xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลพลัดถิ่นกับเขตเดียวเบอร์เดียว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"สมการการเมือง"
โดย...พาณิชย์ ภูมิพระราม

"ผมจะตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นสู้กันครับ" นั่นคำกลยุทธ์การต่อสู้อีกจังหวะหนึ่งของทักษิณ ชินวัตร ที่ปลุกระดมผ่านวีดิโอลิ้งค์ ในระหว่างการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงบริเวณสนามกอล์ฟสอยดาวไฮแลนด์กอล์ฟคลับ อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี เมื่อ 23 มกราคมที่ผ่านมา

ทักษิณ ยังตอกย้ำอีกครั้งในการโพสต์ข้อความลงในทวิตเตอร์ thaksinlive และเขียนตอบผู้มาทวิตถาม โดยตั้งเงื่อนไขว่า “หากมีปฏิวัติเราจะได้รวมตัวกันตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นได้ครับ ตอนนี้ยังตั้งไม่ได้ต้องรอให้มีปฏิวัติจึงจะตั้งครับ”

แต่เชื่อได้ว่า อีกสักระยะหนึ่ง ทักษิณก็เอาสีข้างถูก ยกเมฆเหตุผลต่างๆ ตั้ง “รัฐบาลพลัดถิ่น” จนได้ไม่ว่าจะมีการปฏิวัติ หรือไม่มีการปฏิวัติ

โอกาสที่ทักษิณ จะตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นมีสูงมาก เพะรายุทธศาสตร์ในปัจจุบันกำลังตีบตัน เพราะรัฐบาลพลัดถิ่น จะเป็นแนวทางการเคลื่อนไหว ที่จะชี้ให้ต่างประเทศเห็นว่า อำนาจรัฐของเมืองไทยไม่น่าเชื่อถือ

ทักษิณ ต้องการสร้างเงื่อนไขให้ต่างประเทศ ลดความเชื่อถือต่อรัฐบาลให้ได้ แม้ว่าที่ผ่านมาจะไม่ประสบความสำเร็จมากนัก

ที่สำคัญ หากรัฐบาลพลัดถิ่นของทักษิณ จะอยู่กัมพูชา ก็ไม่เป็นเรื่องผิดปกติ

กระนั้นก็ตาม ผลกระทบในทางตรงกันข้ามกับความคาดหวังของทักษิณ ก็คือ การยืดลมหายใจรัฐบาลประชาธิปัตย์ไปโดยปริยาย

กลุ่มเสื้อแดงเดินเครื่องโจมตี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี อย่างเต็มที่เพื่อให้เกิดเงื่อนไขในการปฏิวัติ

กลายเป็นข้ออ้างให้ ทักษิณตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น

ประชาธิปัตย์วิเคราะห์ยุทธศาสตร์ของกลุ่มคนเสื้อแดงว่า มีการเคลื่อนไหว 3 ระดับ คือ 1.ระดับเล็ก เป็นการขยายเครือข่ายคนเสื้อแดงเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์แดงทั้งแผ่นดิน ใช้โรงเรียนคนเสื้อแดงเป็นสถานที่กำหนดนัดหมายการจัดกิจกรรมเคลื่อนไหว

2.ระดับกลางนั้นจะมีการเคลื่อนไหวแบบดาวกระจายทั้งใน กทม.และต่างจังหวัด โดยใน กทม.จะปิดล้อมสถานที่ราชการสำคัญ เช่น ทำเนียบรัฐบาล องค์กรอิสระ และบ้านบุคคลสำคัญ

3.ระดับใหญ่ โดยจะระดมมวลชนให้ได้ 1 ล้านคนตามที่เคยประกาศไว้เพื่อกดดันรัฐบาล

“ช่วงเวลาอันตรายคือระหว่างวันที่ 19-26 กุมภาพันธ์" นักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์ประเมินไว้เช่นนั้น แต่กระนั้น หลายคนเชื่อ ปมการเมืองที่สำคัญกว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มเสื้อแดง ก็คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะ มาตรา 94

มาตรการ 94 ของรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ระบุว่า “การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้ง มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนผู้สมัครรับเลือกตั้งได้เท่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มีได้ในเขตเลือกตั้งนั้น"

การแบ่งเขตเลือกตั้งตามมาตรา 94 ทำให้คนทั้งจังหวัดสามารถเลือกส.ส.ได้ 3-4 คน ขึ้นอยู่กับจังหวัดเล็ก หรือจังหวัดใหญ่
หรือที่เรียกกันว่า เขตใหญ่เรียงเบอร์

นั่นหมายความว่า การจะเป็นส.ส.ได้ จะต้องหาเสียงทั้งเขตเลือกตั้ง หรือทั้งจังหวัด หากเขตเลือกตั้งนั้นรอบคลุมทั้งจังหวัด

นั่นทำให้ “พรรค”มีนัยสำคัญพอๆกับ บุคคลที่ลงสมัคร

นโยบายของพรรค และกลยุทธ์การเสียง รวมทั้งภาพพจน์ และการทำตลาดการเมือง กลายเป้นสิ่งสำคัญ

แต่นักการเมืองรุ่นเก่าไม่ถนัดเรื่องดังกล่าว เพราะเส้นทางสู่สภาผู้แทนฯ มักอิง “กระสุน”มากกว่า “กระแสพรรคการเมือง”

เขตเดียวเบอร์เดียว จึงกลายเป็นธงนำของครอบครัวนักการเมืองที่ไม่อิงกับพรรค

ที่สำคัญเมื่อนักการเมืองเหล่านี้ เดินเข้าสู่สภาก็ไม่ต้องใส่ใจเรื่องภาพพจน์ของพรรค และพฤติกรรมของส.ส.ในสังกัด เพราะไม่มีผลต่อการเลือกตั้ง

