xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

แก้รัฐธรรมนูญทั้งที..ควรปรับประชาธิปไตยฝรั่ง (ที่ลอกเขามาทั้งดุ้น) ให้เข้ากับสังคมไทย

เผยแพร่:   โดย: ทวิช จิตรสมบูรณ์

โดย...ทวิช จิตรสมบูรณ์

ผู้เขียนได้วิเคราะห์ไว้แต่เมื่อปี พ.ศ. 2535 ว่าระบอบประชาธิปไตยแบบตะวันตก (ปชต.ตต.) ที่เราไปลอกฝรั่งมาใช้ทั้งดุ้นนั้น ไม่เหมาะกับสังคมไทย ดังนั้นมันจึงไม่งอกงามและผลิดอกออกผลให้เราได้เชยชมคุ้มค่ากับความเหน็ดเหนื่อยที่เฝ้าถนอมเลี้ยงดูมานานสักที

ผู้เขียนวิเคราะห์ว่า ปชต. ตต. ถือกำเนิดและเติบโตขึ้นมาในบริบทของลักษณะนิสัยแบบอิงตน ( individualism) ของชาวตะวันตก ทำให้นักการเมืองของเขาจึงต่างคนต่างโหวต (ในสภา) ทั้งนี้โดยมีหลักการใหญ่ร่วมกันตามนโยบายพรรคที่เขาสังกัด ส่วนของไทยเราไม่มีนิสัยอิงตนแบบเขา แต่มีนิสัยอิงผู้นำ (Leaderism..ศัพท์ที่ตั้งเอง) ดังนั้นนักการเมืองเราจะโหวตตามที่ผู้นำสั่ง ผู้นำในที่นี้อาจหมายถึงผู้นำก๊วน ผู้นำพรรค หรือผู้มีอุปการคุณก็ได้ การโหวตของนักการเมืองไทยจึงไม่ค่อยแตกคอก

แต่การโหวตของนักการเมืองฝรั่งนั้น เช่น ที่สหรัฐอเมริกา นักการเมืองโดยเฉลี่ยจะโหวตให้พรรคตรงข้ามถึงประมาณ 25% ดังที่นายจอห์น แมคเคน (ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อคราวก่อน) ถูกกล่าวหาจากกลุ่มของนายโอบามา ว่าเป็นผู้มีตำหนิเพราะประวัติการทำงานการเมืองที่ยาวนานกว่า 30 ปีของท่านมีสถิติว่าโหวตให้พรรคตรงข้าม “เพียง” 10% เท่านั้นเอง ส่วนของไทยเรา 0% กันทุกคนไม่ใช่หรือ แต่ก็ไม่เห็นมีใครยกเอามาเป็นประเด็นเลย

เรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญที่สุด เพราะเท่ากับว่ารัฐสภา (ฝ่ายนิติบัญญัติ) ไม่ได้ทำหน้าที่ “คานอำนาจ” กับฝ่ายบริหารดังเจตนารมณ์ของ ปชต. ตต. เลยแม้แต่น้อย แต่กลับทำหน้าที่ “เสริมอำนาจ” ให้กับฝ่ายบริหารเสียอีก ด้วยการโหวตด้วยเสียงข้างมากให้พรรครัฐบาลอยู่ร่ำไปไม่ว่าสิ่งที่รัฐบาลเสนอจะผิดหรือถูกก็ตาม

นิสัยอิงตนแบบฝรั่งเป็นนิสัยที่ไม่ชอบรวมกลุ่มสุมหัวตั้งก๊วนแก๊ง ต่างคนต่างคิด ต่างอยู่ และต่างโหวต ถ้า ส.ส.คนใดโหวตให้พรรคตรงข้ามเขาก็เคารพในสิทธิซึ่งกันและกัน ไม่มาตำหนิหรือเช็กบิลกันภายหลังแบบเมืองไทย ซึ่งนานทีปีครั้งก็มีเหมือนกันที่โหวตนอกแถว แต่ส่วนใหญ่เป็นเพราะมีเรื่องขัดแย้งผลประโยชน์หรือเรื่องส่วนตัวกันอยู่แล้ว ไม่ได้เกี่ยวกับอุดมคติทางการเมืองแต่อย่างใด

ที่ “ระบอบทักษิณ” กลืนกินประเทศไทยได้อย่างง่ายดายภายในเวลาเพียง 2 ปี ก็เพราะผู้นำระบอบมีทั้งอำนาจเงินและอำนาจบริหารให้ ส.ส. ทั้งหลาย “อิง” ได้อย่างเหลือเฟือแบบไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทยนั่นเอง ส่วนนายโอบามานั้นเป็นประธานาธิบดีที่กระแสนิยมสูงมากและสภาล่างและสภาสูงก็เป็นฝ่ายตนทั้งสองสภา แต่ญัตติสำคัญแรกที่เขาเสนอต่อสภา (การใช้เงินรัฐบาลอุ้มธุรกิจรถยนต์) ต้องพ่ายแพ้ในสภาอย่างหมดรูปเพราะสมาชิกพรรคของตนเองออกเสียงค้านเป็นส่วนมาก (แต่ส.ส. พรรคตรงข้ามกลับโหวตสนับสนุนเป็นส่วนมาก) ซึ่งเรื่องแบบนี้ไม่อาจเกิดขึ้นได้ในระบบ ปชต.แบบไทยเราอย่างแน่นอน

