ในที่สุด “พรรคประชาธิปัตย์” ของ “นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ก็ตัดสินใจอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดว่า ไม่ขอสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามเกมกดดันของพรรคร่วมรัฐบาลผ่านการข่มขู่ของ “นายสุเทพ เทือกสุบรรณ” ที่ทุ่มหมดหน้าตักหนุนเพื่อการนี้โดยเฉพาะ
เป็นการตัดสินใจที่ต้องบอกว่า เด็ดขาดและชัดเจนชนิดที่ไม่ต้องการคำอธิบายอะไรๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะคำพูดของนายอภิสิทธิ์ในฐานะหัวหน้าพรรคที่ว่า “เราต้องไม่กลัวเรื่องยุบสภาเพราะไม่มีใครข่มขู่ผมได้ เราไม่ต้องกลัวว่าจะไม่ได้กลับมาเป็นรัฐบาลหรือกลัวการปฏิวัติ ผมยอมรับไม่ได้ที่จะเป็นรัฐบาลที่พรรคร่วมคอยกดดัน ข่มขู่ หากเขาขู่ได้ก็จะขู่เรื่อยไป ถ้าเราอยู่กับพรรคร่วมโดยยอมให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ เราต้องมีคำตอบให้สังคม เพราะสังคมจะตีตราเราว่า ประชาธิปัตย์แก้ไขเพราะอยากเป็นรัฐบาลต่อ การที่เราเข้ามาเป็นรัฐบาล 1 ปี ไม่ใช่มาเพื่อหาเงินเตรียมการเลือกตั้ง แต่เรามาเพื่อทำงาน มีคำกล่าวว่า ประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่คบยาก แต่เราก็ไม่เคยหักหลังใคร”
มติของที่ประชุม ส.ส.ประชาธิปัตย์ที่ออกมา 82 ต่อ 48 และงดออกเสียง 2 คนนั้น ต้องบอกว่า เป็นความพ่ายแพ้อีกครั้งของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และเป็นความพ่ายแพ้ชนิดหมดรูปเลยทีเดียว
นายสุเทพจะบากหน้าไปอธิบายให้กับพรรคร่วมรัฐบาลฟังอย่างไร เพราะพรรคร่วมอาจไม่ได้แค่ตราหน้าว่าประชาธิปัตย์คบยากเท่านั้น หากอาจหมายรวมถึงว่านายสุเทพเป็นคนที่คบยากด้วยเช่นกัน เนื่องจากในตอนที่เจรจาต้าอ่วยกันนั้นก็ตกปากรับคำว่าทำได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่พอเอาเข้าจริงกลับเหลวไม่เป็นท่า
อย่างไรก็ตาม ความพ่ายแพ้ในครั้งนี้ได้ก่อให้เกิดคำถามสำคัญว่า ในที่สุดแล้วจะเกิดความแตกแยกภายในพรรคประชาธิปัตย์รุนแรงมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะ 48 เสียงที่ยืนอยู่เขียงข้างกับนายสุเทพนั้น มีความผิดหวังที่รุนแรงกับที่ประชุมของพรรคมากน้อยแค่ไหน แต่อย่างไรก็เชื่อว่านายสุเทพคงไม่โกรธหัวฟัดหัวเหวี่ยงถึงขั้นอพยพโยกย้ายออกจากประชาธิปัตย์ไปซบพรรคภูมิใจไทยหรือพรรคชาติไทยพัฒนาแน่นอน
นอกจากนั้น มติที่ออกมายังถือเป็นเกมวัดพลังภายในประชาธิปัตย์ไปในตัวด้วยว่า กลุ่มก๊วนของใครมีความเข้มแข็งกว่า ซึ่งผลที่ออกมาแสดงให้เห็นว่า พลังของกลุ่มนายชวน หลีกภัยที่ผนึกกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รวมทั้งนายบัญญัติ บรรทัดฐานนั้น มีสูงกว่าฟากนายสุเทพที่เริ่มเสื่อมไปเรื่อยๆ ้น มีความเป็นไ ิทธิ์ เวชชาชีวะ รวมทั้งนายบัญญัติ บรรทัดฐานนั้น มีสูงกว่ากลุ่รรคอื่นหรือไม่ อย่างไร
รงมากน้อยแค่
