xs
xsm
sm
md
lg

“ดิเรก” หนุน “นช.แม้ว” จับเข่าคุยนายกฯ อ้างแนวทางสมานฉันท์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดิเรก ถึงฝั่ง
ประธาน กก.สมานฉันท์ หนุน “นช.แม้ว” เปิดเจรจา “มาร์ค” เชื่อยุติความขัดแย้ง ตามแนวทางสมานฉันท์ ยืนยันร่างฉบับนี้ไร้อคติ ยึดความเป็นธรรม เป็นกลาง โปร่งใส พร้อมรับหน้าเสื่อประสานสิบทิศ-กก.สมานฉันท์ถาวร

วันนี้ (8 ก.ย.) ที่รัฐสภา นายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมือง และการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงการเตรียมการชี้แจงรายงานฉบับ “สมานฉันท์ สร้างสันติสุข” ของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภา ที่จะมีขึ้นว่า จะรายงานให้ที่ประชุมทราบถึงการทำงานของอนุกรรมการทั้ง 3 ชุดว่า มีความเป็นมาอย่างไร จนได้ข้อยุติเป็นรายงานฉบับสมานฉันท์สร้างสันติสุข ซึ่งกรรมการพร้อมที่จะยอมรับฟังความคิดเห็นจากสมาชิก ทั้ง ส.ส.-ส.ว.ว่าจะมีความเห็นเป็นอย่างไร ทั้งนี้ขอยืนยันว่า การทำงานของคณะกรรมการฯยึดหลัก 3 ประการ คือ ความเป็นธรรม ความเป็นกลาง และความโปร่งใส และไม่รู้สึกหนักใจอะไรกับบรรยากาศการประชุม ที่จะมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ในผลการทำงานของทั้ง 3 คณะอนุกรรมการ เพราะองค์ประกอบของคณะกรรมการสมานฉันท์ชุดใหญ่ มีบุคคคลที่ถือเป็นตัวแทนของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคม มาร่วมเป็นกรรมการด้วย ดังนั้นผลการทำงานที่ออกมาจึงสามารถพูดได้ว่า ทำไปโดยไม่มีอคติกับใคร

ประธานกรรมการสมานฉันท์ฯ กล่าวต่อว่า ตลอดการทำงานของคณะกรรมการ ต้องขอชมเชยนายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา และประธานวุฒิสภา ที่ไม่เคยเข้ามาก้าวก่าย มาชี้นำการทำงานซึ่งขอยืนยันว่า ข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเบื้องต้นใน 6 ประเด็นทำเพื่อส่วนรวมไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล ที่จะเป็นอุปสรรคจากมาตรา 190 เรื่องการทำบันทึกข้อตกลงระหว่างประเทศที่ต้องเสนอขอความเห็นชอบจากรัฐสภา หรือมาตราที่เอื้อประโยชน์ให้กับประชาชน ไม่ว่าจะเป็น มาตรา 93-98 ตามการกำหนดเขตเรื่องตั้ง ให้กลับมาเป็นเขตเดียวเบอร์เดียวเหมือนปี 2540 เพื่อให้ส.ส.ดูแลประชาชนอย่างใกล้ชิด หรือมาตรา 265 เกี่ยวกับ ส.ส.เข้าไปช่วยเหลือแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน ซึ่งต้องมีการประสานงานกับหน่วยงานราชการในการเสนอเรื่องราวร้องทุกข์ไปให้ทราบ ซึ่งไม่ใช่การเข้าไปแทรกแซงการทำงานของราชการ

นายดิเรกกล่าวว่า ส่วนมาตรา 266 ที่ ส.ส.สามารถกลับมาดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยเลขารัฐมนตรีได้ ก็เพราะตำแหน่งนี้ถือเป็นตำแหน่งทางการเมือง ที่มาจากรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งถือเป็นบันไดการเรียนรู้ของนักการเมืองที่จะก้าวขึ้นเป็นรัฐมนตรีในอนาคต ซึ่งต้องยอมรับว่า รัฐธรรมนูญ 50 เขียนไว้ขัดต่อหลักข้อเท็จจริง ในหน้าที่การทำงานที่ ส.ส.ต้องดูแลทุกข์สุขของประชาชน วันนี้ต้องยอมรับว่าบรรยากาศความขัดแย้งทางการเมืองส่งผลให้ประชาชนเบื่อหน่าย เศรษฐกิจซบเซา เพราะนักลงทุนไม่มั่นใจในสถานการณ์ภายในประเทศ ดังนั้น อันดับแรกเราควรต้องทำให้การเมืองมีความชอบธรรม แล้วเศรษฐกิจจะเข้มแข็งและส่งผลให้สังคมน่าอยู่ ซึ่งอยากให้รัฐบาลนำรายงานของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯไปปฏิบัติเพราะเชื่อว่า จะเป็นการเริ่มต้นที่จะทำให้เกิดความสมานฉันท์ในบ้านเมืองได้ นอกจากนี้ หากที่ประชุมร่วมรัฐสภา มีมติตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ฯชุดถาวร หรือมอบหมายให้ตนทำหน้าที่ประสานงานกับทุกฝ่าย ตนพร้อมรับทำหน้าที่ทุกอย่าง เพราะเชื่อว่าสามารถประสานงานได้กับทุกฝ่ายโดยไม่มีอคติกับใครและไม่เคยให้ร้ายใครตลอดการทำงาน

เมื่อถามว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ระบุพร้อมเจรจากับนายกฯ ขณะที่กลุ่มคนเสื้อแดงนัดชุมนุมใหญ่ในวันที่ 19 ก.ย.จะทำให้เกิดความสับสนในแนวทางความต้องการสร้างสมานฉันท์ของ พ.ต.ท.ทักษิณหรือไม่ นายดิเรกกล่าวว่า ไม่ขอวิจารณ์การเคลื่อนไหวของกลุ่ม นปช.และกลุ่มคนเสื้อแดง เพราะถือเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่ตนเห็นด้วยกับข้อเสนอของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ต้องการเจรจากับนายกฯ เพราะสอดคล้องกับผลสรุปของคณะกรรมการสมานฉันท์ ของอนุกรรมการสมานฉันท์ ในรายงานส่วนแรกที่เสนอให้คู่ขัดแย้งทางการเมือง หันหน้าเจรจาเข้าหากัน เพราะการเจรจาคือหนทางสำคัญที่จะทำให้สงครามความขัดแย้งต่างๆ ยุติได้
กำลังโหลดความคิดเห็น