ที่ประชุมกรรมการสมานฉันท์ประชุมนัดสุดท้าย เคาะผลหารือสุดท้าย ก่อนส่งรายงานถึงมือนายกฯ 16 ก.ค.นี้ เตรียมนำผลขึ้นเว็บไซต์รัฐสภา ขณะที่ “ป๋าเหนาะ” เปรียบประเทศเป็นเรือเกยตื้น รอวันล่ม ย้ำกรรมการอย่าไปกลัวใคร ปฏิเสธนั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรคเพื่อไทย วอนทุกคนจับมือแก้วิกฤตชาติ พร้อมยอมเป็นฝ่ายค้าน เผยรายงานกรรมการสมานฉันท์สอดไส้เสนอให้คืนสิทธิ กก.บห.ที่ถูกยุบพรรคตัดสิทธิ 5 ปี-ออก พ.ร.บ.ปรองดอง
วันนี้ (14 ก.ค.) ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีนายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี เป็นประธาน โดยเป็นการประชุมนัดสุดท้ายเพื่อพิจารณารายงานผลการศึกษาของคณะกรรมการฯ ก่อนที่จะเสนอรายงานกับนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ซึ่งนายดิเรกได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า ขอเชิญคณะกรรมการทุกคนมาร่วมส่งมอบรายงานของคณะกรรมการฯ ต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในวันที่ 16 ก.ค.เวลา 13.30 น. ณ ห้องรับรองพิเศษ อาคารรัฐสภา 2 โดยจะใช้เวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง โดยขั้นตอนคือ ประธานจะสรุปผลการศึกษาก่อนจะให้อนุกรรมการ 3 คณะสรุปผลการศึกษา
ทั้งนี้ ในการเสนอรายงานจะจัดพิมพ์บทสรุปจำนวน 2,000 เล่ม เพื่อมอบแก่ ส.ว.และ ส.ส. รวมถึงแจกไปยังส่วนต่างๆ ทั่วประเทศ จากนั้นในเวลา 18.00 น.จะมีงานเลี้ยงที่โรงเรมรอยัลปริ๊นเซส หลานหลวง นายดิเรกได้ขอหารือว่า นายสันติ พร้อมพัฒน์ กรรมการจากสัดส่วนพรรคเพื่อไทย ได้ขอพิมพ์เพิ่มเติมเองจำนวน 1,000 เล่ม โดยออกค่าใช้จ่ายเอง ทางที่ประชุมจะเห็นอย่างไร ซึ่งที่ประชุมมีมติให้หน่วยงานหรือบุคคลที่จะจัดพิมพ์เองได้ต้องขออนุญาตจากประธานคณะกรรมการฯก่อน และนำผลรายงานขึ้นเว็บไซต์ของรัฐสภาด้วย นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เสนอให้มีคณะกรรมการสมานฉันท์ถาวรขึ้นมาติดตามการทำงานในเรื่องแก้รัฐธรรมนูญและปฏิรูปการเมืองเพื่อให้มีความต่อเนื่อง
นายเสนาะ เทียนทอง หัวหน้าพรรคประชาราช กรรมการฯ กล่าวว่า หากจะทำให้เกิดผลจริงคณะกรรมการฯต้องกล้าพูดความจริงว่าวิกฤตเกิดเพราะอะไร ถ้าไม่มีใครกล้าพูดก็ไม่สามารถทำงานใหญ่ได้สำเร็จ ทั้งนี้ไม่ต้องไปสนใจว่าจะมีคณะกรรมการฯ คนใดเอาเรื่องไปข้างนอก เพราะคนในสังคมรู้อยู่แล้วว่าอะไรเป็นอะไร วันนี้ประเทศเหมือนเรือที่บรรทุกคน 60 ล้านคนไปเกยตื้น รอแต่ว่าวันใดจะล่มสลาย ตนพูดในฐานะผู้อาวุโสที่เห็นโลกมามาก หากคิดว่าชัยชนะที่อยู่บนซากศพ สุดท้ายก็จะนำไปสู่ความล่มสลายของประเทศชาติ ส่วนจะทำอย่างไรเอาใครมาช่วยบ้านเมืองนั้น ตนก็รู้หมดว่าใครนิสัยอย่างไร มีเบื้องหลังอย่างไร มีความสามารถหรือไม่ ที่พูดไม่ได้หวังตำแหน่งใดๆ รวมทั้งกระแสข่าวที่ว่า ตนจะไปเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยก็ไม่เป็นความจริง อย่างไรก็ตาม การแตกแยกครั้งนี้ไม่เคยมีในประวัติศาสตร์ มันยิ่งกว่า เขมรที่แตกกันเป็น 3 