เพราะถ้าหากจับนายสุเทพมาขึงผืดและลงมือชำแหละทีละขดๆ ถึงพฤติกรรมในช่วงที่ผ่านมา รวมทั้งการเคลื่อนไหวกดดันเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ ได้สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า นายสุเทพไม่ได้ทำเพื่อพรรค หากแต่ทำทุกอย่างเพื่อเอาใจพรรคร่วมรัฐบาลเพียงเพื่อต้องการนั่งอยู่บนเก้าอี้รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงแค่นั้นหรือ โดยเฉพาะการแก้รัฐธรรมนูญที่นายสุเทพก็ย่อมรู้อยู่เต็มอกว่า ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์กับพรรคประชาธิปัตย์เลยแม้แต่น้อย แต่นายสุเทพก็ทำ
มิฉะนั้นแล้ว เมื่อผู้สื่อข่าวถามนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ว่า ในฐานะที่เป็นผู้ใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์และให้คำแนะนำมาตลอดมีอะไร จะแนะนำรัฐบาลหรือไม่ นายชวนคงไม่กล่าวกล่าวติดตลกว่า "มีกำนันที่ใหญ่กว่าผู้ใหญ่น่ะ"
นั่นแสดงว่า นายชวนไม่พอใจบทบาทของนายสุเทพใช่หรือไม่
อย่างไรก็ตาม หากวิเคราะห์หาต้นตอหรือที่มาที่ไปของการก่อกระแสการแก้รัฐธรรมนูญในครั้งนี้นั้น ก็จะพบว่า หัวหอกหลักในการเปิดเกมก็คือ “นายบรรหาร ศิลปอาชา” หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนาตัวจริงเสียงจริงที่ลงทุนออกมาเคลื่อนไหวด้วยตัวเอง จากนั้นก็จัดฉากให้เป็นข่าวใหญ่โตด้วยการนัดกินข้าวการเมืองกับบรรดาพรรคร่วมรัฐบาลที่กระโดดเข้าร่วมเกมนี้กันอย่างขมีขมัน โดยเฉพาะพรรคภูมิใจไทยของ “นายเนวิน ชิดชอบ”
แน่นอน เมื่อนายบรรหารจับมือกับนายเนวิน พร้อมทั้งงัดวิชาการก้นหีบออกมาข่มขู่สารพัด ไม่ว่าจะเป็นการขู่ว่าจะมีการสลับขั้วไปอยู่กับพรรคเพื่อไทย การขู่ว่าจะยกมือหนุนพรรคเพื่อไทยในการลงมติไม่ไว้วางใจนายอภิสิทธิ์ รวมทั้งการข่มขู่เรื่องการยุบสภา ฯลฯ ยิ่งเมื่อแม่นมอมทุกข์อย่างนายสุเทพรับหน้าเสื่อมาเดินเกมกดดันด้วยอีกคนหนึ่ง ก็ยิ่งทำให้สถานการณ์ทางการเมืองร้อนฉ่าขึ้นมาในทันที โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์เองนั้น ดูเหมือนว่าในช่วงแรกจะออกอาการตุปัดตุเป๋อยู่ไม่น้อย จนต้องมีการดึงเกมกันไปมาเพื่อประวิงเวลาในการตัดสินใจเอาไว้ให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ กระทั่งสุดท้ายถึงมีมติไม่ร่วมสังฆกรรมแก้รัฐธรรมนูญในครั้งนี้
อย่างไรก็ตาม มีคำถามๆ หนึ่งที่หลายคนตั้งข้อสงสัยในการเคลื่อนไหวของนายบรรหารในครั้งนี้ว่า แท้ที่จริงแล้วมีเหตุผลแค่เพียงต้องการแก้เขตเลือกตั้งจากปัจจุบันที่เป็นเขตเลือกตั้งใหญ่ แบบเขตใหญ่เรียงเบอร์ มาเป็นเขตเลือกตั้งแบบเขตเดียวเบอร์เดียว เพื่อต้องการสกัดพรรคเพื่อไทยซึ่งได้เปรียบหากมีการเลือกตั้งครั้งใหม่จริงหรือ หรือมีวัตถุประสงค์อื่นใดแอบแฝง
