xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

สถานการณ์เปลี่ยน !! อำนาจใหม่ผนึกอำมาตย์ชน ทักษิณ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
สถานการณ์ในเวลานี้ที่ดูยุ่งเหยิงและซับซ้อนซ่อนเงื่อนขึ้นทุกวัน ส่วนสำคัญเป็นเพราะหลายสิ่งอย่างเริ่มเปลี่ยนไปและขณะเดียวกันก็ต้องมีการปรับตัวกันใหม่ เพื่อความอยู่รอด หรือรักษาอำนาจรวมไปถึงเป้าหมายข้างหน้าที่เคยวางเอาไว้ตั้งแต่ต้น

เช่นเดียวกันกับสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันที่ต้องมีการจับตากันวันต่อวัน เพราะหากย้อนกลับไปในอดีตแค่ไม่นานนักกลุ่มที่เคยเชื่อมแตะมือกัน มาวันนี้กลับต้องตัดขาดแล้วหันไปร่วมมือกับกลุ่มใหม่อย่างไม่น่าเชื่อ

หากพิจารณากันแบบทำความเข้าใจก็สามารถแบ่งออกมาให้เห็นอย่างชัดเจนเป็น 3-4 กลุ่มหลัก นั่นคือ “กลุ่ม ทักษิณ ชินวัตร” หรือกลุ่มอำนาจเก่า กลุ่มที่สองคือ “กลุ่มอำนาจใหม่” และกลุ่มที่สามคือ “กลุ่มอำมาตย์เก่า”

แต่ในการตั้งประจันกันอยู่ถือได้ว่ามีเพียงกลุ่มอำนาจใหม่เท่านั้นที่ถือว่าเป็นตัวแปรสำคัญ เนื่องจากคุมกำลังทั้งในกองทัพ ตำรวจ รวมทั้งกุมอำนาจการเมือง และทุนสามานย์เอาไว้อย่างเบ็ดเสร็จ ดังนั้นหากกลุ่มนี้เทไปเข้าร่วมกับกลุ่มไหนในสองกลุ่มก่อนหน้านี้ก็จะทำให้ฝ่ายนั้นได้เปรียบทันที

ขณะเดียวกันสำหรับกลุ่มอำนาจใหม่แล้ว หากความเข้าใจในทฤษฎีผลประโยชน์แล้วก็ต้องมาชั่งน้ำหนักและประเมินสถานการณ์ว่าสมควรไปเข้าด้วยกับฝ่ายไหน ซึ่งนาทีนี้เชื่อว่าได้ตัดสินใจ “เลือก” แล้วที่จะ “จับมือ” ผนึกกำลังกับกลุ่มอำมาตย์เก่า เพื่อต่อกรกับฝ่ายทักษิณ เนื่องจากประเมินแล้วว่าไปไม่รอด สังคมไม่เอาด้วยนับวันมีแต่อับแสงลงเรื่อยๆ

อำนาจใหม่ผนึกอำมาตย์ต่อกร “ทักษิณ” !?

ถ้า พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ถูกทำให้เป็นสัญลักษณ์ของอำมาตย์เก่า ก็ย่อมเห็นสัญญาณหลายอย่างได้ชัดก็คือการปรากฎตัวพร้อมหน้าพร้อมตาของขุนทหารระดับบิ๊ก “ขาใหญ่” ในยุคนี้ที่ตบเท้าเข้าอวยพรปีใหม่ที่บ้านสี่เสาเทเวศร์โดยพร้อมเพรียงกัน

และหาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เปรียบเหมือนเป็นหัวขบวนหรือ “พี่ใหญ่” ของกลุ่มอำนาจใหม่ ก็จะเห็นภาพนำทีมเข้าคารวะ พล.อ.เปรม ซึ่งในปีนี้น่าสังเกตก็คือได้เห็น พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบกเข้าร่วมพร้อมกับบรรดานายทหารคนอื่นๆ หลังจากปีที่แล้ว “ไม่สะดวก” บังเอิญว่าต้องติดภารกิจในช่วงเวลาสำคัญดังกล่าวพอดี

