xs
xsm
sm
md
lg

พ่อมดราเกซ...กลับไทย ปชป.นั่งตีขิม กลุ่ม 16 สะเทือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ราเกซ สักเสนา
รายงานพิเศษ

ในที่สุดหนึ่งในตำนานแห่งความอัปยศของวงการธนาคารไทยก็เดินทางมาถึงจุดที่หลายคนรอคอย นั่นคือการที่รัฐบาลไทยสามารถนำตัว “นายราเกซ สักเสนา” ผู้ต้องหาคนสำคัญในคดีธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การหรือบีบีซี กลับมาดำเนินคดีในเมืองไทยได้ หลังจากที่เขาหลบหนีไปอยู่ที่ประเทศแคนาดาเป็นเวลานานถึง 13 ปี

นายราเกซถูกจับกุมที่เมืองวิสต์เลอร์ รัฐบริติชโคลัมเบียเมื่อปี 2539 ตามหมายขอให้ส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนของไทย ซึ่งกล่าวหาว่าฉ้อโกงเงินจาก บีบีซี แต่เขาก็ขอต่อสู้ในทางการกฎหมายเรื่อยมาเพื่อให้ได้สิทธิที่จะอยู่ในแคนาดา คดียืดเยื้อยาวนานมาจนกระทั่งคืนวันที่ 29 ตุลาคม 2552 ทุกอย่างก็เป็นที่ยุติ เมื่อศาลสูงสุดของแคนาดาได้ตัดสินไม่รับคำร้องของนายราเกซที่ขอให้กลับคำตัดสินของศาลอุทธรณ์

30 ตุลาคม 2552 นายราเกซเดินทางมาถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิท่ามกลางการคุ้มกันจากเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างเข้มงวด เพราะการกลับมาของเจ้าของสมญานาม “พ่อมดการเงิน” อย่างนายราเกซนั้นได้ส่งผลสั่นสะเทือนต่อผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างไม่อาจคาดถึงผลลัพธ์ ไม่ว่าจะเป็น “กลุ่ม 16” ที่มีตัวละครเอกอย่างนายเนวิน ชิดชอบ นายสุชาติ ตันเจริญ กระทั่งรวมถึงนายไพโรจน์ เปี่ยมพงศ์สานต์ นายวิจิตร สุพินิจ นายบรรหาร ศิลปอาชา ฯลฯ

ทุกคนกำลังลุ้นระทึกว่านายราเกซจะคายข้อมูลลับออกมาหรือเก็บเอาไว้กับตัวจนวันตาย

ลอกคราบมายากล “ราเกซ”

ราเกซเป็นชาวอินเดีย เข้ามาอาศัยทำมาหากินบนผืนแผ่นดินไทยตั้งแต่ 2527

12 ปีให้หลัง เขากลายเป็นคนสำคัญที่ทำให้บีบีซีถึงแก่กาลล่มสลายหลังจากเปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2487 พร้อมส่งผลให้ "นายเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์” กรรมการผู้จัดการ ถูกศาลพิพากษาให้จำนวนรวมทุกคดี 110 ปีและปรับเป็นเงิน 22,000 ล้านบาท

พ่อมดการเงินอย่างนายราเกซทำมาหากินโดยอาศัยช่องว่างที่ระบบการเงินไทยยังขาดความรู้และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกไร้พรมแดนช่วงปี 2535-2536ยุคนั้นกิจกรรมในตลาดทุนคึกคัก ผู้คนในแวดวงการเงินต่างแสวงหาช่องทางธุรกิจใหม่ๆ ที่กำลังจะตามมา อาทิ ธุรกิจเวนเจอร์ แคปิตอล ธุรกิจในตลาดหุ้นนอกตลาด เป็นต้น

ในที่สุดโชคชะตาพาให้เขาไปพบขุมทรัพย์ล้ำค่าจากบีบีซี ซึ่งอยู่ในสภาพสะบักสะบอมจากมรสุมการแข่งขันในระบบสถาบันการเงินไทย ผู้นำก็อ่อนแอเกินกว่าจะสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานสิ่งต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามา บีบีซีแห่งนี้เองที่ทำให้สมการทางธุรกิจของสัมฤทธิผล การควบและผนวกกิจการโดยผีมือของราเกซเฟื่องฟูประดุจโรคระบาดในช่วงปี 2535-2537

