xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.เสนอประชุมร่วม 2 สภาทำประชาพิจารณาแก้ไข รธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์
ที่ประชุมพรรค ปชป.เห็นชอบเปิดประชุมร่วม 2 สภา ถกแก้ รธน.พร้อมกำหนดแนวทางชัดเจน 3 ข้อ เน้นรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน เปิดทางทำประชาพิจารณ์ ยันพรรคเห็นด้วยกับแนวทางของ กก.สมานฉันท์

วันนี้ (8 ก.ย.) นพ.บุรณัชย์ สมุทรรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงผลการประชุมว่า ที่ประชุมเห็นด้วยกับการเปิดประชุมรัฐสภาเพื่ออภิปรายทั่วไป ตาม รธน.มาตรา 179 ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นในการรับฟังความคิดเห็น ผ่าน ส.ส.และ ส.ว.เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นส่วนแรกของการปฏิรูปการเมืองที่มีเป้าหมาย เพื่อสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในบ้านเมือง เพื่อลดเงื่อนไขความขัดแย้งในสังคมและป้องกันไม่ให้มีการเคลื่อนไหว ที่จะสร้างชนวนเหตุของความวุ่นวายเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง จากผู้ที่ไม่ต้องการเห็นบ้านเมืองสงบ โดยกลุ่มคนเหลานี้ยังเคลื่อนไหวอยู่ในปัจจุบัน ขณะเดียวกัน ก็อยากเรียกร้องให้ฝ่ายต่างโดยเฉพาะกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดงที่นัดชุมนุมในวันที่ 19 ก.ย.นี้ เกิดการเผชิญหน้าระหว่างคนไทยด้วยกันด้วยข้อมูลที่เป็นเท็จ

นพ.บุรณัชย์ กล่าวว่า ขอเรียกร้องไปยังพรรคเพื่อไทย อยากเห็นมาร่วมกันแสดงความเห็นในการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อเป็นทางออกแกสังคมร่วมกัน และขอให้ยุติการเคลื่อนไหวของแกนนำหลายคน ที่พยายามขยายผลจากคลิปเสียงนายกรัฐมนตรีอย่างต่อเนื่อง ก็จะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อกระบวนการสร้างความสมานฉันท์ โดยสภา ขณะเดียวกัน กรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ทวิตเตอร์มาถึง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในลักษณะที่ระบุว่าต้องการเจรจา และพร้อมจะรอคอยพูดคุย ซึ่งนายกรัฐมนตรีไม่ได้รับทราบโดยตรง เพราะหลังจากที่ นายสุทธิชัย หยุ่น ได้คุยทางทวิตเตอร์ นายอภิสิทธิ์ได้ปิดทวิตเตอร์ของตัวเองในเวลา 22.30 น.แต่พรรคก็มีความเห็นว่า การเจรจาจะเกิดขึ้นหรือไม่ ถือว่าเป็นตัวบุคคล และวันนี้อยากจะให้โอกาสสังคมร่วมกันหาทางออกร่วมกันแก้ไขระบบ และเรื่องของบ้านเมืองมากกว่า และไม่เห็นด้วยหากกระบวนการเหล่านี้ จะต้องมารอให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ส่งสัญญาณต่างๆ เพราะหากมีความตั้งใจจริงในการพูดคุยด้วยความสงบ ก็สามารถแสดงความจริงใจด้วยตลอด ทั้งก่อนหน้าที่ ขณะนี้ และอนาคต และยุติการเคลื่อนไหวไม่ให้มีการชุมนุมเกิดขึ้น ไม่ใช้คดีอาญาของตัวเองเป็นข้อต่อรองในการเจรจา

