วประเทศด้วย

**"เทือก"ยันไม่แทรกแซงตำรวจ

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง กล่าวถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรี กับฝ่ายตำรวจ แสดงความเห็นขัดแย้งกันในวงสัมมนา กระบวนการยุติธรรมเพื่อประชาชน โดยนายกฯระบุผิดหวังกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ไม่ดำเนินการกับคนเสื้อแดง ส่วน พล.ต.ต.วิสุทธิ์ วานิชบุตร รอง ผบช.ภ.9 ก็โวยว่า ตำรวจอึดอัดกับการที่ฝ่ายการเมืองแทรกแซงตำรวจ ว่า ตนกำกับดูแล สตช.ในเชิงปฏิบัติ ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาที่ได้ร่วมทำงานกับตำรวจ ถือว่ามีความก้าวหน้าในการพัฒนาขีดความสามรถ ความร่วมมือ เป็นลำดับ แน่นอนว่ายังมีความสับสนอยู่ในใจบ้าง สำหรับบางกลุ่ม บางหน่วย แต่พี่น้องตำรวจก็เข้าใจดี และเข้าใจตนในการทำงานร่วมกัน คิดว่าค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ

เมื่อถามว่า รอง ผบช.ภ. 9 ถึงกับเสนอจะให้แยกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ออกไปเป็นหน่วยงานอิสระ เหมือนอัยการ นายสุเทพ กล่าวว่า ตนไม่ได้มีความคิดไปไกลขนาดนั้น

ส่วนข้อกล่าวหาว่าฝ่ายการเมืองไปแทรกแซง บีบคั้นจนตำรวจทำงานไม่ได้นั้น นายสุเทพ กล่าวว่า ฝ่ายการเมืองที่สัมผัสโดยตรงกับตำรวจก็มีตนไม่ได้ไปบีบคั้น หรือแทรกแซง ทุกอย่างที่ ตนดำเนินการไป ทำในกรอบของกฎหมาย ในฐานะเป็นประธาน ก.ตร. ถ้ามีอะไรต้องพูดกันก็พูดกันในที่ประชุมก.ตร. และมีบันทึกละเอียดไว้ตลอด

นอกจากนี้ ในการปฏิบัติหน้าที่ราชการ ตนใช้วิธีการสั่งราชการโดยลายลักษณ์อักษรตลอด ถ้ามีใครกล่าวหาตนไปแทรกแซง ตนพร้อมพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้

"ผมกราบเรียนว่าบ้านเมืองวันนี้มันก็วุ่นวายกันมากแล้ว เราก็พยายามเข้าใจกันดีกว่า"

**ไม่มีวิ่งเต้นโยกย้าย

เมื่อถามว่ามีเสียงร้องเรียนว่าการโยกย้ายตำรวจคราวนี้ไม่มีความเป็นธรรม เช่น กรณีพล.ต.ท.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ไม่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น รอง ผบ.ตร. แต่คนที่ไม่เคยทำงานกลับขึ้นเอาๆ นายสุเทพ กล่าวว่า การโยกย้ายแต่งตั้งระดับนายพลทั้งหลายที่เข้าสู่ที่ประชุม ก.ตร. ได้พิจารณากันด้วยเหตุผล ทุกอย่างเป็นไปตามกฎเกณฑ์กติกาด้วยความเหมาะสม

ส่วนการประชุม ก.ตร. พิจารณาโผยตำรวจ ระดับรองผู้บังคับการลงมาที่มีการเลื่อนออกไปก่อนนั้น เนื่องจากช่วงนี้เข้าสู่เทศกาลปีใหม่ ต้องการให้ตำรวจนิ่งสักระยะหนึ่ง เพื่อได้ปฏิบัติหน้าที่ ไม่ต้องอยู่ในภาวะการสับเปลี่ยน ซึ่งจะทำให้เกิดความยุ่งยากในการทำงานดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย และความปลอดภัย ไม่เกี่ยวกับข้อครหาที่ว่า เลื่อนเพราะมีตำรวจเด็กฝากนักการเมืองที่ยังครองตำแหน่งไม่ครบ 2 ปี ตามระเบียบ ซึ่งตนได้สั่งให้บรรจุเรื่องนี้ในที่ประชุม ก.ตร.ในวันที่ 30 ธ.ค. ที่ตนเรียกประชุมเป็นกรณีพิเศษ ที่จะกำหนดชัดเจนว่า จะให้เลื่อนไปกี่วัน
กำลังโหลดความคิดเห็น