xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

เวทีนโยบาย:‘สิทธิเกษตรกร’อำนาจอันชอบธรรมของเกษตรกรไทย

เผยแพร่:   โดย: ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ

เมื่ออนาคตถูกกำหนดโดยปัจจุบัน ฉากชีวิตเกษตรกรไทยที่ยากจนข้นแค้นแสนสาหัสจากการเป็นทาสหนี้สินย่อมเป็นไทไถ่ถอนพันธนาการได้ถ้าลงมือทำปัจจุบันเพื่อเปลี่ยนแปลงอนาคต

อย่างน้อยสุดทางปฏิบัติ ณ ขณะนี้ ก็คือต้องผลักดัน พ.ร.บ.สภาเกษตรกรแห่งชาติ พ.ศ. .... ให้สามารถธำรงรักษาเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 84 (8) ที่ต้องการคุ้มครองและรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกร ตลอดจนส่งเสริมการรวมกลุ่มในรูปสภาเกษตรกรไว้ให้ได้

เนื่องด้วยที่ผ่านมาการออกกฎหมายเพื่อรองรับสิทธิตามรัฐธรรมนูญมักถูกบิดเบือนให้ผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปจากเจตนารมณ์อยู่เสมอๆ ยิ่งกว่านั้นในช่วงเวลาพิจารณาร่างกฎหมาย ในชั้นกรรมาธิการวิสามัญจะมีสัดส่วนตัวแทนภาคประชาชนที่เข้าไปน้อยมากเมื่อเทียบกับตัวแทนกลุ่มทุนธุรกิจและการเมือง อีกทั้งการพิจารณาก็จะคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนน้อยกว่าผลประโยชน์ของกลุ่มทุน ส่งผลให้ท้ายสุด พ.ร.บ.ฉบับนั้นๆ กลายเป็นแค่เครื่องมือแสวงหาผลประโยชน์บนฐานอำนาจทางกฎหมายไปอย่างน่าเสียดาย

ด้วยเหตุปัจจัยนี้ นอกจากการสนับสนุนตัวแทนผลประโยชน์ประชาชนที่เข้าไปเป็นกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมายไม่ให้ท้อแท้ที่จะผลักดันสิทธิเกษตรกรได้บรรจุอยู่ใน พ.ร.บ. สภาเกษตรกรแห่งชาติแล้ว การติดตามความเคลื่อนไหวในกลุ่มนักการเมืองที่มีสายสัมพันธ์กับบรรษัทอุตสาหกรรมเกษตร และเนื้อหาท่าทีในการออกมากำหนดประเด็นข่าวสารของกลุ่มทุนเกษตร ก็สำคัญไม่ด้อยกว่ากัน เพราะมีข้อน่าสังเกตถึงความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันอย่างมีนัยสำคัญ

ดังนั้นถ้าเกาะติด หากเกิดกรณีไม่ชอบมาพากลก็จะได้ตีแผ่ผ่านสื่อมวลชนได้ทันท่วงที ที่สำคัญจะกระตุกสังคมให้เข้ามาเป็นพลังร่วมตรวจสอบได้อีกทางหนึ่งด้วย

กระไรก็ดี การจะกระทำเช่นนั้นได้ ไม่เพียงสังคมต้องมองเห็นคุณค่าเกษตรกรในฐานะผู้เลี้ยงชีวิตตนเองและโลก ทว่ายังต้องรู้สารัตถะสำคัญของร่าง พ.ร.บ.สภาเกษตรกรฉบับที่ถูกใช้เป็นร่างหลักในการพิจารณาด้วยว่าเอื้อประโยชน์เกษตรกรหรือบรรษัทอุตสาหกรรมเกษตรกันแน่

ทั้งนี้ หลักการพิจารณาว่า พ.ร.บ. นั้นทอนทำลายหรือส่งเสริมสิทธิเกษตรกรไทย หรือมา ‘ถูกทาง’ หรือไม่นั้น ก็ไม่สลับซับซ้อนแต่อย่างใด เพียงเทียบเคียงเนื้อหาสาระกับร่าง พ.ร.บ. สภาเกษตรกรแห่งชาติฉบับประชาชนที่ผ่านกระบวนการระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนภายใต้การออกแบบที่คำนึงถึงสิทธิเกษตรกรเป็นสำคัญก็เพียงพอแล้ว ดังประเด็นหลักๆ ต่อไปนี้

1) การคัดเลือกตัวแทนเกษตรกร โดยต้องเปิดกว้างให้เกษตรกรทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้โดยตรงในวันเปิดประชุมสภาเพื่อเสนอตัวเข้ารับคัดเลือกเป็นสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติ นอกเหนือจากการมีสิทธิเสนอชื่อผู้ทรงคุณวุฒิได้อย่างอิสระทั้งระดับชาติและจังหวัด โดยไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกในองค์กรเกษตรที่จดทะเบียนกับราชการ

