ที่ประชุมพรรคประชาธิปัตย์ ส่งรุ่นเก๋า “ชวน-บัญญัติ” ขึ้นเวทีถกอภิปรายแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขีด 3 กรอบแก้ไข ด้าน “เทพเทือก” สั่งปิดปากลูกพรรค ห้ามพูดมากในสภา เผยมีสัญญาณใจกับพรรคร่วมเอาไว้ เจอโวยอยากแสดงความเห็น
วันนี้ (15 ก.ย.) ที่พรรคประชาธิปัตย์ นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงผลการประชุมพรรคประชาธิปัตย์ว่า การประชุมดังกล่าวมีวาระสำคัญคือเรื่องการอภิปรายเพื่อรับฟังความคิดเห็นของสมาชิกสองสภา เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองตามคำเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองที่แต่งตั้งโดยประธานรัฐสภา โดยการปฏิรูปการเมืองถือเป็นหัวใจในการแก้ไขปัญหาวิกฤตของประเทศ ซึ่งต้องมีการสนองตอบด้วยการรับฟังการอภิปรายของสองสภา แม้จะไม่การลงมติ แต่พรรคประชาธิปัตย์ในฐานะเป็นแกนนำพรรครัฐบาลจึงอยากร้องขอให้กระบวนการของรัฐสภาเป็นกลไกที่ทำให้บ้านเมืองพ้นวิกฤติ
นพ.บุรณัชย์ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้วางกรอบไว้สามประเด็น คือ 1.การแก้ไขบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ พรรคเห็นจะต้องดำเนินการโดยคำนึงถึงปัญหาของระบอบการเมืองเป็นหลัก ต้องดูว่ามีปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้และผลของการบังคับใช้เป็นสำคัญ 2.การดำเนินการแก้ไขจำเป็นต้องมีกระบวนการแสวงหาความร่วมมือและการมีส่วนร่วม การแก้ไขต้องยึดโยงกับการมีส่วนร่วมเป็นสำคัญ ซึ่งอาจจะมีการประชาพิจารณ์หรือการลงประชามติ
โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวด้วยว่า 3.จะต้องให้สังคมมองเห็นว่าไม่ใช่การทำโดยนักการเมือง เพื่อนักการเมือง แต่จะต้องเป็นการทำเพื่อผลประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญ ต้องมีความเป็นนิติรัฐ นิติธรรม สร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม แม้ว่าหลายประเด็นอาจจะมีข้อโต้แย้ง คัดค้าน และรัฐสภาอาจจะไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตัวเอง แม้ว่ากฎหมายจะเปิดช่องไว้ให้ก็ตาม อาจจะมีการแสวงหากระบวนการให้ประชาชนมีส่วนร่วม โดยมีคนเป็นกลางสร้างความเห็นพ้องนั้น อย่างไรก็ตาม สังคมคาดหวังมาก จึงอยากเรียกร้องไปยังสมาชิกสองสภาให้แสดงความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์และแสดงเหตุผลเพื่อประโยชน์ของประชาชนในระหว่างการอภิปราย
ด้าน น.ส.ผ่องศรี ธาราภูมิ ส.ส.ลพบุรี ในฐานะรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคได้จัดเตรียมเป้าหมายและยุทธศาสตร์การอภิปรายไว้ว่าต้องไปเป็นอย่างมีเหตุผล มีสาระ สร้างสรรค์ แบ่งเป็นสามกรอบๆ แรกคือกรอบที่คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญได้เสนอไว้ มีจำนวน 8 คน นอกจากนี้ ยังมีผู้อภิปรายหลักซึ่งเป็นผู้ใหญ่ของพรรคจะเป็นผู้จุดประเด็นเสนอทางออกให้กับบ้านเมือง เช่น นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรค นายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรค นายนิพนธ์ วิศิษฎ์ยุทธศาสตร์ อาจจะร่วมแสดงความเห็นคิดด้วย แต่จะเป็นวันเวลาใดต้องดูความเหมาะสามอีกครั้ง ส่วนคนอื่นก็เปิดกว้างให้ โดยล่าสุดมีคนเข้าชื่อแล้วประมาณ 30-40 คน
น.ส.ผ่องศรี กล่าวด้วยว่า การประชุมดังกล่าวคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาลจะมีคณะทำงานเพื่อเก็บเกี่ยวประเด็นการอภิปรายทั้งหมดและให้ไปฟังประชาชนที่ติดตามการประชุมว่ามีความคิดเห็นอย่างไร โดยมีนายชำนิเป็นประธาน
รายงานข่าวแจ้งว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรค รองนายกฯ ได้กำกับต่อส.ส. พรรคว่าขอให้รักษาน้ำใจพรรคร่วมรัฐบาลอย่าพูดจากระทบกระทั่งกัน เพราะต้องยอมให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 ประเด็น คือ มาตรา 190 และเรื่องเขตเดียวเบอร์เดียว “ขอให้ส.ส.อย่าเก่งทุกเรื่องหยุดพูดกันหน่อย เพราะผมได้ตกลงกับพวกเขาตอนขอให้มาช่วยจัดตั้งรัฐบาลเอาไว้ ก็ต้องทำตามสัญญา” นายสุเทพกำชับต่อที่ประชุม
อย่างไรก็ตาม คำพูดดังกล่าวของนายสุเทพได้สร้างความไม่พอใจต่อสมาชิกพรรคหลายคน โดยเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องใหญ่ควรให้ ส.ส.มีโอกาสร่วมแสดงความคิดเห็น โดยนายบัญญัติกล่าวว่า ส.ส.ควรจะได้พูดกันเต็มที่ แต่จะต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นผู้ใหญ่ที่ต้องการช่วยกันแก้ปัญหาและข้อเท็จจริง แต่ตราบใดที่ให้นักการเมืองเป็นคนแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่มีทางที่จะทำได้โดยไม่หวังในเรื่องของผลประโยชน์ตนเอง และจะทำให้สังคมเกิดแรงต่อต้านจนทำไม่สำเร็จ ดังนั้น ทางออกที่ดีที่สุดคือควรมีองค์กรที่มีความเป็นกลางขึ้นมาทำหน้าที่เป็นตัวหลัก โดยให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม จึงจะทำได้สำเร็จ