ในที่สุด พรรคประชาธิปัตย์ก็เรียกความกล้าหาญจากสมาชิก ลุกขึ้นประกาศตัวพร้อมที่จะแข็งข้อ ไม่ยอมตกอยู่ภายใต้อำนาจอิทธิพลครอบงำจากพรรคร่วมรัฐบาลอีกต่อไป ด้วยการมีมติไม่เอาด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
แม้จะเป็นมติที่ต้องให้สมาชิกทำการโหวตลงคะแนนลับ ด้วยคะแนนเสียง 82 ต่อ 48 ก็ตาม
อานิสงส์ของความกล้าหักในครั้งนี้ ทำให้เกิดกระแสพึงพอใจต่อบทบาทการเป็นแกนนำรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ จากสังคมในฟากที่คัดค้านมาตลอดว่า การแก้ไขรัฐธรรนูญครั้งนี้อยู่บนพื้นฐานการได้ผลประโยชน์ของนักการเมืองเท่านั้น
อาจจะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สถิตประจำพรรคประชาธิปัตย์ หรืออะไรบางอย่างดลใจให้ ส.ส.ส่วนใหญ่ในพรรค กล้าหาญที่จะใช้วิจารณญาณของตนเองยอมทำเพื่อบ้านเมือง โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลัก
เพราะหากจะยอมโอนตามคำกล่อมของ สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรค ที่ไปรับปากฝากฝังจากพรรคร่วมรัฐบาลว่าจะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อมีโอกาส ก็คงจะต้องสูญเสียความเชื่อมั่น และศรัทธาจากสังคมจากที่ไม่ค่อยจะมีให้หมดสิ้นไป
หากมองย้อนกลับไปตลอดปีที่ผ่านมา กระแสความเคลื่อนไหวให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญจากพรรคการเมืองต่างๆ ออกมาขย่มอยู่เป็นระยะ โดยเฉพาะแรงขยับจากกลุ่มก้อนการเมืองที่ร่วมสังฆกรรมกันอยู่ในรัฐบาลด้วยกันเอง
จากการผนึกกำลังกันระหว่างกลุ่มก้อนที่ทรงอิทธิพลในพรรคร่วมรัฐบาล คือ กลุ่มเนวิน ชิดชอบ ในนามพรรคภูมิใจไทยชาติพัฒนา และ จากพรรคชาติไทยพัฒนา ของหลงจู๊ บรรหาร ศิลปอาชา ที่ออกมาเป็นหัวหอกกดดันด้วยตนเองเลยที่เดียว
แต่ก็มีกระแสสังคมต่อต้านตลอดเวลา โดยเฉพาะกลุ่มพันธมิตรเพื่อประชาชนฯ ที่กร้าว ประกาศพร้อมจะออกมาแสดงพลังคัดค้าน ต่อต้านเต็มที่ หากฝ่ายนักการเมืองสุมหัวกันแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นมา
ภาระหนักมาตกอยู่บนบ่าของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่ไม่รู้ว่าจะแก้เกมการเมืองอย่างไร ระหว่างจำต้องยอมให้กับพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อ ผลประโยชน์ร่วมกันในการทนกอดคออยู่ร่วมต่อไปให้นานที่สุด หรือจะเลือกความสงบสุขของบ้านเมือง ที่ยังไม่หลุดพ้นจากวิกฤตการแตกแยกในหมู่ประชาชนอยู่ในขณะนี้
กอปรกับเกมการเมืองจากพรรคฝ่ายค้านที่เตรียมจะเปิดศึกซักฟอกไม่ไว้วางใจรัฐบาลในเร็วๆนี้
เท่ากับสบช่องให้พรรคร่วมรัฐบาลได้ออกมาขย่มเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกรอบ เพราะถือว่า ไพ่เหนือกว่าในเรื่องของเสียงคะแนนโหวตไว้วางใจ หรือไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีที่ถูกเชือด
