xs
xsm
sm
md
lg

แฉแผนฉ้อฉล “เทพเทือก-พัชรวาท” ดันมติก.ตร.อัปยศล้างผิดคดี 7 ตุลา(จบ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ
“เรื่องมันฟ้อง”
โดย...กรงเล็บ

“จึงไม่น่าแปลกใจที่สังคมไทยจะรู้สึกว่า ตำรวจน่ากลัวกว่าโจร เพราะเต็มที่โจรก็แค่ทำผิดกฎหมาย แต่ตำรวจสามารถทำเรื่องที่ผิดกฎหมายให้กลายเป็นเรื่องถูกกฎหมายได้ เช่นเดียวกับที่สามารถพลิกสิ่งที่ถูกกฎหหมายให้กลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ตำรวจเลวจึงเป็นอันตรายต่อสังคมยิ่งกว่าโจรเสียอีก”

ก่อนที่จะไปแกะรอย มติ ก.ตร.อัปยศ มาดูความไม่ชอบมาพากลของ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ในการบรรจุวาระการประชุม ในฐานะ ประธาน ก.ตร.กันหน่อย

กรณีผลสรุปของ อนุ ก.ตร.อุทธรณ์ที่ให้ 3 นายพลตำรวจกลับเข้ารับราชการ ซึ่งมีมติกันในวันที่ 24 ธันวาคม 2552 สุเทพ เด้งรับใช้เวลาเพียง 6 วัน ก็บรรจุในวาระการประชุมของ ก.ตร.ในวันที่ 30 ธ.ค. 2552

แต่ในกรณี ผลสรุปของ คณะอนุ ก.ตร.ชุดพิเศษ ที่สรุปรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีที่ “ศิริโชค โสภา” ออกมาเปิดเผยว่า การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจระดับ รอง ผบก.ลงไป มีความไม่โปร่งใสและมีการซื้อขายตำแหน่ง

ซึ่งบรรจุอยู่ในวาระการประชุม ก.ตร.ในวันที่ 21 กันยายน 2551 “สุเทพ” กลับใช้อำนาจประธาน ก.ตร. ถอนวาระดังกล่าวออกไปอย่างไม่มีเหตุผล

เพียงเพราะว่าผลสรุปของ อนุ ก.ตร.ชุดดังกล่าว เสนอให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงและชี้มูลความผิดนายตำรวจหลายคน โดยหนึ่งในนั้นมี พล.ต.อ.พัชรวาท รวมอยู่ด้วย

การดึงเรื่องออกไปจึงมองเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากจะช่วยประวิงเวลาเพื่อให้ “พล.ต.อ.พัชรวาท” เกษียณอายุราชการไปก่อน ค่อยเอาเรื่องเข้าหลัง 30 ก.ย. 52 เพราะเมื่อถึงเวลานั้นก็ไม่สามารถตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง “พล.ต.อ.พัชรวาท” ได้แล้ว

จนถึงขณะนี้ผลสรุปของ คณะอนุ ก.ตร.ชุดดังกล่าวก็ยังไม่ได้รับการสานต่อ เพราะมี ก.ตร.หลายคนไม่ยอมรับ และสาวไส้ทำลายความชอบธรรมของ อนุ ก.ตร.ชุดนี้ว่าขาดคุณสมบัติในการตรวจสอบข้อเท็จจริง เนื่องจากมีการฝากตำรวจด้วย กระทั่ง สมศักดิ์ บุญทอง ต้องลาออกจากการเป็นประธานคณะ อนุ ก.ตร.ชุดนี้ไปแล้ว แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าว่า ก.ตร.จะต่อยอดจากผลสรุปของ คณะอนุ ก.ตร.ชุดนี้อย่างไร

คงเห็นภาพชัดเจนแล้วว่าเพื่อช่วย “พล.ต.อ.พัชรวาท” “สุเทพ” ในฐานะประธาน ก.ตร. ได้ทำอะไรไปบ้าง

คราวนี้มาเกาะขอบสนามตามการประชุม ก.ตร.ในวันที่ 30 ธ.ค. 52 อันเป็นที่มาของ มติ ก.ตร.อัปยศกันว่า มีรายละเอียดที่น่าสนใจอย่างไร

โดยเรื่อง การพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งลงโทษตามมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. (กรณี พล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์ ภราดรศักดิ์ และ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ กับพวก อุทธรณ์คำสั่ง) ถูกบรรจุเป็นวาระที่ 4 เรื่องที่ 4

ที่ประชุมเริ่มพิจารณาโดยสอบถามความเห็นของ ก.ตร.ว่าจะรับพิจารณาเรื่องดังกล่าวหรือไม่ ปรากฏว่า 9 เสียงเห็นว่าพิจารณาได้เลย ส่วนอีก 6 เสียงเห็นควรให้กฤษฎีกาตีความก่อนว่า ก.ตร.สามารถกลับมติ ป.ป.ช.ได้หรือไม่

