xs
xsm
sm
md
lg

ถก2สภาฟังความเห็นแก้รธน. ปชป.พร้อมทำประชาพิจารณ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- "มาร์ค"เผยส่งมติ ครม.ขอเปิดประชุมรัฐสภาถกแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว หวังรับฟังความคิดเห็นทุกฝ่าย ก่อนตัดสินใจแก้ประเด็นใดบ้าง ระบุ ส.ส.-ส.ว. เป็นตัวแทนประชาชน เชื่อมั่นสภามีคำตอบอธิบายสังคมได้ หากมีความเห็นขัดแย้งพร้อมทำประชาพิจารณ์ "เพื่อไทย"เล็งลักไก่เสนอแก้ม.278 และ309 ปูดปชป.เตรียมเขี่ยทิ้ง"ภูมิใจไทย" ยอมเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย ด้านกลุ่ม 40 ส.ว.ขู่ ส.ส.-ส.ว.ที่ลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ระวังเจอถอดถอน เผยมีผู้ไปขอถอนชื่อเพียบ

วานนี้ (8 ก.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ได้หารือในครม. และได้ส่งหนังสือถึงประธานรัฐสภาไปแล้วว่า รัฐบาลต้องการที่จะให้มีการประชุมร่วมของรัฐสภา เพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกได้อภิปรายทั่วไปเกี่ยวกับเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หากประธานจะกรุณาบรรจุวาระการประชุมได้เร็ว เชื่อว่าสัปดาห์หน้า จะมีการเปิดอภิปรายเรื่องนี้ได้
ทั้งนี้ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขึ้นอยู่กับการแสดงความคิดเห็นของสมาชิก ตนจะพยายามดูว่าอะไรที่เป็นจุดร่วม จะได้เดินหน้าได้ อะไรที่ยังเห็นว่ามีความหลากหลาย ก็ต้องพยายามดูเพื่อให้เกิดข้อยุติที่ดีอย่างไร เราจะต้องฟังเสียงทุกด้านที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้
"จากการที่ได้พูดคุยกับส.ส. หรือแม้กระทั่ง ส.ว. แบบส่วนตัว ก็ยังมีความเห็นที่หลากหลายอยู่ บางท่านมีความเห็นว่า อยากให้บางประเด็นมีการทำประชามติ บางท่านไปถึงขั้นที่ว่า จะทำกระบวนการ ส.ส.ร. หรือเปล่า ฉะนั้นความเห็นยังหลากหลายมาก แต่บางเรื่องค่อนข้างจะตรงกัน อย่างมาตรา 190 ซึ่งทุกฝ่ายเห็นว่า เป็นเรื่องที่น่าดำเนินการได้ ส่วนบางเรื่องที่มีการตั้งประเด็นอยู่ คือ มาตรา 122 ตรงนี้จะต้องดูด้วยความระมัดระวัง" นายอภิสิทธิ์กล่าว
เมื่อถามว่า เท่าที่ดู 6 ประเด็น ที่มีการเสนอแก้ไข เป็นผลประโยชน์ของนักการเมืองล้วนๆ มีอะไรที่ประชาชนได้ประโยชน์บ้าง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า คงไปตอบสรุปอย่างนั้นไม่ได้ ตนไม่ใช่คณะกรรมการ แต่มาตรา 190 เพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดิน ไม่ได้เป็นประโยชน์ของใครคนใดคนหนึ่ง แม้กระทั่งมาตราที่เกี่ยวข้องกับ มาตรา 265 และมาตรา 266 ตนยืนยันว่า เขามุ่งในเรื่องการทำงานของ ส.ส. และ ส.ว. ที่จะตอบสนองประชาชนได้มากขึ้น ส่วนเรื่องอื่นเป็นเรื่องของระบบ ว่าหลักการ ของประชาธิปไตย เช่น เรื่องที่มาของ ส.ว. ระบบเลือกตั้ง อะไรทำนองนี้ แต่มันเป็นเพียงข้อเสนอซึ่งเราต้องเปิดโอกาสให้คณะกรรมการได้อธิบายด้วย ฉะนั้นตนคิดว่า เป็นโอกาสดีที่เราให้ผู้แทนประชาชนแสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง และเป็นโอกาสที่กรรมการจะได้ตอบคำถาม เพราะได้มีสมาชิกรัฐสภา ยื่นคัดค้านเรื่องนี้ มาตั้งแต่วันที่คณะกรรมการส่งรายงานถึงประธานสภา จะได้มีการแสดงเหตุแสดงผลกัน
เมื่อถามว่าในความเห็นของนายกฯ คิดว่าแก้ไข 6 ประเด็นนี้แล้วจะสร้างความปรองดองได้หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนเคยตอบไปแล้ว โดยไม่เชื่อว่ารัฐธรรมนูญจะเป็นเงื่อนไขเดียวของสภาพปัญหาในขณะนี้
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า การอภิปรายครั้งนี้ ไม่มีการลงมติ แต่หลังจากนี้ ก็ต้องมาประมวลกันว่าจะเอาอย่างไร ซึ่งตนคิดว่าควรจะเปิดโอกาสให้ผู้แทนปวงชนชาวไทย ทั้ง ส.ส.ฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล และ ส.ว. ทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ได้แสดงความคิดเห็นก่อน อย่าเพิ่งไปด่วนสรุปว่ามันเป็นการอภิปรายแล้วจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้
เมื่อถามอีกว่าจะมีอะไรเป็นจุดเริ่ม ที่ไม่ให้เกิดความขัดแย้งตามมา และมีการเดินขบวนบนท้องถนน คัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญอีกรอบ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ต้องฟังเสียงของทุกพรรคการเมือง และส.ว. และการที่ตนเปิดสภาโดยก่อนเปิดสภา ฝ่ายต่างๆ สามารถสะท้อนความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ เพราะตนทราบดีว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นความละเอียดอ่อน บางกลุ่มมีจุดยืนที่จะไม่แก้ไข ฉะนั้นเราต้องฟังทุกฝ่าย
"ถ้านักการเมืองไปสมคบกันทำอะไรเสียหายให้กับประชาชน ประชาชนก็เปลี่ยนแปลงนักการเมืองได้ ฉะนั้นนักการเมืองที่มาในระบบนี้ ต้องตอบคำถามของประชาชนได้ ว่าที่ตัดสินใจทำแต่ละเรื่อง มันมีเหตุผลรองรับอย่างไร ถ้าเหตุผลไม่ดี ทำเพื่อตัวเอง ผมคิดว่าประชาชนก็ไม่ยอมรับ" นายอภิสิทธิ์กล่าว และว่าการกำหนดกรอบและวันอภิปราย ขึ้นอยู่กับประธานสภา ซึ่งอาจจะเป็นวันที่ 16 ก.ย.

