xs
xsm
sm
md
lg

ฝ่าวิกฤตโลก ยุทธศาสตร์โลก......ไทย (2)

เผยแพร่:   โดย: ยุค ศรีอาริยะ

ทิศทางใหญ่ของโลกอนาคต..... รุ่งโรจน์ หรือหายนะ

การวางยุทธศาสตร์โลก.....ไทย ผมคิดว่า ก่อนอื่นต้องเข้าใจทิศทางใหญ่ของระบบโลกให้ได้ ว่า ระบบโลกจะเคลื่อนตัวไปทางไหนแน่..... รุ่งเรือง หรือ หายนะ

สิ่งแรกที่ต้องคำนึงถึงคือ เรื่องของเวลา (จังหวะ) เราต้องค้นให้พบว่าระบบโลกกำลังเคลื่อนตัวอยู่ในช่วงเวลาเช่นไรและมีทิศทางหลักไปทางไหนแน่

ตัวอย่างเช่น ชีวิตคนเราก็เคลื่อนตัวผ่านช่วงเวลาต่างๆ โดยมีทิศทางที่ค่อนข้างแน่นอน เช่น ช่วงเกิด (อยู่ในท้องแม่) ช่วงเด็ก ช่วงวัยรุ่น ช่วงแก่ และช่วงตาย

วิถีชีวิต วิถีโลกและจักรวาล มีทิศทางใหญ่แยกออกไป 2 ทาง เส้นทางหนึ่งสู่การขยายเติบโต ที่เราเรียกว่า “รุ่งเรือง” อีกเส้นทางคือช่วงหดตัว ความเสื่อมและความตาย หรือเรียกว่า “หายนะ”

ช่วงเวลาขยายตัว ก็มีจังหวะขยายตัวเป็นจังหวะๆ หรือลูกคลื่นเชิงขยายเป็นช่วงๆ

ช่วงเวลาหดตัว ก็มีจังหวะแบบลูกคลื่นวิกฤต ที่ขยายตัวใหญ่ขึ้นและรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เป็นจังหวะๆ เช่นกัน

ถ้าเราเรียนรู้เรื่องราวของประวัติศาสตร์โลกที่ผ่านมา จะพบชีวิตของ Empire ต่างๆ ที่ก่อเกิดขึ้นในโลก ไม่ว่าจะเป็น Empire ของจีน อินเดีย เปอร์เซีย นับแต่ยุคโบราณมา ทุกEmpire เคลื่อนไปตามจังหวะชีวิต 2 แบบ (ขยายตัว หรือ หดตัว) เสมอ

การอ่านโลกและวางยุทธศาสตร์โลกจึงต้องอ่านให้ขาดว่า “ระบบโลกกำลังก้าวเดินไปอยู่ในช่วงไหน และมีทิศทางพื้นฐานเช่นไร”

ผมขอเล่าย้อนประวัติศาสตร์ กลับไปประมาณปี 1992 ถึง 1993 ช่วงกระแสโลกที่เรียกว่า “โลกาภิวัตน์” ขยายตัวไปทั่วโลกและแพร่เข้ามาประเทศไทย

นักวิชาการไทยส่วนมากหลงยืนยันว่าระบบโลกกำลังก้าวสู่ช่วงแห่งความรุ่งเรืองครั้งใหญ่อย่างยิ่ง จนอาจจะถึงขั้นอภิวัตน์ใหญ่

ในช่วงนั้นมีนักวิชาการส่วนน้อย (น้อยมาก) ที่ไม่เห็นด้วย

ผมคนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยและบอกว่าจากนี้ไประบบโลกจะก้าวสู่ช่วงประวัติศาสตร์ที่ผมเรียกว่า “กลียุค”

ผมอธิบาย กลียุค ว่าคือเอกภาวะของวิกฤตในทุกๆ ด้าน ที่จะหนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆในทุกด้านในเวลาเดียวกัน จนเกิดหายนะใหญ่ที่รุนแรงอย่างมากๆ