เพียง 2 ปี ราเกซสร้างวีรกรรมกับบริษัทถึง 16 บริษัท ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ในจำนวนนี้มีถึง 11 บริษัทที่แบงก์บีบีซีปล่อยกู้ให้กับผู้ซื้อมูลค่าตามตัวเลขที่ปรากฎในงบการเงินปี 2537 สูงถึง 5,000 ล้านบาท

กลวิธีในการทำงานของนายราเกซคือการตั้งบริษัทกระดาษ ทุนจดทะเบียนแค่ 1 หมื่นบาท แต่สามารถขอกู้จากธนาคารได้วงเงินหลักร้อย หลักพันล้านบาท

ขณะเดียวกันนายราเกซยังนำเงินแบงก์บีบีซีไปหารายได้ในรูปแปลก ๆ เช่น มีข่าวปรากฎในหน้าหนังสือพิมพ์ว่า บีบีซีปล่อยกู้ให้กับสาธารณรัฐนาอูรูเพื่อไปก่อสร้างสาธารณูปโภค,ซื้อ BRADY BAND ซึ่งเป็นตราสารที่ออกโดยประเทศที่กำลังพัฒนาในประเทศโลกที่สามเช่นเม็กซิโก, ประเทศในกลุ่มละตินอเมริกา, ฟิลิปปินส์ เพื่อหาเงินมาชำระหนี้รัฐบาลอเมริกา และอีกหลายประเทศตราสารเหล่านี้ให้ผลตอบแทนสูง แต่ก็มีความเสี่ยงสูงมากเช่นกัน

ราเกซยังสวมหมวกเป็นตัวกลางในการจัดจำหน่ายตราสารต่างประเทศ อาทิ จัดจำหน่ายตราสารการเงินของบริษัทในตะวันออกกลาง เช่น NATIONAL IRANIAN STEEL CO.,LTD. ประเทศอิหร่าน มูลค่า 63 ล้านเหรียญ ในรูป PRIVATE PLACEMENT

"นี่คือธุรกิจ ถ้าพูดเรื่องจริยธรรม เราก็ต้องไปเข้าวัดคุยกัน สิ่งที่เราทำคือ เมื่อจะทำดีลแต่ละอันเราจะดูกฎหมาย ดูระเบียบที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีทั้งของตลาดหลักทรัพย์และ ก.ล.ต. ว่า ให้เราทำอะไรในเงื่อนไขใดบ้าง ถ้าจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรเราก็พร้อมจะทำตามนั้น เราปฏิบัติตัวตามกฎ ไม่ได้มานั่งนึกถึงเรื่องจริยธรรม" ราเกซพูดถึงเรื่องจริยธรรมได้อย่างชัดเจน

กลุ่ม 16 ร่วมวงสูบผลประโยชน์

ขณะที่ราเกซกำลังเมามันในการแสวงหาผลประโยชน์จากแบงก์บีบีซีนั้นเอง กลุ่มคนการเมืองกลุ่มหนึ่งก็เล็งเห็นถึงช่องทางในการทำมาหากินและเมื่อทั้งสองฝ่ายมีความต้องการไปในทิศทางเดียวกัน การร่วมวงไพบูลย์ระหว่าง “นายราเกซ” และ “กลุ่ม 16” ก็เกิดขึ้น