เมื่อเสียงส่วนใหญ่ให้เดินหน้า ที่ประชุมก็เข้าสู่เนื้อหาโดยปูพื้นเรื่องเดิม กรณี พล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์ ร้องขอความเป็นธรรม และ อ.ก.ตร.กฎหมาย มีมติเมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2552 ว่า การดำเนินการของคณะกรรมการ ป.ป.ช.อาจไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ กฎหมาย ระเบียบและข้อบังคับของคณะกรรมการป.ป.ช.และอยู่นอกเหนืออำนาจของคณะกรรมการป.ป.ช.ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542

ตามมาด้วยผลสรุปของ อนุ ก.ตร.อุทธรณ์ วันที่ 24 ธ.ค. 52 ให้รับ 3 นายพลตำรวจกลับเข้ารับราชการ โดยมีการลงมติ 3 ครั้ง

ครั้งแรกลงมติกรณี พล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์ ก่อน โดย ก.ตร.เสียงข้างมากจำนวน 13 เสียง ได้แก่ ชัยเกษม นิติสิริ พล.ต.อ.นพดล สมบูรณ์ทรัพย์ พล.ต.อ.บุญเพ็ง บำเพ็ญบุญ พล.ต.ท.เหมราช ธารีไทย นายสีมา สีมานันท์ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี พล.ต.อ.ปานศิริ ประภาวัต พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ พล.ต.อ.วัชรพล ประสานราชกิจ ศ.ดร.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ พล.ต.อ.พิชิต ควรเดชะคุปต์ และ นายมนุชญ์ วัฒนโกเมน (ในการประชุม ก.ตร.วันที่ 15 ม.ค. พล.ต.อ.วิเชียรและนายมนุชญ์ ขอแก้ไขมติของตัวเองจากเห็นด้วยเป็นงดออกเสียง)

สำหรับ ก.ตร.ที่งดออกเสียงในเรื่องนี้คือ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ และ พล.ต.อ.วงกต มณีรินทร์

เหตุผลที่ ก.ตร.เสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยกับมติของ อ.ก.ตร.อุทธรณ์ คือ พยานหลักฐานยังรับฟังไม่ได้ว่า พล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์ กระทำผิดวินัยร้ายแรง ตามที่ ตร.มีคำสั่งลงโทษปลดออกจากราชการตามฐานความผิดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติชี้มูล ไม่อยู่ในกรอบความผิด 4 ฐาน ตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. ดังนั้น ก.ตร.จึงมิถูกบังคับอยู่ภายใต้มาตรา 96 แห่ง พ.ร.บ.ป.ป.ช. จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 105 แห่ง พรบ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 ประกอบกฎ ก.ตร.ว่าด้วยการอุทธรณ์และการพิจารณาอุทธรณ์ พ.ศ.2547 ข้อ 18 (2) (ง) และข้อ 21 จึงมีมติว่า การกระทำของ พล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์ ไม่เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงให้สั่งยกโทษแก่ “พล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์”

จากนั้นมาถึงกรณี พล.ต.อ.พัชรวาท กับ พวก ปรากฏว่า ก.ตร. 10 คน คือ พล.ต.อ.นพดล สมบูรณ์ทรัพย์ พล.ต.อ.บุญเพ็ง บำเพ็ญบุญ พล.ต.ท.เหมราช ธารีไทย นายสีมา สีมานันท์ พล.ต.อ.ปานศิริ ประภาวัต พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ พล.ต.อ.วัชรพล ประสานราชกิจ ศ.ดร.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ และ พล.ต.อ.พิชิต ควรเดชะคุปต์ เห็นด้วยกับมติของ อ.ก.ตร.อุทธรณ์

ส่วน 5 คนที่งดออกเสียง คือ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี พล.ต.อ.วงกต มณีรินทร์ นายมนุชญ์ วัฒนโกเมร และ นายชัยเกษม นิติสิริ

โดยเสียงส่วนใหญ่ของ ก.ตร.ใช้เหตุผลและกฎหมายเดียวกับ กรณี “พล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์” ยกโทษให้แก่ พล.ต.อ.พัชรวาทและ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว และให้ สำนักงาน ก.ตร.รับทั้ง 3 คนกลับเข้ารับราชการ

จะเห็นได้ว่าแค่การหยิบยกกฎหมายมาหักล้างมติ ป.ป.ช.ก็ผิดหลักการโดยสิ้นเชิง เพราะ ก.ตร.ก้าวล่วงไปตีความการใช้อำนาจของ ป.ป.ช.ว่าทำเกินขอบเขต ทั้งที่ไม่มีอำนาจ แล้วนำสิ่งที่ตีความโดยปราศจากอำนาจนั้นมาเป็นฐานอ้างอิงว่า องค์กรของตัวเองไม่อยู่ภายใต้บังคับของ กฎหมาย ป.ป.ช.