ก่อนหน้านี้แกนนำพรรคประชาธิปัตย์รับมือกับเกมนี้ด้วยการสงบ สยบความเคลื่อนไหว
จะมีก็แต่สองแกนนำสุดเก๋าทางการเมือง อย่าง ชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรค และ บัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรค หัวหอกแห่งวอร์รูมพรรคประชาธิปัตย์ ที่ออกอาการชัดเจนว่า ไม่เอาด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
เมื่อคิดตรึกตรองดูรอบด้านแล้ว เห็นชัดว่าเกมนี้ถ้าเดินตามหมากของพรรคร่วมด้วยการยินยอมพร้อมใจร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผลที่ตามมาย่อมไม่เป็นบวกต่อพรรคประชาธิปัตย์แน่นอน
เพราะไม่มีใครลืมว่า จุดกำเนิดของประวัติศาสตร์ทางการเมืองที่พึ่งจารึกไว้ไม่นาน กับการออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านของกลุ่มพลังบริสุทธิ์ของประชาชน ในนามกลุ่มพันธมิตรฯ มีต้นตอมาจากการต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั่นเอง
ผิดกับ สุเทพ เทือกสุบรรณ แม่บ้านพรรค ที่มีอาการก้นร้อน เพราะนั่งเฉยมากไปอาจพาให้ตนเอง และบรรดารัฐมนตรีของพรรคต้องกระเด็นจากเก้าอี้ เพราะรัฐบาลแตกคอกันก่อนกำหนด
ยิ่งท่าทีของพรรคร่วมฯ จากการผนึกกำลังกันของสองผู้ยิ่งใหญ่ บรรหาร กับ เนวิน รวมหัวกันขย่มอยู่ทุกวัน ถึงขั้นขู่ว่าจะมีการย้ายขั้วหากไม่ได้แก้ไขรัฐธรรมนูญตามความอยากของตนเอง
ดังนั้น คนอย่าง สุเทพ จึงต้องทำทุกอย่างในพรรคทุกอย่างเพื่อรักษาอำนาจแห่งตนเอาไว้ ยอมถึงขนาดวิ่งล็อบบี้ ส.ส.ในทุกคนให้ยอมคล้อยตามกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาล
แต่งานนี้ไม่ได้หมูเหมือนตอน ดันเด็กในคาถา ชินวรณ์ บุณยเกียรติ ขึ้นนั่งเก้าอี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาฯ
สุเทพ ลงทุนถึงขนาดอาสาเป็นเจ้าภาพพา ส.ส.ไปจัดสัมมนาถึง จ.กระบี่ โดยหวังจะอาศัยบรรยากาศอันสวยงามของท้องทะเลช่วยเห่กล่อมให้ลูกพรรคเคลิ้มตาม
บรรยากาศในที่ประชุมแม้จะไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าไปร่วมเจาะติดข่าว แต่ก็มีเสียงหลุดรอดออกมาเข้าหูอยู่เป็นระยะว่า เหตุการณ์กลับกลายเป็นการเปิดเวทีให้ ส.ส.ได้ซัดกันเต็มที ทั้งเด็กในคาถาของ ชวน กับ บัญญัติ กับ เด็กใน กลุ่มสุเทพ ที่มีเจ้าตัวนั่งคุมอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งพยายามชักแม่น้ำทั้ง5 มาอ้างเพื่อล้างสมองลูกพรรค ว่ากันว่า ทั้งขู่ ทั้งปลอบกันเลยที่เดียว
ยิ่งเมื่อ อภิสิทธิ์ ลุกจากห้องประชุมเพื่อบินกลับไปประกอบภารกิจอื่นๆ เกมในที่ประชุมตกอยู่ในมือของ สุเทพ ตามที่วางแผนเอาไว้ ทำให้ มีความมั่นใจอย่างมากว่า หากมีการโหวตในที่ประชุม ผลที่ออกมาว่าจะเป็นตามที่ต้องการ
