xs
xsm
sm
md
lg

“ศาลเตี้ย ก.ตร.” อุ้มพัชรวาท “เทพเทือก”รวมหัวล้ม ป.ป.ช.

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวการเมือง

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
มติฟอกผิดให้เป็นถูกของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ที่เห็นชอบให้อดีต 3 บิ๊กตำรวจ ที่ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือป.ป.ช.ชี้มูลความผิด

อันประกอบด้วย พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กรณีเป็นผู้บังคับบัญชาและสั่งการให้มีการสลายการชุมนุมเมื่อ 7 ตุลาคม 2551 หรือ 7 ตุลาทมิฬ

และ พล.ต.ต. เพิ่มศักดิ์ ภราดรศักดิ์ อดีตผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดอุดรธานี กรณีบกพร่องต่อหน้าที่เนื่องจากไม่สามารถควบคุมความสงบเรียบร้อยในเหตุการณ์การเผชิญหน้ากันของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กับกลุ่มชมรมคนรักอุดร ในพื้นที่อุดรธานี จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก

กลับเข้ารับราชการอีกครั้ง

ถือเป็นปฏิบัติการอันฉ้อฉลใช้ช่องทางกฎหมายและอำนาจการเมืองอย่างเย้ยฟ้าท้าดินเพื่อช่วยให้ 3 นายพลตำรวจมือเปื้อนเลือดพ้นผิด และไม่ต้องถูกจารึกชื่อให้มีมลทิน หลังถูกป.ป.ช.ชี้มูลเอาผิด จนถูกให้ออกจากราชการและมีคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ “ปลดออก”

เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมือง ทั้งที่จริงแล้วควรจะเป็นเรื่องเล็กที่ต้องยุติได้แล้ว หากอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) มีความเด็ดขาด และความกล้า

แต่เพราะอภิสิทธิ์ เป็นคนไม่คงเส้นคงวา เรื่องจึงบานปลายกลายเป็นประเด็นที่จะกัดกร่อนชื่อเสียงและความศรัทธาในตัวเขา

ทั้งที่ตั้งแต่ต้น ท่าทีของนายกฯอภิสิทธิ์ ก็แสดงออกชัดเจนในเรื่องนี้ แต่อาจจะเนื่องจากมีความเกรงใจ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม ที่เป็นเสาหลักกองทัพค้ำเก้าอี้นายกรัฐมนตรีให้อภิสิทธิ์ รวมถึงพรรคภูมิใจไทย ของเนวิน ชิดชอบ ที่หนุนหลังกลุ่มพี่น้อง “วงษ์สุวรรณ” เต็มสูบ

ท่าทีแข็งกร้าวของอภิสิทธิ์เลยอ่อนยวบลง ใส่เกียร์ถอย เขี่ยลูกให้รักษาการ ผบ.ตร.พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ ส่งเรื่องหารือกฤษฎีกาตีความในประเด็นมติ ก.ตร.มีศักดิ์ศรีเหนือกว่ามติป.ป.ช.หรือไม่ ทั้งๆ ที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเคยมีมติชี้ขาดในประเด็นทำนองนี้มาแล้ว

ยิ่งยื้อก็ยิ่งเข้าทาง พล.ต.อ.พัชรวาท โอกาสลุ้นจะได้ล้างผิดก็ยังไม่ปิดตาย

เนื่องจากแผนการที่ พล.ต.อ.พัชรวาท กำหนดไว้ต้องการให้เรื่องนี้นำไปสู่ความขัดแย้ง โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายส่งเรื่องให้องค์กรอื่นตีความคำวินิจฉัยคดี 7 ตุลาฯ และอำนาจของ ป.ป.ช. และพัชรวาทก็มองเห็นโอกาสที่จะยื้อเรื่องนี้ได้แน่
จากการเห็นความไม่เด็ดขาด และภาวะผู้นำบกพร่องของอภิสิทธิ์ อีกทั้งขาดจากการการควบคุมสั่งการ “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ” ที่ตอนนี้อภิสิทธิ์ไม่สามารถสั่งการได้โดยตรง

เนื่องจากได้มอบอำนาจการกำกับดูแลสตช.ให้กับ สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงไปแล้ว และสุเทพ ก็คอยรับคำสั่งของตระกูล“วงษ์สุวรรณ” ในทุกเรื่องอยู่แล้ว ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมา ก็เห็นกันอยู่เสมอว่า

