xs
xsm
sm
md
lg

เคาะข่าวริมโขง : อดีต ป.ป.ช.ย้ำชัด!! ก.ตร.ชุดนี้ ช่วยฆาตกรอำพรางคดี 7 ตุลาฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เคาะข่าวริมโขง : อดีต ป.ป.ช.ย้ำ ก.ตร.ชุดนี้ มีเจตนาช่วยฆาตกร อำพรางคดี 7 ตุลาฯ ช่วยเหลือ “พัชรวาท” ชี้ ก.ตร.ทำเกินหน้าที่ มีสิทธิ์แค่ใช้ดุลพินิจพิจารณาโทษ แต่ไม่อาจล้างผิดให้ใครได้ ซัดกระทำเช่นนี้ ต้องการให้กฎหมาย ป.ป.ช.เป็นเสือกระดาษ ทั้งที่ความผิดสมบูรณ์แล้ว ยังปั้นมติใหม่แย้ง ป.ป.ช. จวก “สุเทพ” กำลังแต่งนิทานตบตา “มาร์ค”


 คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายการ "เคาะข่าวริมโขง" 

รายการ “เคาะข่าวริมโขง” ออกอากาศทาง “อีสานทีวี” ช่วงเวลา 18.30-20.30 น. วันพุธที่ 20 มกราคม มี น.ส.วรรษมน ช่างปรีชา รับหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยมีวิทยากรรับเชิญ คือ นายโสภณ องค์การณ์ อดีตบรรณาธิการข่าวเศรษฐกิจของหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น และหนึ่งในพิธีกรรายการ NEWS HOUR สุดสัปดาห์ และนายปฏินันท์ สันติเมทนีดล สื่อมวลชนอาวุโส

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากกรณีมติ ก.ตร.ที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง ในฐานะประธาน ก.ตร. พยายามยื้อคดีความผิดสั่งสลายการชุมนุมพันธมิตรฯ ของ 3 นายพล ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. น้องชายของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม โดยกรณีนี้ ในรายการได้มีการต่อสายสัมภาษณ์สด นายปรีชา สุวรรณทัต อดีตคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ป.ป.ช. ถึงประเด็นดังกล่าว ซึ่งนายปรีชา เห็นว่าเหตุผลที่คดีดังกล่าวยืดเยื้อ ส่วนหนึ่งเพราะสาเหตุนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ไม่มีความเด็ดขาด ทั้งที่เรื่องนี้เกิดขึ้นนานแล้ว แต่ปรากฏว่า ตำแหน่ง ผบ.ตร.ของ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ที่อยู่ในอำนาจของนายกฯ ต้องสั่งตามกฎหมาย ป.ป.ช.ภายใน 30 วัน แต่ก็ยังเยื้อเรื่องดังกล่าวจนมาถึงปัจจุบัน

นายปรีชากล่าวต่อว่า หากย้อนดูกฎหมาย ป.ป.ช.ก็เกิดขึ้นในสมัยพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งก็เป็นองค์กรที่ถูกปรามาสมาตลอดว่าเป็นเสือกระดาษ คือไม่ว่าจะทำคดีใด สุดท้ายแล้วผู้บังคับบัญชาของหน่วยงานนั้น ก็ช่วยเหลือคนของตัวเอง จึงทำให้กฎหมาย ป.ป.ช.ไม่มีความศักดิ์สิทธิ์ ทั้งนี้ กรณีคดี 7 ตุลาฯ มีหลักฐานเอาผิดชัดเจน ดังนั้น ไม่ทางหลีกเลี่ยงกฎหมาย ป.ป.ช.ได้ เพราะก่อนหน้านี้รัฐธรรมนูญ ปี 2540 ก็ระบุชัด อีกทั้งมีกฎหมายรองรับ ฉะนั้น ในเมื่อ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดไปแล้วต้องยึดหลักเช่นนั้น จะไปเปลี่ยนโทษไม่ได้ สิ่งเดียวที่ ก.ตร.ทำได้ คือ การใช้ดุลพินิจพิจารณาโทษ ซึ่งอาจจะเป็นการปรับโทษจากสถานหนักไปหาเบา เช่น แทนที่ไล่ออกก็เปลี่ยนมาเป็นปลดออกแทน แต่ไม่สิทธิ์จะเปลี่ยนฐานความผิดจากเดิม คือ ไม่อาจจะบอกว่าชี้มูลว่าผิดแล้ว จะให้เปลี่ยนเป็นไม่ผิดเลย หรือจะนำข้าราชการที่กระทำผิดกลับเข้ามารับราชการใหม่ แบบนั้นถือว่าทำไม่ได้

“หลังจากที่หน่วยงานได้วินิจฉัยแล้วลงมติเสร็จ ต้องส่งมติมาให้ ป.ป.ช.ว่า ก.ตร.ตรวจสอบว่าได้ปฏิบัติตามกฏหมาย ป.ป.ช.หรือไม่ ซึ่ง ก.ตร.สามารถเปลี่ยนโทษจากหนักไปหาเบาได้ แต่ ก.ตร.ไม่มีสิทธิ์ปรับโทษของผู้ที่กระทำความผิด คือ จะเปลี่ยนโทษให้จากผิดเป็นไม่ผิดเลย อย่างนี้ทำไม่ได้ และกรณีนี้ มีคำชี้ขาดแล้วว่า 3 นายตำรวจมีความผิดอย่างร้ายแรง ดังนั้น กรณีนี้ไม่สามารถทำอะไรได้ นอกจากมีสิทธิ์ใช้ดุลยพินิจเรื่องการลงโทษเท่านั้น” นายปรีชา กล่าว

