xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

อุ้ม 3 นายพล เมื่อกฎหมู่อยู่เหนือกม. เมื่อ “อำนาจใหม่” เล่นเกมเหนือชีวิตปชช.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หลังจากดัชนีคะแนนนิยมของ “นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” พุ่งปรี๊ดจากการตัดสินใจที่เด็ดเดี่ยวและเด็ดขาดในการเลิกหวยออนไลน์ได้ไม่นานนัก นายกรัฐมนตรีเจ้าของสมญานาม “หล่อหลักลอย” ก็เริ่มออกอาการเป๋ให้เห็นอีกครั้งจากกรณีที่คณะกรรมการข้าราชตำรวจ (ก.ตร.) มีมติสวน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ให้พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ  พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล จากกรณีตำรวจเข่นฆ่าประชาชนในเหตุการณ์ 7 ตุลาเลือด และ พล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์ ภราดรศักดิ์ อดีตผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดอุดรธานี  ที่ปล่อยปะละเลยให้มีการทำร้ายประชาชนที่ จ.อุดรธานี ไม่มีความผิดตามคำชี้มูลของ ป.ป.ช.และให้กลับเข้ารับราชการได้เหมือนเดิม

เพราะจากที่เคยยืนกระต่ายขาเดียวอยู่บนความถูกต้อง นายอภิสิทธิ์เริ่มมีเสียงที่อ่อนลง โดยเฉพาะหลังจากที่เรียก “พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ” รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแหงชาติเข้าพบ และเปิดช่องให้สตช.สามารถยื่นเรื่องไปให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความได้

อาการเป๋ของนายอภิสิทธิ์ปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นผลมาจากแม่นมอมทุกข์ที่ชื่อ “นายสุเทพ เทือกสุบรรณ” รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ที่ทุ่มหมดหน้าตักเพื่อปฏิบัติการอุ้ม 3 นายพลในครั้งนี้

และนี่คือการตอบแทนบุญคุณ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” พี่เอื้อยแห่งกลุ่มอำนาจใหม่ที่ช่วยให้พรรคประชาธิปัตย์ก้าวขึ้นมาเป็นรัฐบาลโดยที่ไม่คำนึงถึงชีวิตของประชาชนที่ล้มตายไปน้อยแม้แต่น้อย

***ก.ตร.ลองดีนายกฯ
หวังใช้กฎหมู่เหนือกฎหมาย


ศึกยกใหม่ระหว่างนายอภิสิทธิ์กับตำรวจเริ่มต้นขึ้นภายหลังที่ “พล.ต.อ.พิชิต ควรเตชะคุปต์” ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ ในฐานะเพื่อนซี้ของ พล.ต.อ.พัชรวาทเปิดปฏิบัติการพิเศษเพื่อนช่วยเพื่อนด้วยการยื่นวาระแทรกในการประชุม ก.ตร.เมื่อวันที่ 30 ธ.ค.52 ที่ผ่านมาเพื่อให้ที่ประชุม ก.ตร.มีความเห็นแย้งมติ ป.ป.ช.ในคดี 3 นายพล
และก็เป็นไปตามความคาดหมาย เพราะที่ประชุม ก.ตร.ที่มีนายสุเทพนั่งโด่เด่อยู่หัวโต๊ะมีมติออกมาตามที่ พล.ต.อ.พิชิตเสนอทุกประการ จากนั้นก็มีมติให้ทำหนังสือถึงนายอภิสิทธิ์เพื่อให้พิจารณารับนายตำรวจทั้ง 3 นายกลับเข้ารับราชการเหมือนเดิม รวมทั้งส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความอำนาจของ ป.ป.ช.ในการชี้มูลความผิดดังกล่าวอีกต่างหาก

ทันทีที่ปรากฏเป็นข่าว นายอภิสิทธิ์ที่เวลานั้นกำลังสวมวิญญาณ 'หล่อหลักแน่น' ก็แสดงความไม่เห็นด้วยกับมติของ ก.ตร. โดยเฉพาะการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพราะเป็นที่ชัดเจนอยู่แล้วว่า มติ ก.ตร.ไม่สามารถไปคัดง้าง ป.ป.ช.ตามที่กฎหมายบัญญัติเอาไว้ จากนั้นก็ทำหนังสือถึงนายสุเทพเพื่อให้ ก.ตร.มีมติทบทวนใหม่

