xs
xsm
sm
md
lg

มติ ก.ตร.อัปยศ ถึงเวลาปฏิรูปสีกากีหรือยัง !!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ
หลายครั้งที่พฤติกรรมของคนเหล่านี้ได้สุมหัวท้าทายอำนาจของนายกรัฐมนตรีอย่างชัดเจน และล่าสุดก็คือมติของ ก.ตร.ที่ไม่สนใจข้อท้วงติงทางกฎหมาย ด้วยการยืนตามมติเดิมทุกประการ ซึ่งปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นถือว่าเป็นการจงใจ “หักหน้า” อีกครั้งหนึ่ง หลังจากเครือข่ายของคนพวกนี้ได้ขัดขวางการใช้อำนาจของนายกฯในการแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่มาแล้ว

มติของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ(ก.ตร.) เมื่อวันศุกร์ที่ 15 ม.ค.ที่ผ่านมายืนตามมติครั้งก่อน นั่นคือ ไฟเขียวให้ 3 นายพลคือ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ที่เป็นผู้สั่งการให้ปราบปรามประชาชนในเหตุการณ์ “7ตุลาทมิฬ” และ พล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์ ภราดรศักดิ์ อดีตผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดอุดรธานี ฐานปล่อยปละละเลยให้กลุ่มอันธพาลการเมืองรุมทำร้ายประชาชนที่ชุมนุมกันอย่างสงบที่จังหวัดอุดรธานี เมื่อปี 2551 ซึ่งทั้งสองกรณีได้ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ได้มีมติชี้มูลความผิดขั้นร้ายแรงมีทั้งโทษวินัยและอาญา โดยนายตำรวจดังกล่าวมีทั้งถูกให้ออกและปลดออกจากราชการ

อย่างไรก็ดีกระบวนการช่วยเหลือหรือ “อุ้ม” พวกเดียวกันยังคงดำเนินต่อไป หลังจากนายตำรวจทั้ง 3 คน ได้พยายามอุทธรณ์คำสั่งและโต้แย้งมติของ ป.ป.ช.ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งต่อมา ก.ตร.ก็ได้มีมติให้ 3 นายพลดังกล่าวกลับเข้ารับราชการดังกล่าว

สิ่งที่ต้องพิจารณาก็คือ กรณีที่เกิดขึ้นนอกจากถือว่ามีเจตนาท้าทายกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ได้ให้อำนาจองค์กรอิสระแล้วยังถือว่าเป็นการท้าทายระบบคุณธรรมและจริยธรรมของตำรวจซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์อีกทางหนึ่งอย่างตรงไปตรงมา

อีกทั้งสะท้อนให้เห็นว่า ยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกจำนวนไม่น้อยยังมีทัศนคติในเชิงลบต่อการใช้อำนาจตามกฎหมายและการใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญของประชาชน ขณะเดียวกันมีหลายครั้งที่มีนายตำรวจหลายมักจะยอมปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา และนักการเมืองเพื่อแลกกับการไต่เต้ากับตำแหน่งที่สูงขึ้น หรือทำเพื่อรักษาตำแหน่งและผลประโยชน์ที่ตัวเองได้รับ โดยไม่คำนึงว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่นั้น ผิดกฎหมาย ผิดจริยธรรม หรือไม่ก็ตาม

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ถือได้ว่าเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงข้อสังเกตดังกล่าวได้ดี กับการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้อาวุธเข้าทำร้ายประชาชนที่ชุมนุมกันตามสิทธิ์ของรัฐธรรมนูญ และถึงแม้ว่าอาจมีข้อโต้แย้งโดยการสร้างภาพ หรือข้อกล่าวหาบิดเบือน เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับเจ้าหน้าที่ก็ตาม แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เลยก็คือ การใช้อาวุธทำร้ายประชาชนตั้งแต่เช้ายันดึก มีคนตาย บาดเจ็บ พิการ แขนขาขาด ตาหลุด คนแล้วคนเล่า นายตำรวจดังกล่าวในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์ กลับไม่ระงับยับยั้ง พฤติกรรมเยี่ยงนี้หากไม่มีหัวใจทมิฬหินชาติ ก็ไม่รู้จะเรียกว่าอย่างไรแล้ว

