xs
xsm
sm
md
lg

แฉแผนฉ้อฉล “เทพเทือก-พัชรวาท” ดันมติ ก.ตร.อัปยศล้างผิดคดี 7 ตุลา (1)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ
“เรื่องมันฟ้อง”
โดย...กรงเล็บ

“ไม่มีอะไรซับซ้อนเลย แต่ทั้ง 3 นายพลตำรวจกลับไม่เลือกเดิน เป็นเพราะอะไร เพราะคิดว่าอุ้มกันเองใน ก.ตร.มันง่ายกว่าไปพิสูจน์ข้อเท็จจริงในศาลปกครองใช่ไหม เพราะมั่นใจว่าคุมเกมฝ่ายการเมืองได้เพราะ “สุเทพ-เนวิน” หนุนหลังใช่ไหม”


มติ ก.ตร.วันที่ 30 ธันวาคม 2552 ให้รับ 3 นายพลตำรวจ ประกอบด้วย พล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์ ภราดรศักดิ์ อดีตผู้บังคับการจ.อุดรธานี พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือผบ.ตร.กลับเข้ารับราชการ

อันเป็นการพลิกมติคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ท้าทายระบบจนสะท้านสะเทือนถึงดุลแห่งการตรวจสอบที่ทำให้องค์กรอิสระอย่าง ป.ป.ช.กลายสภาพเป็นเสือกระดาษ

แต่ถูกเบรกโดย “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” นายกรัฐมนตรี ซึ่งร่วมทำคลอดกฎหมาย ป.ป.ช.มากับมือ มีความชัดเจนในเชิงระบบและให้ความสำคัญกับความศักดิ์สิทธิ์ขององค์กรอิสระที่ยกระดับมาจาก ป.ป.ป. จึงออกมายืนหยัดคัดง้างกับมติอัปยศดังกล่าว

จะว่าไปแล้วมติ ก.ตร.ครั้งนี้มีที่มาที่ไปอันน่าศึกษายิ่ง เพราะเป็นบทสะท้อนความเห็นแก่ตัวของ “พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ” ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่เหลิงตัวลืมตน มั่นใจในเครือข่ายว่ามีพี่ชายเป็น รมว.กลาโหม แถมใกล้ชิดสนิทแนบกับ “เนวิน ชิดชอบ” และยังมี “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ลั่นวาจาแบบนักเลงไว้ว่า “ผมพร้อมยืนข้างพี่ป้อม” เลยรวมหัวกันเอา “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ” ทั้งองค์กรมารองรับเป็นเกราะกำบังความชั่วตัวเอง

ที่กล่าวเช่นนี้ไม่ใช่เพราะมีอคติกับ “พล.ต.อ.พัชรวาท” แต่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า “พล.ต.อ.พัชรวาท” มีแผนที่จะสร้างเกราะคุ้มกันตัวเอง โดยใช้คดี “พล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์ ภราดรศักดิ์” อดีตผู้การฯ อุดร มาตั้งแท่นรองรับคดีของตัวเอง ซึ่งในขณะนั้นอยู่ระหว่างการไต่สวนของ ป.ป.ช. เนื่องจากเป็นคดีในลักษณะใกล้เคียงกัน คือ เป็นผลจากการปฏิบัติหน้าที่กับผู้ชุมนุม

การวางแผนแยบยลที่จะใช้กฎหมายและ ก.ตร.มาคัดง้างกับ ป.ป.ช.จึงเกิดขึ้นอย่างเป็นขั้นเป็นตอน

เริ่มจากที่ ป.ป.ช.ชี้มูลว่า “พล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์” กระทำผิดวินัยร้ายแรง ฐานละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่ราชการเป็นเหตุให้เสียหายอย่างร้ายแรง กระทำหรือละเว้นการกระทำใดๆ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง จากกรณีอันธพาลเสื้อแดงไล่ตีเสื้อเหลืองที่หนองประจักษ์ จังหวัดอุดรธานี เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2551

หลังจากนั้นทุกอย่างก็ทำท่าว่าจะเดินไปตามครรลองของกฎหมาย ป.ป.ช. เพราะ พล.ต.อ.พัชรวาท ในฐานะ ผบ.ตร.ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของ “พล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์” ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชนว่า

“ความผิดของ พล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์ ตามการชี้มูลของ ป.ป.ช.มีโทษเพียงสองอย่าง คือ ไล่ออก หรือปลดออก”

คำพูดของ “พล.ต.อ.พัชรวาท” ในขณะนั้นแสดงให้เห็นว่า มีความเข้าใจเป็นอย่างดีต่อการปฏิบัติตามกฎหมาย ป.ป.ช.มาตรา 93 ที่ ผู้บังคับบัญชาผู้ที่ถูกชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรงจะต้องพิจารณาโทษตามสำนวนการไต่สวนของ ป.ป.ช.