ฝ่าย เพราะประเทศไทยตอนนี้มีมากกว่า 3 ฝ่าย ซึ่งตนยืนยันว่าคณะกรรมการฯ ชุดนี้มีความหวังดีต่อประเทศชาติ อย่าไปหวั่นไหวกับเรื่องใดๆ และขออย่าเอาชนะคะคานกัน ขอให้ทุกฝ่ายจับมือกัน ตนยอมเป็นฝ่ายค้านให้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรายงานผลการศึกษาของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีความยาวในส่วนเนื้อหา 48 หน้า ทั้งนี้ในส่วนบทที่ 5 บทสรุป และข้อเสนอแนะ มีรายละเอียดระบุว่า จากสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น คณะกรรมการฯ พิจารณาจากสภาพความเป็นจริงของสังคมไทยในช่วงขอบเขตเวลา นับตั้งแต่ปี 2540 -2550 เห็นว่า ปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และการนำรัฐธรรมนูญไปใช้ จึงเห็นสมควรให้แก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 ในบางประเด็นและบางมาตราเป็นการเร่งด่วนเฉพาะหน้า เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางในการลดเงื่อนไขความขัดแย้งเพื่อนำไปสู่การสร้างความสมานฉันท์และการปฏิรูปการเมืองในระยะต่อไปรวม 6 ประเด็น ได้แก่ 1.ประเด็นยุบพรรคการเมือง และการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรค (มาตรา 237) ซึ่งมีความสอดคล้องกับแนวทางปฏิรูปการเมือง ให้ยกเลิกการยุบพรรคการเมือง และเพิกถอนสิทธิ์เฉพาะตัวผู้สมัครที่ทำความผิด ถ้าบุคคลนั้นเป็นหัวหน้าพรรคหรือกรรมการบริหาร ก็ควรได้รับโทษที่สูงกว่าสมาชิกปกติ 2.ประเด็นที่มาของ ส.ส. (มาตรา 93-98) ให้ใช้ระบบปี 2540 โดยไม่กำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำของส..ส.ระบบบัญชีรายชื่อ 3.ประเด็นที่มาของ ส.ว. (มาตรา 111-121) ให้ใช้ระบบแบบปี 2540 4.ประเด็นการทำหนังสือสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา (มาตรา 190) ให้คงหลักการเดิมแต่เพิ่มเติมข้อความในวรรคห้าให้กำหนดประเภทของหนังสือสัญยาที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา 5.ประเด็นการดำรงตำแหน่งทางการเมืองของ ส.ส.(มาตรา 265) ให้ส.ส.ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อาทิ เลขาหรือที่ปรึกษารัฐมนตรีได้ และ6.ประเด็นการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนของ ส.ส.และ ส.ว. (มาตรา 266) ให้ตัดข้อความใน (1) ออก เพื่อให้ ส.ส.และ ส.ว.ช่วยเข้าไปแก้ปัญหาของประชาชนผ่านส่วนราชการได้
ส่วนข้อเสนอแนะในการปฏิรูปการเมือง คณะกรรมการฯ เห็นควรทำทั้งในระยะสั้น (1 ปี) ระยะกลาง (3 ปี) และระยะยาว (5 ปี) โดยมีแนวทาง ดังนี้ 1.ระยะสั้นและระยะกลาง ควรจัดตั้งคณะทำงานของรัฐสภาเพื่อศึกษาโครงสร้างของรัฐธรรมนูญและกฎหมายในประเด็นที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและไม่เป็นธรรม รวมทั้งประเด็นที่มีผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจ และที่เป็นปัญหาและข้อจำกัดในการพัฒนาประชาธิปไตย 2.ระยะกลางและระยะยาว ให้มีองค์กรทางวิชาการที่รับผิดชอบและประสานงานด้านการสร้างองค์ความรู้และการเผยแพร่ความรู้ด้านประชาธิปไตยโดยผ่านระบบการศึกษา การวิจัยและระบบอื่นๆ เพื่อสร้างวิถีและปลูกฝังจิตสำนึกประชาธิปไตยให้กับประชาชน 3.