ผมจำได้ว่า ผมถูกวิพากษ์อย่างรุนแรง และถูกหาว่าเป็นคนมองโลกในแง่ร้ายอย่างสุดๆ

ชนชั้นนำไทยและนักวิชาการไทยทั่วไปเชื่อว่าระบบโลกกำลังรุ่งเรืองจึงกำหนดวางยุทธศาสตร์ไทยไปในแนวที่เชื่อว่า ‘ต้องตามโลก’ หรือ ‘ตามกระแสโลกให้ทัน’

ชนชั้นนำไทยจึงเปิดเสรีทางการเงินและการค้าตามก้นอเมริกา ในที่สุดก็เผชิญหายนะใหญ่ในปี 1997

หลังจากนั้น ฟองสบู่ก็แตกอีกในปี 2000 และ 2008 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา

ปัจจุบัน ความเชื่อเรื่องความรุ่งเรืองยิ่งใหญ่ของกระแสโลกาภิวัตน์เริ่มลดทอนลงไปบ้างแล้ว

นี่คือบทเรียนบทแรกที่ต้องเรียนรู้ แต่ถึงอย่างไรชนชั้นนำไทยส่วนใหญ่ โดยเฉพาะนักธุรกิจไทยและนักวิชาการทางเศรษฐศาสตร์ ก็ยังคิดชื่นชมกระแสโลกาภิวัตน์อยู่ดี

ผมขอสรุปสั้นๆ ว่า

ในยุคโลกาภิวัตน์ ความรุ่งเรืองจอมปลอมแบบฟองสบู่จะมาพร้อมกับหายนะใหญ่

จุดไหนของโลกรุ่งเรืองมาก.....มากที่สุด ที่นั่นก็จะเกิดการแตกของฟองสบู่อย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก
เริ่มที่ประเทศญี่ปุ่นซึ่งรุ่งเรืองสูงสุดในช่วงปี 1980 ถึง 1990 ในที่สุดก็เกิดการแตกของฟองสบู่ในปี 1990

หลังจากนั้น คลื่นฟองสบู่ขยายตัวใหญ่ก็ไหลมาที่เอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศที่เรียกตัวเองว่า NICs รวมทั้งประเทศไทย หลังจากนั้นหายนะฟองสบู่ก็เกิดขึ้นในปี 1997

ต่อมา คลื่นฟองสบู่นี้ก็ปรากฏขึ้นที่ประเทศอเมริกา สหรัฐอเมริกาได้เกิดการแตกของฟองสบู่ถึง 2 รอบ คือในปี 2000 และ 2007

ที่สำคัญ ผมพบว่าการระเบิดของฟองสบู่ในแต่ละครั้งจะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ แบบทวีคูณ เนื่องจากทุนปั่นกำไรแบบฟองสบู่โลกมีแต่ขยายตัวเพิ่มขนาดและเติบใหญ่ขึ้นทุกขณะ

นี่หมายความว่า พลังในการสูบกำไรแบบฟองสบู่มีแต่เพิ่มขนาดและความรวดเร็วยิ่งๆ ขึ้น และส่งผลทำให้พลังอำนาจในการทำลายตัวเองรุนแรงและเพิ่มขึ้นด้วย

กล่าวอย่างสรุป

ถ้าเราอ่านทิศทางใหญ่ของระบบโลกออก ก็จะสามารถมองเห็นจังหวะของการเคลื่อนตัวแบบลูกคลื่นวิกฤต (พองและแตก) ได้เป็นช่วงๆ และอาจจะคาดการณ์ทิศทางการเคลื่อนตัว ตำแหน่ง หรือจุดรุ่งเรืองและจุดแตกเป็นช่วงๆ เป็นจังหวะได้ด้วย