สิ่งใดที่พลเอกประวิตรต้องการ สุเทพต้องกุลีกุจอจัดให้ หรือพลเอกประวิตร สั่งอะไรสุเทพก็น้อมรับปฏิบัติโดยไม่อิดเอื้อน แม้ว่าพลเอกประวิตรสั่งให้สุเทพซ้ายหัน ขวาหัน สุเทพก็จะทำทันที โดยสุเทพ จะไม่กล้าถามด้วยซ้ำว่า ทำไมต้องให้หันไปซ้าย หรือหันไปขวา

ดังนั้น เมื่อพล.ต.อ.พัชรวาท ต้องการล้างผิดให้มีมติ ก.ตร.กลับมติป.ป.ช. จึงเป็นเรื่องไม่ยาก เพราะสุเทพในฐานะประธานก.ตร.เล่นด้วยทุกกระบวนท่าอยู่แล้ว ขอเพียงแต่สั่งมาเท่านั้น อีกด้านหนึ่งพัชรวาทก็มีขุมกำลังระดับล่าง เตรียมทำตามคำสั่งทุกรูปแบบรองรับอยู่แล้ว

มันจึงเป็นที่มาของมติ ก.ตร.อัปยศ ที่ไม่แตกต่างอะไรไปกับ ”มติเถื่อน” ที่ฟอกดำให้เป็นขาว

ถ้าจะมองว่า การออกมติ ก.ตร.มาแบบนี้เป็นการย่ำยีต่อหลักนิติรัฐก็ไม่ผิด ด้วยที่บรรดาเหล่ากรรมการ ก.ตร.ทั้งหลายกำลังทำตัวเป็นศาล นั่นก็คือนอกจากรวมหัวกันอุ้มคนผิดแล้ว ยังบังอาจเอามติ ก.ตร.ซึ่งถือว่าเป็น “มติคณะกรรมการบริหารงานส่วนบุคคล” ซึ่งเป็นแค่กรรมการในโครงสร้างองค์กรไปล้มล้าง มติองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

อันเป็นการท้าทาย พ.ร.บ.ป.ป.ช. พ.ศ. 2542 มาตรา 92 ที่บัญญัติว่า หน่วยงานที่สามารถตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาอุทธรณ์มติป.ป.ช.ได้ มีเพียงศาลกับอัยการเท่านั้น ข้าราชการพลเรือนอื่นไม่มีสิทธิ์กลับมติ ป.ป.ช.ได้

ดังนั้น บรรดา ก.ตร.ทั้งหลายที่ล้วนแต่เป็นนายตำรวจระดับยศ “พล.ต.อ.” รวมถึงก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหลาย ที่ทำงานเกี่ยวกับกฎหมาย และมีความรู้กฎหมายดีทั้งสิ้น ย่อมหนีไม่พ้นในข้อครหาว่า

ตั้งตัวเป็น “ศาลเตี้ย” คิดลบล้างมติ ป.ป.ช.

แถมยังคิดจะ “ลองของ” กับอภิสิทธิ์อย่างเห็นได้ชัดอีกด้วย

ฉะนั้น หากอภิสิทธิ์ ปล่อยให้เรื่องนี้ไม่มีความชัดเจน และไม่แสดงภาวะผู้นำการเมืองให้เห็น ด้วยการยืนหยัดในหลักการและความคิดที่ว่า มติป.ป.ช.ถือเป็นที่สุดแบบตลอดรอดฝั่ง ก็จะตกหลุมพรางที่ พล.ต.อ.พัชรวาท และผู้อยู่เบื้องหลังวางไว้

และย่อมส่งผลกระทบต่อเรตติ้งภาวะผู้นำการเมืองของอภิสิทธิ์ ที่กระเตื้องขึ้นมาตั้งแต่ต้นปีกับกรณีความพยายามยกเลิกหวยออนไลน์ และการเดินหน้าปลด มานิต นพอมรบดี พ้นรมช.สาธารณสุข อาจหล่นวูบไปทันที

แต่คนที่ต้องถูกตำหนิมากที่สุด กับความพยายามชุบชีวิต 3 บิ๊กสีกากี ก็คือ “เทพเทือก” ที่ครั้งนี้ แสดงตัวตนให้สังคมเห็นอีกครั้งหนึ่งว่า ทำตัวเป็น “ม้าใช้” ให้กับกลุ่มขั้วอำนาจสีน้ำเงิน โดยเฉพาะสองพี่น้อง"วงษ์สุวรรณ"