การซื้อสิทธิขายเสียงเลือกตั้งนั้นแท้จริงแล้วก็เป็นผลพวงจากวัฒนธรรมอิงอำนาจของคนไทยนั่นเอง เพราะกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายก อบต. (ซึ่งเป็นขั้วอำนาจและหัวคะแนนระดับท้องถิ่น) ก็ต้องอิงอำนาจของนักการเมืองในระดับสูงขึ้นเพื่อความอยู่รอดและความเจริญรุ่งเรืองของตน ดังนั้นพรรคการเมืองที่ยึดครองขั้วอำนาจท้องถิ่นได้มากที่สุดจึงมักได้ขึ้นไปเสวยอำนาจสูงสุดของประเทศหรือผูกขาดอำนาจไปเลย นำมาซึ่งการถอนทุนทางการเมืองและความด้อยพัฒนาของประเทศดังที่ทราบกันอยู่แล้ว

เพื่อความงอกงามของ ปชต.ไทย เราควรลอกฝรั่งเฉพาะในหลักการเท่านั้น ส่วนวิธีการนั้นเราต้องสร้างของเราเองให้สอดคล้องกับนิสัยอิงอำนาจของคนไทยเรา จึงใคร่ขอเสนอวิธีการดังนี้ (ที่นำเสนอนี้เป็นเพียงหนึ่งในหลายรูปแบบที่ได้คิดค้นไว้ เป็นเพียงตุ๊กตาที่อาจปรับแต่งได้)

1. จัดให้มี “องค์กรที่เป็นกลางทางการเมือง” เพื่อทำหน้าที่ “ช่วยถ่วงดุลอำนาจ” กับวัฒนธรรมอิงอำนาจของ ส.ส.ไทย องค์กรนี้คืออะไรก็ได้สุดแต่กฎหมายกำหนด แต่ที่ง่ายที่สุดน่าจะเป็นวุฒิสภา (ซึ่งในระบบ ปชต. ตต. เป็นองค์กรที่ไม่เป็นกลางทางการเมือง เพราะมาจากพรรคการเมือง)

2. ถ้าใช้กลไก ส.ว. ดังข้อ 1 ก็ต้องมีวิธีที่ดีเพื่อคัดสรร ส.ว.ซึ่งวิธีที่ขอเสนอคือให้กำหนดตำแหน่ง ส.ว.โดยรัฐธรรมนูญไปเลย (โดยไม่ต้องมีการเลือกตั้งให้เกิดสภาผัวเมีย) เช่น (ตุ๊กตาเท่านั้น ปรับได้ตามแต่จะคิดกัน)

ก. ปลัดกระทรวงเกษียณอายุ ที่อายุไม่เกิน 65 ปี

ข. นายกฯ/ประธาน สมาคม/องค์กร ภาคประชาชน การค้า อุตสาหกรรม

ค. ศาล รธน. ศาลปกครอง ศาลฎีกา และราชบัณฑิต ประชุมกันเพื่อเสนอชื่อและคัดเลือก นักคิด นักเขียนอิสระ อีกสัก 20 คน

3. การคัดสรรนายกฯ ที่จะเข้าไปบริหารประเทศนั้น ให้การเลือกตั้งทั่วไปเป็นการ “กรองหยาบ” เท่านั้น แต่ต้องมีการ “กรองละเอียด” ในรอบที่สองโดยวุฒิสภา (ที่เป็นกลาง) วิธีการคือให้ ส.ส.ที่ได้รับเลือกตั้งจำนวนอย่างน้อย 1 ใน 5 ของ ส.ส. ทั้งหมด มีสิทธิเสนอชื่อนายกฯ ได้ 1 ชื่อเพื่อให้ ส.ว.พิจารณาคัดสรร

วิธีนี้จะทำให้กลุ่ม ส.ส.ของก๊วนหรือพรรคต่างๆ เสนอแต่ “คนเก่งคนดี” ขึ้นไปแข่งขันกันเพื่อให้ชนะใจ ส.ว. (ถ้าส่งคนเลวที่มีตำหนิขึ้นไป ก็คงแพ้คนอื่น) วิธีนี้จะทำให้พรรคเล็กที่ไม่ได้ซื้อเสียงจนมีเสียงข้างมากในรัฐสภา แต่มีผู้นำที่เก่งดีก็มีสิทธิได้จัดตั้งรัฐบาล เท่ากับว่าระบบ ปชต. แบบนี้เน้นที่คุณภาพมากกว่าปริมาณ (แต่ปริมาณก็ต้องมีอย่างน้อย 1 ใน 5 ใช่ว่าจะไม่นับปริมาณเสียเลย)

