xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.ส่งชวนžชี้ทางออกปท.วาง3กรอบแก้รธน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา กล่าววานนี้ (15 ก.ย.) ว่ายังไม่ทราบเรื่องที่ ส.ส.และ ส.ว.ทอยถอนชื่อในญัตติแก้ไขเพิ่มเติม รัฐธรรมนูญเพราะยังไม่ได้เห็นเรื่อง เพราะขณะนี้ประธานวุฒิสภา ยังไม่ได้ส่งเรื่องมาถึงตน แต่หากผู้เสนอแก้ไขมีจำนวนไม่ครบ ก็ต้องส่งกลับคืนเจ้าของร่างนั้นๆไป
ส่วนความเป็นไปได้ในการนำเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาหารือในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา นายชัย กล่าวว่า มีร่าง พ.ร.บ.แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับของ คปพร.ค้างอยู่ในวาระการประชุมอยู่แล้ว แต่การประชุมร่วมกันของรัฐสภาในวันที่ 16-17 ก.ย.นี้จะเป็นการรับฟังความเห็นของสมาชิก ประธานรัฐสภามีหน้าที่รับฟังและรวบรวมความเห็นต่างๆ เสนอรัฐบาล ดังนั้นแล้วแต่ว่าที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาจะมีความเห็นอย่างไรก็พร้อมจะปฏิบัติตาม

ประสพสุขยันส่งญัตติให้ชัยแล้ว
ขณะที่ นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา เปิดแถลงข่าว วันเดียวกัน ที่ห้องรับรอง อาคารรัฐสภา 2 พร้อมแจกเอกสารการรับเรื่องการยื่นญัตติแก้ไขเพิ่มเติม รัฐธรรมนูญจาก ส.ส.และส.ว.เมื่อวันที่ 7 ก.ย. ของสำนักงานเลขาธิการ สภาผู้แทนราษฎร จากกรณีที่มีส.ว. และส.ส. ที่ร่วมลงชื่อในญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรมนูญ วิพากษ์วิจารณ์ว่า พยายามดึงเรื่องโดยอ้างการตรวจสอบรายชื่อโดยไม่ส่งให้ นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา เพื่อรอให้ส.ว.ถอนชื่อจนจำนวนไม่ครบซึ่งจะทำให้ญัตติต้องตกไป
นายประสพสุข ยืนยัน ไม่ได้ดึงเรื่องเอาไว้ และข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง เพราะเมื่อรับเรื่องไว้ก็ส่งให้นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภาต่อเลย โดยร่างญัตติดังกล่าวอยู่ในมือตนไม่ถึง 5 นาที หลักฐานการรับเรื่องที่สำนักงานเลขาธิการสภาฯ ก็มีหมด เลขรับที่ 87/2552 วันที่ 7 ก.ย. ซึ่งตนก็ได้คุยกับนายชัยแล้วว่า ฝ่ายสภาผู้แทนราษฎรต้องไปดำเนินการต่อ และการตรวจสอบว่า มีใครถอนชื่อ จนทำให้ไม่ครบตามเกณฑ์แล้วญัตติจะตกไปหรือไม่นั้น ต้องไปตรวจสอบ ที่ฝ่ายสภาผู้แทนราษฎร
ผู้สื่อข่าวถามว่าล่าสุดมีข่าวมีส.ว.ถอนชื่อไปอีก 1 คน ทำให้เหลือผู้สนับสนุนญัตติ 124 คน ซึ่งไม่ถึง 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกรัฐสภาถือว่าญัตติตกไปหรือไม่ นายประสพสุข กล่าวว่า เช้าวันที่ 15 ก.ย. มีส.ว.มายื่นเรื่องขอถอนชื่อ 1 คน ส่วนจะตกไปหรือไม่นั้น ไม่ทราบจำนวน ต้องไปสอบถามที่ฝ่ายสภาผู้แทนราษฎรเอง แต่ถ้าไม่ถึง 1 ใน 5 ญัตติก็จะตกไป
ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า นายชัย ให้สัมภาษณ์ ยังไม่ได้รับเรื่อง แต่ส.ว.ที่ยื่นเรื่อง ถอนชื่อต้องทำเรื่องผ่านทางประธานวุฒิสภาในฐานะเป็นรองประธานรัฐสภาอยู่แล้ว ทำให้นายประสพสุข หันไปถามผอ.สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ซึ่งได้รับแจ้งว่า ล่าสุด ณ เวลา 10.30 น. ที่ส.ว.ยื่นเรื่องขอถอนชื่อแล้วจำนวน 35 คน ซึ่งนายประสพสุข กล่าวว่า ก็ต้องไปตรวจสอบจำนวนเต็มที่ยื่นมา หากลบไปแล้วไม่ถึง 1 ใน 5 ก็ถือว่าญัตติตกไป

