xs
xsm
sm
md
lg

เมินนำมติอุ้มฆาตกรเข้าครม. อภิสิทธิ์ หัก สุเทพ ลั่นเป็นอำนาจนายกฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - "นายกฯ" เรียก "ปทีป" ถก ก.ตร.อุ้ม 3 นายพลฆาตกร ลั่นไม่นำเข้า ครม. ขอมติส่งศาล รธน.ตีความ เพราะเป็นอำนาจของนายกฯ-รรท.ผบ.ตร. เผย "ปทีป" เตรียมส่งให้กฤษฎีกา ย้ำยึดหลัก กม. รักษาระบบบ้านเมือง ด้าน ป.ป.ช.นำเรื่องเข้าที่ประชุมวันนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 08.00 น. วานนี้ (18 ม.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้เรียก พล.ต.อ. ปทีป ตันประเสริฐ รักษาราชการแทน ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รรท.ผบ.ตร.) เข้าพบที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เพื่อหารือหลังคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ยืนยันมติให้ พล.ต.อ.พัชรวาท วงศ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบช.ภ.4 และ พล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์ ภราดรศักดิ์ อดีต ผบก.ภ.จว.อุดรธานี กลับเข้ารับราชการ ซึ่งขัดแย้งกับมติ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ให้ไล่ทั้ง 3 ออกจากราชการ ฐานประพฤติผิดต่อหน้าที่อย่างร้ายแรง ในการสั่งใช้กำลังลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551และ กรณี ปล่อยให้กลุ่มคนเสื้อแดงทำรายกลุ่มพันธมิตรฯ ในการชุมนุมที่ จ.อุดรธานี โดยใช้เวลาหารือประมาณ 40 นาที

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เชิญ พล.ต.อ.ปทีปมาสอบถามมติ ก.ตร.ว่าตกลงสิ่งที่ ก.ตร.ทำจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งพล.ต.อ.ปทีปบอกว่า ก.ตร.ต้องส่งมติดังกล่าวไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เมื่อเรื่องไปถึง สตช.แล้วก็เป็นหน้าที่ของผู้มีอำนาจ ในการออกคำสั่ง ซึ่งหมายถึงตัว รรท.ผบ.ตร. ส่วนกรณีของ พล.ต.อ.พัชรวาทนั้น เป็นหน้าที่ของตนในฐานะนายกรัฐมนตรี แต่ รรท.ผบ.ตร.เห็นว่ายังมีปัญหาเรื่อง ข้อกฎหมายอยู่ ดังนั้นจะต้องไปหาข้อยุติเสียก่อน ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าทาง รรท.ผบ.ตร. จะส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา แต่ในส่วนของตนคงไม่ต้อง เพราะเข้าใจว่าเรื่องทั้งหมดอยู่ที่ สตช. ยังไม่มาถึงตน รักษาการ ผบ.ตร.เห็นว่ามีปัญหาทางด้านข้อกฎหมาย ดังนั้น ต้องไปแก้ปัญหาตรงจุดนี้ก่อน โดยจะยังไม่มีการรับ 3 นายพลตำรวจกลับเข้ารับราชกา

**มาร์ค ขึงขังตีกลับมติ ก.ตร.

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในส่วนของนายกรัฐมนตรีตัดสินใจอย่างไร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ขณะนี้เรื่องยังไม่มาถึงตน ยังอยู่ที่ สตช. วันนี้ก็ยังไม่รู้ว่าเรื่องจะมาถึงหรือเปล่า ถ้าเกิดมีข้อยุติว่าเป็นมติที่ใช้ไม่ได้ เรื่องก็ต้องกลับไปที่ก.ตร.

ส่วนที่ รรท.ผบ.ตร.ต้องส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความอีกรอบ แทนที่จะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเลยนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เพราะไม่มีอำนาจส่งศาลรัฐธรรมนูญ
ผู้สื่อข่าวถามว่าเหตุใดถึงไม่นำเรื่องเข้าที่ประชุมครม. แล้วขอมติส่งเรื่องให้ ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ครม. ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ขณะนี้เป็นอำนาจของรรท.ผบ.ตร. และผมในฐานะนายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่ได้มีข้อสงสัยในเรื่องข้อกฎหมาย