แม้ว่าจะมี “มลทิน” หรือ”มัวหมอง” ก็ไม่สำคัญเท่ากับ “ใครจ่ายเงินให้เงินให้พรรค”

ชาติไทยพัฒนา รวมใจไทยชาติพัฒนา เพื่อแผ่นดิน ภูมิใจไทย กิจสังคม จึงเลือกที่จะปฏิเสธ “กระแส” มาอิงกระสุนมากกว่า

นั่นคือ เหตุผลสำคัญที่ทำให้ “บรรหาร ศิลปอาชา” เดินหน้ากินข้าว จัดดุลกำลังแก้รัฐธรรมนูญด้วยตัวเอง

แม้กระทั่งสุเทพ เทือกสุบรรณ ยังขานรับข้อเสนอของบรรหาร ถึงขนาดขู่ลูกพรรคกลางที่ประชุม ส.ส. กรรมการบริหาร และรัฐมนตรีของพรรคประชาธิปัตย์ โดยประเมินว่า หากไม่แก้รัฐธรรมนูญ อาจจะนำไปสู่การยุบสภา

ตรงกันข้ามกับ ชวน หลีกภัย ที่เห็นว่า การเลือกตั้งแบบเขตเดียวเบอร์เดียว ตามข้อเสนอของบรรหาร นั้น จะทำให้เกิดการซื้อเสียงได้

“ม่านสีม่วง” หนาทึบเกินกำลัง

คำพูดของบัญญัติ บรรทัดฐาน เกี่ยวกับจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ ยิ่งตอกย้ำอนาคตการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แม้ว่าบัญญัติ จะไม่ได้คุมเสียงข้างมากของประชาธิปัตย์

“เรื่องระบบการเลือกตั้ง พรรคได้แสดงจุดยืนมาตลอดว่าระบบเลือกตั้งที่จะเหมาะสำหรับสังคมไทยคือเขตใหญ่ 3 คน เพราะทำให้ประชาชนมีทางเลือกมากขึ้น และคนดีๆ มีโอกาสหลุดเข้ามาได้ ซึ่งพรรคเคยให้ความเห็นต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 50 จนออกมาเป็นตัวบทกฎหมายแล้ว”

ความเคลื่อนไหวที่น่าจับตามองมากที่สุด คือ การคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

แกนนำพันธมิตรฯ ทั้ง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง สมศักดิ์ โกศัยสุข พิภพ ธงไชย สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ และสุริยะใส กตะศิลา ตั้งโต๊ะอ่านแถลงการณ์ฉบับที่ 2/2553 เรื่องคำเตือนก่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

“ตามที่พรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล นำโดยผู้ที่ถูกเพิกถอนสิทธิ์ทางการเมือง เช่น นายบรรหาร ศิลปอาชา นายเนวิน ชิดชอบ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน และนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ร่วมประชุมและพยายามที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ใน 2 ประเด็น 7 มาตรา คือเรื่องระบบเลือกตั้ง และการทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ ที่ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา”

  “พันธมิตรฯ ขอประณามการกระทำดังกล่าวและประกาศจุดยืนที่จะคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้อย่างถึงที่สุด พร้อมเชิญชวนประชาชน 14 ล้านเสียงที่ลงประชามติเห็นชอบในรัฐธรรมนูญ 2550 แสดงจุดยืนและกดดัน ส.ส. ในเขตเลือกตั้ง เพื่อค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ” พล.ต.จำลองประกาศจุดยืนของพันธมิตรฯ

ส่วนพรรคฝ่ายค้าน-เพื่อไทยนั้น ประกาศชัดเจนแล้วว่า ไม่เข้าร่วมการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนั้น 187 เสียงของพรรคเพื่อไทยจึงสามารถตัดจากสมการการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ รัฐบาลมีเสียงทั้งหมด 280 เสียง หากตัดประชาธิปัตย์ 173 เสียงออกไป ก็จะเป็นของพรรคร่วมรัฐบาล 107 เสียง

ปมใหญ่ไม่ได้อยู่ที่จำนวนส.ส.ที่จะเข้าชื่อยื่นญัตติ แต่ปัญหาใหญ่กลับอยู่ที่ “การลงคะแนนเสียง”รับหรือไม่รับ รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไข ซึ่งแม้แต่คะแนนเสียงของรัฐบาลทั้งหมดก็ยังไม่การันตีความสำเร็จ
ต้องอาศัยวุฒิสมาชิกเข้าร่วมด้วย

แต่ 40 ส.ว.ประกาศเสียงดังฟังชัดแล้วว่า ไม่เอาด้วยกับบรรหาร

ดังนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงเกิดขึ้นได้ยาก จนกว่ารัฐบาลจะอยู่ครบ ในขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลกลับไม่ต้อง “โหมดเลือกตั้งครั้งใหม่”

แม้กระทั่งความนิยมของประชาธิปัตย์ก็ยังห่างจากพรรคเพื่อไทยอยู่ 4% ตามผลการสำรวจของ ดร.ถวิลวดี บุรีกุล ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า

ปริศนา “เขตเดียวเบอร์เดียว” เป็นเรื่องอำนาจถ่วงดุลในคณะรัฐมนตรีของพรรคร่วมรัฐบาลมากกว่า ความต้องการแยกวงจากรัฐบาลประชาธิปัตย์
กำลังโหลดความคิดเห็น