xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

บีโอไอ:แนวคิดทางทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ เกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม

เผยแพร่:   โดย: ยุทธศักดิ์ คณาสวัสดิ์

ปัจจุบันประชาชนทั่วโลกล้วนตื่นตัวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม แม้เราจะให้ความสำคัญในเรื่องนี้มากเพียงใดก็ตาม แต่ปัญหาสิ่งแวดล้อมกลับเป็นเรื่องยากที่จะแก้ไข ซึ่งบรรดานักเศรษฐศาสตร์ได้พยายามให้คำอรรถาธิบายเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยใช้ทฤษฏีเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยความล้มเหลวของตลาด และความล้มเหลวของรัฐบาล

ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมเป็นหัวข้อย่อยส่วนหนึ่งของทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ในระดับจุลภาค ซึ่งตามปกติแล้วตำราเศรษฐศาสตร์มักตั้งข้อสมมติฐานว่าตลาดแข่งขันสมบูรณ์ (Perfect Competition) ดังนั้น จะส่งผลทำให้มีการจัดสรรทรัพยากรต่างๆ อย่างเหมาะสม ก่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคมอย่างสูงสุด รวมถึงคุณภาพสิ่งแวดล้อมจะอยู่ในระดับที่เหมาะสมที่สุดตามไปด้วย

ปัญหาเกิดขึ้นเนื่องจากตลาดสิ่งแวดล้อมไม่ได้เป็นตลาดแข่งขันสมบูรณ์แต่อย่างใด เนื่องจากปัญหาสำคัญหลายประการ โดยเฉพาะปัญหาผลกระทบภายนอก (Externalities) ซึ่งเป็นคำที่มีการกล่าวถึงกันมากในทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ กล่าวคือ ปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ได้ส่งผลกระทบแก่ผู้ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมแต่อย่างใด หรือหากส่งผลกระทบแล้ว จะเป็นจำนวนน้อยมาก แต่ผลกระทบส่วนใหญ่จะเป็นผลกระทบต่อบุคคลอื่น

ตัวอย่างหนึ่ง คือ ปัญหามลพิษที่มาบตาพุด แม้ส่งผลกระทบต่อพนักงานที่ทำงานของบริษัทในพื้นที่นั้นบ้าง แต่ส่งผลกระทบต่อผู้บริหารระดับสูงของบริษัท คณะกรรมการบริษัท และต่อผู้ถือหุ้นในบริษัทน้อยมากหรือแทบไม่มีผลกระทบเลย เนื่องจากส่วนใหญ่อาศัยอยู่ที่กรุงเทพมหานคร โดยมีจำนวนน้อยมากที่อาศัยอยู่ในแถบมาบตาพุด ดังนั้น ผลกระทบเกือบทั้งหมดเป็นผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่แถบมาบตาพุดเป็นหลัก

นอกจากนี้ สิ่งแวดล้อม เช่น อากาศ แม่น้ำ ทะเล ฯลฯ ยังเป็นปัญหาที่เป็นสินค้าสาธารณะ (Public Goods) ไม่ได้มีผู้มีเจ้าของที่ชัดเจน ก่อให้เกิดปัญหาการแย่งใช้ประโยชน์จนเกินระดับความเหมาะสม โดยกฎหมายไม่ได้กำหนดอย่างชัดเจนว่าประชาชนหรือโรงงานเป็นเจ้าของสิทธิในอากาศและน้ำในบริเวณนั้นๆ

ยิ่งไปกว่านั้น ยังต้องเผชิญกับ ปัญหาข้อมูลข่าวสารที่ไม่สมบูรณ์ (Imperfect Information) กล่าวคือ ประชาชนไม่ทราบข้อมูลที่ถูกต้องสมบูรณ์ว่าผู้ประกอบการหรือบุคคลรายใดรายหนึ่งได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากน้อยเพียงใด และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมนั้นๆ ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อตนเองในด้านต่างๆ เช่น ผลกระทบต่อสุขภาพของประชากร ผลกระทบต่อการท่องเที่ยว ผลกระทบต่อรายได้อันเนื่องจากการจับปลาได้ลดน้อยลง ฯลฯ โดยคิดเป็นมูลค่ามากน้อยเพียงใด ทั้งนี้เพื่อให้สามารถเรียกร้องค่าเสียหายได้ถูกต้อง

จากการที่ตลาดสิ่งแวดล้อมไม่ได้แข่งขันอย่างสมบูรณ์ ได้ก่อให้เกิดปัญหาติดตามมา คือ ปัญหาความล้มเหลวของตลาด (Market Failure) กล่าวคือ ไม่ได้มีการจัดสรรทรัพยากรอย่างเหมาะสม ทำให้คุณภาพสิ่งแวดล้อมไม่ได้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และสามารถทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในทางสังคม (Socially Efficient Level) ตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ โดยต้นทุนที่คำนวณในการผลิตสินค้าหรือบริการของภาคเอกชนนั้น ไม่ได้นับรวมถึงต้นทุนความเสื่อมโทรมด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นต้นทุนทางสังคม (Social Cost) เข้าไปด้วย

ในทางทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ แนวทางการแก้ไขปัญหาคุณภาพสิ่งแวดล้อมดังกล่าวข้างต้น คือ การแทรกแซงของรัฐบาล ซึ่งมีรูปแบบหลากหลาย เป็นต้นว่า การเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม (Environment Tax) การให้เงินอุดหนุนแก่ภาคธุรกิจเพื่อดำเนินมาตรการรักษาสิ่งแวดล้อม การกำหนดกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อม ฯลฯ

ปัจจุบันกระบวนการควบคุมปัญหาสิ่งแวดล้อมที่นิยมนำมาใช้นั้น อยู่ในรูปมาตรฐานขั้นสูงในการปล่อยมลพิษเป็นหลัก ว่าจะต้องไม่ปล่อยมลพิษปริมาณมากเกินกว่าที่กำหนด โดยไม่คิดเป็นโควตาการปล่อยมลพิษแต่อย่างใด ซึ่งในทางทฤษฏีเศรษฐศาสตร์แล้ว การอนุญาตปล่อยมลพิษถือว่าเป็นค่าเช่า (Rent) อย่างหนึ่ง กรณีรัฐบาลได้มอบโควตานี้แก่โรงงานต่างๆ ตามที่ปล่อยมลพิษอย่างไม่คิดมูลค่า ไม่ได้เปิดประมูลขายโควตาเพื่อแสวงหาเงินเข้ารัฐแต่อย่างใด ดังนั้น นักเศรษฐศาสตร์จึงมองว่ามาตรการนี้เปรียบเสมือนกับรัฐบาลหยิบยื่นให้เงินอุดหนุนแก่อุตสาหกรรมที่ปล่อยมลพิษ (Dirty Subsidies)

ในทัศนะของนักเศรษฐศาสตร์ เห็นว่าภาษีสิ่งแวดล้อมน่าจะเป็นรูปแบบการแทรกแซงที่เหมาะสมมากที่สุด เนื่องจากภาษีที่จัดเก็บเพื่อให้กิจกรรมเป็นไปอย่างถูกต้อง (Corrective Tax) โดยนำหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย (Polluters’ Pay Principle - PPP) มาประยุกต์ใช้ในด้านสิ่งแวดล้อม

การเก็บภาษีสิ่งแวดล้อมจะส่งผลดีในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม กล่าวคือ เมื่อต้นทุนเพิ่มขึ้นของภาคเอกชน (Marginal Private Costs) + ภาษีสิ่งแวดล้อม อยู่ระดับเดียวกับต้นทุนเพิ่มขึ้นของสังคม (Marginal Social Costs) แล้ว ทำให้เกิดดุลยภาพใหม่ในด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นระดับเหมาะสมที่สุดในเชิงทฤษฎีเศรษฐศาสตร์มากที่สุด

แม้รัฐบาลสามารถมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาให้มลพิษอยู่ในระดับเหมาะสมที่สุดทางด้านเศรษฐกิจ แต่ในทางทฤษฎีเศรษฐศาสตร์แล้วยังต้องประสบปัญหาความล้มเหลวของรัฐบาล (Government Failure) กล่าวคือ แม้ในทางปฏิบัติแล้ว ระดับคุณภาพสิ่งแวดล้อมจะมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่า GDP ในการกำหนดสวัสดิภาพหรือความสุขของประเทศก็ตาม แต่การดำเนินนโยบายของรัฐบาลของประเทศต่างๆ มักให้ความสำคัญกับระดับ GDP เป็นหลัก โดยให้ความสำคัญระดับต่ำต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม

สาเหตุความล้มเหลวของรัฐบาลมีหลายสาเหตุ เป็นต้นว่า ระดับคุณภาพสิ่งแวดล้อมเป็นนามธรรมและเป็นสิ่งที่วัดได้ยาก ทำให้ยากในการนำมาใช้ประเมินผลงานของรัฐบาล ดังนั้น จึงให้ความสำคัญอย่างมากต่อ GDP ซึ่งสามารถวัดได้ง่ายกว่า และมักหยิบยกอัตราการเติบโตของ GDP มาเป็นตัวชี้วัดถึงความสำเร็จของรัฐบาล

ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์มองว่า GDP อาจจะไม่ใช่เครื่องสะท้อนถึงสวัสดิภาพหรือความสุขของประเทศอย่างที่คิด เป็นต้นว่า ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เคยให้ทัศนะว่า “ยิ่งอยู่ในอาชีพนักเศรษฐศาสตร์นานเข้าก็ยิ่งคลางแคลงใจในการใช้ GDP เป็นตัวชี้ฐานะทางเศรษฐกิจ และความสุขของคนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้นทุกที จนคล้อยไปในความเห็นที่ว่าควรพัฒนาตัวชี้วัดอื่นที่วัดความสุขของสมาชิกในสังคมได้ดีกว่า”