ส่วนที่ก่อนหน้านี้นายกฯ ได้แจ้งความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาไปยัง ก.ตร. แล้ว ทำไมจึงยังมีความเห็นแย้งอีก จนต้องส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกา ตีความอีกครั้ง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ก.ตร.เห็นว่า เป็นเพียงความเห็นของ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาเท่านั้น ไม่ใช่คณะกรรมการกฤษฎีกา ส่วนจะต้องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาคณะไหนเป็นผู้พิจารณานั้น ตนไม่ทราบ ต้องถาม รรท.ผบ.ตร. เพราะในส่วนของก.ตร.ขณะนี้ไม่ได้เสนอให้มีการตีความ

ผู้สื่อข่าวถามว่าดูเหมือนนายกรัฐมนตรีจะมีความเห็นจะไม่ค่อยลงรอยกับทางตำรวจ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เรื่องที่เกิดขึ้น เป็นความเห็นทางขอกฎหมาย ของทางก.ตร. ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวอะไรกัน ตนไม่ได้มีปัญหาว่าเขามีความเห็นถูกต้อง หรือไม่ถูกต้องในข้อเท็จจริง แต่ตนบอกว่าเราก็ต้องปฏิบัติตามหลักกฎหมาย และรักษาหลักและระบบของบ้านเมือง

ผู้สื่อข่าวถามว่าการยึดถือหลักการและระบบ อาจจะทำให้ทางตำรวจบางส่วน ไม่พอใจตัวท่าน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่ทราบว่าใครจะพอใจหรือไม่พอใจ แต่ไม่ใช่เรื่องของความรู้สึก เป็นเรื่องของการทำหน้าที่ ตนเข้าใจว่าตำรวจด้วยกันเอง มีความรู้สึกอาจจะไม่พอใจคำวินิจฉัยต่างๆ แต่ตนมีหน้าที่ต้องรักษาระบบที่ถูกต้อง

**สุเทพ แถ! ให้นายกฯ นำเข้าครม.


ขณะที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ด้านความมั่นคง ในฐานะประธาน ก.ตร. กล่าวว่า เมื่อ ก.ตร.ยืนยันมติให้ 3 ตำรวจกลับเข้ารับราชการอีกครั้ง ตนก็คงจะนำมติดังกล่าว ให้นายกฯ เพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุม ครม.อีกครั้ง ถ้า ครม. มีความเห็นเช่นเดียวกับ ก.ตร.ก็อาจจะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ แต่ถ้ามีความเห็นแย้งกับ ก.ตร.ทุกอย่างก็จบแค่นั้น ถือว่าสุดทางของอำนาจ ฝ่ายบริหารแล้ว ส่วนก.ตร.ซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารของรัฐบาลถึงเวลานั้นก็ต้องปฏิบัติตามที่รัฐบาลสั่งเรื่องนี้อย่ากังวลใจว่าเป็นเรื่องใหญ่โตอะไร มันเป็นแค่ความเห็นทางกฎหมาย ที่ไม่เหมือนกันเท่านั้น ซึ่งก็พยายามจะหาข้อยุติ เมื่อนายกฯสั่งการเป็นอย่างหนึ่ง อย่างใดแล้ว ก.ตร.ก็จะต้องปฏิบัติตามนั้น

นายสุเทพ กล่าวว่าเรื่องนี้ไม่ใช่การทำผิดหน้าที่ของ ป.ป.ช. แต่เป็นความเห็น ของ ก.ตร.ที่ว่า ความผิดวินัยนั้นไม่น่าจะอยู่ในฐานความผิดที่กำหนดไว้ในกฎหมาย ป.ป.ช. ซึ่งเป็นความเห็นทางกฎหมายที่เห็นต่างกัน

ผู้สื่อข่าวถามว่า ป.ป.ช.มีหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการทุจริต แต่ทำไม เอาเรื่องวินัยมาพิจารณา นายสุเทพ กล่าวว่า ก็นั่นไหง มันจึงทำให้ก.ตร.ส่วนหนึ่งคิดว่า ไม่น่าจะใช่ แต่ขณะที่ในซีก ป.ป.ช.เขาถือว่าความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ทุกฐานความผิด เป็นอำนาจที่ป.ป.ช.จะสามารถพิจารณาได้ อย่างไรก็ตามในฐานะฝ่ายบริหารก็ดำเนินไปให้สุดทาง ส่วนผู้เสียหายจะดำเนินการอย่างไรต่อไปก็เป็นสิทธิ