กลุ่ม 16 นั้น เป็นกลุ่มการเมืองที่เกิดจากการรวมกันของ ส.ส.รุ่นใหม่ ในปี 2535
โดยส่วนใหญ่เป็น ส.ส.พรรคชาติไทยและ พรรคชาติพัฒนา ก่อตั้งกลุ่มเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน ทั้งนี้ สมาชิกของกลุ่มประกอบด้วย นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ นายเนวิน ชิดชอบ นายสุชาติ ตันเจริญ ว่าที่ร้อยตรีไพโรจน์ สุวรรณฉวี นายจำลอง ครุฑขุนทด นายสนธยา คุณปลื้ม นายวิทยา คุณปลื้ม นายธานี ยี่สาร นายสรอรรถ กลิ่นประทุม นายชูชาติ หาญสวัสดิ์ นายวราเทพ รัตนากร นายอิทธิ ศิริลัทธยากร นายประวัฒน์ อุตตะโมต นายยิ่งยศ อรุณเวสสะเศรษฐ นายทรงศักดิ์ ทองศรี นายบรรจง โฆษิตจิรนันท์ พ.ต.ท.สมชาย เพศประเสริฐ นายเกษม รุ่งธนเกียรติ ส.ส.สุรินทร์ นายอุดมเดช รัตนเสถียร นายเฉลิมชัย อุฬารกุล ร้อยตรีหญิงพนิดา เกษมมงคล

คนกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่ปัจจุบันสังกัดพรรคภูมิใจไทย และพรรคเพื่อไทย

แบงก์บีบีซี ปล่อยกู้ให้นักการเมือง เอาเงินก้อนนี้ไปซื้อกิจการเอาหุ้นบริษัทที่ซื้อมาจำนำกับแบงก์ ถ้าไม่พอก็เอาหลักทรัพย์มาจำนองเพิ่ม จากนั้นเข้าฟื้นฟูกิจการโดย "สร้างมูลค่าเพิ่ม" ให้บริษัท เมื่อกิจการดีขึ้นราคาหุ้นก็เพิ่มขึ้น ก็ขายทิ้ง นำ "กำไร" ส่วนหนึ่งมาชำระหนี้ อีกส่วนหนึ่งเอาเข้ากระเป๋าไป

นักการเมืองกลุ่มนี้หลายคนสวมบทนักลงทุนเข้าไปไล่ซื้อหุ้นเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นหุ้นของบริษัทน้ำมันพืชไทย ชลประทานซีเมนต์ มรกตอินดัสตรีส์ เอิร์ธอินตัสเตรียล ฯลฯ

คิดสะระตะเบ็ดเสร็จแล้ว นักการเมืองกลุ่ม 16 มีธุรกรรมทางการเงินกับบีบีซีในช่วงนั้นพร้อมๆ กันหลายคน โดยคิดเป็นเงินรวมทั้งสิ้นราว 7,833 ล้านบาท

จากการสืบสาวร่องรอยความสัมพันธ์พบข้อมูลที่น่าสนใจยิ่งว่า “นางสุวรรณา หาญวรเกียรติ” ภรรยาของนายราเกซ เป็นญาติของ “พ่อมดดำ-สุชาติ ตันเจริญ”

ดังนั้น การที่สามารถนำนายราเกซกลับมาดำเนินคดีในไทยได้เป็นผลสำเร็จก็อาจทำให้บรรดากลุ่ม 16 ต้องหนาวๆ ร้อนๆ ไปตามๆ กัน เพราะไม่รู้ว่านายราเกซจะปิดปากเงียบรับผิดเพียงคนเดียว หรือทิ้งบอมบ์ครั้งสุดท้ายด้วยการงัดหลักฐานเพื่อนำกลุ่ม 16 มารับโทษตามเขาด้วย

ทั้งนี้ หากยังจำกันได้ คีย์แมนคนสำคัญที่ทำให้เรื่องราวฉ้อฉลใน BBC ขยายวงกว้างออกไปก็คือ “นายสุเทพ เทือกสุบรรณ” รองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ขณะนั้นเป็นฝ่ายค้าน เนื่องจากต้องการเล่นงาน “นายเนวิน ชิดชอบ” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังและรัฐมนตรีคนอื่นๆ ที่สังกัดกลุ่ม 16 ที่ก่อนหน้านั้นรวมหัวกันเล่นงาน “กำนันสุเทพ” จากกรณีสปก.4-01 จนทำให้นายชวน หลีกภัยต้องประกาศยุบสภา