ที่ผ่านมาคนพวกนี้นอกจากไม่มีจิตสำนึกรับผิดชอบ ตรงกันข้ามยังพยายามโยนบาปให้ชาวบ้านอย่างหน้าตาเฉย ไม่สนใจถึงผลกระทบกับความสูญเสียของผู้ที่ถูกกระทำ ของคนในครอบครัวที่เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บพิการอย่างไร แต่นายตำรวจกลุ่มนี้มุ่งมั่นอยู่ต้องการคือทวงสิทธิ์ในตำแหน่งแห่งที่ของตัวเองที่จะต้องได้รับในชีวิตราชการตามปกติเท่านั้น

แต่ขณะเดียวกัน ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าบรรดานายตำรวจเหล่านี้มีเครือข่ายอิทธิพลอยู่เบื้องหลังที่เข้มแข็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากกล่าวเฉพาะ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเชื่อมโยงกับอำนาจทางทหารผ่านทางพี่ชายนั่นคือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และยังเชื่อมโยงไปถึงฝ่ายการเมืองคือ สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯด้านความมั่นคง ที่รับมอบอำนาจจากนายกรัฐมนตรีให้เป็นประธาน ก.ตร.

หลายครั้งที่พฤติกรรมของคนเหล่านี้ได้สุมหัวท้าทายอำนาจของนายกรัฐมนตรีอย่างชัดเจน และล่าสุดก็คือมติของ ก.ตร.ที่ไม่สนใจข้อท้วงติงทางกฎหมาย ด้วยการยืนตามมติเดิมทุกประการ ซึ่งปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นถือว่าเป็นการจงใจ “หักหน้า” อีกครั้งหนึ่ง หลังจากเครือข่ายของคนพวกนี้ได้ขัดขวางการใช้อำนาจของนายกฯในการแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่มาแล้ว

มติของ ก.ตร.ที่เกิดขึ้นนอกจากสร้างความผิดหวังให้กับประชาชน โดยเฉพาะประชาชนที่รักความเป็นธรรมย่อมรับไม่ได้กับการอุ้มพวกเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายตำรวจที่ “มือเปื้อนเลือด” ไม่มีความสำนึกรับผิดชอบ ไม่สมกับคำว่าผู้พิทักษ์สันติราษฎร์เลยแม้แต่น้อย

นี่ยังไม่นับกันถึงเรื่องที่มติ ก.ตร.โต้แย้ง มติ ป.ป.ช.ซึ่งถือว่าเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และคำสั่งของ ป.ป.ช.ย่อมเป็นที่สุดและเด็ดขาดมีผลผูกพันกับทุกองค์กร และที่ผ่านมาก็เคยมีบรรทัดฐานเป็นกรณีตัวอย่างให้เห็นมาแล้ว ขณะที่ ก.ตร.นั้นเป็นแค่องค์กรอำนาจของฝ่ายบริหารเท่านั้น ก็ต้องปฏิบัติตามโดยไม่อาจปฏิเสธได้

อย่างไรก็ดีมติของ ก.ตร.เชื่อว่ามีเจตนามิชอบและจะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายตามมา โดยเฉพาะกับ ก.ตร.ที่เข้าประชุมลงมติในวันนั้นด้วย ซึ่งล่าสุดมีรายงานว่าฝ่ายที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำและคำสั่งการของบรรดานายตำรวจดังกล่าวจะดำเนินการฟ้องร้องเอาผิดอีกรอบหนึ่ง

แต่ขณะเดียวกันกรณีที่เกิดขึ้นของตำรวจบางกลุ่ม รวมไปถึงองค์กรของตำรวจอย่างก.ตร.ได้สะท้อนความบกพร่องทางจริยธรรมและคุณธรรมออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน ซึ่งถึงเวลาแล้วที่จะต้องตั้งคำถามว่าจะต้องมีการปฏิรูปวงการตำรวจกันครั้งใหญ่ได้แล้วหรือไม่ เพราะตราบใดที่ทัศนคติและความสำนึกรับผิดชอบยังเป็นอยู่ในลักษณะดังกล่าว ก็คงไม่สามารถมุ่งหวังและมีหลักประกันความยุติธรรมชั้นต้น เพื่อสร้างความผาสุขให้กับประชาชนได้เลย !!
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ
กำลังโหลดความคิดเห็น