xs
xsm
sm
md
lg

คลื่นถล่มเศรษฐกิจโลกระลอกสอง(ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: ไมเคิล แคลร์

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

The second shockwave
By Michael Klare
19/03/2009

โลกกำลังพัฒนายังจะต้องเจอผลกระทบแบบเต็มๆ จากวิกฤตการเงินโลกอีกมากมายนัก กล่าวคือ ขณะที่ต้องเผชิญกับเรื่องร้ายๆ จำพวกว่า รายได้จากการขายของให้ประเทศมหาเศรษฐี พอแปลงเป็นเงินท้องถิ่นจะเหลือมูลค่าน้อยวูบลงอย่างฉกรรจ์แล้ว ยังจะต้องเจอปัญหาการหดตัวในภาคส่งออก ตลอดจนปัญหาที่ว่าการเอาชีวิตให้อยู่รอดได้โดยไม่มีระบบประกันสังคมที่เพียงพอนั้น จะยากเข็ญมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งกว่านั้น ปัญหาว่าด้วย “การขาดไร้เสถียรภาพซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อระบอบการปกครอง” จะเป็นปัญหาหนักรายการต่อไปในหนทางแห่งความอับจนข้างหน้า

*รายงานนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*

(ต่อจากตอนแรก)

**การจลาจลที่คุกคามต่อระบอบการปกครอง**

ขณะที่หายนะลามไปทั่วทุกหัวระแหงของโลกกำลังพัฒนา และผู้คนนับล้านต้องเผชิญกับสภาวะยากลำบากแสนสาหัสหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ การก่อความไม่สงบทางการเมืองและทางสังคมในทุกรูปแบบจะก่อตัวขึ้น ความวุ่นวายซึ่งถูกโหมด้วยการประท้วงอย่างโกรธเกรี้ยวต่อการปิดโรงงาน การเลิกจ้างคนงานคราวละมหาศาล ตลอดจนการใช้มาตรการรุนแรงโดยภาครัฐ ได้ปะทุขึ้นแล้วในหลายพื้นที่ของยุโรป รัสเซีย และจีน โดยขณะนี้ก็ส่อเค้าจะลามไปสู่ส่วนอื่นๆ ของโลกเช่นกัน

มาจนถึงปัจจุบัน ความวุ่นวายดังกล่าวยังจำกัดวงอยู่เฉพาะในรูปของจลาจนในเขตตัวเมือง และเหตุการณ์ทุ่มปาหินตอบโต้ฝ่ายเจ้าหน้าที่ แต่มันง่ายมากเลยที่จะคิดล่วงหน้าไปได้ไกลถึงสภาพการณ์ที่ร้ายแรงกว่านี้ที่อาจไปถึงการลุกฮือขึ้นต่อต้านรัฐบาลโดยประชาชนทั้งประเทศ อันตรายนี้ถูกเอ่ยถึงในรายงานฉบับที่สามซึ่งควรค่าแก่การให้ความสนใจ โดยเป็นรายงานประจำปีว่าด้วยการประเมินภัยคุกคาม ซึ่งผู้อำนวยการข่าวกรองแห่งชาติ(ดีเอ็นไอ) พลเรือเอกเดนนิส ซี แบลร์ นำเสนอต่อคณะกรรมาธิการข่าวกรองแห่งวุฒิสภาในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา

แม้ว่าการรายงานส่วนใหญ่มุ่งไปที่ประเด็นเดิมๆ อาทิ ความพยายามสร้างอาวุธนิวเคลียร์ในอิหร่าน และสงครามในอัฟกานิสถาน แต่รายงานฉบับนี้ได้ให้ความสนใจอย่างมากต่อแนวโน้มที่จะเกิดความอลหม่านโกลาหลในทางการเมืองและสังคมอันสืบเนื่องจากการอ่อนตัวทางเศรษฐกิจที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน

“ความใส่ใจด้านความมั่นคงในระยะใกล้ของสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเด็นพื้นฐานสำคัญที่สุดคือ วิกฤตเศรษฐกิจโลกและผลกระทบของมันต่อภูมิรัฐศาสตร์โลก” รายงานฉบับดังกล่าวชี้ประเด็นไว้ และให้การวิเคราะห์ไว้ว่า “กาลเวลาอาจจะเป็นภัยคุกคามที่ใหญ่โตที่สุด ... ตัวแบบทางสถิติแสดงให้เห็นว่าวิกฤตทางเศรษฐกิจสามารถเพิ่มความเสี่ยงที่จะสร้างสภาวะ ‘การขาดไร้เสถียรภาพซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อระบอบการปกครอง’ หากปัญหารื้อรังนานเกินกว่าหนึ่งถึงสองปี” แน่นอนว่าวิกฤตในสหรัฐฯ ดำเนินมาแล้วเกินกว่าหนึ่งปี และมีท่าว่าชะตากรรมครั้งนี้จะยืดเยื้อเรื้อรังอยู่ในหลากหลายภูมิภาคของโลก ไม่ว่าจะในย่านที่พัฒนาแล้วหรือที่กำลังพัฒนา ดังนั้น อันตรายจาก“การขาดไร้เสถียรภาพซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อระบอบการปกครอง” จึงเป็นเรื่องที่ต้องนำมาพิจารณาอย่างจริงจัง

ในการเข้าให้ปากคำต่อคณะกรรมการข่าวกรองนี้ แบลร์ไม่ได้เสนอการประเมินแบบรายประเทศที่คาดว่าจะเกิดปัญหาการขาดไร้เสถียรภาพ แต่แบลร์ชี้ถึงหลายๆ พื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงเป็นพิเศษ อาทิ อัฟริกา ลาตินอเมริกา และเอเชียกลาง ซึ่งมีการระบุในรายละเอียดว่าคาซัคสถาน คีร์กีซสถาน ทาจิกิสถาน เติร์กเมนิสถาน และอุซเบกิสถาน “มีสภาพการเมืองที่กระเดียดไปทางผู้นำเผด็จการสูงมาก มีระบบสถาบันอ่อนแอ และสภาพสังคม เศรษฐกิจ การเมืองที่เต็มไปด้วยความไม่เสมอภาคเท่าเทียมซึ่งรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ทำให้รัฐขาดเครื่องมือที่จะรับมือกับความท้าทายจากนานาปัญหา เช่น ปัญหาลัทธิอิสลามสุดขั้วซึ่งนิยมการแก้ปัญหาด้วยวิธีรุนแรง ปัญหาการขาดการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ตลอดจนปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับการกระจายทรัพยากรพลังงาน น้ำ และอาหาร”

เสถียรภาพของทุกประเทศเหล่านี้ล้วนแต่เปราะบางพร้อมจะแตกสลายยามที่ถูกกระทบแรงๆ ซ้ำๆ จากวิกฤตเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะในยามที่อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินตกต่ำอย่างในปัจจุบัน “ทาจิกิสถานและคีร์กีซสถานต้องพึ่งพิงเงินตราต่างประเทศจากบรรดาแรงงานที่อพยพไปรัสเซียและคาซัคสถานเพื่อสร้างรายได้ส่งกลับบ้านเลี้ยงครอบครัว ขนาดการพึ่งพิงดังกล่าวใหญ่โตมากเมื่อเทียบกับระดับของจีดีพีประเทศ อาทิ ในทาจิกิสถานซึ่งสูงถึง 45%ของจีดีพีประเทศ ดังนั้น ประเทศอย่างนี้จะถูกกระทบอย่างร้ายแรงจากวิกฤตการเงินโลก”

ความขาดแคลนทางเศรษฐกิจยังเร่งความรุนแรงในปัญหาอาชญากรรมและการปล้นสะดมภ์ในหลายพื้นที่ของโลก ผอ.แบลร์ให้ปากคำไว้อย่างนั้น พร้อมบอกว่าหลายพื้นที่ในอัฟริกาตะวันตกเป็นย่านที่จะเผชิญปัญหานี้มากเป็นพิเศษ เพราะถูกรุมเร้าหนักด้วยปัญหาความยากจนขณะที่ศักยภาพของภาครัฐก็มีแต่จะถดถอยในเรื่องการแก้ปัญหาที่ดินแดนเหล่านี้เป็นทางผ่านในการขนถ่ายยาเสพติดจากลาตินอเมริกาเข้าสู่ยุโรป