แต่ดูเหมือนว่า ธงที่ปักเอาไว้แล้วของ ก.ตร.และนายสุเทพยังคงหนักแน่นเป็นขุนเขาไม่สนเสียงค้านของนายอภิสิทธิ์ที่อุตส่าห์สาธยายกฎหมายให้เข้าใจ เพราะมติ ก.ตร.ในครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 15 ม.ค.53 ก็ยังคงออกมาเหมือนเดิม

คำถามคือ พวกเขารู้หรือไม่ว่า มติ.ก.ตร.ที่ออกมานั้นไม่สามารถทำได้

คำตอบก็คือ รู้ เพราะเป็นไปไม่ได้ที่ ก.ตร.แต่ละคนจะไม่รู้กฎหมาย เพราะเป็นไปไม่ได้ที่พวกเขาจะไม่รู้ว่า ก.ตร.ไม่สามารถมีมติสวน ป.ป.ช.ได้ เนื่องจาก ก.ตร.ทั้ง 20 ท่านประกอบด้วยนายตำรวจมากประสบการณ์ระดับ พล.ต.อ. พล.ต.ท.และบรรดาผู้รู้จากหลากหลายสาขาอาชีพ ที่เข้าไปนั่งเป็น ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ จะไม่รู้เรื่อง ตัวบท กฎหมาย แน่นอนคงไม่มีใครเชื่อ

ดังนั้น เมื่อ ก.ตร.ประกอบด้วยผู้รู้ คำถามจึงตามมาว่า แล้วทำไม ก.ตร.จึงกล้ามีมติในลักษณะท้าทายตัวบทกฎหมาย ทั้งๆที่รู้อยู่แก่ใจว่า การดันทุรังยืนยันมติเดิม โอกาสที่เพื่อนร่วมเลือดสีกากี ทั้ง 3 นายพล จะหลุดพ้นบ่วงข้อกล่าวหา จากผิด มาเป็น ถูก เป็นไปได้ยากมากๆ

คำตอบเรื่องนี้คือ รู้ แต่พวกเขาไม่สนใจ เพราะ ก.ตร.มีเป้าประสงค์ชัดเจนมาตั้งแต่ต้นแล้วว่า ต้องการช่วยเหลือพรรคพวกเพื่อนฝูงเพียงประการเดียวเท่านั้น

รวมถึงตัวนายสุเทพ ในฐานประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) เองก็ย่อมรู้ว่าทำได้หรือไม่ เพราะนายอภิสิทธิ์เป็นคนแจกแจงให้เข้าใจเสียด้วยซ้ำไปว่า ไม่ถูกไม่ควรที่ตรงไหน เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิฉัยเอาไว้เป็นบรรทัดฐานแล้วในคดีของ “นายวีรพล ดวงสูงเนิน” ในปี 2546 เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ว่า ไม่สามารถทำได้

เรื่องนี้ วงใน ก.ตร.มีการพูดว่า เมื่อโจทก์คือ 3 นายพล ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลว่ามีความผิดอาญาและวินัยร้ายแรง ดังนั้น หนทางเดียวคือ "สู้ดีกว่าไม่สู้"

ภายใต้ทางเลือกที่ 1 หาก ก.ตร.ไม่สู้ ถือว่า 3 นายพลมือเปื้อนเลือดตายสนิท รอวันเผาสถานเดียว

ทางเลือกที่ 2 หาก ก.ตร.สู้ด้วยการยืนยันมติเดิม ส่งเรื่องให้นายกรัฐมนตรี ทำให้ 3 นายพลมีโอกาส 2 ทาง คือ นายกฯไม่เล่นด้วย และนายกฯเล่นด้วย