ญัตติฯตกหลังส.ว.ถอนชื่อเหลือ122คน
สำหรับท่าทีของนายกรัฐมนตรีและวิปรัฐบาล ที่ต้องการให้มีส.ส.ร.3 มาแก้ไขรัฐธรรมนูญ จำเป็นหรือไม่ เพราะคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญเสนอแก้ไขเพียง 6 ประเด็น นายประสพสุข กล่าวว่า ต้องไปพูดกันในที่ประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 16-17 ก.ย. ว่าจะตกผลึกอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องส.ส.ร.3 หรือข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ แม้ว่า การประชุมร่วมรัฐสภาจะไม่มีการลงมติ แต่ก็คงจะพอประเมินได้ถึงเสียงส่วนใหญ่ว่า เห็นควรจะทำ อย่างไร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่มีส.ว.ทยอยถอนชื่อ จากที่มีส.ส.และส.ว.ร่วมกันเข้าชื่อเสนอจำนวน 157 คน ล่าสุด มีผู้ถอนไปแล้ว 35 คน ทำให้เหลือผู้ลงชื่อ 122 คน ซึ่งจะทำให้ญัตติตกไป เพราะมีผู้เสนอไม่ถึง 1 ใน 5 คือ 125 คน จาก 622 คน

2เกลอถอนญัตติอ้างเพื่อปรับใหม่
ด้าน นายสมเกียรติ ศรลัมพ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อแผ่นดิน แกนนำผู้ร่วม รวมรายชื่อในญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ขณะนี้ตนได้ถอนญัตติดังกล่าวแล้ว เนื่องจากต้องนำญัตติดังกล่าวไปปรับปรุงใหม่ ส่วนจะแก้ไขมาตราใดนั้นต้องหารือกับนายประสิทธิ์ โพธสุธน ส.ว.สุพรรณบุรีก่อน
ส่วนสาเหตุที่ถอนญัตติดังกล่าวออกเนื่องจากส.ส.และส.ว.ต่างทยอยถอนชื่อ ทำให้เสียงสนับสนุนไม่ถึง 1 ใน 5 ใช่หรือไม่ นายสมเกียรติกล่าวว่า ยอมรับว่า เป็นเรื่องจริง โดยเฉพาะส.ว.ที่ต่างทยอยถอนชื่อออกไปเรื่อยๆ
ด้านนายประสิทธิ์ โพธสุธน ส.ว.สุพรรณบุรี แกนนำอีกคนที่ล่าชื่อยื่นญัตติดังกล่าว กล่าวยอมรับเช่นกันว่าตนได้ถอนญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญออกไปแล้ว เนื่องจาก ได้มีการพูดคุยกับนายสมเกียรติเป็นการส่วนตัวและเห็นตรงกันว่าควรนำญัตติดังกล่าวมาปรับปรุงแก้ไขใหม่ในบางมาตรา โดยเฉพาะประเด็นเรื่องวาระตำแหน่งของ ส.ว.สรรหาที่พวกตนได้เสนอให้มีการเพิ่มการวาระการดำรงตำแหน่งจาก 3 ปีเป็น 6 ปีนั้น ที่ถือว่าเรื่องนี้เป็นที่ครหาอย่างมาก จึงจะนำมาปรับปรุงแก้ไขโดยให้มีการวาระดำรงตำแหน่งเหมือนเดิม ส่วนจะแก้ไขในมาตราอื่นอีกหรือไม่ ทางเพื่อนส.ส.และส.ว.ที่ร่วมลงชื่อเสนอญัตติจะหารือ และลงมติร่วมกันว่าจะแก้ไขประเด็นใดบ้าง หลังจากที่มีการประชุมร่วมรัฐสภาแล้ว