ที่น่าจับตานอกเหนือจากนั้นก็คือมีรายงานว่าในปีนี้ “ป๋าเปรม” มีความเป็นกันเองและชมเชย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รองผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะ “น้องเล็ก” แห่ง “พยัคฆ์บูรพา” เป็นพิเศษ ถึงกับชมเชยว่าเป็นทหารตัวอย่างที่ปกป้องสถาบันสูงสุด

อย่างไรก็ดีการเข้ามาผนึกกับอำมาตย์ของ กลุ่มอำนาจใหม่ จึงมีคนตั้งข้อสังเกตว่า เนื่องจากประเมินสถานการณ์แล้วว่ามีแต่ผลบวก เพราะอย่างที่บอกไปแล้วว่าฝ่าย ทักษิณ กำลังอ่อนแรงลงทุกขณะ เชื่อว่าจะต้องถูกยึดทรัพย์ ถูกดำเนินคดีตามมาอีกเป็นพรวน ทำให้การเคลื่อนไหวไม่ว่าทั้งในและนอกสภาต้องเสื่อมถอยและขาดความชอบธรรมลงทุกขณะ

แต่การที่จะเข้ามาร่วมกับฝ่ายอำมาตย์ได้นั้นก็ต้องแสดงให้เห็นเสียก่อนว่าได้สลัดให้พ้นจาก ทักษิณ อย่างเด็ดขาดไม่ให้เหลือภาพ “เหยียบสองแคม” นั่นจึงอาจเป็นที่มาของการสั่งพักราชการ “เชือดโชว์” พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ “เสธ.แดง” ในเวลาต่อมาก็เป็นได้

ขณะเดียวกันในสภาพความเป็นจริงย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่ากลุ่มอำมาตย์อยู่ในวัยที่ร่วงโรย โอกาสเข้าสวมรอยก็มีโอกาสเป็นไปได้สูง อีกทั้งยังสามารถรักษาอำนาจของตัวเองรวมไปถึงการส่งต่อให้กับทายาทก็มีหลักประกันอย่างมั่นคง ที่สำคัญหากยังเชื่อมโยงไปค้ำยันเก้าอี้ให้กับ นายกรัฐมนตรีชื่อ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อยู่ต่อไป และหากสังเกตให้ดีในช่วงเวลาไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาบังเอิญว่า มีข่าวปล่อยสะพัดลอยลมเข้ามาเข้าจังหวะพอดีว่า จะมีการแต่งจั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่ พร้อมๆกับข่าวการ “ถอดใจ” ของ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ ถึงกับมีข่าวเคยยื่นใบลาออกไปแล้ว แต่ยังไม่ได้รับไฟเขียว

ประเมิน ทักษิณ อ่อนแรง-ไม่ชอบธรรม

ในทางตรงกันข้ามหากเลือกจับมือกับ ทักษิณ ที่นอกจากจะเห็นแนวโน้มหายนะอยู่ตรงหน้าแล้ว แต่หากบังเอิญได้ชัยชนะ ทักษิณกลับมามีอำนาจอีกรอบมีหรือจะอยู่เป็นสุข เชื่อว่าจะต้องถูกล้างบางหรือถูกแทรกแซงอำนาจจนไร้ความหมาย

ดังนั้นนาทีนี้ในภาพรวมก็ต้องถือว่า กลุ่มอำนาจใหม่ เป็นดุลอำนาจที่แท้จริง หากสวิงเข้าหาฝ่ายไหนฝ่ายนั้นก็ย่อมได้เปรียบ แต่ขณะเดียวกันใช่ว่าทุกอย่างจะราบรื่นไปเสียทั้งหมด เพราะในเงามืดก็ยังมีกลุ่มคนที่ไม่พอใจ โดยเฉพาะ “สีเขียว” อีกบางกลุ่มที่รอโอกาสท้าทายอำนาจ หากมีจังหวะให้ลงมือ และกรณีที่เกิดเหตุคนร้ายยิงระเบิดเอ็ม 79 ไปที่หน้าห้องทำงานของ พล.อ.อนุพงษ์ ในกองบัญชาการกองทัพบกเมื่อเช้ามืดวันที่ 14 ม.ค.ที่ผ่านมาทำให้สายตาแทบทุกคู่ย่อมไปสะดุดอยู่ที่ เสธ.แดง เนื่องจากเคยกล่าวอาฆาตเอาไว้ล่วงหน้า แต่ถ้าไม่ใช่น่าจะเป็นฝีมือของกลุ่มไหน เป็นทหารอีกกลุ่มเพื่อ “เสี้ยม” หรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่ชวนขบคิดไม่น้อย เพราะการลงมือดังกล่าวมีความประสงค์เพื่อเหยียบหน้า ย่ำยีศักดิ์ศรีให้ได้อับอายไปทั่ว