ส่วนที่นายกรัฐมนตรี มีความเห็นเชิงตำหนิ ก.ตร.จะทำให้มีปัญหากลายเป็น ความขัดแย้งกับ ก.ตร.หรือไม่นั้น นายสุเทพ กล่าวว่า ตนไม่คิดว่า นายกฯจะตำหนิ ก.ตร. ตรงไหน นายกฯเพียงแต่แสดงความเห็นว่าตอนเป็นฝ่ายค้าน เคยร่างและพิจารณากฎหมายนี้ ซึ่งในจุดยืนของนายกฯเห็นว่า เป็นหน้าที่ของรัฐบาล ที่จะต้องดูแลรักษาระบบให้มีการถ่วงดุล ต้องดูแลองค์กรอิสระทั้งหลายและนายกฯ ก็เห็นว่า คนที่จะตัดสินว่า ป.ป.ช.ผิดหรือถูกก็ต้องเป็นองค์กรอิสระด้วยกัน ซึ่งนี่เป็น ดุลพินิจของนายกฯ และดุลพินิจนายกฯก็ต้องสูงกว่า ก.ตร.อยู่แล้ว ก.ตร.ไม่สามารถ ไปขัดแย้งกับนายกฯได้

ผู้สื่อข่าวถามว่าเมื่อเป็นอย่างนี้ ทาง ก.ตร.จะให้ความเป็นธรรมกับ 3 ตำรวจ ได้อย่างไร นายสุเทพ กล่าวว่า ขณะนี้ถือว่า ก.ตร.ได้ทำหน้าที่ของตัวเองสมบูรณ์แล้ว ก.ตร.ต้องการให้ความเป็นธรรมกับตำรวจเหล่านั้น แต่เมื่อทำไปแล้วอำนาจสิทธิขาด ไม่ได้อยู่ที่ ก.ตร.เมื่อเป็นเช่นนี้ ก.ตร.ก็ต้องยอมรับบทบาทตัวเองว่ามีอำนาจหน้าที่ เพียงแค่นั้น อย่างไรก็ตามยอมรับว่าเรื่องนี้มีผลกระทบต่อขวัญและกำลังใจของตำรวจบ้าง ซึ่งเป็นประเด็นหนึ่งที่ในที่ประชุม ก.ตร.เขาอภิปรายกัน โดยเห็นว่า เกิดความลักลั่นในเรื่องของการปฏิบัติตามกฎหมายระหว่าง ป.ป.ช.กับราชการอื่น ซึ่งก็มีผลกระทบต่อข้าราชการ

นายสุเทพ กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่มีผลกระทบต่อการทำงานร่วมกันของตนกับตำรวจ และนายกฯก็ไม่ได้มีปัญหากับองค์กรตำรวจ ท่านเป็นหัวหน้ารัฐบาลที่ต้องใช้ดุลพินิจ ในขั้นตอนสุดท้ายว่าจะเลือกทางไหน หากมีความเห็นของผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชาหลากหลายความเห็น ไม่ใช่เรื่องของความขัดแย้ง เมื่อถามว่า หากลำบากใจ ทำไมไม่ให้นายกฯมาทำหน้าที่ประธาน ก.ตร.บ้าง นายสุเทพ กล่าวว่า ถามอย่างนี้ผมคิดว่าคุณหาเรื่องผมแล้วล่ะ

นายสุเทพ กล่าวว่า เรื่องนี้ได้คุยกับนายกฯ ประจำ ซึ่งในมุมมองของตนกรณีนี้ เป็นกรณีของการปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งแต่ละฝ่ายอาจจะมีจุดยืนที่ไม่เหมือนกัน สำหรับตนไม่เห็นว่ากรณีของตำรวจ 3 นายนี้จะเป็นปัญหาของประเทศชาติโดยส่วนใหญ่ ไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่ก็ต้องปฏิบัติไปตามกฎหมายเท่านั้น และไม่คิดว่าจะทำให้ตำรวจกระด้างกระเดื่องต่อรัฐบาบ ตนทำงานกับตำรวจมาจนถึงวันนี้ก็ไม่มีปัญหาอะไร มีเพียงกรณีนี้กรณีเดียวที่ทำให้ตำรวจบางส่วนรู้สึกว่าในการเข้าไปทำหน้าที่ของตำรวจ ไม่แน่ใจว่าทำแล้วจะมีผลทางกฎหมายอย่างไร ซึ่งก็จะเห็นว่าทำให้ตำรวจบางส่วน รู้สึกกลัว ๆ แต่เมื่อได้ดำเนินการไปจนถึงที่สุดแล้วมันก็ต้องจบ