**กก.สมานฉันท์ยันไม่มีอคติกับฝ่ายใด
นายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมือง และการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงการเตรียมการชี้แจงรายงานฉบับ “สมานฉันท์ สร้างสันติสุข” ต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภา ว่า จะรายงานให้ที่ประชุมทราบถึงการทำงานของอนุกรรมการทั้ง 3 ชุด ว่ามีความเป็นมาอย่างไร จนได้ข้อยุติเป็นรายงานฉบับสมานฉันท์สร้างสันติสุข ซึ่งกรรมการพร้อมที่จะยอมรับฟังความคิดเห็นจากสมาชิก ทั้ง ส.ส.-ส.ว. ว่าจะมีความเห็นเป็นอย่างไร
ทั้งนี้ขอยืนยันว่าการทำงานของคณะกรรมการฯยึดหลัก 3 ประการ คือ ความเป็นธรรม ความเป็นกลาง และความโปร่งใส และไม่รู้สึกหนักใจอะไรกับบรรยากาศการประชุม ที่จะมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เพราะองค์ประกอบของคณะกรรมการสมานฉันท์ชุดใหญ่ มีบุคคคลที่ถือเป็นตัวแทนของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคม มาร่วมเป็นกรรมการด้วย ดังนั้นผลการทำงานที่ออกมาจึงสามารถพูดได้ว่า ทำไปโดยไม่มีอคติกับใคร
**ปชป.กำหนดแนวทาง 3 ข้อ
นพ.บุรณัชย์ สมุทรรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงผลการประชุมพรรคในเรื่องนี้ ว่า ที่ประชุมเห็นด้วยกับการเปิดประชุมรัฐสภาเพื่ออภิปรายทั่วไป ตามรธน.มาตรา 179 โดยพรรคได้กำหนดแนวทางในการเตรียมการอภิปราย 3 ข้อ ด้วยกัน คือ 1.จะต้องให้กระบวนการนี้รับฟังความคิดเห็นรอบด้านจากทุกภาคส่วนในสังคม โดยผ่าน ส.ส. ส.ว.ซึ่งประชาชนจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง
2. จุดประสงค์ที่จะให้ภาพของสภาออกมาเป็นรูปของการสมานฉันท์มาเป็นรูปธรรม เพื่อให้สังคมได้รับทราบและเห็นว่ากระบวนนี้ได้เดินหน้า และไม่ไดซื้อเวลาอย่างที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกต 3. ต้องแสดงให้เห็นว่าทุกคนมีส่วนร่วมกับกระบวนนี้ ว่าได้ยึดประโยชน์โดยร่วมเป็นหลักก่อนการอภิปรายร่วม 2 สภา