แต่เมื่อสังคมละเลยติดตามทวงถาม เพราะคิดว่าทุกอย่างคงเดินหน้าไปตามทิศทางที่ควรจะเป็นตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

“พล.ต.อ.พัชรวาท” กลับละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้บังคับบัญชาที่จะพิจารณาโทษ “พล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์” ภายใน 30 วันตามกฎหมาย ป.ป.ช. โดยอ้างว่า พล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์ ไม่ได้รับความเป็นธรรมจาก ป.ป.ช.จึงมีเหตุผลเพียงพอที่จะไม่ปฏิบัติตาม มติ ป.ป.ช.

ปล่อยให้เรื่องค้างเติ่งอยู่อย่างนั้น และ “พล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์” ก็ลอยนวลอยู่ในตำแหน่งนานกว่า 10 เดือน กระทั่ง “พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ” รักษาการ ผบ.ตร.เป็นผู้มีคำสั่งปลดออกจากราชการไปเมื่อวันที่ 2 พ.ย.2552

โดยในระหว่างนั้น “พล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์” มีการร้องขอความเป็นธรรมผ่าน อนุ ก.ตร.กฎหมาย ซึ่งมีมติตั้งแต่วันที่ 29 พ.ค.52 ว่า “พล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์” ไม่มีความผิดตามการชี้มูลของ ป.ป.ช. และ ป.ป.ช.ชี้มูลเกินอำนาจหน้าที่ซึ่งอาจไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

ทั้ง ๆ ที่ อนุก.ตร.กฎหมายไม่มีหน้าที่โต้แย้งข้อเท็จจริงที่ ป.ป.ช.ชี้มูลไปแล้ว

จากข้อเท็จจริงนี้ หาก “พล.ต.อ.พัชรวาท” มีความเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่าเกิดปัญหาทางกฎหมายก็ควรเสนอเรื่องให้ คณะรัฐมนตรีส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความเสียตั้งแต่ครั้งนั้นแล้ว

ทำไมจึงต้องทอดเวลาไปถึงเกือบ 4 เดือน จึงทำหนังสือถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ในฐานะ ผบ.ตร. ลงวันที่ 8 กันยายน 2552 หลังจากที่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรงกับ พล.ต.อ.พัชรวาท ในวันที่ 7 กันยายน เพียงวันเดียวเท่านั้น !

ขณะเดียวกัน “พล.ต.อ.พัชรวาท” ยังทำหนังสือส่วนตัวถึงนายกรัฐมนตรี ให้ชะลอการพิจารณาสั่งโทษทางวินัยตามมติ ป.ป.ช. โดยขอให้รอผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเสียก่อน

แค่นี้หางก็โผล่แล้วว่าเอากรณีของ “พล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์” มาอ้างเพื่อให้ ครม.ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยหวังว่าผลแห่งคำวินิจฉัยนั้นจะเป็นคุณกับคดีของตัวเอง

เป็นบทสรุปของประโยชน์ทับซ้อนทางอำนาจที่ชัดเจนยิ่ง

ไม่เพียงเท่านั้นตอนท้ายของหนังสือที่ “พล.ต.อ.พัชรวาท” ขอให้ ครม.ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องนั้น ยังมีเนื้อหาข่มขู่นายกรัฐมนตรีชนิดที่คงไม่มีข้าราชการคนใดกล้าประพฤติเช่นนั้น

“สำนักงานตำรวจแห่งชาติพิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นกรณีที่มีความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของ คณะกรรมการ ปปช. ซึ่งเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หากคณะรัฐมนตรีเห็นพ้องด้วยตามที่ ก.ตร.ได้พิจารณามีมติไว้ดังกล่าวมาข้างต้น นายกรัฐมนตรี “จะต้อง”เสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยต่อไป ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 214

การที่ “พล.ต.อ.พัชรวาท” ใช้คำว่า “หากคณะรัฐมนตรีเห็นพ้อง...นายกรัฐมนตรีจะต้องเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ” นั้นแสดงว่าเจ้าตัวมั่นใจว่าสามารถกุมเสียง ครม.ให้มีมติเห็นชอบได้ เพราะในขณะนั้น “สุเทพ เทือกสุบรรณ” และ “เนวิน ชิดชอบ” เดินเกมเตรียมความพร้อมให้ ครม.ลงมติเรื่องดังกล่าวไว้แล้ว

แต่คนเหล่านั้นลืมนึกไปว่า ก่อนที่เรื่องจะเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. ต้องให้นายกรัฐมนตรีลงนามก่อน แผนร้ายจึงไม่สำเร็จเพราะนายกรัฐมนตรีให้ทางสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีส่งกฤษฎีกาตีความ จนมีความชัดเจนว่า ครม.ไม่ใช่คู่ขัดแย้งกับ ป.ป.ช.จึงไม่สามารถส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้