นพ.บุรณัชย์ กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน พรรคเห็นว่าการให้สภาเป็นทางออกโดยการนำรายงานของคณะกรรมการสมานฉันท์ปฏิรูปการเมืองและแก้ไขรัฐธรรมนูญ น่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดในขณะนี้ โดยพรรคได้กำหนดแนวทางที่สำคัญที่สุดในการเตรียมการอภิปราย 3 ข้อด้วยกัน คือ 1.จะต้องให้กระบวนการนี้รับฟังความคิดเห็นรอบด้านจากทุกภาคส่วนในสังคม โดยผ่าน ส.ส. ส.ว.ซึ่งประชาชนจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง 2.จุดประสงค์ที่จะให้ภาพของสภาออกมาเป็นรูปของการสมานฉันท์มาเป็นรูปธรรม เพื่อให้สังคมได้รับทราบและเห็นว่ากระบวนนี้ได้เดินหน้า และไม่ไดซื้อเวลาอย่างที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกต 3.ต้องแสดงให้เห็นว่าทุกคนมีส่วนร่วมกับกระบวนนี้ ว่าได้ยึดประโยชน์โดยร่วมเป็นหลักก่อนการอภิปรายร่วม 2 สภา

ด้าน นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคเห็นด้วยกับมติ ครม.ที่จะใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 179 เพื่อขอเปิดประชมรัฐสภา รับฟังความคิดเห็นของสมาชิกรัฐสภา โดยเฉพาะประเด็นที่คณะกรรมการสมานฉันท์นำเสนอ โดยหลักการแล้ว พรรคถือว่าอย่างน้อยท่าทีของรัฐบาล ที่เสนอมาก็เป็นการขานรับการทำงานของคณะกรรมการสมานฉันท์ ว่า รัฐบาลไม่ได้เพิกเฉยต่อการทำงานของคณะกรรมการชุดนี้ นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นว่า รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสมาชิกรัฐสภาทั้งหมด และเกี่ยวข้องกับประชาชนทั้งประเทศ เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านการทำประชามติ ดังนั้น การแก้ไขมาตราใด บทบัญญัติข้อใดต้องไม่ผลีผลามต้องรับฟังความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่

รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวต่อว่า โดยสรุปแล้วแนวทางของพรรคประชาธิปัตย์ที่ได้ถกกันมีทางออก 2 แนวทาง คือ 1.ถ้าสมมติว่าที่ประชุมสภาเห็นพ้องร่วมกันในประเด็นใด โดยที่ไม่มีกระแสคัดค้านจากประชาชน แนวทางนั้นน่าจะเป็นแนวทางแก้ไขก่อนได้เลย และประเด็นใดที่เป็นความเห็นขัดแย้งกัน ที่เป็นประเด็นใหญ่ต้องรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ด้วยการประชาพิจารณ์หรือประชามติ แต่อีกมุมหนึ่งมีการเสนอความเห็นว่า เนื่องจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญแต่ละครั้ง ไม่ใช่เป็นการแก้ไขที่ง่ายๆ เพราะต้องเกี่ยวข้องกับประชาชนทั้งหมด ก็มีผู้เสนอว่าถ้าจะแก้ก็ต้องให้ประชาชนเห็นด้วย เพราะขณะนี้ประมาณ 5-6 ประเด็นที่คณะกรรมการสมานฉันท์ เสนอเข้ามา หลายคนท้วงติงว่า ที่เกี่ยวข้องกับนักการเมืองทั้งสิ้น และเราจะเจอคำถามจากประชาชนเป็นจำนวนมาก ว่า การแก้ครั้งนี้ประชาชนได้ประโยชน์อะไร ก็มีการเสนอว่าควรขยายวงกว้างออกไป เอาประเด็นที่เกี่ยวข้องกับประชาชนโดยตรงมาแก้ไข และสุดท้ายก็ไปจบตรงที่ว่า การเปิดประชุมรัฐสภาในสัปดาห์หน้าเสียงส่วนใหญ่ สะท้อนออกไปในทิศทางใด ถ้าเสียงส่วนใหญ่ระบุว่า เห็นพ้องร่วมกันในประเด็นนี้ และประชาชนขานรับกระบวนการก็ดำเนินการแก้ไข แต่ถ้าเสียงส่วนใหญ่เป็นพ้องว่า จะต้องพิจารณาประเด็นที่เกี่ยวข้องกับประชาชนโดยตรง ก็ต้องเป็นไปในอีกแนวทางหนึ่ง

ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้าที่ประชุมร่วมรัฐสภาเห็นพ้องในประเด็นใด พรรคจะต้องเห็นด้วยในทิศทางนั้นหรือไม่ นพ.บุรณัชย์ กล่าวว่า พรรคเห็นว่าข้อสรุปที่คณะกรรมการสมานฉันท์เสนอมาเรื่องที่เห็นสอดคล้องกัน ซึ่งเป็นปัญหาจริงๆ ทั้งในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาล และฝ่ายค้าน ส.ว.ในการยื่นร่างบางร่าง และมติของคณะกรรมการสมานฉันท์ที่ได้เสนอมานั้น พรรคเห็นว่าบางส่วนเดินหน้าได้เลย ไม่ได้ติดขัด เช่น กรณีมาตรา 190 หรือแม้แต่เรื่องเขตเลือกตั้ง ถ้าที่ประชุมเห็นว่าน่าจะได้ประโยชน์ขึ้น ซึ่งเขตเลือกตั้งเล็กหรือใหญ่ก็กระทบประชาชนน้อยกว่าพรรคการเมือง พรรคไม่เห็นว่าเรื่องนี้จะเป็นอุปสรรค ก็สามารถเดินหน้าได้ แต่บางอย่างก็มีความหลากหลายทางความคิด หลายร่างที่อยู่ในระเบียบวาระของสภา เช่น ร่างของ คปพร.ร่างกฎหมายนิรโทษกรรม หรือร่างใหม่ที่วุฒิฯ และ ส.ส.เสนอมา มีหลาย 10 ประเด็น ก็มีหลายฝ่ายที่แสดงความห่วงใยว่า ถ้าไม่มีกระบวนการรับฟังเหตุผลของแต่ละฝ่ายในการประชุมร่วมรัฐสภาก็อาจจะทำให้เกิดความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน และวัตถุประสงค์ในการที่จะให้การปฏิรูปการเมือง โดยใช้สภาเป็นทางออกด้วยการสร้างความเห็นชอบ ก็อาจจะได้ผลที่ตรงข้ามกับเจตนา คือ ความขัดแย้งจากความไม่เห็นพ้องต้องกัน แต่ที่อยากได้จากที่ประชุมร่วมรัฐสภา คือ ความเห็นพ้อง

เมื่อถามว่า จุดยืนของพรรคทำไมถึงไม่เสนอไปเลยว่าแก้มาตรานั้น ไม่เห็นด้วยมาตรานี้ นพ.วรงค์ กล่าวว่า วันนี้ยังไม่มีพรรคการเมืองใดที่มีเสียงเกิน 311 เสียง เพราะลำพังเสียงของรัฐบาลมีอยู่ 270 กว่าเสียง ดังนั้น เราต้องอาศัยเสียงอย่างอื่น ไม่ว่าจะเป็นเสียงของฝ่ายค้าน ส.ส. และเสียงของส.ว.มาร่วมกันคือ 2 ใน 3 จึงจะแก้รัฐธรรมนูญได้ ดังนั้น เราจึงย้ำถึงความเห็นพ้องของสมาชิกรัฐสภา ถ้าเราประกาศฟันธงลงไปแล้วเขาไม่เห็นด้วยก็ไม่มีทางแก้ไขได้ นี่คือประเด็นสำคัญ ขณะเดียวกันวันนี้ประชาธิปัตย์ ไม่เคยกลัวในเรื่องของเขตเล็กเขตใหญ่ หรือในเรื่องของมาตรา 190 แต่สิ่งที่เรากังวล คือ ถ้าเราขยับขับเคลื่อนอะไรไปแล้วแทนที่เราจะสมานฉันท์ แต่มีม็อบมาล้อมสภาก็จะเป็นปัญหาขึ้นมาอีก ดังนั้น เราจึงย้ำว่าอะไรก็แล้วแต่ที่สมาชิกรัฐสภาเห็นพ้องร่วมกัน ไม่ใช่ปัญหา และการแก้ไขนี้ไม่ใช่นำมาซึ่งม็อบปิดล้อมรัฐสภาคือ ประชาชนต้องไม่ต่อต้าน