แต่คงต้องกล่าวในที่นี้ว่า คลื่นวิกฤตเศรษฐกิจฟองสบู่ไม่ใช่คลื่นวิกฤตเพียงลูกเดียวที่นำโลกสู่ทิศทางหายนะเท่านั้น ยังมีคลื่นวิกฤตอีกลูกหนึ่งที่ช่วยกำหนดทิศทางโลกสู่หายนะ ที่จะหนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน

นั่นคือ คลื่นวิกฤตสิ่งแวดล้อมโลก

ความจริงแล้ว คลื่นวิกฤตนี้รุนแรงยิ่งว่าคลื่นวิกฤตหรือหายนะทางเศรษฐกิจเสียอีก

เราพบว่าคลื่นวิกฤตลูกนี้เคลื่อนตัวคล้ายวิกฤตฟองสบู่ที่มีความรุนแรงหนักหน่วงแบบทวีคูณ และจำนวนเพิ่มขึ้นในทุกๆ ช่วง 10 ปี

เราพบว่า ในช่วงปี 1970 ถึง 1980 ได้เกิดวิกฤติสิ่งแวดล้อมใหญ่ เพียง 25 ครั้ง

จากปี 1980 ถึง 1990 เพิ่มขึ้นเป็น 50 ครั้ง

จากปี 1990 ถึง 2000 เพิ่มขึ้นเป็น 150 ครั้ง

ไม่ใช่จำนวนเท่านั้นที่เพิ่มขึ้น แต่ขนาดความรุนแรงก็เพิ่มขึ้นด้วย

ผมเองยังไม่พบตัวเลขว่าช่วงปี 2000 ถึง 2010 จำนวนวิกฤตสิ่งแวดล้อมเกิดเท่าไร หากจะให้ประเมินแบบเดาๆ น่าจะเกิน 400 ครั้ง และในช่วงนี้ความรุนแรงได้เพิ่มทวี

ถ้าเราเอาตัวเลขจำนวนคนตายทั้งหมดในช่วงสิบปีนี้มารวมกัน จากกรณีสึนามิ นาร์กีส พายุใหญ่ แผ่นดินไหวใหญ่ที่ประเทศจีน บังกลาประเทศ และที่อื่นๆ ตัวเลขจำนวนคนตายรวมๆน่าจะเกือบ 1 ล้านคน ความเสียหายรวมๆ กันทั้งหมดน่าจะมากกว่าล้านล้านบาท

ผมกล่าวเสมอว่า

ถ้ามองในมิติของชีวิตผู้คนและความเสียหาย วิกฤตสิ่งแวดล้อมนี้รุนแรงมากกว่าวิกฤตเศรษฐกิจหลายเท่า แต่ผู้คนมักจะหลงอยู่ในโลกเศรษฐกิจโดยเฉพาะบรรดานายทุนและนักเศรษฐศาสตร์ จึงมักจะมองข้ามและให้ความสำคัญกับเรื่องวิกฤตสิ่งแวดล้อมน้อยมาก อาจเนื่องจากคนที่ต้องเสียชีวิตและล้มตายส่วนใหญ่คือ ‘บรรดาคนจนๆ’

ลองคิดง่ายๆ ผมคาดว่า ปี 2010 ถึง 2020 จะมีวิกฤตสิ่งแวดล้อมประมาณมากกว่า 1,000 ครั้งขึ้นไป จำนวนคนตายก็น่าจะหลายล้านคน

ปี 2020 ถึง 2030 อย่างน้อยก็ต้องประมาณ 3,000 ครั้งขึ้นไป จำนวนคนตายและความหายนะคงประเมินได้ยาก

ผมคงไม่กล่าวต่อว่า หลังปี 2030 ถึง 2050 อะไรจะเกิดขึ้น เพราะถ้าคลื่นลูกนี้เคลื่อนตัวรุนแรงแบบทวีคูณจริง เราจะพบหายนะที่ใหญ่มากๆ.....มากจนคนทั้งโลก.....คาดคิดไม่ถึงว่าจะรุนแรงถึงขนาดนี้