การตีความข้างต้นทำลายระบบการตรวจสอบขององค์กรอิสระลงอย่างสิ้นเชิง เพราะถ้าหน่วยงานต้นสังกัดของผู้กระทำความผิดตามคำชี้มูลของป.ป.ช.มีสิทธิ์ที่จะพิจารณาทั้งข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงหักล้างมติ ป.ป.ช.ได้แล้ว

ป.ป.ช.ก็จะไร้ความหมาย กลายเป็นแค่ “คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเบื้องต้น”ที่พร้อมถูกหน่วยงานใดก็ได้พลิกมติได้ตลอดเวลา


เราจะปล่อยให้ ก.ตร.ทำลายระบบตรวจสอบเพียงเพื่อจะปกป้องนายพลตำรวจ 3 คนอย่างนั้นหรือ?

ไม่เพียงเท่านั้น ก.ตร.เสียงส่วนใหญ่ยังใช้อำนาจตาม พรบ.ตำรวจแห่งชาติและ กฎ ก.ตร. ซึ่งกฤษฎีกาได้ตีความไว้แล้วว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มีฐานะเป็น “พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ” ซึ่งมีศักดิ์สูงกว่าพระราชบัญญํติทั่วไป ดังที่บัญญํติไว้ใน มาตรา 139 และมาตรา 140 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงมีผลบังคับเหนือกระบวนการหรือวิธีการอื่นใดที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติอื่น

กฤษฎีกายังให้คำแนะนำไว้ด้วยว่า หากผู้ที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด เห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็มีสิทธิ์นำคดีเข้าสู่ศาลปกครองได้

ที่สำคัญเมื่อ “อภิสิทธิ์” ท้วงติงให้ทบทวนเพราะเห็นว่า มติ ก.ตร.ขัดรัฐธรรมนูญ โดยนำความเห็นของ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาที่อ้างถึงบรรทัดฐานคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 2/2546 ที่วินิจฉัยไว้ว่า การใช้สิทธิ์อุทธรณ์ทำได้พียงดุลพินิจในการสั่งลงโทษเท่านั้น ไม่อาจพิจารณาเปลี่ยนแปลงฐานความผิดทางวินัยที่ คณะกรรมการ ป.ป.ช.วินิจฉัยยุติแล้ว

แทนที่ ก.ตร.จะทบทวนมติตัวเอง กลับตะแบงเดินหน้าต่อ อ้างว่าเหตุแห่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นคนละกรณีกับเรื่องของ 3 นายพล เพราะไม่ใช่เรื่องของการทุจริตแต่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งไม่ได้อยู่ในฐานความผิดที่ ป.ป.ช.จะชี้มูลได้ ดังนั้นเรื่องนี้จึงยังไม่ถือเป็นข้อยุติทางกฎหมายว่า ก.ตร.ไม่มีอำนาจ

พฤติการณ์เย้ยฟ้าท้าดิน ไม่เคารพต่อระบบตรวจสอบ ยึดแต่ประโยชน์ของตัวเองเป็นที่ตั้งเช่นนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่สังคมไทยจะรู้สึกว่า ตำรวจน่ากลัวกว่าโจร เพราะเต็มที่โจรก็แค่ทำผิดกฎหมาย แต่ตำรวจสามารถทำเรื่องที่ผิดกฎหมายให้กลายเป็นเรื่องถูกกฎหมายได้ เช่นเดียวกับที่สามารถพลิกสิ่งที่ถูกกฎหหมายให้กลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ตำรวจเลวจึงเป็นอันตรายต่อสังคมยิ่งกว่าโจรเสียอีก

การท้าทายอำนาจ ปปช.ครั้งนี้ยังไม่จบ เพราะ พล.ต.อ.ปทีป จะลบข้อโต้แย้งทั้งหมด ส่งให้ กฤษฎีกาชี้ขาด ซึ่งฟันธงล่วงหน้าว่า ผลคำชี้ขาดไม่น่าจะแตกต่างจากที่ เลขากฤษฎีกาได้ให้ความเห็นไป

ถ้าเป็นอย่างนั้น ก.ตร.เสียงส่วนใหญ่ที่ทำให้ระบบการตรวจสอบและอำนาจของ ปปช.ถูกสั่นคลอนอย่างรุนแรงจะรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเองอย่างไร

ที่เขียนอย่างนี้ไม่ใช่ว่าเข้าข้าง ปปช. หรือว่า ปปช.แตะต้องไม่ได้ เพียงแต่ทุกอย่างควรเป็นไปตามกลไกของระบบที่มีการถ่วงดุลไว้แล้ว มีข้อโต้แย้งทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายอย่างไรก็ไปต่อสู้ในศาลปกครอง

ก.ตร.ไม่มีสิทธิ์ทำลายระบบตรวจสอบฝ่ายบริหารของสังคมไทย
พล.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ
กำลังโหลดความคิดเห็น