นอกเหนือจากนี้สิ่งที่ต้องนำมาพิจารณาเชื่อมโยงกันในสถานการณ์ที่กำลังยุ่งเหยิงก็คือ กรณีมติคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ(ก.ตร.) อัปยศ อุ้ม “3 นายพล” กลับเข้ารับราชการ แต่ในที่นี้ต้องโฟกัสไปที่ พล.ต.อ.พัชรวาท กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในฐานะพี่ชาย ที่ต้องอุ้มกระเตงน้องอยู่ตลอดเวลา เพราะว่ากันว่าในวงสนทนาที่บ้าน “วงษ์สุวรรณ” มีเสียงฝากฝังเล็ดลอดให้ได้ยินว่าอย่าให้ใครทำร้าย “ป๊อด” ซึ่งมีข่าวว่าผู้จัดการรัฐบาลได้รับปากอย่างแข็งขัน

อย่างไรก็ดีนับจากนี้ก็ต้องมาจับตาดูกันอย่างเข้มงวดต่อไปว่า ท่าทีของนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะจะยึดมั่นในหลักการความถูกต้อง ยึดบรรทัดฐานทางกฎหมายอย่างมั่นคงไม่คลอนแคลนได้หรือไม่ เพราะล่าสุดกลับยอมให้กฤษฎีกาตีความในข้อกฎหมายอีกครั้ง ซึ่งทำให้ดูเหมือนกับว่าเริ่มโอนอ่อนกับแรงกดดัน-ข่มขู่ ของกลุ่มอิทธิพลการเมือง ซึ่งไม่น่าเชื่อจะมี สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯฝ่ายความมั่นคงคนข้างกายของนายกรัฐมนตรีเป็นตัวเชื่อมร่วมอยู่ในขบวนการดังกล่าวด้วย

และเพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนก็จะเรียงลำดับความเคลื่อนไหวและเส้นทางในการก้าวเข้ามาสู่อำนาจรวมไปถึงเป้าหมายสูงสุดของคนกลุ่มที่เรียกว่า “อำนาจใหม่” ว่าต้องการสิ่งใดกันแน่

อำนาจใหม่...รวมพลคนทะเยอทะยาน !?

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการผงาดขึ้นมาของกลุ่มบุคคลที่เรียกขานกันว่า “อำนาจใหม่” ซึ่งเป็นการรวมพลังกันระหว่าง อำนาจสีเขียว นักการเมือง และทุนสามานย์ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั้งวงการ

ว่ากันที่จริงกลุ่มอำนาจใหม่เริ่มก่อตัวให้เห็นร่องรอยมาตั้งแต่ก่อนการรัฐประหาร19 กันยายน 2549 ซึ่งเป็นช่วงที่การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนทุกภาคส่วนในนามพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยต่อต้านรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กำลังทวีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ

ทำให้มีทหารในกองทัพกลุ่มหนึ่งที่เริ่มมองเห็นความไม่มั่นคงในสถานะของตัวเอง ที่อาจได้รับผลกระทบจากการขับเคี่ยวระหว่างสองกลุ่มดังกล่าว โดยทหารกลุ่มนี้ประเมินว่าในที่สุดแล้วระบอบทักษิณคงจะไปไม่รอด เพราะความเหิมเกริมเปิดศึกไปทั่วทุกทิศ โดยเฉพาะการเปิดเกมชนซึ่งๆหน้ากับ “ผู้มากบารมี”

เมื่อสถานการณ์สุกงอม อีกทั้งในระดับรัฐบาลกับผู้นำกองทัพในขณะนั้นต่างเกิดความระแวงต่างฝ่ายต่างกังวลถึงสถานะของตัวเอง แต่กลายเป็นว่าฝ่าย “ท็อปบู๊ท”ชิงลงมือก่อนที่จะรอให้ถูกปลด

การรัฐประหารของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.) ได้เปิดโอกาสให้นายทหารกลุ่มหนึ่งสร้างอำนาจใหม่ซ้อนขึ้นมาอย่างเงียบๆ

โดยทหารที่เรียกว่ากลุ่ม “บูรพาพยัคฆ์” ที่เชื่อมต่อถึงกันระหว่างทหารประจำการกับ “ทหารเก่า”ที่ไม่ยอมตาย

ฝ่ายที่ยังรับราชการอยู่ในกองทัพนำโดย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ซึ่งขณะนั้นยังครองยศพลโท ดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1 และหลังปฏิวัติก็เลื่อนขึ้นมาเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก

ขณะที่นายทหารนอกประจำการที่ถือว่า เป็น “พี่ใหญ่” หรือ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งในความเป็นจริงก็ย่อมมีฐานอำนาจในกองทัพอยู่ในน้อย เพราะยังเป็นเพื่อนร่วมรุ่น เป็นประธานตลอดกาลของเตรียมทหารรุ่น 6 รุ่นเดียวกับ “บิ๊กบัง” พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ซึ่งเป็นทั้งผู้นำคมช.และเป็นทั้งเพื่อน ทำให้บรรยากาศเกื้อหนุนถ้อยทีถ้อยอาศัย

ยิ่งไปกว่านั้นการยึดอำนาจที่ประสบความสำเร็จลงได้แบบม้วนเดียวจบก็ย่อมต้องมาจากแรงหนุนจาก บิ๊กป้อมที่เติบโตมาจากทหารเสือราชินีคนนี้ไม่มากก็น้อย

ความสัมพันธ์ที่เห็นเด่นชัดมากขึ้นก็ในช่วงที่ พล.อ.อนุพงษ์ ได้ขึ้นสู่เก้าอี้ผู้บัญชาการทหารบก ด้วยการสนับสนุนอย่างแข็งขันของ รัฐบาล “ขิงแก่” พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์

“พยัฆค์บูรพา” ซุ่มรอโอกาสทอง

ยุทธวิธีที่ถูกนำมาใช้เพื่อ “เอาตัวรอด” และสร้างพลังให้กับตัวเองคือ เลือกที่จะอยู่ “นิ่งเฉย” ในท่ามกลางความขัดแย้งระหว่าง “สีเหลือง” กับรัฐบาล “หุ่นเชิด” ที่ผนึกกำลังกับสีแดง

แต่ในภาพที่แสดงออกว่า ตัวเองเป็นกลางคือ “อยู่เฉยๆ” นั้น เบื้องหลังก็ได้เริ่มเดินเกมขยายเครือข่ายออกไปอย่างเงียบๆ โดยแอบต่อสายไปยังกลุ่มนักการเมืองหลายกลุ่มทั้งพรรคประชาธิปัตย์ผ่านทาง สุเทพ เทือกสุบรรณ และในกลุ่มพรรคร่วมรัฐบาลเดิมและรวมไปถึงกลุ่มก๊วนที่มีพลังในพรรคพลังประชาชนในตอนนั้น

ด้วยคอนเน็กชั่น และบารมีที่มีอยู่กว้างขวางสำหรับพี่ใหญ่ อย่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ทำให้กลเกมแห่งอำนาจก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง

ทุกอย่างจึงมีการเตรียมการไว้ล่วงหน้า

แล้วจังหวะสำคัญก็มาถึง เมื่อศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคพลังประชาชน จากกรณี ยงยุทธ ติยะไพรัช ซึ่งเป็นกรรมการบริหารพรรคทุจริตเลือกตั้ง ทำให้ระบอบทักษิณต้องปิดเกมชั่วคราวนับตั้งแต่วันนั้น

อีกด้านหนึ่งก็เป็นการเริ่มต้นของกลุ่ม “อำนาจใหม่” อย่างเป็นทางการเช่นเดียวกัน

นับตั้งแต่วินาทีนั้นการเดินเกมทุกรูปแบบก็ถูกนำมาใช้สำหรับการฟอร์มรัฐบาลใหม่ ซึ่งแน่นอนว่าข่าวคราวเรื่องการข่มขู่คุกคาม รวมไปถึงข้อเสนอในลักษณะที่ “ไม่อาจปฏิเสธได้” ก็ย่อมมีให้เห็นแน่นอน