เพราะจากเหตุผลทั้งหลายทั้งปวง โอกาสที่คำขู่ของพรรคร่วมรัฐบาลจะเป็นจริงมีเปอร์เซ็นต์ที่ริบหรี่อย่างยิ่ง ทั้งคำขู่เรื่องการยุบสภาหรือคำขู่เรื่องการสลับขั้วทางการเมืองไปอยู่กับพรรคเพื่อไทย เนื่องจาก ณ ห้วงเวลานี้ยังไม่ถึงเวลาที่ทุกพรรคร่วมรัฐบาลพร้อมจะลงสนามเลือกตั้งครั้งใหม่
เงินงบประมาณต่างๆ ก็ยังใช้ได้ไม่เต็มที่ สถานการณ์ทางการเมืองก็ยังไม่ได้เปรียบ พูดง่ายๆ ก็คือกระสุนดินดำอะไรต่างๆ ก็ยังไม่ได้ตระเตรียมเอาไว้ เพราะถ้าหากพรรคร่วมเอาจริง ทันทีที่ประชาธิปัตย์มีมติออกมา จะต้องถอนตัวจากการร่วมรัฐบาลทันที พร้อมทั้งประกาศอย่างชัดถ้อยชัดคำว่า พวกเราไม่อาจทำงานร่วมกับพรรคที่คบไม่ได้อีกต่อไป
ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้สูงว่า นี่เป็นเพียงแค่เกมของพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายบรรหารที่มีเบื้องหน้าเบื้องหลังไม่ธรรมดา มิฉะนั้นแล้วนายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุลคงจะไม่คร่ำครวญอย่างไร้วุฒิภาวะทางการเมืองเช่นนั้น
ในฐานะมังกรการเมืองที่ผ่านสนามเลือกตั้งมานาน นายบรรหารย่อมรู้ดีกว่า หากมีการยุบสภาและใช้ระบบเลือกตั้งเดิม พรรคชาติไทยพัฒนาอันเป็นสมบัติของตระกูลจะแปรสภาพจากพรรคขนาดกลางเป็นพรรคขนาดเล็ก เพราะไม่มีจุดขายอันใดให้ประชาชน แม้พื้นที่สุพรรณบุรีเองก็ทำท่าจะร่อแร่
เป็นไปได้หรือไม่ว่า นายบรรหารรับ “งาน” จาก “คนที่คุณก็รู้ว่าใคร” มาเคลื่อนไหวเพื่อสั่นสะเทือนเสถียรภาพของรัฐบาล
รวมทั้งเป็นไปได้หรือไม่ว่านายบรรหารต้องการอะไรบางอย่างจากคำขู่ในครั้งนี้ เพราะต้องไม่ลืมว่า ผลพวงจากการเคลื่อนไหวครั้งนี้ ส่งผลทำให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติร่างหลักการแผนยุทธศาสตร์สร้างกีฬาไทยสู่ความเป็นเลิศ(พ.ศ.2553-2559) ด้วยกรอบวงเงินงบประมาณที่สูงถึง 1.9 หมื่นล้านบาท แถมยังได้งบภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งอีก 957 ล้านบาท
ส่วนการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาลต่อไปนั้น แม้ว่าจะสามารถดันทุรังรวบรวมรายชื่อเพื่อขอแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเชื่อว่าสามารถทำได้ เพราะเมื่อนับเสียงของ 5 พรรคร่วมคือภูมิใจไทย เพื่อแผ่นดิน ชาติไทยพัฒนา รวมใจไทยชาติพัฒนาและกิจสังคมแล้ว ยังสูงกว่าเสียงขั้นต่ำ 95 เสียงอยู่หลายเสียง แต่คงทำได้แค่เพียงยื่นเท่านั้น ยกเว้นแต่พรรคเพื่อไทยจะพลิกลิ้นกลับมาสนับสนุน
ดังนั้น จึงต้องจับตามองต่อไปว่า เกมนี้จะเคลื่อนไปอย่างไร และขอภาวนาอย่างเดียวว่า นายบรรหารไม่ได้วางหมากที่ลึกซึ้งกว่าที่ทำอยู่ เพราะนายบรรหารอาจรู้ตั้งแต่แรกแล้วว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่เล่นด้วย และรอจังหวะเวลาเพื่อให้ประชาธิปัตย์มีมติชัดเจน จากนั้นจึงหันไปจับมือกับพรรคเพื่อไทยเพื่อนำรัฐธรรมนูญปี 2540 ทั้งฉบับกลับมาใช้ หรือไม่ก็ฉบับของนพ.เหวง โตจิราการที่จ่อคิวรออยู่ในสภาอยู่แล้ว