xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

บีโอไอ:คาซัคสถาน...ไม่ไปไม่รู้

เผยแพร่:   โดย: พรรณี เช็งสุทธา

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้นำนักธุรกิจไทยไปศึกษาโอกาสและสำรวจลู่ทางการลงทุนในประเทศคาซัคสถาน ทำให้ได้เปิดโลกทัศน์ของการทำธุรกิจในต่างประเทศ และได้เรียนรู้ว่า คาซัคสถานมีโอกาสมากมายกว่าที่เราคาดคิด

คาซัคสถานห่างจากประเทศไทยเพียง 7 ชั่วโมงครึ่ง โดยสายการบินแอสตานาซึ่งมีเที่ยวบินตรงสัปดาห์ละ 3 เที่ยวไปยังเมืองอัลมาตี และเวลาที่คาซัคสถานก็ช้ากว่าประเทศไทยเพียงหนึ่งชั่วโมงเท่านั้น ทำให้การเดินทางไปคาซัคสถานไม่ใช่ความเหนื่อยยาก เหมือนกับเดินทางไปยุโรปหรือสหรัฐอเมริกา

สำหรับท่านที่ยังไม่เคยไปคาซัคสถาน ขอเรียนว่า ไม่ไปไม่รู้จริงๆ คาซัคสถานอาจไม่สวยเหมือนประเทศในยุโรปตะวันออกหรือมีสถานที่ท่องเที่ยวอลังการแบบรัสเซีย แต่หากท่านหลงใหลภูเขา ขอแนะนำว่า กรุงอัลมาตีเป็นเมืองในฝันได้คะ (ยกเว้นในฤดูหนาวที่อุณหภูมิติดลบถึง 40 องศา) เพราะล้อมรอบไปด้วยภูเขาสูงที่ยอดถูกปกคลุมด้วยหิมะขาวโพลนเป็นภาพที่สวยงามมาก (หากท่านสามารถจะลบภาพสายไฟฟ้าระโยงระยางทั่วเมืองออกไปได้)

คาซัคสถานตั้งอยู่ในเขตเอเชียกลาง ทางตอนกลางของที่ราบ Eurasia ระหว่างรัสเซีย และอุซเบกิสถาน และติดกับจีนทางทิศตะวันออก ทิศตะวันตกติดทะเลสาบแคสเปียน ทิศตะวันออกเฉียงเหนือติดประเทศคีร์กีซสถาน ทิศตะวันตกเฉียงใต้ติดเติร์กเมนิสถาน ซึ่งทั้งหมดก็เป็นประเทศที่แยกตัวออกมาจากรัสเซียทั้งนั้น

คาซัคสถานมีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 9 ของโลก แต่ส่วนใหญ่เป็นทุ่งหญ้าสเต็ปที่แห้งแล้ง และเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล เมืองหลวงของประเทศคือ กรุงอัสตานา ที่ได้ย้ายมาจากอดีตเมืองหลวงเดิมคือ เมืองอัลมาตี เมื่อปี 2541 ปัจจุบันกรุงอัสตานามีความเจริญมาก มีตึกรามใหญ่โต และมีความหลากหลายในเชิงสถาปัตยกรรม รวมทั้งยังเป็นศูนย์รวมของหน่วยงานราชการอีกด้วย

สำหรับประเทศไทยนั้น มีแผนที่จะเปิดสถานเอกอัครราชทูตไทยที่กรุงอัสตานาในเร็วๆ นี้ แต่ปัจจุบันมีสำนักงานสถานกงสุลกิตติมศักดิ์แล้วที่เมืองอัลมาตี (ท่านกงสุลกิตติมศักดิ์ของไทย ชื่อ Mr.Mirgali Kunayev ผู้สนใจสามารถติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ อีเมล send-e@mail.ru หรือศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ในเว็บไซต์ของสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงมอสโก ซึ่งดูแลประเทศคาซัคสถานด้วย

คาซัคสถานมีประชากร 15.3 ล้านคน ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามนิกายสุหนี่ รองลงมานับถือศาสนาคริสต์นิกายออร์โธด็อกซ์ สกุลเงินของประเทศคือ เต็งเก โดยมีอัตราแลกเปลี่ยนประมาณ 150 เต็งเกต่อ 1 เหรียญสหรัฐ (เดือนกันยายน 2552) ชาวคาซัคสถานพูดได้ทั้งภาษาคาซัค และภาษารัสเซีย

สำหรับภาวะเศรษฐกิจของประเทศคาซัคสถาน จากตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่ประกาศโดยรัฐบาลคาซัคสถาน เมื่อเดือนมิถุนายนปีนี้ มีอัตราการขยายตัวที่ร้อยละ 1.4 จึงเป็นที่คาดกันว่า คาซัคสถานจะเป็นประเทศแรกที่ฟื้นตัวจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มเครือรัฐเอกราช (CIS) อื่น ธนาคารชาติของคาซัคสถานคาดการณ์ว่า เงินเฟ้อทั้งปีจะอยู่ที่ร้อยละ 7.7 - 7.9