สำนักอุตุนิยมวิทยาของอังกฤษคาดว่า 40 ปีนับจากนี้ไป อุณหภูมิของโลกจะเพิ่มขึ้นอีก 4 องศาเซลเซียส ระดับน้ำทะเลจะสูงกว่าปัจจุบันประมาณครึ่งเมตร ในช่วงเวลานี้แทบไม่ต้องพูดถึงกรุงเทพฯ และบรรดาเมืองต่างๆ ที่อยู่ชายทะเล

คนไทยมักจะคิดว่า “ร้อนขึ้นเท่านี้คงไม่มาก” แต่เราต้องรู้ว่าการเพิ่มขึ้นของความร้อนโลกในแต่ละจุดไม่เท่ากัน ในย่านขั้วโลกความร้อนจะพุ่งสูงขึ้นมากกว่าหลายเท่าตัว

มาร์ก ไลนัส เขียนงานเรื่อง “6 องศา โลกาวินาศ” ซึ่งน่าจะประมาณ 50 ถึง 60 ปีจากนี้ไป แต่ผมเองยังคิดว่าคุณไลนัสมองในแง่ดีเกินไปเพราะผมเชื่อว่าแค่ 4 ถึง 5 องศา โลกาก็วินาศแล้ว เพราะโลกจะวินาศไม่จำเป็นต้องรอไปถึงจุดที่น้ำแข็งโลกละลายหมด ความพินาศใหญ่น่าจะเริ่มปะทุก่อนเวลาที่จุดน้ำแข็งโลกจะละลายหมด

ผมเคยพูดว่า

“อย่าคิดหนีไปอยู่ที่สูงๆ หรือไปหาซื้อที่ตามภูเขา ถึงวันนั้นแม้อยู่ในที่สูงก็ยากที่จะรอด และอาจจะตายอย่างทารุณกว่า”

ผมบอกเพื่อนๆ แบบทีเล่นทีจริงว่า

ลองคิดง่ายๆ ถ้าน้ำแข็งโลกละลายครั้งใหญ่ สิ่งที่มนุษย์ต้องเผชิญจะไม่เพียงแต่เรื่องน้ำท่วมโลกครั้งประวัติศาสตร์เท่านั้น อาจจะเกิดเหตุการณ์อื่นๆ ที่คิดไม่ถึงและรุนแรงกว่าตามมาอีก อย่างเช่น การที่น้ำแข็งละลายใหญ่ (มากๆ) และไหลทะลักลงมาอย่างแรงสามารถส่งผลกระเทือนโดยตรงต่อรอยแยกของพื้นโลก จนส่งผลทำให้เกิดการสั่นตัวอย่างแรงมากในเวลาเดียวกัน และเกิดแผ่นดินไหวใหญ่หลายๆ จุดพร้อมๆ กัน

เมื่อเกิดแผ่นดินไหวใหญ่หลายจุดพร้อมกันก็จะเกิดปรากฎการณ์สึนามิหลายลูก ในเวลาเดียวกันอาจจะรุนแรงพอให้เกิดการเคลื่อนตัวของทวีปขึ้นใหม่ได้

ผู้คนจำนวนมหาศาลจะตายพร้อมกันจากสาเหตุทั้งเรื่องน้ำท่วมใหญ่ แผ่นดินไหว และกรณีสึนามิอย่างพร้อมๆ กัน จนไม่สามารถเก็บศพได้หมด

ในเมื่อเก็บศพไม่ได้หมด หลังจากนั้นจะเกิดการระบาดของเชื้อโรคร้ายแรง แพร่ระบาดไปทั่วโลก

หลังจากนั้น ความร้อนของโลกจะเพิ่มสูงขึ้นมากจนทำให้ผู้คนจำนวนมากไม่สามารถมีชีวิตอยู่ใน พื้นที่หลายพื้นที่ได้ คนจำนวนหนึ่งจะตายเพราะความร้อน