วิป3ฝ่ายหารือลงตัวถกแก้รธน.26ชม.
นายชินวรณ์ บุญยเกียรติ ประธาน วิปรัฐบาล กล่าวถึงการประชุมร่วมรัฐสภา ในวันที่ 16 - 17 ก.ย. เพื่อพิจารณาข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อปฏิรูป การเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ที่ประชุมวิป 3 ฝ่าย ตกลงร่วมกันที่จะใช้เวลาในการอภิปรายรวม 26 ชั่วโมง แบ่งเป็น รัฐบาลและฝ่ายค้าน ฝ่ายละ 8 ชั่วโมง ส่วนวุฒิสภา 6 ชั่วโมง ซึ่งเบื้องต้นในส่วนของรัฐบาลเตรียมผู้อภิปรายไว้ 60 คน ใช้เวลาคนละ 10 นาที
ทั้งนี้หากจะมีการหารือหรือเสนอความเห็นในการแก้ไขนอกเหนือจาก 6 ประเด็นของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ก็เป็นสิทธิที่สมาชิกจะอภิปราย แต่ส่วนตัวเห็นว่า ประเด็นที่มีโอกาสแก้ไขมากที่สุดคือมาตรา 190 ที่เกี่ยวข้องกับการทำสนธิสัญญากับต่างประเทศ เพื่อให้การบริหารงานมีประสิทธิภาพ ส่วนบทสรุปจะนำไปสู่การทำประชามติหรือไม่ ก็ต้องฟังความเห็นของสมาชิกทุกคน
อย่างไรก็ตามหลังการประชุมร่วมจะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมารวบรวม ความเห็นและแสวงหาความเห็นพ้องต้องกัน ส่วนจะมีการตั้ง สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร. 3) ตามมาตรา 291 ขึ้นมาหรือไม่ เป็นเรื่องที่จะต้องหารือกันในที่ประชุม
นายชินวรณ์ ยังกล่าวถึงกรณีที่ ชมรม สสร. 50 ออกมาคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า เป็นความเห็นแตกต่างที่ต้องรับฟัง ซึ่งในวันนี้ (16 ก.ย.) ชมรม สสร. 50 จะยื่นหนังสือถึงประธานวิปทั้ง 3 ฝ่าย

ประชาธปัตย์ขีด3กรอบแก้รธน.
น.พ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงผลการประชุมพรรคประชาธิปัตย์ว่า การประชุมได้หารือถึงการอภิปรายรับฟังความคิเห็นของสมาชิก 2 สภาฯ เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯที่แต่งตั้งโดย ประธานรัฐสภา ซึ่งการปฏิรูปการเมืองถือเป็นหัวใจในการแก้ไขปัญหาวิกฤตของ ประเทศ ซึ่งต้องมีการสนองตอบด้วยการรับฟังการอภิปรายของสองสภา แม้จะไม่ลงมติ แต่พรรคประชาธิปัตย์ในฐานะเป็นแกนนำพรรครัฐบาลจึงอยากร้องขอให้กระบวนการของรัฐสภาเป็นกลไกที่ทำให้บ้านเมืองพ้น วิกฤต
ทั้งนี้พรรคได้วางกรอบไว้ 3 ประเด็นคือ 1.การแก้ไขรัฐธรมนูญ พรรคเห็นจะต้องดำเนินการโดยคำนึงถึงปัญหาของระบอบการเมืองเป็นหลัก ต้องดูว่ามีปัญหา ที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้และผลของการบังคับใช้เป็นสำคัญ 2.การดำเนินการแก้ไข จำเป็นต้องมีกระบวนการแสวงหาความร่วมมือและการมีส่วนร่วม การแก้ไขต้องยึดโยง กับการมีส่วนร่วมเป็นสำคัญ ซึ่งอาจจะมีการประชาพิจารณ์หรือการลงประชามติ
3. จะต้องให้สังคมมองเห็นว่าไม่ใช่การทำโดยนักการเมือง เพื่อนักการเมือง แต่จะต้องเป็นการทำเพื่อผลประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญ ต้องมีความเป็นนิติรัฐ นิติธรรม สร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม แม้ว่าหลายประเด็นอาจจะมีข้อโต้แย้ง คัดค้าน และรัฐสภาอาจจะไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตัวเอง แม้ว่ากฎหมายจะเปิดช่องไว้ให้ก็ตาม อาจจะมีการแสวงหากระบวนการให้ประชาชนมีส่วนร่วม โดยมีคนเป็นกลางสร้างความเห็นพ้องนั้น