นายปรีชากล่าวอีกว่า กฏหมาย ป.ป.ช. ะบุชัดเจน ทำให้ไม่จำเป็นต้องคณะกรรมการสอบสวนอีก เพราะถือว่า ป.ป.ช.ได้ทำหน้าที่พนักงานสอบสวนชี้มูลความผิด ดังนั้น สามารถลงโทษได้เลย แต่สิ่งที่ ก.ตร.ชุดนี้พยายามกระทำ คือ ถ้าดูจากข้อเท็จจริงจะเห็นว่า มีเจตนาช่วยเหลือคนผิด ซึ่งถือว่ามีความผิดทางวินัย ฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งอาจเข้าข่ายผิดอาญาด้วย ทั้งนี้ เท่าที่ตนทราบกำลังมีความพยายามจะแก้ไขมติ ก.ตร.ให้มีความสมบูรณ์ โดยประเด็นนี้ตนบอกได้เลยว่า ไม่สามารถแก้ไขมติใดๆ ย้อนหลังได้ หรือจะเพิ่มเติมก็ทำไม่ได้ โดยสิ่งเดียวที่ทำได้ คือ ปฏิบัติตามกฏหมายของ ป.ป.ช.คือ ก.ตร.ต้องส่งมติของหน่วยงานตนเอง กลับไปให้ ป.ป.ช.อย่างเร็วที่สุด เพื่อให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบว่า มติของ ก.ตร.กระทำถูกต้องตามกฎหมาย ป.ป.ช.หรือไม่ จากนั้น ป.ป.ช.ต้องส่งรายงานไปให้นายกฯ เพื่อตรวจสอบเรื่องความเหมาะสม

“การแก้มติภายนอกครั้งที่ผ่านมาทำไม่ได้ แม้จะมีการลงมติใหม่ในครั้งที่ 3 ก็ไม่สามารถลบล้างความผิดได้แล้ว เนื่องจากความผิดในมติครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 สำเร็จไปแล้ว ดังนั้น เมื่อกฏหมายระบุชัดก็อาจผิดทั้งด้านวินัยและอาญา ซึ่งตอนนี้ผมกำลังตั้งข้อสังเกตว่า มีการเตะถ่วงเรื่องดังกล่าว เพราะ ก.ตร.มีเหตุผลอะไร ทำไมไม่ส่งมติให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบสักที ทั้งที่เรื่องนี้มีบรรทัดฐานของศาลรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ซึ่งก็ต้องปฏิบัติตามนั้นทุกประการ” นายปรีชา กล่าว

นายปรีชากล่าวต่อว่า ถ้า ก.ตร.ยังไม่ทำตามกฏหมาย ป.ป.ช. จะถือว่า ก.ตร.ทำตัวเป็นศาลเสียเอง ซึ่งตามกฏหมาย ป.ป.ช. ถือว่ามีความผิดฐานไม่ยอมปฏิบัติตามกฏหมาย โดยกฏหมาย ป.ป.ช.ระบุชัดเจนว่า หากไม่ปฏิบัติตามมติ ให้ถือว่ามีความผิดทางวินัย ดังนั้น กรณีนี้ไม่จำเป็นต้องสอบสวนแล้ว เพราะเข้าข่ายกฏหมาย ป.ป.ช.ทุกประการ ส่วนเรื่อง ก.ตร.บางคนทำตัวเป็นนกรู้ ไม่ยอมเข้าร่วมประชุม ตนเห็นว่าอาจจะกลัวว่าหากเข้าไปลงมติแล้ว จะถือว่ามีความผิดไปด้วย ดังนั้น เรื่องนี้ต้องไปดูบันทึกการประชุมวันดังกล่าว ซึ่งมีทั้งเทปและบันทึกการประชุม แต่ถ้าให้เดาตอนนี้คงมีหลายคนกำลังนั่งเหงื่อแตกอยู่ เนื่องจากเรื่องนี้หากนายกฯ เด็ดขาดจริง ก็สามารถจัดการปัญหาให้จบลงได้โดยเร็ว แต่เรื่องนี้มีสิ่งที่ผิดสังเกต คือ ทำไมนายสุเทพ ถึงไม่ยอมเอาเรื่องดังกล่าวไปให้นายอภิสิทธิ์อยู่ หรือจะทำตัวจาก ก.ตร. เป็น อตร. คือ เอาตัวรอด เพราะกำลังแต่งนิทานเรื่องใหม่อยู่หรือไม่ ทั้งนี้ กรณีเช่นนี้มีสองฝ่ายที่เอาผิดกับ ก.ตร.ชุดนี้ได้ คือ นายกฯ กับ ป.ป.ช. โดยเฉพาะนายกฯ มีสิทธิขาดในเรื่องการลงโทษมากที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น