แต่หลังจากโลกร้อนจัดอย่างมากๆ ไม่นานนัก ก็จะเกิดการสวิงจากร้อนจัดมาก เป็นหนาวจัดมากอีก เพราะน้ำจะละลายเป็นไอ ไอน้ำจะขึ้นไปครอบโลกไว้จนเกิดยุคที่คล้ายๆ ‘ยุคน้ำแข็งโลก’ ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ผู้คนก็จะตายด้วยความเย็น และหลังยุคน้ำแข็งใหม่ ระบบโลกก็จะก้าวเข้าสู่ดุลยภาพใหม่

ผมมักจะกล่าวปิดท้ายกับเพื่อนๆ ในการจำลองฉากอนาคตว่า

“นี่ผมพูดเล่นๆนะ” ที่ผมกล่าวนี้น่าจะไม่เกิดขึ้น ถ้าเราเริ่มคิดที่จะทำอะไรอย่างจริงจัง และผมจะย้ำเตือนด้วยว่า

“อย่ารีรอ.....จนถึงวันที่น้ำท่วมโลก”

แต่ถึงอย่างไร ผู้คนทั่วโลกยังหลงมองโลกในแง่ดีเสมอ และมักหลงผิดคิดว่า “ทุกวันนี้ ได้มีการเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมกันอย่างมากแล้ว วิกฤตนี้น่าจะลดทอนลงไปได้”

Lester R. Brown อดีตประธานสถาบัน World Watch และประธานสถาบันนโยบายโลก ออกมาเตือนว่า “...แม้จะมีการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมโลก สถานการณ์สิ่งแวดล้อมโลกยังมีแต่เลวลง…”

วันก่อนผมไปออกรายการทีวีที่ช่องสุวรรณภูมิ ได้กล่าวเตือนว่า

อย่าไปฝากความหวังไว้กับการประชุมของชาติมหาอำนาจและที่ประชุมสหประชาชาติ (UN) ในเรื่องสิ่งแวดล้อม เนื่องจากการกำหนดมาตรการควบคุมเรื่องชั้นโอโซนและการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งถูกถือว่าเป็นที่มาของปัญหาโลกร้อนยังเป็นเรื่องที่หาข้อตกลงได้ยากมาก

การควบคุมดังกล่าวมีความสำคัญอยู่มาก แต่ยังไม่ใช่หัวใจของการแก้ปัญหาวิกฤตธรรมชาติทั้งหมดจริงๆ เพราะแม้ว่าจะมีส่วนช่วยลดจำนวนคาร์บอนและควบคุมเรื่องชั้นโอโซนได้ แต่หากทุกประเทศในโลกยังมุ่งวางแผนเศรษฐกิจที่หวังเพิ่มขยาย GNP แล้ว วิกฤตสิ่งแวดล้อมโลกก็จะยังคงมีแต่แย่ลง

ลองคิดดูง่ายๆ

ปัจจุบันมีการคาดการณ์ว่า ประมาณปี 2030 ถึง 2040 เศรษฐกิจจีนและอินเดียจะขยายตัวใหญ่และรุ่งเรืองมาก

นักคิดบางคนคาดว่า จีน ญี่ปุ่น เกาหลี และอินเดีย รวมทั้งประเทศในย่านเอเชียจะทยานขึ้นมาเป็นศูนย์ของระบบโลกแทนที่สหรัฐอเมริกา

สมมติว่า แนวคิดนี้มีโอกาสเป็นจริง

ลำพังประเทศจีนประเทศเดียวมีประชากร 1,300 ล้านคน ถ้าจีนยังคงขยายตัวแบบเศรษฐกิจทุนนิยม เดินตามวิถีวัฒนธรรมตะวันตกแบบบริโภคนิยม