เหตุการณ์หลังจากนั้นก็มีกระแสข่าวลือสะพัดว่า “พล.ต.อ.พัชรวาท” จะฟ้องนายกรัฐมนตรีทั้งช่องทางศาลปกครองและในคดีอาญา แต่สุดท้าย “อภิสิทธิ์” ก็มีคำสั่งให้ “พล.ต.อ.พัชรวาท” ไปช่วยราชการที่ทำเนียบรัฐบาล หลังจาก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดได้ไม่นาน ส่วน “พล.ต.อ.พัชรวาท” ก็พยศด้วยการไม่รับคำสั่งเลือกที่จะลาออกจากราชการแทน ก่อนที่ “อภิสิทธิ์” จะมีคำสั่งปลด “พล.ต.อ.พัชรวาท” ออกจากราชการในวันที่ 30 ตุลาคม 2552

มาถึงตอนนี้ ความพยายามดิ้นรนเพื่อตัวเองของ “พล.ต.อ.พัชรวาท” ยังไม่จบเพียงแค่นั้น แต่ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อ อนุ ก.ตร.ชุดที่ “พล.ต.อ.พิชิต ควรเดชะคุปต์” (เพื่อนร่วมรุ่น) เป็นประธาน และหนึ่งในอนุกรรมการมีเพื่อนเลิฟในวิมานสีม่วง-พล.ต.ท.บุญเรือง ผลพานิช ซึ่งมีมติในวันที่ 24 ธันวาคม 2552 พลิกมติ ป.ป.ช. ให้ 3 นายพลตำรวจกลับเข้ารับราชการ และ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ในฐานะประธาน ก.ตร.ก็สนองพระเดชพระคุณได้ทันอกทันใจ

บรรจุผลการประชุมของ อนุ ก.ตร.ชุดดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุม ก.ตร.ในวันที่ 30 ธันวาคม 2552 จนเป็นที่มาของมติ ก.ตร.อัปยศ

ทั้ง ๆ ที่ทางออกตามระบบของเรื่องนี้มีอยู่แล้ว คือ เมื่อนายพลตำรวจทั้งสามคนถูกชี้มูลความผิดโดย ป.ป.ช.ก็เป็นหน้าที่ของผู้บังคับบัญชาที่ต้องพิจารณาสั่งโทษภายใน 30 วันนับจากได้รับเรื่องจาก ป.ป.ช. โดยทั้งสามกรณีผู้บังคับบัญชาได้พิจารณาโทษไปแล้วคือ ปลดออก ขั้นตอนต่อไปหากเห็นว่าตัวเองไม่ได้รับความเป็นธรรมก็ไปยื่นอุทธรณ์ต่อ อนุ ก.ตร.อุทธรณ์ ซึ่งตามอำนาจหน้าที่อนุกรรมการชุดดังกล่าวก็ต้องยกอุทธรณ์ เนื่องจากไม่มีอำนาจในการโต้แย้งข้อเท็จจริงของ ป.ป.ช. มีเพียงแค่ใช้ดุลยพินิจในการลดโทษเท่านั้น

ในเมื่อทั้งสามกรณีนี้ผู้บังคับบัญชาได้ลงโทษขั้นต่ำสุดไปแล้วคือ ปลดออก จึงไม่เหลือเหตุให้ อนุ ก.ตร.พิจารณาได้อีก อันจะเป็นเหตุผลที่ทำให้นายพลตำรวจทั้ง 3 คน สามารถนำเรื่องไปฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอความเป็นธรรมต่อไปได้

ไม่มีอะไรซับซ้อนเลย แต่ทั้ง 3 นายพลตำรวจกลับไม่เลือกเดิน เป็นเพราะอะไร
เพราะคิดว่าอุ้มกันเองใน ก.ตร.มันง่ายกว่าไปพิสูจน์ข้อเท็จจริงในศาลปกครองใช่ไหม

เพราะมั่นใจว่าคุมเกมฝ่ายการเมืองได้เพราะ “สุเทพ-เนวิน” หนุนหลังใช่ไหม

กรณีนี้เป็นแผนฉ้อฉลของคนผิดที่ไม่ยอมรับกรรมที่ตนก่อขึ้น พยายามเคลื่อนไหวผ่านเครือข่ายอำนาจของพวกตน หวังใช้ช่องทางอำนาจบิดเบือนกฎหมายช่วยให้ตนเองพ้นผิด และคงเป็นบทสรุปของสัจธรรมที่ว่า “คนดีจะยอมเสียสละตัวเองเพื่อรักษาระบบและความถูกต้อง แต่คนจัญไรพร้อมที่จะทำลายระบบเพื่อประโยชน์ของตัวเอง”

พรุ่งนี้มาแกะรอยต่อว่า มีใครยกมือเห็นชอบกับ มติ ก.ตร.อัปยศครั้งนี้บ้าง และตอนจบของกลเกมแห่งอำนาจครั้งนี้จะเป็นอย่างไร
พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ
กำลังโหลดความคิดเห็น