xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

อำนาจของสุเทพ เทือกสุบรรณ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
การถูกปฏิเสธจากที่ประชุมพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ได้ทำให้สุเทพ หมดราคาในสายตาแกนนำพรรค ตรงกันข้าม กลับทำให้อำนาจต่อรองของสุเทพมากขึ้น จนหลายคนเชื่อว่า มติกรรมการบริหาร และมติที่ประชุมส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เป็นเพียงละครทางการเมืองฉากหนึ่งของประชาธิปัตย์


ภายหลังที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ มีมติไม่เข้าร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 26 ม.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้การคะแนนของส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 82-48 สร้างความพอใจให้กับกองเชียร์พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แต่สำหรับพรรคร่วมรัฐบาล 5 พรรค กลับหงุดหงิดมากเป็นพิเศษที่สำคัญกว่านั้นก็คือ การตั้งคำถามเกี่ยวกับอำนาจและบารมีของ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ในพรรคประชาธิปัตย์โดยเฉพาะอำนาจในการตัดสินใจของกรรมการบริหารพรรค
กรรมการบริหารพรรคทั้ง 16 คน ของประชาธิปัตย์ ประกอบด้วย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นิพนธ์ พร้อมพันธุ์ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ ชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ เฉลิมชัย ศรีอ่อน กรณ์ จาติกวณิช วิทยา แก้วภราดัย สุเทพ เทือกสุบรรณ ชำนิ ศักดิเศรษฐ ศิริวรรณ ปราศจากศัตรู ธีระ สลักเพชร อัญชลี วานิช เทพบุตร บุรณัชย์ สมุทรักษ์ ชินวรณ์ บุณยเกียรติ สาทิตย์ วงศ์หนองเตย สาธิต ปิตุเตชะ วิรัช ร่มเย็น

แปลไทยเป็นไทยก็คือ สุเทพไม่ได้มีเสียงสนับสนุนในกรรมการบริหารทั้งหมด ตรงกันข้ามหากกลุ่มบัญญัติ บรรทัดฐาน ชวน หลีกภัย และอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ร่วมมือกันสามารถปฏิเสธความต้องการของสุเทพได้ โดยเฉพาะคำถามและความเห็นใจจากปากของ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” แกนนำกลุ่มมัชฌิมา ในพรรคภูมิใจไทย

ความเชื่อถือต่อสุเทพ ในฐานะผู้จัดการรัฐบาลและเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ในการผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อรักษาเก้าอี้รัฐมนตรี และสถานะรัฐบาล...ถูกสั่นคลอนอย่างรุนแรง

มติ ส.ส. 82-48 นั่นแสดงให้เห็นว่า ส.ส.กลุ่มสุเทพ ยังเป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดในพรรคประชาธิปัตย์ อย่างน้อยก็ 48 คน แต่ไม่ใช่กลุ่มที่คุมเสียงข้างมาก เหมือนในพรรคการเมืองอื่นที่สำคัญที่สุดก็คือ การมองเกมการเมืองแบบทะลุปรุโปร่งของคีย์แมนประชาธิปัตย์ทั้ง ชวน และบัญญัติ บ่งบอกถึงความละเมียดในทางการเมืองอย่างน้อย 2 ประเด็น นั่นคือ

1. การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะทำให้ประชาธิปัตย์สูญเสียเก้าอี้ในพื้นที่อีสาน และภาคเหนือ เพราะสถิติตามการเลือกตั้งแบบเขตเดียวเบอร์เดียว ในศึกการเลือกตั้งที่ผ่านมา ทั้งปี 44 และปี 48

2. พรรคร่วมรัฐบาลไม่พร้อมเปลี่ยนขั้วการเมือง เพราะจะนำไปสู่การยุบสภา ซึ่งยังไม่มีใครพร้อมเข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง

ชุมพล ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนายังกล่าวชมประชาธิปัตย์ว่า“ พรรคประชาธิปัตย์ต้องชมเขาอย่างนะ พรรคเขาค่อนข้างเป็นประชาธิปไตยพอสมควร ประชุมพรรคก็โยนให้กรรมการบริหาร ตอนนี้กรรมการบริหารพรรคก็ยก ผมยืนยันไม่มีปัญหาในการร่วมรัฐบาล เพราะ คนละประเด็นกัน”

นั่นหมายความว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่เกี่ยวกับการร่วมรัฐบาล...ขอบเขตความเคลื่อนไหวของพรรคชาติไทยพัฒนา แต่ชุมพลวิเคราะห์เกินเลยไปถึง “กลุ่ม 26 มกราฯ” ที่อาจจะซ้ำรอยกลุ่ม 10 มกราฯในอดีตของประชาธิปัตย์ แม้ว่าก่อนหน้านี้ สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ได้ยื่นหนังสือ ”เขียนด้วยมือลบด้วยเท้า” ต่อว่าประชาธิปัตย์

บรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ตอกย้ำความหมายของการเคลื่อนไหวแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในรายการ “เช้าข่าวข้น คนข่าวเช้า” ทางสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ ทีวี ว่า “การเปลี่ยนขั้ว ไม่มีแน่นอน รับรองครับ คนชื่อนายบรรหารเป็นคนมีสัจจะ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ในสมัยที่ผมเป็นนายกฯ พรรคประชาธิปัตย์ก็เล่นงานผม เล่นถึง ปู่ ย่า ตา ยาย ผมเจ็บใจไม่หาย พอพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาล ก็มาขอผมเข้าร่วมฯ ผมคิดอยู่ 3 วัน 3 คืน จึงตัดสินใจรับปาก พล.ต.สนั่น ในฐานะเลขาธิพรรคประชาธิปัตย์ ไป จากนั้นวันถัดมา พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ มาหาผมที่บ้าน 3 ชั่วโมง ขอสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรี ผมก็บอกว่าไม่ได้ เพราะได้รับปากกับพรรคประชาธิปัตย์ไปแล้ว ให้ผมตายก่อนเถอะ นี่คือนายบรรหาร สัจจะสำคัญที่สุด และเมื่อช่วยให้เป็นรัฐบาลก็ต้องอยู่ให้ตลอดด้วย อย่าล้มตัวเองนะ”

สัจจะที่บรรหารแดกดันผ่านสื่อเพื่อส่งผ่านไปผู้ใหญ่ของประชาธิปัตย์บางคน แต่ไม่ใช่กำนันสุเทพ ทั้งนี้ ต้องยอมรับข้อเท็จจริงจริงว่า มติกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ เป็นมติฉีกหน้าสุเทพ และไม่ให้เกียรติบรรหาร มากทีเดียว นั่นทำให้บรรหารถึงกับเห็นใจในตัวสุเทพ

“นายสุเทพ ก็เหมือน พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ เป็นคนใจดี ใจกว้าง รับฟังเหตุผล แต่คนอื่นในพรรคประชาธิปัตย์ไม่ขอตอบ ทั้งนี้ แม้พรรคประชาธิปัตย์จะมีระบบมติพรรค แต่หากผู้ใหญ่ในพรรคผลักดัน หรือล็อบบี้ ส.ส. ก็คงไม่มีปัญหา ผมอยู่ในการเมืองมานาน รู้ดี”

แปลไทยเป็นไทยก็คือ บรรหารไม่พอใจการตัดสินใจของชวน หลีกภัย และบัญญัติ บรรทัดฐาน พอสมควร

อย่างไรก็ตาม ลีลาทางการเมืองบรรหาร สุดท้ายก็ยังยืนยันว่า เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่เกี่ยวกับการบริหารงานของรัฐบาล และไม่ใช่เรื่องซีเรียส รัฐบาลนี้อาจอยู่ครบเทอมก็ได้

นอกจากนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ไม่เกี่ยวกับการยุบสภา แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเกี่ยวกับ การปรับครม.ครั้งใหญ่ หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ และงบประมาณปี 2554 หรือไม่