หากทุกบ้านมีรถยนต์ตามอย่างอเมริกา จำนวนการบริโภคน้ำมันจะเกินกว่า 80 ล้าน Barrelsต่อวันซึ่งมากเกินกว่าความสามารถในการผลิตน้ำมันโลก

เวลาเดียวกัน ถ้าคนจีนต้องใช้กระดาษในปริมาณเดียวกับที่คนอเมริกันใช้ในช่วงปัจจุบัน แค่จีนประเทศเดียวก็ต้องการการบริโภคกระดาษเกินกว่าความสามารถในการผลิตได้ทั่วโลก

จำนวนป่าไม้และทรัพยากรอื่นๆ ที่เหลืออยู่ในโลกจะต้องหมดสิ้นลง

ถ้าอินเดียและประเทศในย่านเอเชียอื่นๆ ขยายตัวขึ้นเช่นกัน และบริโภคตามอย่างจีน ตามอย่างตะวันตกอีก คาดกันว่าอีกไม่เกิน 50 ปีข้างหน้า ทรัพยากรในโลกที่เหลืออยู่ก็จะหมดสิ้นลง

จากการศึกษาของ Happy Planet Index พบว่าในปี 2006 มนุษย์บริโภคในอัตราที่เกินกว่าความสามารถในการฟื้นตัวของทรัพยากรธรรมชาติถึงร้อยละ 23 และรายงานล่าสุดระบุว่าในปี 2008 ได้เพิ่มสูงขึ้นไปถึงร้อยละ 30

หากเรายังบริโภคแบบนี้ อย่างน้อย เราต้องการโลกถึง 2 ใบ จึงจะรองรับได้

กล่าวสรุปสั้นๆ ถ้าทุกประเทศในโลกยังเน้นการขยายตัวของ GNP อย่างที่เป็นอยู่ปัจจุบัน ปัญหาสิ่งแวดล้อมโลกจะไม่มีทางลดลง โลกจะเผชิญไม่ใช่วิกฤตโลกร้อน (ที่ควบคุมไม่อยู่) เท่านั้น แต่ยังต้องเผชิญวิกฤตอื่นๆ เช่น วิกฤตน้ำ วิกฤตป่าไม้ วิกฤตน้ำมัน วิกฤตราคาข้าว วิกฤตความแห้งแล้ง และอื่นๆ

หรือแม้ว่าประมาณปี 2020 ถึง 2030 ประเทศมหาอำนาจทั่วโลกจะควบคุมจำนวนการปล่อยแก๊สคาร์บอนได้ และสามารถควบคุมเรื่องชั้นโอโซนได้ในระดับที่ตกลงกัน แต่ระดับความร้อนโลกจะคงยืนอยู่ในระดับที่น่ากลัว (ระดับปี 2030 เป็นอย่างน้อย) และความร้อนโลกจะคงอยู่ในระดับนี้อีกได้นับเป็น 100 ปี (เพราะจนถึงวันนี้ มีแค่มาตรการควบคุมการเพิ่มขึ้นของความร้อน แต่ยังไม่พบมาตรการที่จะลดความร้อนโลกลงได้)

ดังนั้น อันตรายจากวิบัติภัยขนาดใหญ่อย่างมากๆ ก็จะยังคงดำรงอยู่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราทำได้เพียงแต่ยืดเวลาหายนะใหญ่ (มากๆ) ออกไปได้บ้างเท่านั้น

Lester R. Brown จึงเสนอว่า ถึงเวลาแล้วที่มนุษยชาติและประเทศต่างๆ ทั่วโลกต้องคิดสร้างระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ (จริงๆ) เข้าแทนที่ระบบทุนนิยมและบริโภคนิยม โดยการสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่ที่มนุษย์สามารถมีชีวิตอยู่กับสิ่งแวดล้อมได้

Lester R. Brown เรียกระบบเศรษฐกิจนี้ว่า “Eco-Economy”