เพราะมติก.ตร.ดังกล่าว เกิดความพยายามของสุเทพ ที่นำความเห็นของคณะกรรมการอุทธรณ์ ก.ตร.เข้ามาขอมติจากที่ประชุม ก.ตร. ทั้งๆ ที่คณะอนุกรรมการอุทธรณ์ที่มีพล.ต.อ.พิชิต ควรเตชะคุปต์ เพื่อนรักร่วมรุ่น นรต.25 กับพัชรวาท เป็นประธาน และหนึ่งในกรรมการไม่ใช่ใครที่ไหน เป็นเพื่อนเลิฟหลังม่านสีม่วง พล.ต.ท.บุญเรือง ผลพานิชย์

ด้วยที่มาและตัวตนของกรรมการชุดนี้ ไม่ต้องสงสัยว่าผลสรุปความเห็นของกรรมการต้องออกมาในทางที่เป็นคุณแก่ พล.ต.อ.พัชรวาทอย่างแน่นอน ซึ่งก็จะส่งผลตามมาคือขาดความเที่ยงตรงและหาความเป็นธรรมได้ยาก

ไม่น่าแปลกใจ ที่มีมติชี้ในประเด็นหนึ่งว่า กรณีการชี้มูลความผิดของป.ป.ช.ต่ออดีต 3 บิ๊กสีกากี มือเปื้อนเลือด เป็นเรื่อง"การปฏิบัติหน้าที่" ไม่ใช่"การทุจริตต่อหน้าที่" จึงไม่เข้าข่ายองค์ประกอบเกณฑ์อำนาจหน้าที่ของป.ป.ช. อันเป็นการตะแบงหาทางช่วยเหลือกันไปอย่างหน้าด้านๆ

แต่พอ “สุเทพ”ได้รับมติกรรมการอุทธรณ์ ถ้าไม่กล้าโยนมติอัปยศทิ้ง ก็ควรจะทำเรื่องนี้ให้เกิดความกระจ่าง เช่น ส่งเรื่องหารือไปยังกรรมการกฤษฏีกา เพื่อให้เกิดความชัดเจนในข้อกฎหมายเสียก่อนว่า มติกรรมการอุทธรณ์มีผลในทางกฎหมายหรือไม่ กลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะสุเทพ ใช้อำนาจประธาน ก.ตร. นำวาระนี้เข้าสู่ที่ประชุม ก.ตร.อย่างเร่งรีบ

จนก.ตร.มีมติเห็นชอบว่าการอุทธรณ์ของ 3 อดีตบิ๊กกากี “มีน้ำหนักฟังขึ้น” และเห็นควรให้เสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อให้นำเรื่องเข้าที่ประชุมครม. จะได้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดอีกครั้ง

ทั้งที่อภิสิทธิ์ประกาศขวางแล้วทั้งทางลับ และอย่างเปิดเผยว่า ก.ตร.ไม่มีสิทธิ์กลับมติ ป.ป.ช. และไม่สามารถส่งศาลรธน.ได้ คงมีเพียงช่องทางเดียวคือให้ทั้ง 3 คน ไปฟ้องต่อศาลปกครองเอง ไม่ใช่การยื่นเรื่องโดยใช้มติก.ตร. แต่สุเทพ ก็ใช้อำนาจประธาน ก.ตร.รีบยัดวาระนี้เข้าที่ประชุม ก.ตร.

จนมีมติ “ศาลเตี้ย”ออกมาในที่สุด

แต่ขณะที่เรื่องที่สำคัญหลายต่อหลายเรื่องก่อนหน้านี้ ในเรื่องที่ควรจะทำเพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวม ก็จะพบว่า สุเทพ กลับไม่ใช้อำนาจประธาน ก.ตร. นำเข้าที่ประชุม ก.ตร.เลย โดยเฉพาะหากเป็นเรื่องที่ไม่เป็นผลดีกับ พล.ต.อ.พัชรวาท และกลุ่มขั้วอำนาจเก่าสตช.!