ส่วนตัวเลขการนำเข้าในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ลดลงจากมูลค่า 17.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ของช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นมูลค่า 13.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าอุตสาหกรรมลดลงมากที่สุดถึงร้อยละ 38 รองลงมาคือ มีการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคลดลงร้อยละ 23

ภาคอุตสาหกรรมเป็นภาคที่สำคัญที่สุดของประเทศตามสัดส่วนของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือคิดเป็นร้อยละ 28.3 (ตัวเลขล่าสุดปี 2550) รองลงมาได้แก่ อสังหาริมทรัพย์ การขนส่ง และการสื่อสาร ตามลำดับ

ในปัจจุบัน สหภาพยุโรปเป็นนักลงทุนอันดับหนึ่ง รองลงมาคือ สหรัฐฯ จีน และเกาหลีใต้ สิ่งสำคัญที่เป็นตัวดึงดูดการลงทุน เนื่องจากคาซัคสถานอุดมไปด้วยทรัพยากรด้านพลังงานและแร่ธาตุต่างๆ มากที่สุดในเอเชียกลาง และมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก มีการค้นพบน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในคาซัคสถานทั้งบนบกและในทะเลมากกว่า 200 แหล่ง คาดว่าคาซัคสถานมีแหล่งน้ำมันดิบสำรองราว 9 - 17 พันล้านบาร์เรล มากเป็นอันดับ 12 ของโลก มีก๊าซธรรมชาติสำรองราว 67 - 70 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต เป็นอันดับ 13 ของโลก

“นักลงทุนต่างชาติหลั่งไหลเข้าไปลงทุนในคาซัคสถานเป็นจำนวนมาก
โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมพลังงานที่สูงถึงร้อยละ 63.5
ของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศทั้งหมด”


นอกจากนี้ คาซัคสถานยังมีแหล่งแร่ธาตุหลากหลายกว่า 1,225 ชนิด ที่ติดอันดับต้นๆ ของโลก ได้แก่ ยูเรเนียม โครเมียม วูลแฟรม ตะกั่ว สังกะสี แทนทาเนียม เงิน แมงกานีส เหล็ก เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ จึงมีนักลงทุนต่างชาติหลั่งไหลเข้าไปลงทุนในคาซัคสถานเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมพลังงานที่สูงถึงร้อยละ 63.5 ของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศทั้งหมด

คาซัคสถานมีความได้เปรียบทางด้านสภาพภูมิศาสตร์เพราะอยู่กึ่งกลางระหว่างทวีปยุโรปและเอเชีย ในขณะที่มีสิทธิพิเศษด้านภาษีกับประเทศกลุ่มเครือรัฐเอกราช (CIS) ซึ่งเป็นประเทศเกิดใหม่ในเอเชียกลาง เข้าสู่รัสเซียตอนใต้และจีนตะวันตกได้ และเริ่มมีการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ ทำให้มีความต้องการพัฒนาด้านสาธารณูปโภคต่างๆ มากมาย ด้วยเหตุนี้ คาซัคสถานจึงเป็นที่สนใจของนักลงทุนต่างชาติ ประเทศในเอเชียที่ให้ความสนใจและดำเนินธุรกิจแล้วในคาซัคสถานได้แก่ จีน และเกาหลีใต้

สำหรับหน่วยงานส่งเสริมการลงทุนของคาซัคสถาน หรือ Committee for Investments เป็นหน่วยงานของรัฐ มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงอัสตานา (ผู้ที่ประสงค์จะเข้าไปขอข้อมูลหรือติดต่อเจ้าหน้าที่โปรดนัดหมายไว้ก่อนล่วงหน้าสักระยะหนึ่ง ที่สำคัญควรจะมีล่ามไปด้วย เพราะเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้) ทำหน้าที่พิจารณาการให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากรแก่โครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนภายในประเทศ โดยสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนมีมากมาย

รัฐบาลยังให้หลักประกันแก่การลงทุนของต่างชาติในหลายเรื่อง เช่น หลักประกันในการคุ้มครองทางกฎหมายแก่กิจการที่ลงทุนในประเทศ การไม่ยึดกิจการมาเป็นของรัฐ นอกจากนี้ ยังให้การปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันต่อการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนท้องถิ่น

กิจการที่รัฐบาลคาซัคสถานให้ความสำคัญเป็นพิเศษต่อการลงทุน ได้แก่ การก่อสร้าง อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ การเลี้ยงสัตว์ อุปกรณ์ด้านอุตสาหกรรม วัสดุก่อสร้าง บริการด้านการเงินและการธนาคาร อุตสาหกรรมสนับสนุนเกี่ยวกับน้ำมันและก๊าซ โลหะภัณฑ์ เทคโนโลยีชีวภาพ สิ่งทอ ปิโตรเคมี อาหาร การขนส่งสินค้า อุตสาหกรรมเครื่องหนัง อุตสาหกรรมสนับสนุนเกี่ยวกับเหมืองแร่ การศึกษา การแปรรูปไม้ และเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น