หากประตูกลด่านแรก นายกฯหลงกล เล่นด้วย ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เขาก็จะมีโอกาสลุ้นประตูกลด่านที่ 2 คือ กรณีศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัย และผลวินิจฉัยออกมาเป็นคุณกับ 3 นายพล นั่นคือ ชัยชนะ เพราะ "คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นเด็ดขาดและมีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ" สุดท้าย สามารถนำไปลบล้างผลชี้มูลของ ป.ป.ช.สร้างบรรทัดฐานให้กับ 'ตำรวจชั่ว' รุ่นต่อๆ ไปได้

แต่หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเป็นโทษกับ 3 นายพล เขาก็ถือว่าไม่แพ้ เพราะผลลัพธ์ยังเท่ากับทุนเดิม คือทางเลือกที่ 1 กรณีไม่สู้

ทางเลือกที่ 3 หาก ก.ตร.สู้และนายกรัฐมนตรีไม่หลงกล ไม่ส่งศาลรัฐธรรมนูญ แต่เลือกที่จะมอบให้ผู้มีอำนาจตามกฎหมาย คือ รักษาการ ผบ.ตร.ส่งกฤษฎีกาตีความ ก็จะสามารถยื้อชีวิต ต่อดวงชะตาให้ 3 นายพล ไปได้อีกระยะหนึ่ง โดยที่ทางเลือกนี้ ก.ตร.ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย เพราะนั่นไม่ใช่ความหวังสูงสุด

ดังนั้น ในประเด็นนี้ จึงมิอาจมองเป็นอย่างอื่นเลยว่า ก.ตร.กำลังร่วมมือกับนายสุเทพท้าทายอำนาจนายอภิสิทธิ์อีกครั้ง ด้วยการยกกฎหมู่ เหนือกฎหมาย ภายหลังทำสำเร็จมาแล้วในการขัดขวางไม่ให้นายอภิสิทธิ์ตั้ง พล.ต.อ.ปทีป เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ ก.ตร.และนายสุเทพกำลังสนุกสนามกับเกมแห่งอำนาจในปฏิบัติการเพื่อนช่วยเพื่อนในครั้งนี้ ก.ตร.และนายสุเทพคงไม่เคยย้อนกลับไปพิจารณาที่มาของเหตุแห่งความผิดที่เกิดขึ้นว่า เป็นเพราะอะไร
เป็นเพราะตำรวจใช้ความรุนแรง ใช้อาวุธทำร้ายประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่เช้ายันดึก จนมีคนตาย บาดเจ็บ พิการ แขนขาขาด ฯลฯ ใช่หรือไม่ และพวกท่านทั้งหลายที่ถูกลงโทษได้ระงับหรือยับยั้งการใช้ความรุนแรงหรือไม่
ก.ตร.ที่มีมติออกมาเช่นนี้ เคยคิดถึงประเด็นความผิดของพรรคพวกเพื่อนฝูงตัวเองหรือไม่ ในที่ประชุม ก.ตร.เคยมีการหยิบประเด็นเหล่านี้มาถกกันบ้างหรือไม่ หรือในการประชุมมีเพียงแค่การสุมหัวกันเพื่อหาแง่มุมทางกฎหมายว่า มีช่องทางไหนที่จะช่วยพรรคพวกเพื่อนฝูงของตนเองเท่านั้น

**ไฉน “มาร์ค” ปวกเปียก
เมื่อ “เทพ” ป้อง “ป๊อด”


จาก ก.ตร.ก็มาถึงตัวละครสำคัญอีก 2 คน คือ นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ
สำหรับนายสุเทพนั้น บทบาทของเขาเกี่ยวกับเรื่องนี้มีความชัดเจนและไม่มีข้อสงสัยว่า เขายืนอยู่ข้าง 3 นายพลและ ก.ตร.มากกว่าประชาชนที่บาดเจ็บและเสียชีวิต

แต่ในกรณีของนายอภิสิทธิ์ เริ่มมีคำถามเข้ามาถึงท่าทีที่เปลี่ยนแปลงไปจนน่าใจหาย

ในช่วงแรก เมื่อนายอภิสิทธิ์รับทราบมติ ก.ตร. และความคิดของนายสุเทพก็ออกมาแสดงจุดยืนด้วยท่าทีที่ขึงขังหลายต่อหลายครั้งว่า มติของ ก.ตร. เป็นมติที่ขัดกฎหมาย และศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยแล้วว่าฝ่ายบริหารไม่สามารถกลับมติของ ป.ป.ช.ได้ ดังนั้น รัฐบาลจะไม่นำเรื่องนี้เข้าสู่การประชุมคณะรัฐมนตรีและส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความแน่นอน

นอกจากนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ชี้ว่า ครม.ไม่มีอำนาจที่จะส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพราะการที่จะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้องค์กรตามรัฐธรรมนูญต้องขัดแย้งกัน แต่ ก.ตร.ไม่ใช่องค์กรตามรัฐธรรมนูญ แม้ ครม.จะเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ได้มีอำนาจเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว เรื่องนี้เป็นอำนาจขอ ง ก.ตร. กับ ป.ป.ช.

แต่ที่น่าแปลกใจคือ หลังจากนั้นเพียงแค่ 1 วันท่าทีของนายอภิสิทธิ์ที่กลับไปกลับมาจนหลายคนมองว่า เป็นการตี 2 หน้าเพื่อรักษาสมดุลในเก้าอี้นายกรัฐมนตรีเท่านั้น โดยเฉพาะท่าทีของนายอภิสิทธิ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 18 ม.ค.ที่ผ่านมา เมื่อได้มีการเรียก พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ รักษาราชการแทนผบ.ตร.เข้าพบ และข่าวก็กลับ กลายเป็นว่า จะมีการนำเรื่องนี้ส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ

คำถามคือ เกิดอะไรขึ้นกับท่าทีที่เปลี่ยนไป

จากการประมวลสถานการณ์อย่างรอบด้าน ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ท่าทีของนายอภิสิทธิ์เปลี่ยนไปน่าจะเกิดจาก 2 เหตุผล โดยเหตุผลแรกเกิดจากนายสุเทพที่กดดันนายอภิสิทธิ์เพราะต้องไม่ลืมว่าจำเลยคนสำคัญของคดีนี้คือ “พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ” ซึ่งเป็นน้องชายของ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พี่เอื้อยแห่งกลุ่มอำนาจใหม่ จิ๊กซอว์คนสำคัญทางฝ่ายทหารที่ช่วยกัน “อุ้ม” นายอภิสิทธิ์ให้เป็นนายกรัฐมนตรี

ดังนั้น นายอภิสิทธิ์จึงจำต้องออกอาการ “หลักลอย” บ้างเพื่อตอบแทนบุญคุณที่ พล.อ.ประวิตรและนายสุเทพช่วยให้ตนเองเป็นนายกรัฐมนตรี

ขณะที่บทบาทของนายสุเทพที่ออกมาเล่นละครบทนี้ก็คงไม่มีอะไรมากนอกจากต้องการ “ซื้อใจ” ตำรวจ และทำหน้าที่ผู้จัดการรัฐบาลเพื่อรักษาสายสัมพันธ์อันดีกับ พล.อ.ประวิตรเท่านั้น เช่นเดียวกับ พล.ต.อ.ปทีปที่ต้องเล่นไปตามบทเพื่อกลบกระแสความไม่พอใจที่มีการปล่อยข่าวออกมาว่า ตำรวจไม่พอใจกับเรื่องนี้

อย่างไรก็ตาม ในห้วงหลังๆ เริ่มมีการตั้งข้อสังเกตเข้ามาว่า นี่อาจจะเป็นการเล่นละครที่ทั้งนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพรู้เห็นเป็นใจกัน โดยแต่ละคนต่างรับบทพระเอกของแต่ละฝ่าย กล่าวคือ ให้นายสุเทพรับบทพระเอกเพื่อซื้อใจบรรดาตำรวจและพล.อ.ประวิตร ส่วนนายอภิสิทธิ์รับบทพระเอกในดวงใจของประชาชนที่ยึดมั่นในหลักการของความถูกต้อง โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อลอยตัวอยู่เหนือปัญหา และความมั่นคงของรัฐบาลอภิสิทธิ์ ในภาวะที่มรสุมรุมเร้า ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นจริงๆ บอกได้คำเดียวว่า นี่คือ 'ปาหี่' ที่น่าอเนจอนาถใจเหลือเกิน
กำลังโหลดความคิดเห็น