ระยะยาว ให้มีการตั้งองค์กรพิเศษเพื่อพิจารณาปฏิรูปการเมืองของรัฐสภา เป็นองค์กรเอกเทศที่เชื่อมโยงกับรัฐสภา โดยทำหน้าที่ประสานและแปลงแผนงานปฏิรูปการเมืองไปสู่การปฏิบัติ ทั้งนี้ กรณีที่ต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามนัยของมาตรา 291 หรือมาตราอื่นให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร.3 เพื่อดำเนินการปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งระยะสั้น กลางและยาว โดยควรปรับปรุงรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับเพื่อสร้างความยั่งยืน
สำหรับองค์กรพิเศษหรือ ส.ส.ร.3 ควรยึดแนวทางของกรรมการฯ ที่เสนอ เช่น 1.นำประเด็นปัญหาและข้อเสนอแนะในงานวิจัยของสถาบันและนักวิชาการมาเป็นข้อมูลฐานและแนวทางในการพัฒนาการเมือง 2.เปิดช่องในการเสนอความคิดเห็นเพื่อให้ประชาชนเสนอประเด็นและแนวทางปฏิรูปการเมือง 3.เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเพิ่มเติม ปฏิรูป และพัฒนาการเมืองด้วยรูปแบบและวิธีการต่างๆ
นอกจากนั้น คณะกรรมการฯ ได้ให้ข้อเสนอแนะในการปฏิรูปการเมืองไว้ 3 ประเด็น คือ 1.การปฏิรูปการเมืองนอกจากการแก้ไขตัวบทกฎหมาย ควรขยายไปถึงตัวบุคคลที่อยู่ในแวดวงการเมือง และเจ้าหน้าที่ที่ใช้อำนาจทางการเมือง เพราะหากบุคคลเหล่านี้ไม่เป็นธรรมและเล่นพรรคเล่นพวก การแก้ไขจะเป็นไปได้ยาก 2.การปฏิรูปการเมืองควรพิจารณาถึงบริบทของการเมืองคือ สังคม เศรษฐกิจ และจริยธรรมของนักการเมืองด้วย โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาระบบอุปถัมภ์และระบบพวกพ้อง การผูกขาดทางเศรษฐกิจ 3.การสร้างความสมานฉันท์ทางการเมือง ควรเรียงลำดับความสำคัญ คือ การสร้างความสมานฉันท์ การปฏิรูปการเมือง และการแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เป็นที่น่าสังเกตว่า ในรายงานที่จะนำเสนอต่อประธานรัฐสภาและนายกรัฐมนตรี มีข้อเสนอบางประการสอดไส้เข้ามา โดยที่ในช่วงการพิจารณาของคณะกรรมการฯ ไม่ได้มีมติ ได้แก่ บทที่ 2 การสร้างความสมานฉันท์ในบ้านเมือง ในส่วนแนวทางการดำเนินการสมานฉันท์ ข้อ 1 ระยะเร่งด่วน มีการระบุว่าให้มีการพิจารณาคืนสิทธิ และความเป็นธรรมให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้รัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น กรรมการบริหารพรรคที่ถูกยุบและถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง และหน้า 15 ข้อ 1.6 เรื่องการร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมานฉันท์และแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ข้อ 1.6.2 แนวทางการปฏิบัติ ให้พิจารณาแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง กฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง เป็นต้น รวมทั้งออกกฎหมายที่นำไปสู่ความสมานฉันท์ เช่น พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