กลับกลายเป็นว่างานนี้ สุเทพ เจอ ก้างขวางคออันโต เมื่อ ชวน หันไปขยิบตาให้ วิรัช กัลยาศิริ ส.ส. สงขลา เด็กในคาถา เสนอให้นำเรื่องเข้าที่ประชุม กก.บห.พรรคชี้ขาด พร้อมเสียงถอนใจเฮือกใหญ่
แต่เมื่อคำนวนเสียงจากที่นั่งในกก.บห.แล้ว สุเทพ แอบกระหยิ่มในใจว่างานนี้ หมูตู้ อีกตามเคย
เกมการต่อสู้ระหว่าง กลุ่มชวน และบัญญัติ กับกลุ่มสุเทพ จัดให้อยู่ในชั้นสุดคลาสสิคได้เลยทีเดียว
เบื้องหลังที่ อภิสิทธิ์ประกาศตูมในที่ประชุม กก.บห. ให้โยนเรื่องไปให้ที่ประชุม ส.ส.พรรคโหวตว่าจะแก้ไม่แก้รัฐธรรมนูญ ทั้งที่รู้ดีว่าอาจจะผ่านแพ้ต่อฝั่งของสุเทพ
แต่แม้จะหน้าอ่อนใสเหมือนไร้เดียงสาแต่กระดูกเบอร์ใหญ่เกินกว่าที่คนอย่างสุเทพ จะเคี้ยวได้ง่าย เมื่อถูก อภิสิทธิ์ ตลบหลัง ด้วยการตั้งหัวข้อให้ ส.ส.โหวตลับว่า “แก้ หรือไม่แก้” เท่านั้น เป็นการตัดเกมให้จบลงเร็วไม่ยืดเยื้อต่อไป
ซึ่งเป็นการวัดใจกันในกล่องสี่เหลี่ยมว่าเหล่าบรรดาสมาชิก อยากได้เงิน หรือ กล่อง
สุดท้ายเสียงส่วนใหญ่ยังยอมที่จะเลือกกล่อง เพราะเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้พรรคอยู่รอด
เพราะนาทีนี้ ประชาธิปัตย์ต้องเร่งกอบกู้ศรัทธาของมวลมหาประชาชนกลับคืนมา หลังจากย่อยยับไปกลับปัญหาทุจริตคอรัปชั่นภายในรัฐบาลที่เข้ามารุมทึ้งแทะกระดูกบนซากปรักหักพังของประเทศไทย
ในยามที่การเมืองสวิงไปมาไม่มีอะไรแน่นอน ผลครั้งนี้อาจจะทำให้รัฐบาลเกิดแรงกระเพื่อม ไม่ว่าจะเป็นการยกมือโหวตสวนในศึกซักฟอก หรือเปลี่ยนขั้วไปร่วมกับคู่แข่ง ตามสารพัดคำขู่จากปาก สุเทพ
แต่แกนนำประชาธิปัตย์ ยังพยายามมองในแง่บวกว่า ตราบใดที่พรรคประชาธิปัตย์ยังเป็นแกนนำรัฐบาล และคนเหล่านี้ยังนั่งเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดนี้ นั่นหมายถึง ยังนั่งทับผลประโยชน์และโอกาสที่ควรจะยึดไว้อยู่
โดยเฉพราะงบประมาณปี 54 ที่จ่อคิวเข้าสภาในเร็วๆนี้ ถือเป็นขุมทรัพย์ก้อนใหญ่ที่ยั่วน้ำลาย ดึงพรรคร่วมให้อยากอยู่ต่อไป
ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่พรรคร่วมจะตัดสินใจยอมแตกหัก กับแค่เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นต้นเหตุ
แต่ถ้าที่สุดแล้ว สถานการณ์สวิงเกินกว่าจะควบคุมต่อไปได้ ประชาธิปัตย์ก็ยังถือไพ่เหนือกว่าอยู่ในมือ หากเกมอีกฝ่ายลุกหนักมาก ก็อาจจำต้องทิ้งไพ่ใบสุดท้ายลงบนโต๊ะ
ซึ่งนั่นก็คือ... ยุบสถา จบทุกอย่างไม่ต้องร่วมเป็นรัฐบาลกันอีกต่อไป!
เพราะอย่างน้อยๆ ประชาธิปัตย์ก็ยังมีแรงศรัทธาของสังคมที่มาจากการตัดสินใจไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นทุนรอนในการสู้ศึกเลือกตั้งครั้งหน้า...