“นักค้าสิ่งผิดกฎหมายประสบความสำเร็จในการร่วมมือกับรัฐบาลและหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายในประเทศเหล่านี้ และจึงยิ่งทำลายรัฐบาลผู้แสนจะอ่อนแอและยากจน ผู้ซึ่งขาดแคลนการบังคับใช้กฎหมายอย่างเพียงพอ ตลอดจนขาดแคลนศักยภาพด้านตุลาการ” รายงานบรรยายไว้อย่างนั้น ทั้งนี้ ผอ.แบลร์ชี้เจาะจงไปยังประเทศกีนี-บิสเซาว่า “เป็นรัฐแห่งยาเสพติดแห่งแรกของอัฟริกา โดยที่ว่าในวันที่ 3 มีนาคม ประธานาธิบดีของประเทศถูกสังหารในเหตุการณ์ที่ผู้ติดตามสถานการณ์บางส่วนเชื่อว่าเป็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคู่แข่งผลประโยชน์ด้านยาเสพติด

ในเวลาต่อมาคือวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ผอ.แบลร์เข้าให้ปากคำแก่กรรมาธิการของสภาผู้แทนฯด้วย และมีการผูกโยงประเด็นการเกิดความวุ่นวายทางการเมืองในโลกกำลังพัฒนา ให้ใกล้มากขึ้นกับประเด็นสถานการณ์เศรษฐกิจโลก เช่น การกล่าวถึงสถานการณ์ร้อนระอุในปากีสถานว่า “รัฐบาลกำลังสูญเสียอำนาจในพื้นที่ตอนเหนือและตะวันตก ตลอดจนในพื้นที่อีกหลายส่วนซึ่งมีความเจริญมากกว่าส่วนอื่นๆ ของประเทศ ซึ่งนั่นเป็นการเพิ่มความทุกข์ยากทางเศรษฐกิจ ในเวลาเดียวกันความรู้สึกคับแค้นใจต่อการบริหารปกครองซึ่งย่ำแย่ส่งผลเป็นการหนุนการใช้ความรุนแรงให้มากยิ่งขึ้น”

ขณะที่มันอาจจะเร็วเกินไปที่จะระบุลงไปว่าพื้นที่จุดใดของโลกที่อาจจะเกิดปัญหา“การขาดไร้เสถียรภาพซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อระบอบการปกครอง”ปะทุร้อนแรงขึ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจ แต่การวิเคราะห์ที่ได้รับจากรายงานของธนาคารโลกและเอฟเอโอ ชี้ว่าบรรดาประเทศกำลังพัฒนามากมายล้วนแต่อยู่ในความเสี่ยงสูง

ชาติอภิมหาเศรษฐีของโลกได้ประสบแล้วกับระลอกแรกของคลื่นถล่มเศรษฐกิจโลก ส่วนในกาลข้างหน้าผลกระทบจากคลื่นถล่มเศรษฐกิจโลกระลอกสองที่จะมีโฟกัสอยู่ในกลุ่มชาติที่มีการพัฒนาน้อยกว่า ก็อาจจะส่งกระแสไปสร้างความเดือดร้อนบาดเจ็บให้ชาติอภิมหาเศรษฐีได้โดนทั่วถึงกันอีกหนึ่งคำรบ ทั้งนี้ เครื่องชี้บ่งทั้งหลายส่งสัญญาณว่า ผลสืบเนื่องต่างๆ จากคลื่นถล่มเศรษฐกิจโลกระลอกสองนี้ มีความเป็นไปได้ที่จะรุนแรงสะเทือนฟ้าสะท้านแผ่นดินเสียยิ่งกว่าเมื่อคราวของคลื่นระลอกแรกเสียอีก

ไมเคิล แคลร์ เป็นศาสตราจารย์ด้านการศึกษาถึงสันติภาพและความมั่นคงของโลกที่แฮมเชียร์ คอลเลจ ท่านเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง Rising Powers, Shrinking Planet: The New Geopolitics of Energy (สำนักพิมพ์เมโทรโพลิตัน บุ๊คส์, ปี 2008) และเป็นคอลัมนิสต์ของ Foreign Policy In Focus”
  • คลื่นถล่มเศรษฐกิจโลกระลอกสอง(ตอนแรก)
  • กำลังโหลดความคิดเห็น