ใครสนใจเรื่องนี้ก็อ่านหนังสือที่ท่านเขียน ชื่อเรื่องคือ Eco-Economy

ผมเองเห็นด้วยกับ Brown ในเรื่องเศรษฐกิจโลกใหม่ที่เขาออกแบบขึ้นทั้งหมด แต่ผมขอคิดเสริมว่า

“ต้องไม่คิดในเชิงเศรษฐกิจเท่านั้น มนุษย์จะอยู่รอดได้ต้องสร้างระบบวัฒนธรรมใหม่ที่ไม่ได้มุ่งเพื่อสร้างความรุ่งเรืองหรือความเจริญทางด้านวัตถุอีกต่อไป แต่เป็นระบบวัฒนธรรมที่เน้นการสร้างความเจริญในแง่จิตใจเป็นสำคัญ

ที่สำคัญ ต้องรื้อทิ้งความเชื่อในเชิงมนุษย์นิยมซึ่งเชื่อว่า มนุษย์เป็นศูนย์กลางของโลกธรรมชาติ สู่ระบบวัฒนธรรมใหม่ที่ถือว่า ธรรมชาติเป็นศูนย์กลางของชีวิตทั้งหมด”

ในงานชิ้นนี้ ผมคงไม่ต้องขยายความเรื่องวิกฤตในด้านอื่นๆ ซึ่งมีแต่เลวร้ายลงเช่นกัน

เช่น วิกฤตสุขภาพ วิกฤตการเมือง วิกฤตวัฒนธรรมและจิตวิญญาณ

สิ่งที่แน่ๆ คือ หลังจากนี้ไประบบโลกไม่มีทางหนีพ้น “กลียุค” หรือสภาวะที่ต้องเผชิญวิกฤตที่หนักขึ้นเรื่อยๆ ในทุกด้าน และแบบหลากหลายชนิดในเวลาเดียวกัน

ผู้อ่านคงพบคำตอบแรกแล้วว่า “ระบบโลกจากนี้ไป กำลังเคลื่อนตัวไปในทิศทางใดแน่ๆ”

เมื่อเราตระหนักรู้ว่า ระบบโลกกำลังเคลื่อนตัวสู่หายนะใหญ่และความตาย เราก็ต้องวางยุทธศาสตร์ (เฉพาะ) เพื่อการเผชิญวิกฤตโลก

ที่สำคัญ ต้องตระหนักชัดว่า “วิกฤตใหญ่ครั้งนี้ใหญ่มาก เคลื่อนมาทุกทิศทุกทาง” ถ้าเปรียบประเทศไทยเป็นเรือลำหนึ่ง เราต้องรู้ว่าเรือลำนี้กำลังจะต้องวิ่งฝ่าคลื่นลมที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

ลำพังมีแต่ผู้นำที่ดีและชาญฉลาดเท่านั้นยังไม่พอ บรรดาผู้นำที่ชาญฉลาดยังต้องสามารถระดมผู้คนมาช่วยกันประสานพลังเป็นหนึ่งเดียวกัน

ประเทศชาติจึงอยู่รอดได้

“การคิดสร้างพรรค” ก็คือรูปแบบหนึ่งในการระดมผู้คนจำนวนมากมาร่วมกันเพื่อสร้าง “การนำใหม่”

ประเทศไทยกำลังต้องการ “กลุ่มพลังใหม่” ที่ช่วยกันคิดแนวปรัชญา คิดทฤษฎี และแนวทางยุทธศาสตร์ใหม่

ไม่ใช่เพียงแค่สร้างระบบวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการเมืองของประชาชนไทยเท่านั้น แต่ต้อง “กล้า” คิดออกแบบโลกใหม่ขึ้นมาด้วย

งานทางยุทธศาสตร์ครั้งนี้จึงมีความหมายและความสำคัญมาก ไม่ใช่เรื่องของคนไทยเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของคนทั่วโลก (ยังมีต่อ)
กำลังโหลดความคิดเห็น