แกนนำพรรคร่วมรัฐบาลทุกคนซาบซึ้งดี แม้ว่าขณะนี้งบโครงการไทยเข้มแข็งถูกวางเส้นทางเดินของเงินไว้หมด ไปจนถึงการถือใบฎีกาไปเบิกเงินที่กรมบัญชีกลางก็ตาม
แต่ทุกอย่างยังมีความเสี่ยงอยู่ จนกว่าการจ่ายเงินจะเกิดขึ้นจริง !!
เหมือนกับที่กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ให้เป็นเรื่องของอนาคต” 

  สุเทพ เทือกสุบรรณ ยืนกรานว่า จะทำหน้าที่ในฐานะผู้จัดการรัฐบาลอย่างดีที่สุด ในการประสานความร่วมมือกับพรรคร่วมรัฐบาล
“ผมพยายามขอร้องคนในพรรคประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะนายเทพไท เสนพงศ์ โฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรค ไม่ให้ตอบโต้พรรคร่วมรัฐบาล เพราะต้องร่วมกันทำให้สถานการณ์เบาบางลง”

นั่นทำให้ สุเทพ ถึงกับออกปากปฏิเสธการมีน้องชายชื่อ เทพไท
แต่โดยข้อเท็จจริงแล้ว วัย 61 ปีของอดีตกำนันตำบลท่าสะท้อน ในฐานะส.ส.11 สมัย ถือเป็นนักการเมืองต้นทุนสูงคนหนึ่ง และเป็นคนที่มีความคิดทางการเมืองทันสมัยคนหนึ่ง

การถูกปฏิเสธจากที่ประชุมพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ได้ทำให้สุเทพ หมดราคาในสายตาแกนนำพรรค

ตรงกันข้าม กลับทำให้อำนาจต่อรองของสุเทพมากขึ้น จนหลายคนเชื่อว่า มติกรรมการบริหาร และมติที่ประชุมส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เป็นเพียงละครทางการเมืองฉากหนึ่งของประชาธิปัตย์

ยิ่งเมื่อพิจารณาจาก การแต่งตั้งรองผู้บังคับการ และสารวัตรล่าสุดปรากฏว่า
นครบาลภายใต้การบริหารงานของ พล.ต.ท.สัณฐาน ชยนนท์ ผบช.น. คนสนิทสายสุเทพ กลายเป็นพื้นที่ที่สุเทพคุมการนำได้มากกว่าคนอื่น โดยเฉพาะ สน.ห้วยขวาง เช่น

พ.ต.ท.สุวิชชา จินดาคำ รอง ผกก.จร.สน.บางรัก นายตำรวจติดตามสุเทพ รองนายกฯ เป็นรองผกก.ปป.สน.ห้วยขวาง พ.ต.ท.สุพัชร พึ่งพวง รอง ผกก.ฝอ.บก.จร. นายตำรวจติดตามนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ ขึ้นเป็น ผกก.สน.ห้วยขวาง พ.ต.อ.ภาณุรัตน์ หลักบุญ ผกก.สายตรวจบก.ตปพ. สายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง เป็นรอง ผบก.ตปพ. พ.ต.อ.วิวัฒน์ คำชำนาญ ผกก.6 บก.รน. คนสนิทนายศิริโชค โสภา คนสนิทนายกรัฐมนตรี ข้ามห้วยเป็น ผกก.1 บก.สส.สตม. พ.ต.ท.เบญจพล รอดสวาสดิ์ สว.ตม.จว.สระแก้ว บก.ตม.3 สายนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีและนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี นั่งรอง ผกก.ตม.สระแก้ว

ดังนั้น แม้สุเทพจะพลาดเก้าอี้เก้าอี้ รมว.มหาดไทย ตามความฝันตามการเป็นรัฐมนตรีเงา แต่สุเทพก็สามารถกระชับอำนาจตำรวจ เข้ากับสายสัมพันธ์ทางทหารได้อย่างแนบเนียน โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เสธ.ทบ.(ตท.12) รอง ผบ.ทบ. ว่าที่ ผบ.ทบ. ปลายปี 53
กำลังโหลดความคิดเห็น