เช่นผลสอบสวนการซื้อขายตำแหน่งในการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจในยุคพล.ต.อ.พัชรวาท เป็น ผบ.ตร. ชุดที่มี พล.ต.อ.นพดล สมบูรณ์ทรัพย์ เป็นประธาน ที่มีรายงานว่าผลการสอบสวนโยงไปถึงกลุ่มอำนาจเก่าใน สตช. โดยเฉพาะนายตำรวจระดับสูงยศ พล.ต.ท.มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรียกรับผลประโยชน์ เพื่อแลกกับการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ

หรือการติดตามความคืบหน้าข้อกล่าวหาเรื่องการทุจริตงบโฆษณาของสตช.ในงบปี 2548 วงเงินเกือบ 18 ล้านบาทเศษ ที่เกี่ยวพันกับพล.ต.อ.พัชรวาท และเพื่อนเลิฟ

อันเป็นพฤติการณ์ที่เห็นชัดว่าเรื่องแบบนี้ สุเทพ ถนัดนัก ในการ “เก็บเรื่อง”ไว้ในลิ้นชัก โดยไม่ยอมดำเนินการตามขั้นตอนและสะสางความเน่าเหม็นในวงการสีกากี

สาเหตุก็เพราะ “สุเทพ” พยายามเอาใจกลุ่มเสื้อน้ำเงินทั้ง ประวิตร-พัชรวาท-เนวิน แบบออกหน้าออกตา จนละเลยความถูกต้อง และทำให้อดีต ผบ.ตร.คนนี้รอดพ้นการถูกสอบสวนและเอาผิด

คงมีเพียงแต่ องค์กรอิสระอย่าง ป.ป.ช. เท่านั้น ที่ไม่ยอมเป็นตรายางโอบอุ้ม คนผิดให้ลอยนวล พล.ต.อ.พัชรวาท จึงจบชีวิตราชการด้วยคำสั่งเปื้อนเลือดในกรณี 7 ตุลาทมิฬ


ความพยายามของสุเทพ ที่ผลักดันจะเอามติเถื่อนไปล้มล้างมติป.ป.ช. จึงเป็น ความผิดทางการเมือง ที่สังคมได้เห็นธาตุแท้ของนักการเมืองคนนี้

ถึงเวลาที่อภิสิทธิ์จะต้องเด็ดขาดกับสุเทพได้แล้ว เพราะเห็นได้ชัดว่าหลายต่อหลายครั้ง สุเทพ มีพฤติการณ์ไม่น่าไว้วางใจ ในการควบคุมสั่งการ สตช.

เช่น ล่าสุดก็ยังมีข่าวว่า สุเทพ ยังพยายามล็อบบี้กรรมการ ก.ต.ช. บางส่วน เพื่อหนุนพลัง พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย ให้ขึ้นเป็น ผบ.ตร. ตัวจริงแทน พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ จนทำให้ความพยายามจะเรียกประชุม ก.ต.ช.ของอภิสิทธิ์ในเดือนนี้ ยังเกิดขึ้นไม่ได้

รวมทั้งงานในด้านความมั่นคงอื่นๆ กลับพบว่า สุเทพไม่เคยแสดงท่าทีกระตือรือร้นที่จะทำหน้าที่อย่างจริงจัง หรือเป็นเพราะภารกิจอื่นมันไม่มีผลประโยชน์มาเป็นเครื่องล่อใจ

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหาไฟใต้ ที่ต้องให้ความเข้มข้นในการแก้ปัญหาให้มากกว่านี้ หรือการเอาจริงเอาจังกับการจัดการกับพวกแกนนำนปช. ที่แสดงท่าทีเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ และสถาบันเบื้องสูง

ไม่ใช่ปล่อยให้ทำตัวเป็นอันธพาลการเมืองแบบไม่เกรงกลัวกฎหมาย

หากอภิสิทธิ์ ปล่อยให้สุเทพ เพ่นพ่านใช้อำนาจการเมืองโดยไม่มีขอบเขตแบบนี้ ซึ่งกรณีมติ ก.ตร.น่าจะเป็นเครื่องพิสูจน์ได้เป็นอย่างดี อภิสิทธิ์ ถึงจะอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ แต่ภาพที่ปรากฏก็ไม่แตกต่างไปจาก เบี้ยตัวหนึ่งในกระดานอำนาจของสุเทพ
สุเทพ เทือกสุบรรณ
พัชรวาท วงษ์สุวรรณ
กำลังโหลดความคิดเห็น