xs
xsm
sm
md
lg

“ดิเรก” ถือหางเพื่อแม้วเร่ง “มาร์ค” แก้ รธน.ค้านตั้ง ส.ส.ร.3

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี ในฐานะประธานคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและแก้ไขรัฐธรรมนูญ
“ประธานกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองฯ” เชื่อนายกฯ เตรียมนำ 6 ข้อเสนอแก้ รธน.เข้าสภาฯ ในสมัยประชุมนี้ พร้อมค้านข้อเสนอ “ชินวรณ์” ตั้ง ส.ส.ร.3 ชี้อาจถูกมองซื้อเวลา จี้นายกฯ ใช้อำนาจตัดสินใจให้เด็ดขาด เตือนทีมโฆษก ปชป.หยุดแลกหมัดฝ่ายค้าน หวั่นสถานการณ์แรงอีก

วันนี้ (25 ก.ค.) นายดิเรก ถึงฝั่ง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า เชื่อว่านายกฯ จะนำ 6 ข้อเสนอเร่งด่วนแก้ไขรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ เข้าสู่การประชุมสภาสมัยนิติบัญญัติ ที่จะเริ่มขึ้นในวันที่ 1 ส.ค.นี้ เพราะในวันส่งมอบให้กับนายกรัฐมนตรี และนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร นายกรัฐมนตรีออกปากกับนายชัยว่าจะนำข้อเสนอดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ โดยเร็วที่สุด ซึ่งน่าจะหมายถึงการนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาในสมัยประชุมนี้

ส่วนข้อเสนอของนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ประธานวิปรัฐบาล ที่เห็นว่าควรจัดตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ชุดถาวร หรือ ส.ส.ร.3 ขึ้นมาเพื่อพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับนั้นนั้น นายดิเรกกล่าวว่า ไม่สมควรทำเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้รัฐบาลเสียหาย เนื่องจากจะถูกมองได้ว่าเป็นความพยายามซื้อเวลา ซึ่งตนอยากเรียกร้องให้นายกฯ ใช้ความเด็ดขาดในการตัดสินใจเรื่องดังกล่าว เพราะเชื่อว่าจะไม่มีปัญหาตามมาแน่นอน เพราะในเวลานี้ทุกฝ่ายต่างต้องการเห็นบ้านเมืองสมานฉันท์ทั้งสิ้น

ทั้งนี้ นายดิเรกยังได้เตือนทีมโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ควรลดการใช้วาทะตอบโต้ฝ่ายตรงข้าม เพื่อไม่ให้อุณหภูมิการเมืองกลับมาสู่ความร้อนแรงอีก อีกทั้งยังเป็นการทำให้รัฐบาลเสียคะแนน ในสายตาประชาชน

อนึ่ง เมื่อวันที่ 24 ก.ค.ที่ผ่านมา นายวิทยา บูรณศิริ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้านได้แถลงการณ์เรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เร่งดำเนินการเพื่อให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ประเด็นตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ โดยอ้างว่านายอภิสิทธิ์ต้องทำตามสัญญาที่เคยให้ไว้ตอนที่สั่งให้มีการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ

อย่างไรก็ตาม สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ประเด็นดังกล่าว ล้วนแต่เอื้อประโยชน์ให้นักการเมืองทำการทุจริตได้ง่ายขึ้นทั้งสิ้น เช่น การแก้ไขมาตรา 237 ที่ยกเลิกบทกำหนดโทษยุบพรรคหากรรมการบริหารพรรคทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง แก้ไขมาตรา 190 เปิดทางให้รัฐบาลทำสัญญากับต่างประเทศโดยไม่ต้องผ่านรัฐสภาซึ่งจะทำให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนได้ง่ายเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กรณีทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับจีนและออสเตรเลีย แก้ไขมาตรา 266 เปิดช่องให้นักการเมืองเข้าไปก้าวก่ายการทำงานของข้าราชการประจำเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว เป็นต้น ทั้งนี้ ประเด็นดังกล่าว กลุ่ม 40 ส.ว.ได้ออกมาคัดค้านอย่างแข็งขัน รวมทั้งเป็นประเด็นที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเคยออกมาชุมนุมใหญ่ต่อต้านเมื่อปี 2551 ที่ผ่านมา ดังนั้นหากมีการเร่งรัดให้แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ประเด็นดังกล่าวจะนำไปสู่ความขัดแย้งอย่างแน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น