**ความเห็นกฤษฎีกาทำบาง ก.ตร.กลับมติ

ความเห็นของกฤษฎีกาที่เสนอต่อนายกฯโดยระบุว่ากรณีนี้ศาลรัฐธรรมนูญ ได้เคยวินิจฉัยมาก่อนแล้ว ผมก็ไปบอกกับ ก.ตร.ก็มี ก.ตร.บางท่านเปลี่ยนใจ แต่ ก.ตร. ส่วนใหญ่ก็ยังเห็นว่าแม้ว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่คำวินิจฉัยนั้นเป็นการวินิจฉัยกรณีความผิดที่ทุจริตต่อหน้าที่ ไม่ใช่ความผิดทางวินัย มันค่อนข้างที่จะเป็นปมทางกฎหมาย ไม่ใช่เรื่องของความขัดแย้งอะไร

ส่วนที่ให้ผู้เสียหายไปฟ้องศาลปกครองนั้น นายสุเทพ กล่าวว่า เคยมีกรณี พ.ต.ท.ฤทธิ์รงค์ เทพจันดา หรือ พ.ต.อ.ธนายุตม์ วุฒิจรัสธำรงค์ หรือ โอ๋สืบ 6 อดีต ผกก.สส.บก.น.6 เคยไปฟ้องศาลปกครองเหมือนกัน แต่เขาคงรอให้การดำเนินการ เรื่องนี้สุดทางก่อน

ส่วนที่ทางกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จะยื่นฟ้องต่อ ป.ป.ช.กรณีมติ ของ ก.ตร.เพราะถือว่าความผิดสำเร็จแล้ว รองนายกฯ กล่าวว่า ไม่มีปัญหา ทุกคนสามารถที่จะใช้สิทธิตามกฎหมายได้

ส่วนกรณีของเรื่องนี้จะมีผลทำให้การคัดเลือกตัวผบ.ตร.ยากขึ้นหรือไม่นั้น นายสุเทพ กล่าวว่า ไม่เกี่ยวกัน เพราะ ก.ตช.เป็นเรื่องของคณะกรรมการนโยบาย ของตำรวจ และมีหน้าที่ในการแต่งตั้งนายตำรวจคนเดียวซึ่งก็คือ ผบ.ตร.เท่านั้น ส่วน ก.ตร. มีหน้าที่ในการกำกับราชการของตำรวจในทางปฏิบัติ มีหน้าที่ในการแต่งตั้งนายตำรวจ ตั้งแต่ระดับรอง ผบ.ตร.ลงไป ซึ่งเป็นคนละส่วนกัน และกรรมการก็คนละชุด ยืนยันไม่มีปัญหาในการที่จะมีกระทบไปถึง ก.ตช.

**"วิชา" ให้นายกฯ ชี้ขาดฟัน3นายพล ตร.

นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช.กล่าวว่า ในการประชุม ป.ป.ช.วันนี้ (19 ม.ค.) คงจะหยิบยกกรณี ก.ตร.มีมติยืนยันให้ 3 นายพลตำรวจกลับเข้ารับราชการ ซึ่งขัดกับมติ ป.ป.ช.ที่มีมติชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรง และคงต้องรอดูท่าที นายกรัฐมนตรีก่อนว่า จะดำเนินการอย่างไรในการประชุม ครม.ทุกอย่างขึ้นอยู่กับนายกฯ ในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุด ป.ป.ช.คงไม่ต้องไปดำเนินการอะไรเพราะเราไม่ใช่องค์กรที่มีปัญหา แต่เป็น ก.ตร.ที่มีปัญหา ส่วนที่ป.ป.ช.ทำหนังสือขอมติก.ตร.ที่มีการกลับมติป.ป.ช.ในการ ไม่ลงโทษอดีตนายตำรวจทั้งสามนาย ก็เป็นเพียงการขอทราบเหตุผล ซึ่งเป็นการดำเนินการไปตามขั้นตอนเท่านั้น

หากนายกฯไม่ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ เรื่องก็จบเพราะ ก.ตร. ไม่มีอำนาจส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเอง เนื่องจากไม่ใช่องค์กรตามรัฐธรรมนูญ แต่หากผู้ถูกกล่าวหาจะนำเรื่องยื่นให้ศาลปกครองพิจารณาก็เป็นสิทธิ ที่สามารถดำเนินการได้