ส่งรุ่นใหญ่เสนอทางแก้ให้บ้านเมือง
ด้าน น.ส.ผ่องศรี ธาราภูมิ ส.ส.ลพบุรี ในฐานะรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคจัดเตรียมเป้าหมายและยุทธศาสตร์การอภิปรายไว้ว่าต้องเป็นไปอย่าง มีเหตุผล มีสาระและสร้างสรรค์ โดยแบ่งเป็นกรอบๆ คือกรอบที่คณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ได้เสนอไว้ มีผู้อภิปราย 8 คนเป็นผู้อภิปรายหลัก ซึ่งจะเป็นผู้ใหญ่ของพรรรค โดยจะเป็นผู้จุดประเด็นเสนอทางออกให้กับบ้านเมือง เช่น นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรค นายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรค นายนิพนธ์ วิศิษฎ์ยุทธศาสตร์ อาจจะร่วมแสดงความเห็นคิดด้วย แต่จะเป็นวันเวลาใด ต้องดูความเหมาะสามอีกครั้ง ส่วนคนอื่นก็เปิดกว้างให้ โดยล่าสุดมีคนเข้าชื่อแล้วประมาณ 30-40 คน
ทั้งนี้การประชุมดังกล่าววิปรัฐบาล จะมีคณะทำงานเพื่อเก็บเกี่ยวประเด็นอภิปรายทั้งหมดและให้ไปฟังประชาชนที่ติดตามการประชุมว่ามีความคิดเห็น อย่างไร โดยมีนายชำนิ ศักดิ์เศรษฐ์ รองหัวหน้าพรรค เป็นประธาน

สุเทพกำชับปชป.ให้หนุนแก้2ประเด็น
รายงานข่าวแจ้งว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรค รองนายกฯ ได้กำกับต่อส.ส. พรรคว่าขอให้รักษาน้ำใจพรรคร่วมรัฐบาลอย่าพูดจากระทบกระทั่งกัน เพราะต้องยอมให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 ประเด็น คือ มาตรา 190 และเรื่องเขตเดียว เบอร์เดียว ขอให้ส.ส.อย่าเก่งทุกเรื่อง หยุดพูดกันหน่อย เพราะตนได้ตกลงกับพวกเขาตอนขอให้มาช่วยจัดตั้งรัฐบาลเอาไว้ ก็ต้องทำตามสัญญา เป็นการกำชับของนายสุเทพ ในที่ประชุม
อย่างไรก็ตามคำพูดดังกล่าวของนายสุเทพได้สร้างความไม่พอใจต่อ สมาชิกพรรคหลายคน โดยเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องใหญ่ควรให้ส.ส. มีโอกาศร่วมแสดงความคิดเห็น โดยนายบัญญัติ กล่าวว่า ส.ส.ควรจะได้พูดกันเต็มที่ แต่จะต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นผู้ใหญ่ที่ต้องการช่วยกันแก้ปัญหาและข้อเท็จจริง แต่ตราบใดที่ให้นักการเมืองเป็นคนแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่มีทางที่จะทำได้โดยไม่หวังในเรื่องของผลประโยชน์ตนเอง และจะทำให้สังคมเกิดแรงต่อต้านจนทำไม่สำเร็ต ดังนั้นทางออกที่ดีที่สุดคือควรมีองค์กรที่มีความเป็นกลางขึ้นมาทำหน้าที่เป็นตัวหลัก โดยให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม จึงจะทำได้

ภท.หนุนแก้2มาตราที่เหลือทำประชามติ
นายศุภชัย ใจสมุทร โฆษกพรรคภูมิใจไทย แถลงภายหลังการประชุมพรรคว่า ที่ประชุมพิจารณาผลสรุปของคณะกรารมการสมานฉันท์ฯ 6 ประเด็น โดยเห็นด้วยใน 2 ประเด็นคือ การแก้ไข มาตรา 190 และที่มาของ ส.ส.ให้เป็นแบบเขตเดียวเบอร์เดียว ซึ่งเป็นประเด็นที่ทุกพรรคเห็นพ้องกันแล้ว ส่วนประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญที่สังคมยังมีความเห็นแย้ง และยังมีข้อสงสัยพรรคเห็นว่าควรให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจ ในการทำประชามติ ซึ่งพรรคภูมิใจไทยตระหนักอยู่เสมอว่าการเข้าร่วมรัฐบาล เพื่อต้องการลดความขัดแย้งในทางการเมืองเป็นหลักและแก้วิกฤต
นางศุภมาส อิศรภักดี รองโฆษกพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่ นายชวรัตน์ได้กล่าวกับที่ประชุมถึงหลักการเข้าร่วมรัฐบาล โดยย้ำจุดยืนเดิมในการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ อย่างไรก็ตาการประชุมในวันพรุ่งนี้ เป็นการอภิปรายทั่วไป โดยไม่มีการลงมติ จึงเป็นการประชุมเพื่อรับฟังข้อคิดเห็นและรับฟังข้อเสนอแนะจากสภา