4. เมื่อ ส.ว. เลือกตัวนายกฯ ได้แล้ว ให้นายกฯ เสนอรายชื่อ รมต.ให้ ส.ว.ลงมติเห็นชอบเป็นรายบุคคลอีกครั้งหนึ่ง ไม่ใช่ว่าให้อำนาจสิทธิขาดนายกฯ ในการแต่งตั้งใครก็ได้ ซึ่งที่ผ่านมาก็มักจัดให้ตามโควตาของก๊วนต่างๆ (ที่เกิดขึ้นตามวัฒนธรรมอิงอำนาจของคนไทยนั่นเอง) วิธีนี้จะทำให้ได้ รมต. ที่เป็นคนเก่งคนดี ขจัด รมต.ยี้ออกไปได้หมดสิ้น

5. การอภิปรายเพื่อโหวตไม่ไว้วางใจรัฐบาลเป็นระบบ “คานอำนาจ” ที่สำคัญมาก แต่ที่ผ่านมาการโหวตเป็นไปตามที่ขั้วอำนาจสั่งการลงมา โหวตทีไรฝ่ายรัฐบาลก็ชนะทุกทีแม้จะก่อกรรมทำเข็ญอย่างสาหัสต่อประเทศชาติสักเพียงใดก็ตาม จึงขอเสนอให้ปรับเป็นการโหวตโดยมติ ส.ว. (ที่เป็นกลาง) เท่านั้น ส่วน ส.ส.มีหน้าที่อภิปรายเพื่อให้ข้อมูลต่อ ส.ว.เท่านั้นโดยไม่มีสิทธิโหวต

ถ้าใช้วิธีนี้แม้พรรคที่มีเสียงข้างมากล้นหลามได้เป็นรัฐบาล แต่ทำตัวเลว ก็อาจถูกโหวตออกได้โดยฝ่ายค้านเสียงข้างน้อย (ผ่าน ส.ว.) ตรงข้ามแม้เป็นพรรคเล็กแต่ทำดีก็ไม่อาจถูกโหวตออกได้ ดังนั้นเสถียรภาพของรัฐบาลจะดีมาก (หากทำงานดี) แต่เสถียรภาพจะง่อนแง่นมากถ้าทำงานไม่ดี แต่ทุกวันนี้เราพูดกันแต่ว่าต้องการให้รัฐบาลมีเสถียรภาพในการบริหารประเทศโดยไม่คำนึงว่าเสถียรภาพของรัฐบาลที่เลวนั้นเป็นผลร้ายที่สุดต่อสังคมชาติ

ถึงจุดนี้ ท่านผู้อ่านหลายท่านคงเห็นว่าระบบที่เสนอนี้ “ไม่เป็นประชาธิปไตย” แต่อย่าลืมว่า ส.ว.ที่กำหนดโดยวิธีนี้นั้นกว่าที่เขาจะไต่เต้าเข้าไปเป็นหัวหน้าขององค์กรต่างๆ (หรือเป็นนักคิดนักเขียนที่มีชื่อเสียงโด่งดัง) เขาก็ต้องได้รับการยอมรับจาก “ประชาชน” ในองค์กรนั้นๆ อยู่แล้ว (หรือประชาชนทั่วไปในกรณีของนักคิดนักเขียน) มันจึงเป็นประชาธิปไตยทางอ้อม ซึ่งแม่นแท้แน่นอนกว่า ปชต.ทางตรงเสียอีก เพราะ ปชต. ทางตรงของเรานั้นมันซื้อกันได้ด้วยเงินดังที่รู้กันทั่วไปอยู่แล้ว ระบบนี้จึงเป็นระบบที่มีการคานอำนาจกันระหว่าง ปชต. ทางตรง กับ ปชต.ทางอ้อม ซึ่งน่าจะเหมาะกับลักษณะสังคมไทยเรามากกว่าที่ผ่านมา ที่ยกให้เป็นความรับผิดชอบของ ปชต.ทางตรงเสียหมด (ลอกฝรั่ง)

ถ้าใช้ระบบที่เสนอมานี้เชื่อว่าการซื้อเสียงจะลดลงมาก เพราะซื้อแล้วได้เสียงข้างมากแล้ว แต่ก็อาจไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล นักธุรกิจการเมืองจะลดน้อยลงมากเปิดทางให้นักการเมืองน้ำดีรุ่นใหม่เข้ามาสู่การเมืองไทยได้มากขึ้น

ไหนๆ จะแก้รัฐธรรมนูญกันทั้งที ขอร้องว่าอย่าแก้เพียงเพื่อแค่สมานฉันท์แบบสมานผลประโยชน์ของพรรคกลุ่มก๊วน ขอเตือนว่าหากใช้วิธีการ ปชต.ตต. เดิมๆ นี้ต่อไปโดยไม่ปรับแปลง สังคมไทยเราคงล้าหลังต่อไปอีกนาน
กำลังโหลดความคิดเห็น