ดังนั้นนักธุรกิจไทยน่าจะได้เข้าไปศึกษาลู่ทาง และมีโอกาสอย่างสูงในประเภทกิจการก่อสร้าง อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมอาหาร การแปรรูปไม้ และเฟอร์นิเจอร์ จากผลการสำรวจและการนำนักธุรกิจไทยเข้าไปในคาซัคสถานของบีโอไอในครั้งนี้ ซึ่งเน้นเรื่องการก่อสร้าง มีโอกาสอย่างมาก เพราะหลายเมืองกำลังมีการพัฒนา โดยเฉพาะเมืองที่มีการสำรวจขุดเจาะน้ำมัน มีการเติบโตอย่างสูง ก็เป็นโอกาสที่ดีของไทย

ความสัมพันธ์ไทย-คาซัคสถานในทางเศรษฐกิจดำเนินไปอย่างใกล้ชิด คาซัคสถานเป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 3 ของไทยในกลุ่มเครือรัฐเอกราช และมีศักยภาพมาก อย่างไรก็ตาม มูลค่าการค้าระหว่างไทยและคาซัคสถานยังมีไม่มากนัก เนื่องจากสินค้ามีการกระจายตัว และเริ่มมีการค้าระหว่างกันอย่างจริงจังเมื่อปี 2538

คาซัคสถานต้องการหาผู้ร่วมทุนต่างชาติในหลายกิจการ เช่น การเลี้ยงไก่แบบครบวงจร (สามารถให้ต่างชาติถือหุ้นได้ถึงร้อยละ 49 และยินดีเชิญชวนไปหารือในรายละเอียดที่ประเทศคาซัคสถาน) การทำเฟอร์นิเจอร์และแปรรูปไม้ รวมถึงโครงการก่อสร้างในเมืองอัลมาตีที่ต้องการผู้ร่วมทุนด้านการเงิน เป็นต้น

จากการพบและหารือกับภาครัฐของคาซัคสถานที่เมืองอัลมาตี ทำให้ทราบว่ารัฐบาลท้องถิ่นต้องการเปลี่ยนรถเมล์ในเมืองนี้ซึ่งอยู่ในสภาพเก่า จึงต้องการซื้อรถเมล์จำนวนไม่ต่ำกว่า 500 คัน หากท่านใดสนใจโปรดติดต่อขอรายละเอียดได้ที่ ศูนย์บริการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน

ส่วนผู้ที่สนใจจะเดินทางไปสำรวจลู่ทางการลงทุนในคาซัคสถาน จำเป็นต้องยื่นขอวีซ่า โดยปกติจะใช้เวลาเตรียมการประมาณ 1 เดือน เนื่องจากต้องมีหนังสือเชิญจากหน่วยงานในคาซัคสถานเท่านั้น ท่านถึงจะได้รับการพิจารณาการออกวีซ่า ดังนั้นวิธีที่สะดวกที่สุดคือ การขอวีซ่าผ่านบริษัททัวร์ ซึ่งจะเสียค่าบริการรวมค่าวีซ่าประมาณ 4,000 – 5,000 บาท

สำหรับโรงแรมมีตั้งแต่ระดับ 3 - 5 ดาว ราคาขึ้นอยู่กับคุณภาพของโรงแรม และค่าครองชีพในคาซัคสถานจะสูงมาก หากผ่านบริษัททัวร์อาจจะเสียค่าอาหารมื้อละไม่ต่ำกว่า 30 - 40 เหรียญสหรัฐ หรือหากจะหาร้านอาหารทานเองก็ไม่ยากนัก สิ่งสำคัญในการเดินทางคือ ควรจะต้องมีล่ามที่มีคุณภาพ ซึ่งหาได้ไม่ยากในประเทศนี้

เนื่องจากคาซัคสถานเป็นประเทศมุสลิม ดังนั้นการเดินทางจึงควรหลีกเลี่ยงเดือนที่เป็นเทศกาลทางศาสนา โดยเฉพาะในช่วงเดือนสิงหาคม - กันยายน ซึ่งเป็นเทศกาลถือศีลอดเป็นเวลาหนึ่งเดือน เพราะอาจมีการหยุดทำงานเป็นระยะเวลาหนึ่งด้วย และการเตรียมการนัดหมายควรกระทำก่อนล่วงหน้าอย่างน้อย 1 -2 เดือน

นอกจากนี้ คาซัคสถานยังได้ยื่นขอเข้าเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก แต่ปัจจุบันยังเป็นเพียงประเทศผู้สังเกตการณ์เท่านั้น

สำหรับบีโอไอนั้น ให้ความสำคัญกับประเทศคาซัคสถาน โดยเป็นหนึ่งในประเทศที่คนไทยมีโอกาสที่จะเข้าไปลงทุน เนื่องจากศักยภาพดังที่กล่าวมาข้างต้น สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน

ติดต่อขอข้อมูล ติชม และเสนอแนะความคิดเห็นได้ที่ศูนย์บริการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 0-2537-8161 หรือที่ head@boi.go.th
กำลังโหลดความคิดเห็น