ชพท.ค้านตั้งส.ส.ร.3แก้รธน.
นาย ชุมพล ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา แถลงหลังการประชุมพรรคว่า ที่ประชุมได้หารือถึงการประชุมร่วมรัฐสภาระหว่างวันที่ 16-18 ก.ย.เพื่อพิจารณาข้อเสนอ 6 ประเด็นของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ โดยเห็นพ้องว่า พรรคควรหลีกเลี่ยงความเห็นที่แตกต่างให้มากที่สุดและหากเป็นไปได้ให้ทำตามมติ ของพรรคร่วมรัฐบาล และจะต้องอภิปรายให้เต็มที่ในมาตรา 190 และประเด็นส.ส. ที่ต้องหน้าที่ทางการเมืองและต้องเข้าไปเพื่อช่วยเหลือประชาชนได้ ส่วนประเด็นนำไปสู่ ความเห็นที่แตกแยก ให้เลี่ยงไว้ก่อน เพราะยังไม่ถึงเวลา เช่นเรื่องระบบเลือกตั้งส.ส. และส.ว. เพราะยังไม่ถึงเวลาที่จะไปพูดถึง
อย่างไรก็ตามพรรคชาติไทยพัฒนา ไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการตั้งส.ส.ร.3 เพราะไม่มีความจำเป็นใดๆเลย เนื่องจากจะแก้รัฐธรรมนูญเพียงไม่กี่มาตรา และมาตราต่างๆ เหล่านี้ตกผลึกมาแล้ว คุยมาหลายรอบแล้วได้ผลดีด้วย
ส่วนที่วิปรัฐบาลเสนอว่าหากประชุมกันแล้วไม่เห็นพ้องกันก็จะเสนอตั้ง ส.ส.ร.3 เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น นายชุมพล กล่าวว่า มันจะไปเห็นพ้องต้องกันได้อย่างไร เพราะต่างคนต่างคิด ถึงหากเสนอ ให้ตั้งส.ส.ร.ก็ไม่รู้ว่าสภาจะเอาด้วยหรือไม่ ซึ่งปัญหาเวลานี้ตัวกฎหมายที่เป็นไปตามขั้นตอนแก้ไขรัฐธรรมนูญยังไม่เกิด ยังไม่ มีการ บรรจุเข้าระเบียบวาระของสภา อีกทั้งประเด็นทั้งหมดยังไม่ได้มีการนำเสนอในสภา

ไม่หนุนทำประชามติแก้รธน.
ผู้สื่อข่าวถามว่าคณะกรรมการสมานฉันท์ฯเสนอแก้มาตรา 237 เรื่องยุบพรรค ซึ่งเป็น 1ใน 6 ประเด็นที่จะแก้ไขจะทำให้เกิดความวุ่นวายหรือไม่ นายชุมพล กล่าวว่า การอภิปรายก็แสดงความเห็นกันไป ขั้นตอนจริงๆ มันยังไม่เกิด คือยังไม่มีการนำเสนอ เป็นตัวบทกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 291 เมื่อไปถึงจุดนั้น ต้องพิจารณาอย่างแท้จริง แต่ตอนนี้เป็นเพียงการระดมความคิดเห็นอีกรอบ ส่วนจะแก้ในส่วนที่เห็นพ้องต้องกันก่อนหรือไม่ก็แล้วแต่สภา เพราะมาตรา 190 บางคนก็เห็นว่าไม่ควรแก้
เมื่อถามว่า จำเป็นต้องมีการทำประชามติหรือประชาพิจารณ์หรือไม่ นายชุมพล กล่าวว่าประเด็นที่มีการเสนอทั้ง 6 ประเด็นไม่ มีความจำเป็นที่จะต้องทำประชาพิจารณ์ หรือประชามติ เพราะมันได้ตกผลึกมาแล้วเมื่อปี 2540
ทั้งนี้ในส่วนของพรรคชาติไทยพัฒนา มีจุดยืนว่าใน 6 ประเด็นที่เสนอแก้ไขนั้น ควรจะเสนอแก้ไขประเด็นละ 1 ฉบับ ใครเห็นด้วยก็ผ่านไปหากไม่เห็นด้วยก็ตกไป ไมใช่เอาทั้งหมด 6 ประเด็นตกไปหมด ซึ่งจะทำให้เสียเวลาเริ่มกันใหม่ อีกทั้งส่วน ใหญ่เห็นว่า ตอนนี้ควรแก้ไขมาตรา 190 และวิธีการเลือกตั้งเสียก่อน
ส่วนที่แต่ชมรม ส.ส.ร.50 ต้องการให้ผู้ตรวจการแผ่นดินประเมินผลการบังคับใช้รัฐธรรมนูญก่อนนั้น นายชุมพล กล่าวว่า ไม่ต้องไปประเมิน เพราะชาวบ้านได้ตัดสินใจออกมาแล้ว อีกทั้งประเด็นดังกล่าวไม่ต้องทำอะไรเลย
กำลังโหลดความคิดเห็น