อีกทั้งหากพิจารณากันอย่างตรงไปตรงมาบรรดาพรรคการเมืองและกลุ่มการเมือง “เขี้ยวลากดิน” ที่ถูกดึงให้ “สวิงขั้ว” ย่อมเข้าใจสภาพความเป็นจริงได้ไม่ยาก เพราะถ้ายังขืน “จมปลัก” อยู่กับขั้วอำนาจเดิมก็ย่อมไร้อนาคต

จึงทำให้ทุกอย่างลงตัวในลักษณะพึ่งพาอาศัยกัน

แม้ว่าในกรณีของกลุ่ม “เพื่อนเนวิน” ที่นำโดย เนวิน ชิดชอบ อาจมีลักษณะพิเศษเฉพาะตัว เนื่องจากเป็นการสมรู้ร่วมคิดกันมาล่วงหน้าตั้งแต่หมดยุค สมัคร สุนทรเวช และ “แก๊งสี่คน” พังพาบไปหลังจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ตัดสินใจ ดันน้องเขย สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ขึ้นมานั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี เพราะนั่นย่อมหมายความว่าเครือข่ายอำนาจ และบิ๊กโปรเจ็คที่เริ่มตั้งไข่จะต้องสะดุดลง

เมื่อได้จังหวะประจวบเหมาะด้วยกันทั้งสองฝ่าย นั่นคือฝ่ายสีเขียวที่ต้องการครอบครองอำนาจ ต้องการเสียงสนับสนุนจากฝ่ายการเมือง ซึ่งในสถานการณ์แบบนี้คงไม่มีใครเหมาะสมเท่ากับ เนวิน ชิดชอบ ไปได้ ลืมแม้กระทั่งความหลังในอดีตที่ควบควบคุมตัวในช่วงปฏิวัติ เพราะเนวิน เป็นมือไม้ของ ทักษิณ ชินวัตรมาก่อน

“พี่ใหญ่” แตะมือ เนวิน-สุเทพ สร้างฝัน

ขณะที่อีกฝ่ายต้องการสานต่อโครงการที่เคยตั้งเอาไว้ให้เดินหน้าต่อ อีกทั้งจากผลงานการสร้างเครือข่ายในรัฐบาลสมัคร เนวินสามารถดึงกลุ่ม ส.ส.เข้ามาร่วมได้เป็นกอบเป็นกำไม่ต่ำกว่า 30 คน ทำให้กลายเป็น “ตัวแปร” สำคัญในรัฐบาลผสมที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ และ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี

แต่สิ่งที่ “พิเศษ” มากไปกว่านั้นก็คือการที่กลุ่มอำนาจสีเขียวแตะมือกับกลุ่มเนวิน ซึ่งต่อมากลายมาเป็นพรรคภูมิใจไทยภายใต้สัญญลักษณ์เสื้อสีน้ำเงินจนมีความแนบแน่น เพราะว่ากันว่าจะมีการวางตัว พล.อ.ประวิตร ให้มานั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรค เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายนายกรัฐมนตรีคนต่อไป

การได้คุมกระทรวงกลาโหมของ พล.อ.ประวิตร สามารถดูแลกองทัพ รับประกันความมั่นคงให้กับน้องๆที่กำลังสืบทอดอำนาจกันมาได้อย่างทั่วถึง นับตั้งแต่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบกคนปัจจุบัน ก่อนที่จะส่งมอบต่อไปให้กับ “น้องคนเล็ก” คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในปลายปี 2553

ส่วนกลุ่มเนวิน ก็ได้ควบคุม กระทรวงมหาดไทย และคมนาคม อาจมีข้อยกเว้นที่กระทรวงพาณิชย์เนื่องจากเป็นโควตาที่แยกย่อยออกมาเป็นกลุ่มของ สมศักดิ์ เทพสุทิน แต่ก็เป็นชายคาเดียวกัน

ซึ่งทั้งมหาดไทยและคมนาคมในวงการย่อมรู้กันดีว่านี่คืออำนาจและเงินตรา เพราะหากไม่มีพลังจริงก็ไม่มีทางได้มาครอบครองเป็นอันขาด เพราะตามปกติจะต้องสงวนเอาไว้ให้กับระดับผู้อาวุโสในพรรคแกนนำเท่านั้น