ข้อมูลที่นายสุเทพนำมาอภิปรายในสภาฯ ชี้ให้เห็นว่า นักการเมืองกลุ่ม 16 มีพฤติกรรมผ่องถ่ายเงินออกจาก BBC ร่วมกับนายราเกซและนายเกริกเกียรติ ด้วยการตั้งบริษัทตุ๊กตาหรือบริษัทกระดาษขึ้นมาเพื่อกู้เงินจาก BBC โดยสร้างหลักทรัพย์เทียมคือนำที่ดินรกร้างหรือที่ดินในต่างจังหวัดที่มีราคาถูกๆ มาวางเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันแล้วตีราคาสูงๆ เช่น ราคาที่ดินจริงๆ เพียงแค่ไร่ละ 3 หมื่นบาท ก็ตีราคาเป็น 3 แสนบาทเป็นต้น

นอกจากกลุ่ม 16 แล้วยังมีตัวละครทางการเมืองที่น่าสนใจซึ่งเชื่อมโยงกับนายราเกซอีกหลายคน

คนแรกที่มิอาจไม่กล่าวถึงก็คือ “เดอะเติ้ง-ผู้ยิ่งใหญ่แห่งเมืองสุพรรณบุรี” เพราะถ้ายังไม่ลืมคงจำกันได้ว่า นายราเกซเคยมีคำให้การต่อศาลแคนาดาพาดพิงมายังอดีตนายกรัฐมนตรีผู้นี้ว่า เคยได้รับเงินจากนายราเกซ 250-300 ล้านบาทเพื่อใช้ในการเลือกตั้งของพรรค และเป็นค่าเปิดทางให้นายราเกซได้หลบหนีคดีไปต่างประเทศ

นายสุเทพระบุในคำอภิปรายถึงรายละเอียดของเช็คที่สั่งจ่ายชัดเจน อาทิ เช็คธนาคารแหลมทองเลขที่ 00-500-3760 จำนวน 20 ล้านบาทเป็นต้น แถมยังอภิปรายลึกลงไปด้วยว่า บุตรสาวของเดอะเติ้งโทรศัพท์ไปหานายราเกซถึง 5 ครั้งด้วยกัน

คนที่สองคือ ไพโรจน์ เปี่ยมพงษ์สานต์ แห่งบ้านฉางกรุ๊ปก็ถือเป็นอีกคนหนึ่งที่มีความเกี่ยวโยงกับแบงก์บีบีซีด้วย และปัจจุบันไพโรจน์คือ “มือขวา” ในการทำมาหากินของ “นักโทษชายทักษิณ ชินวัตร” ในต่างประเทศ

แน่นอนว่า การกลับมาของนายราเกซส่งผลดีกลับพรรคประชาธิปัตย์อย่างคาดไม่ถึง เนื่องจากเป็นตัวช่วยสำคัญในการดับความอหังการ์ของบรรดากลุ่ม 16 ที่เวลานี้กำลังบีบคั้นและรุกหนักพรรคประชาธิปัตย์ในแทบจะทุกเรื่อง

ความล้มเหลวของแบงก์ชาติ

คดีบีบีซีและนายราเกซ นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงความฟอนเฟะของนักการเมืองแล้ว ในอีกมิติหนึ่งยังแสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวในการแก้ปัญหาของธนาคารแห่งประเทศไทยหรือแบงก์ชาติด้วย

นับจากปี 2534 ที่แบงก์ชาติเริ่มสังเกตเห็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับแบงก์บีบีซี ก็ได้มีหนังสือรายงานถึงปัญหาที่เริ่มก่อตัวขึ้นถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังว่า มีสินทรัพย์ที่ด้อยคุณภาพอยู่จำนวนหนึ่ง หลังจากนั้นก็ได้มีการดำเนินการมาตรการต่างๆ เพื่อจะจัดการให้สินทรัพย์ที่ด้อยคุณภาพนั้น เป็นสินทรัพย์ที่มีคุณภาพขึ้นมาเป็นลำดับ