**พร้อมทำประชาพิจารณ์
ด้านนพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า แนวทางของพรรคประชาธิปัตย์ที่ได้ถกกัน มีทางออกคือ หากประชุมสภาเห็นพ้องร่วมกันในประเด็นใด โดยไม่มีกระแสคัดค้านจากประชาชน แนวทางนั้นน่าจะเป็นแนวทางแก้ไขก่อนได้เลย
ส่วนประเด็นใดที่เป็นความเห็นขัดแย้งกันที่เป็นประเด็นใหญ่ ต้องรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ด้วยการประชาพิจารณ์ หรือประชามติ
ส่วนที่หลายคนท้วงติงว่า การแก้ไขครั้งนี้ เกี่ยวข้องกับนักการเมืองทั้งสิ้น ประชาชนไม่ได้ประโยชน์อะไร ก็มีการเสนอว่าควรขยายวงกว้างออกไป เอาประเด็นที่เกี่ยวข้องกับประชาชนโดยตรงมาแก้ไข และสุดท้ายก็ไปจบตรงที่ว่า การเปิดประชุมรัฐสภาในสัปดาห์หน้า เสียงส่วนใหญ่สะท้อนออกไปในทิศทางใด ถ้าเสียงส่วนใหญ่ระบุว่าเห็นพ้องร่วมกันในประเด็นนี้ และประชาชนขานรับกระบวนการ ก็ดำเนินการแก้ไข แต่ถ้าเสียงส่วนใหญ่เป็นพ้องว่าจะต้องพิจารณาประเด็นที่เกี่ยวข้องกับประชาชนโดยตรง ก็ต้องเป็นไปในอีกแนวทางหนึ่ง

**พท.เล็งลักไก่เสนอแก้ม.278 และ309
นายประเกียรติ นาสิมมา ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย กล่าวว่าพรรคสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ประเด็น ตามที่คณะกรรมการสมานฉันท์ฯมีความเห็น ส่วนกรณีที่รัฐบาลกำหนดให้เปิดประชุมร่วมรัฐสภานั้น พรรคจะขอฟังรายละเอียดทั้งหมดก่อน ว่าจะเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับของพรรคที่มีประเด็นการแก้ไข มาตรา 278 ที่เปิดโอกาสให้สามารถอุทธรณ์คดีในชั้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ และแก้ไข หรือยกเลิกมาตรา 309 ด้วย สำหรับกรณีที่กลุ่มพันธมิตรฯ จะยื่นถอดถอนส.ว.และส.ส. ที่ร่วมลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยอ้างว่าเป็นการแก้ไขเพื่อตัวเองนั้น ฝ่ายกฎหมายของพรรคพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่สามารถถอดถอนได้
**ปูดปชป.เตรียมเขี่ยทิ้ง ภท.
นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค และส.ส.พรรคเพื่อไทยว่า ส.ส.หลายคนได้พูดคุยถึงกรณีที่มีข่าวว่าพรรคประชาธิปัตย์ จะยอมเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย โดยจะปรับครม. เขี่ยพรรคภูมิใจไทยออกไป เนื่องจากเกิดความขัดแย้งกันหลายเรื่อง ทั้งการตั้ง ผบ.ตร. และผลประโยชน์ในอีกหลายโครงการ โดยเห็นว่าเมื่อเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย แต่ก็ยังสามารถบริหารประเทศไปได้อีกจนถึงต้นเดือนม.ค. และไม่ต้องคำนึงถึงผลโหวตในที่ประชุมสภาด้วย เพราะไม่มีผลกระทบต่อรัฐบาล ดังนั้นพรรคจึงต้องเตรียมพร้อมเลือกตั้งโดยไม่ต้องรอการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่รัฐบาลพยายามซื้อเวลา

**ขู่ถอดถอนส.ว.-ส.ส.ร่วมเซ็นแก้รธน.
นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา สมาชิกกลุ่ม 40 ส.ว. กล่าวถึงกรณี ส.ว.และส.ส. ล่ารายชื่อ ยื่นร่าง รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่... พ.ศ.... ให้ นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา เพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า ตนได้หารือกับนักกฎหมาย ในเรื่องที่เสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญใน 6 ประเด็นนั้น ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 122 ซึ่งเรื่องนี้ ส.ส.จำนวน 1 ใน 4 สามารถที่จะนำเรื่องนี้ยื่นเรื่องเพื่อถอดถอนต่อประธานวุฒิสภาได้ ตามมาตรา 270 และ 271 เพื่อให้ประธานวุฒิสภาส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. ต่อไป
นอกจากนี้ประชาชนยังสามารถยื่นเรื่องร้องต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในมาตรา 272 และ 274 หาก ป.ป.ช. พิจารณาว่าผิดจริง ส.ส.และส.ว.ที่ร่วมเซ็นชื่อก็ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที หรืออาจนำไปสู่การพ้นจากตำแหน่ง เมื่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสนว่าผิด อย่างไรก็ตามคาดว่าจะมีประชาชนไปยื่นต่อ ป.ป.ช.ในวันศุกร์นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้มี ส.ว.ที่ร่วมเช็นแก้ไขรัฐธรรมนูญ เริ่มทยอยถอนชื่อกว่า 10 คนแล้ว อาทิ นางรสสุคนธ์ ภูริเดช ส.ว.สรรหา พล.ต.ต.สุเทพ สุขสงวน ส.วงสรรหา พล.ต.อ.อำนวย เพชรศิริ ส.ว.สรรหาและน.ส.เกศิณี แขวัฒนะ ส.ว.สรรหา

-----------
กำลังโหลดความคิดเห็น