จากเหตุผลข้างต้น แม้นักเศรษฐศาสตร์จะสนับสนุนให้รัฐบาลจัดเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม หรือประชาชนร้องเรียนให้เข้มงวดในการควบคุมมลพิษ แต่รัฐบาลประเทศต่างๆ ส่วนใหญ่กลับไม่สนใจดำเนินมาตรการจัดเก็บภาษีสิ่งแวดล้อมหรือควบคุมมลพิษเท่าที่ควร เนื่องจากหวั่นเกรงว่าจะกระทบต่อ GDP อันเป็นตัวชี้วัดสำคัญของรัฐบาล สำหรับกรณีของประเทศไทย ปัจจุบันยังไม่มีการเก็บภาษีสิ่งแวดล้อมแต่อย่างใด โดยอยู่ระหว่างการจัดทำร่างกฎหมายเพื่อเสนอต่อรัฐสภา ทั้งนี้ ท่านผู้หญิง ดร.สุธาวัลย์ เสถียรไทย ประธานมูลนิธิธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (GSEI) ได้ตั้งข้อสังเกตว่ารัฐบาลไทยไม่ได้ดำเนินการจัดเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม จึงไม่ได้เป็นไปตามนโยบาย Polluters’ Pay Principle (PPP) โดยผู้ปล่อยมลพิษไม่ได้เป็นผู้จ่ายแต่อย่างใด โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อม กลับรับภาระเป็นผู้จ่ายแทน

ในทางเศรษฐศาสตร์แล้ว โควตาในการปล่อยมลพิษถือว่าเป็นค่าเช่า (Rent) อย่างหนึ่ง โดยรัฐบาลได้มอบโควตาแก่โรงงานต่างๆ ตามที่เคยปล่อยมลพิษอยู่แล้วอย่างไม่คิดมูลค่า ไม่ได้เปิดประมูลโควตาเพื่อแสวงหารายได้เข้ารัฐแต่อย่างใด ดังนั้น เปรียบเสมือนกับรัฐบาลให้เงินอุดหนุนแก่อุตสาหกรรมที่ปล่อยมลพิษ (Dirty Subsidies)

สำหรับแนวทางลดการบิดเบือนเพื่อให้รัฐบาลหันมาให้ความสำคัญกับคุณภาพสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น รัฐบาลของบางประเทศจึงได้พยายามรวมคุณภาพสิ่งแวดล้อมเข้าไปใน GDP เป็นต้นว่า กระทรวงคุ้มครองสิ่งแวดล้อม (Ministry of Environmental Protection) และสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน ได้เริ่มรณรงค์นับตั้งแต่ปี 2547 เกี่ยวกับแนวคิดผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศแบบสีเขียว (Green GDP) โดยเสนอว่าการคำนวณ GDP ของประเทศและของมณฑลต่างๆ นั้น จะต้องหักผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมออกจากตัวเลข GDP ด้วย เป็นต้นว่า ผลกระทบจากปัญหาอากาศเป็นพิษ น้ำเสีย อุบัติเหตุต่อพนักงาน ฯลฯ

สำหรับกรณีของประเทศไทย ท่านผู้หญิง ดร.สุธาวัลย์ เสถียรไทย ประธานมูลนิธิธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (GSEI) ก็ได้ให้ทัศนะทำนองเดียวกันว่าประเทศไทยควรปรับเปลี่ยนตัวชี้วัดจากเดิม คือ GDP เปลี่ยนมาเป็นตัวชี้วัดการพัฒนาที่ยั่งยืน คือ Green GDP เพื่อลดความบิดเบือนดังกล่าวข้างต้น

สำหรับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวให้ทัศนะในการสัมมนาเรื่อง “Green GDP อนาคตประเทศไทย” จัดขึ้นโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ณ โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2553 สนับสนุนเกี่ยวกับตัวชี้วัด Green GDP โดยเห็นว่าไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย แต่เรื่องดังกล่าวเป็นองค์ประกอบหนึ่งของแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานให้แก่คนไทยมาเป็นระยะเวลาหลายทศวรรษแล้ว

อย่างไรก็ตาม ความพยายามของประเทศต่างๆ ในการส่งเสริมการใช้ตัวชี้วัด Green GDP นั้น ในระยะที่ผ่านมายังมีปัญหาและอุปสรรคอยู่มาก เนื่องจากเป็นเรื่องยุ่งยากที่จะประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมให้ออกมาเป็นตัวเงินได้อย่างชัดเจน หากสามารถแก้ไขปัญหาในด้านนี้ได้ จะส่งผลทำให้ความนิยมในการใช้ตัวชี้วัดนี้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในอนาคต

ติดต่อขอข้อมูล ติชม และเสนอแนะความคิดเห็นได้ที่ศูนย์บริการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 0-2537-8161 หรือที่ head@boi.go.th
กำลังโหลดความคิดเห็น