ขณะนั้น “วิจิตร สุพินิจ” เป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

ในช่วงปี 2538 แบงก์ชาติได้ประกาศนโยบายการเงินว่าในปี 2538 หนึ่งในมาตรการที่จะเข้มงวด คือการปล่อยสินเชื่อเพื่อการเทคโอเวอร์ของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่า แบงก์บีบีซีคือเป้าหมายของมาตรการนี้ ผนวกกับกฎเหล็กของแบงก์ชาติที่ให้แบงก์พาณิชย์หยุดรับรู้รายได้ทันทีที่ลูกหนี้มีหลักทรัพย์ค้ำประกันไม่คุ้มหนี้และค้างชำระเกินกว่า 6 เดือน วิธีนี้บีบีซีต้องสำรองหนี้สูญเพิ่มขึ้น

กระทั่งในที่สุดแบงก์ชาติได้ตัดสินใจที่เข้าไปร่วมแก้ปัญหาโดยเข้าถือหุ้นและเข้าร่วมบริหาร พร้อมทั้งได้มีการเจรจากับผู้ถือหุ้นใหญ่และกรรมการ ซึ่งในการจำหน่ายหุ้นให้กับทางการในปลายปี 2538 กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงินได้ซื้อหุ้นจำนวน 50 ล้านหุ้น ร่วมกับธนาคารออมสินซึ่งซื้อหุ้น 25 ล้านหุ้น

แบงก์ชาติส่งนายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าไปเป็นกรรมการ นายวิเชียร นิติธรรม จากธนาคารออมสินไปเป็นกรรมการ และพชร อิศรเสนา อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์ขึ้นเป็นประธานบอร์ดบริหารแทน ดร. วีรพงษ์ รามางกูร ที่ลาออกจากการเป็นที่ปรึกษาบีบีซี เนื่องจากไม่สามารถควบคุมให้บีบีซีบริหารงานไปในทิศทางที่ถูกต้องได้

ทว่า แบงก์ชาติที่มี “นายวิจิตร สุพินิจ” เป็นผู้ว่าการก็ไม่สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ จนในที่สุดต้องตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งในเดือนกรกฎาคม 2539

บีบีซีกลายเป็นรอยมลทินที่สำคัญยิ่งของทั้ง “วิจิตร” สุพินิจ” และ “แบงก์ชาติ” เพราะถ้านายวิจิตรทำหน้าที่ด้วยความถูกต้องและเด็ดขาด ชะตากรรมของบีบีซีอาจจะไม่เป็นเยี่ยงนี้

คณะกรรมการศึกษาและเสนอแนะมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารการจัดการระบบการเงินของประเทศ(ศปร.) ที่มี นายนุกูล ประจวบเหมาะ เป็นประธานได้สรุปบทเรียนที่เกิดขึ้นเอาไว้ว่า “เมื่อพิจารณาการดำเนินงานช่วยเหลือธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การของธปท.โดยรวมทั้งโครงการแล้ว คงจะต้องกล่าวว่าปราศจากความโปร่งใสและความเด็ดขาดในการที่จะแก้ไขสถาบันการเงินที่มีปัญหาอย่างจริงจังและรวดเร็วทันกับเวลา มาตรการต่างๆ เอื้อประโยชน์ต่อผู้บริหารเดิมที่สร้างปัญหาแก่กิจการธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การและผู้ถือหุ้นเดิมมาโดยตลอด”

จุดจบบีบีซี : จุดจบราเกซ-เกริกเกียรติ

ในที่สุด ความฟอนเฟะที่เกิดขึ้นกับบีบีซีก็เดินทางมาถึงจุดสุดท้าย

โดมิโนตัวแรกล้มลง การซื้อขายสมประสงค์แลนด์ ที่บีบีซี ร่วมกับบริษัทชลประทานซีเมนต์ หรือ JCC ร่วมกันซื้อ บริษัท ซูเปอร์บล็อค ซึ่งเป็นบริษัทลูกของสมประสงค์ กลับมีอันต้องเลื่อนไปอย่างไม่มีทีท่าว่าจะลงเอยได้ ตามด้วยการหยุดชะงักการซื้อขาย บริษัทอีสเทิร์นไวร์ (EWC) ของ JCC ให้กับ ORIN EXPORT บริษัทในเครือของกองทัพโซเวียตที่ผลิตอาวุธก็ต้องพับไป

แผนล้างหนี้ที่แบงก์ปล่อยไปเพื่อการเทคโอเวอร์ต่าง ๆ จึงมีอันต้องล้มพับไปแถวโดมิโนจึงล้มครืน

รัฐบาลที่มีนายบรรหาร ศิลปอาชาได้สั่งปิดบีบีซีเมื่อเดือนพ.ค.39 ทั้งเกริกเกียรติและราเกซถูกทางการดำเนินคดี ราเกซชิงหนีไปอยู่แคนาดาในวันที่ 18 พฤษภาคม 2539

แต่บรรดานักการเมืองที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสามานย์ไม่มีใครต้องรับผิดแม้แต่คนเดียว.