อย่างไรก็ดีเมื่อกล่าวถึงพรรคแกนนำรัฐบาลอย่างพรรคประชาธิปัตย์ก็ต้องหยุดอธิบายเพื่อให้เข้าใจสภาพภายในว่าเวลานี้ได้ตกอยู่ในกำมือของ สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขิการพรรคแทบจะสิ้นเชิงแล้ว โดยสุเทพ ก็ใช้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่เป็นนักการเมืองหนุ่มภาพลักษณ์ดีมีคุณสมบัติครบถ้วน ทั้งความรู้และชาติตระกูลดี เพื่อผลักดันให้ไปถึงจุดหมายในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งก็ต้องยอมรับความจริงเช่นเดียวกันว่า หากอภิสิทธิ์ ไม่มีคนชื่อสุเทพ ก็ไม่มีวันนี้ แต่อีกด้านหนึ่งถ้าไม่มีอภิสิทธิ์ ก็ย่อมไม่มี สุเทพในวันนี้เช่นเดียวกัน

สำหรับ สุเทพ แม้นาทีนี้ยังดูไม่ออกว่ามีเป้าหมายแท้จริงคืออะไรกันแน่ เพราะคนอย่างสุเทพ ก็ถือว่า “เขี้ยวลากดิน” ไม่แพ้ใคร ย่อมมองออกว่าสิ่งไหนควรไม่ควร แต่เท่าที่เห็นก็กลายเป็นว่าเข้ากันได้ดีเป็นปี่เป็นขลุ่ยกับ “สีเขียว-สีน้ำเงิน” มากกว่าคนกันเองในพรรคประชาธิปัตย์เสียอีก เหมือนกับว่าทำทุกอย่างเพื่อรักษาอำนาจเป็นฝ่ายบริหารเอาไว้ให้นานที่สุด

“พี่ใหญ่-อำมาตย์ใหม่” สะสมบารมีวัดรอยเท้า

ขณะเดียวกันอีกด้านหนึ่ง ระดับพี่ใหญ่ซึ่งเป็นหัวขบวน ทุกย่างก้าวไม่ต่างจาก “อำมาตย์ใหม่” พยายามสะสมอำนาจทุกด้านเพื่อวัดรอยเท้า “ผู้มากบารมี” เพราะเมื่อพิจารณาจากเส้นทางเดินก็เลียนแบบกันมาไม่ผิดเพี้ยน เพียงแต่ว่าในรายละเอียดแตกต่างกันตรงที่อำมาตย์เก่าที่ก้าวมาถึงวันนี้ก็เพราะได้สร้างคุณูปการให้กับบ้านเมืองจนได้รับการยอมรับนับถือ ขณะที่อำมาตย์ใหม่ยังต้องรอการพิสูจน์กันอีกนาน

การขยายอำนาจที่ทำทุกวิถีทางเพื่อบรรลุเป้าหมาย กำลังถูกตั้งคำถามว่าคนกลุ่มนี้อยู่เบื้องหลังหรือไม่ เพราะความเคลื่อนไหวมีลักษณะซ่อนเร้น ชวนให้น่าสงสัยทั้งสิ้น

ขระเดียวกันหากมองในอีกมุมหนึ่งก็ย่อมปฏิเสธไม่ได้เช่นเดียวกันว่า เป็นกลุ่มอำนาจที่รวมพลคนทะเยอทะยาน ที่บางคนในระดับ “พี่ใหญ่” กำลัง “สร้างบาง” อำนาจ เพื่อรอวัดรอยเท้า “ผู้มากบารมี” เพราะที่ผ่านมาก็ได้เดินตามรอยทุกอย่าง แต่อาจแตกต่างที่ความอำมหิตและวิชามารที่ทำได้ทุกรูปแบบเพื่อกำจัดฝ่ายตรงข้ามให้พ้นทาง

และนี่คือ อำนาจใหม่ อำมาตย์ใหม่ ที่อำมหิตยิ่งนัก !?
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา
นายเนวิน ชิดชอบ
พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ
กำลังโหลดความคิดเห็น