ส่วนที่ ก.ตร.ระบุว่า ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดคดีดังกล่าวโดยไม่ให้ความเป็นธรรม ผู้ถูกกล่าวหานั้น นายวิชา กล่าวว่า เราไม่สนใจเพราะยืนยันว่า ให้ความเป็นธรรม ในการไต่สวนอย่างเต็มที่ หากใครเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็ดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลได้

**โต้ 'สุเทพ' ไม่ได้สั่งรัฐบาลทำตาม

น.ส.สมลักษณ์ จัดกระบวนพล กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นความเห็น ของสถาบันที่ขัดแย้งกัน น่าจะให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัยดีที่สุด ในส่วนของ ป.ป.ช. คงจะต้องมีการคุยกันในการประชุมป.ป.ช.ชุดใหญ่วันนี้ (19 ม.ค.) ทราบว่า ขณะนี้สำนักงาน ป.ป.ช.ได้ทำหนังสือ ขอมติ ก.ตร.ดังกล่าวมาประกอบการพิจารณา เพื่อให้ทุกอย่างเป็นทางการ ไม่ได้เป็นการสั่งให้รัฐบาลทำงานตามมติของ ป.ป.ช.อย่างที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีเข้าใจ เพียงแต่เราไม่อยากทำงาน จากข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์เพียงอย่างเดียว

ผู้สื่อข่าวถามว่า กฎหมาย ป.ป.ช.เขียนไว้ว่ามติ ป.ป.ช.ในการชี้มูลความผิด ทางวินัยเป็นข้อยุติ เหตุใดจึงเกิดกรณีแบบนี้ขึ้น น.ส.สมลักษณ์ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าว อยู่ในมาตรา 92 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม การทุจริต 2542 ซึ่งพัฒนามาจากกฎหมายของ ป.ป.ป. ที่หลังจาก ป.ป.ช.ชี้มูล ความผิดทางวินัยไปแล้ว ผู้บังคับบัญชาหลายหน่วยงานสามารถกลับมติ ป.ป.ป.ได้ ทำให้ถูกวิจารณ์ว่าเป็น เสือกระดาษ เมื่อ ป.ป.ป.พัฒนามาเป็น ป.ป.ช. จึงมีการบัญญัติมาตราดังกล่าวขึ้นมา เมื่อให้การทำหน้าที่ของป.ป.ช.ศักดิ์สิทธิ์ขึ้น

ส่วนผู้ถูกชี้มูลความผิดอาจรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะไม่มีช่องทาง อุทธรณ์ มติ ป.ป.ช.เลย น.ส.สมลักษณ์ กล่าวว่า ผู้ที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด สามารถอุทธรณ์ได้ โดยยื่นคำร้องต่อศาลปกครอง เช่นเดียวกับกรณีนี้หาก ก.ตร.เห็นว่าควรอุทธรณ์มติ ป.ป.ช. ส่วนตัวเห็นว่าน่าจะยื่นคำร้องไปยังศาลปกครอง หากศาลวินิจฉัยออกมาอย่างไรทุกฝ่ายก็ต้องปฏิบัติตามอยู่แล้ว แต่ ก.ตร.กลับเปลี่ยน มติ ป.ป.ช.เสียเองก็เลยมีปัญหาเกิดขึ้น เพราะในมาตรา 92 ได้กำหนดข้อยกเว้น ให้หน่วยงานที่สามารถตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาอุทธรณ์ มติ ป.ป.ช.ได้ มีเพียงศาลกับอัยการเท่านั้น ข้าราชการพลเรือนอื่นไม่มีสิทธิกลับมติ ป.ป.ช.

ส่วนกรณีที่ ก.ตร.มีมติให้ พล.ต.ท.สุชาติ และพล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์ กลับเข้ารับราชการทันทีนั้น น.ส.สมลักษณ์ กล่าวว่า น่าจะรอฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ก่อน เพราะไม่เช่นนั้นทุกคนจะงงไม่รู้ว่าจะปฏิบัติตัวอย่างไร เนื่องจาก ป.ป.ช.เห็นอย่างหนึ่ง ก.ตร.กลับเห็นอีกอย่างหนึ่ง หากนายตำรวจทั้ง 2 คนกลับเข้ารับราชการตาม ก.ตร.แล้วศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมาอีกอย่างหนึ่งขึ้นมา จะทำอย่างไร.
กำลังโหลดความคิดเห็น