บีบีซี : แบงก์คึกฤทธิ์ที่พังในมือ “เกริกเกียรติ-ราเกซ”

"บีบีซี เปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2487 แถว ๆ ทรงวาด โดยมีหัวเรือใหญ่คือ ตัน จิน เกง พ่อค้าจีนผู้มีชื่อเสียง ประสบการณ์ธุรกิจครบเครื่องเจ้าของกิจการเดินเรือใหญ่ บริษัทโหงวฮก ได้ชักชวน ตัน ซิ่ว เม้ง หวั่งหลี บุลสุข สหัท มหาคุณลงขันตั้งธนาคารขึ้น พร้อมเชื้อเชิญ "ผู้มีอำนาจ" เข้าร่วมดำเนินงาน ซึ่งในที่สุดก็คือ พล.ต.อ.พระพินิจชนคดี ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลในยุคนั้น เขาเป็นต้นตระกูล "อินทรฑูต" และเป็นพี่เขยของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ทำให้ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์เข้าร่วมเป็นกรรมการพร้อมกับ ม.ร.ว.บุญรับ พินิจชนคดี พี่สาว

ในระหว่างที่ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ กำลังเป็นดาวรุ่งในวงการเมือง ปี 2488 ตัน ซิ่ว เม้งหัวเรือใหญ่แห่งตระกูลหวั่งหลีผู้ถือหุ้นรายใหญ่เสียชีวิตอย่างมีปริศนา

ต่อมาเมื่อสฤษดิ์ ธนะรัชต์ขึ้นครองอำนาจ ตันจินแกง ผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุดของธนาคารตกเป็นเหยื่อของการกวาดล้างคอมมิวนิสต์ขนานใหญ่ เขาถูกจับเข้าคุกในข้อหาคอมมิวนิสต์ ซึ่งในเวลาต่อมาต้องเดินทางออกนอกประเทศ

การประสบเคราะห์กรรมของ 2 ผู้ถือหุ้นใหญ่ของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ ส่งผลให้หุ้นของ 2 ธนาคารมีการเปลี่ยนมือสู่ตระกูลอินทรฑูต

ในขณะที่ก่อนหน้านั้นคนของอินทรฑูต-ปราโมช ก็ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการธนาคาร มาโดยตลอดนับตั้งแต่ พล.ต.อ. พินิจชนคดี ในปี 2492-2513 ติดตามด้วย ภริยา ม.ร.ว. บุญรับ พินิจชนคดี 2513-2524 และ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ตั้งแต่ปี 2524

ส่วนตำแหน่งสำคัญสูงสุดในระดับบริหารคือกรรมการผู้จัดการนั้นแม้จะไม่ใช่คนจากอินทรฑูต-ปราโมชแต่ก็ว่ากันว่า ม.ร.ว. คึกฤทธ์เป็นผู้คัดเลือกมาโดยตลอด นับตั้งแต่กรรมการจัดการคนแรก ยม ตัณฑเศรษฐี ลูกเขยตระกูลล่ำซ่ำ ที่ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ชักชวนมาจากธนาคารซีไทฮง

กรรมการผู้จัดการคนถัดมายิ่งชัดเจนขึ้น เมื่อได้แก่ ม.จ. อาชวดิส ดิสกุล เพื่อนนักเรียนอังกฤษ รุ่นเดียว กับ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ก่อนจะถึงคนสุดท้ายที่ไม่ใช่อินทรฑูต คือ "ธะนิต พิศาลบุตร" ซึ่งจะเป็นกรรมการผู้จัดการคนสุดท้ายที่ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ได้คัดเลือกอย่างแท้จริง

