xs
xsm
sm
md
lg

กระตุ้นเด็กสนใจวิทย์ ไทยเตรียมเป็นเจ้าภาพ “ฟิสิกส์โอลิมปิก ครั้งที่ 10” ดึง 15 ชาติเอเชียร่วม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไทยรับหน้าสื่อเจ้าภาพจัดแข่งขัน “ฟิสิกส์โอลิมปิก ครั้งที่ 10” มีกว่า 15 ประเทศส่งเด็กเข้าร่วมแข่งขัน วันที่ 24 เม.ย.ถึง 2 พ.ค. เพื่อพัฒนาการเรียน “รศ.เย็นใจ” ติงเด็กค่อยสนใจเรียนฟิสิกส์เพราะการสอบโอเน็ต-เอเน็ต ใช้วิธี เคมี ชีวะ เตือนหากทิ้งฟิสิกส์จะทำให้ประเทศไทยล้าหลัง

ที่กระทรวงศึกษาธิการ วันนี้ (19 ม.ค.) นายสุรพล ภัทราคร คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รศ.สุวรรณ คูสำราญ กรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการอำนวยการ ดำเนินการจัดการแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระดับทวีปเอเชีย รศ.เย็นใจ สมวิเชียร กรรมการและเหรัญญิก มูลนิธิ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) นายสุชาติ วงศ์สุวรรณ ที่ปรึกษาสำนักงานกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ที่ปรึกษา สพฐ.) ร่วมแถลงข่าวการจัดการแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระดับทวีปเอเชีย ระหว่างวันที่ 24 เมษายน - 2 พฤษภาคม 2552 ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

นายสุรพล กล่าวว่า การแข่งขันดังกล่าวจะเป็นการแข่งขันระหว่างนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ทีมละไม่เกิน 8 คน จะแบ่งข้อสอบออกเป็น 2 ส่วน คือ ภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ ใช้เวลาสอบ 5 ชั่วโมง ซึ่งจะมีประเทศที่เข้าร่วมการแข่งขันทั้งสิ้น 15 ประเทศ ได้แก่ จีน ไต้หวัน ฮ่องกง มาเก๊า สิงคโปร์ อินโดนีเซีย กัมพูชา อินเดีย คีร์กีซสถาน ศรีลังกา จอร์แดน เตอร์กมินิสถาน เวียดนาม อิสราเอล และไทย พร้อมกันนี้คาดว่าจะมีประเทศบูรไน คาซัคสถาน มองโกเลีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ ลาว เนปาล และมาเลเซีย เข้าร่วมแข่งขันด้วย

ดร.พรพรรณ กล่าวว่า การแข่งขันครั้งนี้กระตุ้นให้เด็กตื่นตัวสนใจมาเรียนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ อันนำไปสู่การปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตร ตลอดจนการเรียนการสอน เพื่อให้ระบบการศึกษาไทยมีมาตรฐานเท่าเทียมกับนานาประเทศ พร้อมกันนี้ยังเป็นการกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่สนใจวิทยาศาสตร์อีกด้วย

รศ.สุวรรณ กล่าวเสริมว่า ทาง มูลนิธิ สอวน.จะคัดเลือกนักเรียนในส่วนภูมิภาคอีกจำนวน 8 คน ที่เข้ารับการอมรมในศูนย์ สอวน.ให้ได้รับโอกาสเข้าร่วมแข่งขันในฐานะทีมรับเชิญ ซึ่งเด็กกลุ่มนี้จะทำข้อสอบเหมือนกับเด็กตัวจริงทุกอย่าง เพื่อให้เด็กเหล่านี้ได้เรียนรู้ เก็บเกี่ยวประสบการณ์และนำไปพัฒนาการเรียนวิทยาศาสตร์ สำหรับข้อสอบนั้นจะต้องไม่ซ้ำของเก่า และไม่มีใครเคยเห็นมาก่อน ส่วนการตรวจข้อสอบนั้นได้มีการเชิญอาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ จำนวน 40 ท่านมาทำการตรวจเพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

ด้าน นายสุชาติ แสดงความเห็นว่า นักเรียนที่เข้าร่วมแข่งขันจะได้ความรู้และประสบการณ์ เพื่อนำไปปรับปรุงการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์ให้มีความก้าวหน้า อีกทั้งยังเป็นเวทีที่ช่วยกระตุ้นให้นักเรียนเกิดความสนใจ และประสบความสำเร็จในการเรียนวิทยาศาสตร์

รศ.เย็นใจ กล่าวว่า วิชาฟิสิกส์เป็นวิชาที่มีความสำคัญอย่างมาก แต่การสอบโอเน็ตและเอเน็ตนั้น ทำให้เด็กทิ้งวิชาฟิสิกส์ไป เพราะการสอบดังกล่าวสอบแค่ 2 วิชาคือ เคมีกับชีวะ ส่งผลให้เด็กไม่สนใจเรียนฟิสิกส์ ถ้าไม่มีวิชาฟิสิกส์จะทำให้ประเทศไทยล้าหลัง


ส่วนในพิธีปิดการแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จฯมาเป็นองค์ประธาน พร้อมพระราชทานรางวัลแก่ผู้เข้าร่วมแข่งขันด้วย

กำลังโหลดความคิดเห็น