ด้าน นพ.บุรณัชย์ กล่าวว่า การที่จะสร้างความเห็นชอบก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องยืดออกไป หรือแทงกั๊ก หรือซื้อเวลา แต่จะเป็นในรูปแบบของการทำประชาพิจารณ์ หรือประชามตินั้น ทุกอย่างต้องมีกรอบเวลาที่ชัดเจน ว่าจะนำไปสู่การปฏิรูปการเมือง หรือแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างไร

ผู้สื่อข่าวถามว่า จุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์สมัยเป็นฝ่ายค้าน ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกมาตรา วันนี้การหารือของพรรคตกผลึกมากน้อยแค่ไหน นพ.วรงค์ กล่าวว่า ต้องยอมรับว่า จุดเริ่มต้นของพรรคประชาธิปัตย์ ไม่มีจุดยืนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่หลังจากมีคณะกรรมการสมานฉันท์ขึ้นมา ซึ่งมีตัวแทนของทุกภาคส่วน ตนกำลังจะชี้ให้เห็นว่าเรารับฟังเสียงส่วนใหญ่ เมื่อมติเสียงส่วนใหญ่ออกมาประมาณ 5-6 ประเด็น พรรคก็มาไล่ดูโดยหลักการว่าเรื่องไหนรับได้บ้าง เช่น มาตรา 190 ส่วนเขตเล็กเขตใหญ่พรรคก็ไม่ขัดข้อง พร้อมที่จะแก้ไข แต่มาตรา 237 ผลกระเทือนกับสังคมสูงมาก ส่วนมาตรา 265-266 เป็นผลประโยชน์กับส.ส.โดยตรง ตนเชื่อว่า ประชาชนหลายส่วนอาจจะรับไม่ได้กับการแก้ไข หรือถ้าประเด็นใดที่ประชาชนต้องการอะไรมากกว่านี้ก็ให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณา

ผู้สื่อข่าวถามว่า กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ออกมาค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นพ.วรงค์ กล่าวว่า กลุ่มพันธมิตรฯมีการเคลื่อนไหวเรื่องการปฏิรูปการเมือง โดยมีแนวทางเรื่องการเมืองใหม่ ซึ่งจะมีลักษณะใด แนวทางที่ผ่านมาก็เกี่ยวข้องกับการมีส่วนร่วมและการที่ต้องแก้ไขบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ สิ่งที่กลุ่มพันธมิตรฯกังวล คือ เรื่องการแก้ไขอะไรที่จะเอื้อประโยชน์แก่คนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดที่สังคมไม่ได้รับประโยชน์ ซึ่งกระบวนการนี้พรรคอยากเห็นว่ากลุ่มที่เคลื่อนไหวการเรียกร้องประชาธิปไตย อยากสะท้อนข้อห่วงใยผ่านเข้าสู่กระบวนการหลังการประชุมร่วมของรัฐสภา เช่น การประชาพิจารณ์ หรืออาจจะร่วมใน ส.ส.ร.เป็นต้น และอยากเห็นว่าการปฏิรูปการเมืองจะเกิดผลได้ กลุ่มการเมืองต่างๆ น่าจะมีบทบาทในการมีส่วนร่วมด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่า จุดยืนของ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ กับนายบัญญัติ บรรทัดฐาน รองประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ มีความเห็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับท่าทีของพรรคหรือไม่ นพ.วรงค์ กล่าวว่า จุดยืนของ นายชวน และ นายบัญญัติตนเข้าใจว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญในขณะนั้น มีการพูดถึงบางมาตราที่ขณะนี้ได้ขับเคลื่อนจากจุดนั้นแล้ว และที่ประชุมพรรคถือว่าความเห็นของเสียงส่วนใหญ่ ทั้งในที่ประชุม ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลและประชาชน ทุกท่านก็รับฟังอย่าลืมว่าแนวทางการเปิดประชุมร่วมที่พิจารณารายงานของคณะกรรมการสมานฉันท์ มาจากการที่นายกฯร้องขอ ผ่านประธานรัฐสภา ดังนั้น กระบวนการนี้ถือว่าเรามีส่วนร่วมทำให้เกิดขึ้นจึงไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไม่ให้ขับเคลื่อนไปถึงแนวทางปฏิรูปการเมืองที่สร้างสรรค์
กำลังโหลดความคิดเห็น