ช่วงที่ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ มีอิทธิพลสูงสุดในบีบีซีสูงสุด น่าจะเริ่มขึ้นในปี 2513 ซึ่งเป็นปีที่เขาเข้าดำรงตำแหน่งรองประธนาคาร ในขณะที่เพื่อนรักของเขาดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ

ในขณะที่ตระกูลอินทรฑูต จริง ๆ นั้นยังไม่มีใครที่มีบทบาทโดดเด่นนัก นอกจากส่ง "อินทรา ชาลีจันทร์" ธิดาของพระพินิจฯ ที่เกิดกับ ม.ล. อรุณ สนิทวงศ์ มาคานอำนาจในตำแหน่งกรรมการ และผู้จัดการทั่วไป ซึ่งเรื่องราวกระทบกระทั่งระหว่างธะนิต และอินทิราก็เกิดขึ้นเสมอ

ก้าวกระโดดอย่างสำคัญของบีบีซี ที่ทำให้ธนาคารเติบโตทางยอดเงินฝากมากเกิดจากนโยบาย "การเมืองนำธุรกิจ" เริ่มจากปี 2518 สมัยที่ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรี ผลคือ บีบีซีเติบโตด้านเงินฝากมากเกินไปกลายเป็นปัญหาเงินล้นแบงก์ โดยที่ปล่อยกู้ไม่ได้เนื่องจากขนาดเงินกองทุนมีจำกัด ธะนิตภายใต้การสนับสนุนของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ จึงเสนอให้มีการเพิ่มทุนธนาคารจาก 200 ล้านบาทเป็น 400 ล้านบาท

ตระกูลอินทรฑูต นำโดยนิธิพัฒน์ ชาลีจันทร์ (สามีของอินทิรา) จึงต้องลุกขึ้นมาต่อต้านธะนิต อย่างรุนแรงการต่อสู้นี้ดำเนินต่อเนื่องอย่างยาวนานนับตั้งแต่ปี 2525 จนกระทั่งปี 2529 หลังความเพียรพยายาม ชี้แจงให้ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ได้เข้าใจ และยอมรับวันที่ 28 มีนาคม 2529 ที่ประชุมผู้ถือหุ้นธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การก็ได้ลงมติปลดธะนิต พิศาลบุตร เพื่อนรักของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ออกจากตำแหน่งโดยธะนิตไม่ได้รับคำบอกกล่าวล่วงหน้าจากเพื่อนรักของเขาเลย

จากนั้นอินทิรา ชาลีจันทร์ ก็ยึดเก้าอี้กรรมการผู้จัดการใหญ่

พร้อมกับวางตัวทายาทคือเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ ลูกชายของอินทิรา ซี่งจบ MBA จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิล อเมริกา ก็เข้ามารับตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการ ด้วยวัยเพียง 39 ปี โดยลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าส่วนวิเคราะห์สถาบันการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย

เกริกเกียรติเข้ามาพร้อมกับชักชวนเพื่อนรัก 2 คนจากแบงก์ชาติมาร่วมงานด้วย คนแรกคือเอกชัย อธิคมนันทะ นักเรียนทุนแบงก์ชาติที่จบปริญญาโท PLUBLIC ADMINISTRATION จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และทำงานที่แบงก์ชาติมาโดยตลอด ตำแหน่งสุดท้ายคือ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ เข้ามาเป็น "ผู้อำนวยการฝ่ายสินเชื่อ"

คนที่สองคือประพาส ประพาสโนบล จบปริญญาโทเศรษฐศาสตร์ จาก AKRON UNIVERSITY สหรัฐอเมริกา ทำงานแบงก์ชาติมาตลอดเช่นกัน ตำแหน่งสุดท้ายคือ "หัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์" มารับหน้าที่ "ผู้อำนวยการสำนักกรรมการผู้จัดการ"

และในที่สุดเกริกเกียรติก็นั่งแท่นกรรมการผู้จัดการใหญ่ของบีบีซี ก่อนที่แบงก์แห่งนี้จะปิดฉากลงอย่างไม่มีวันหวนกลับมา


กำลังโหลดความคิดเห็น