2) การกำหนดให้สภาเกษตรกรแห่งชาติมีระดับเดียวเพื่อทำหน้าที่เชื่อมร้อยเกษตรกรกับภาครัฐอย่างมีประสิทธิภาพ โดยจัดให้มีสมัชชาเกษตรกรเพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกรรายย่อยเข้ามามีส่วนร่วมได้โดยตรง ไม่จำเป็นต้องชนะการคัดเลือกเข้ามาเป็นสมาชิกสภาเกษตรกร

3) การมีสมัชชาหลายระดับ ทั้งระดับชาติ จังหวัด และพื้นที่ รวมถึงสมัชชาเฉพาะประเด็น เพื่อเป็นกระบวนการที่เกษตรกรและภาคส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อนำไปสู่การจัดทำข้อเสนอแนะนโยบายสาธารณะ ยุทธศาสตร์การเกษตร และการพัฒนาสิทธิเกษตรกรทั้งระบบ ตลอดจนการแก้ไขปัญหาของเกษตรกร

4) การมีอำนาจจัดประชุมเพื่อทำแผนแม่บทและนโยบายสาธารณะเพื่อพัฒนาสิทธิเกษตรกรและชีวิตความเป็นอยู่เพื่อนำเสนอต่อรัฐบาลและรัฐสภาได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านการคัดกรองจากกระทวงเกษตรและสหกรณ์ก่อนถึงคณะรัฐมนตรี อีกทั้งมติของสภาเกษตรกรที่คณะรัฐมนตรีรับหลักการก็ต้องประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้เป็นข้อผูกมัดที่รัฐบาลจะต้องปฏิบัติตาม รวมทั้งยังสามารถเปิดการประชุมสมัยวิสามัญได้หากมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข ไม่ใช่มีแค่การประชุมประจำปีเพื่อทำแผนแม่บทและนโยบายเท่านั้น

5) การบริหารจัดการสภาเกษตรกร โดยต้องมีคณะกรรมการบริหาร 21 คน ที่คัดเลือกมาจากสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติ และมีสำนักงานเลขาธิการที่มีความเป็นอิสระภายใต้การควบคุมของสภาเกษตรกรแห่งชาติ ไม่ใช่ให้กระทวงเกษตรและสหกรณ์เข้ามาบริหารงานภายในองค์กรในฐานะสำนักงานเลขาธิการ

6) การบริหารงบประมาณ โดยต้องมีกองทุนสำหรับการบริหารงานอย่างอิสระ โดยให้สำนักงานเลขาธิการบริหารภายใต้การควบคุมของคณะกรรมการบริหารสภาเกษตรกรแห่งชาติ ไม่ใช่บริหารงบประมาณแบบราชการ

โดยทั้ง 6 ประเด็นดังกล่าวได้ถูกแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างกว้างขวางคึกคักในเวทีรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) ทุกภาคส่วน โดยการเชื่อมประสานของโครงการการพัฒนาการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะด้านสิทธิที่เชื่อมโยงกับสุขภาวะ ก่อนตกผลึกเป็นมาตราต่างๆ ใน พ.ร.บ.สภาเกษตรกรแห่งชาติฉบับประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นสิทธิเกษตรกร (Farmers’ rights) ที่ถูกทบทวนขบคิดภายใต้บริบทสังคมไทยที่ตกใต้อาณัติอิทธิพลบรรษัทอุตสาหกรรมเกษตรมาช้านานจากการผูกขาดปัจจัยการผลิตเมล็ดพันธุ์ ที่ดิน และน้ำ

สิทธิการรวมกลุ่มกันของเกษตรกร องค์กรเกษตรกร หรือเครือข่ายเกษตรกร เพื่อเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงและครอบครองเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตอย่างมั่นคง สิทธิในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสาธารณะ สิทธิในการได้รับผลตอบแทนอย่างเพียงพอและเป็นธรรม รวมถึงสิทธิในการรักษาและฟื้นฟูวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของตน ที่ปรากฏใน พ.ร.บ. สภาเกษตรกรแห่งชาติฉบับประชาชนจึงเป็น ‘อำนาจอันชอบธรรม’ ที่เกษตรกรไทยสามารถกระทำได้ภายใต้การรับรองของกฎหมาย รวมทั้งยังอยู่ได้อย่างยั่งยืนมั่นคงสมศักดิ์ศรีผู้ผลิตอาหารเลี้ยงพลเมืองโลก

นิยามเชิงปฏิบัติการว่าด้วยสิทธิเกษตรกรข้างต้นจึงต้องบรรจุไว้ใน พ.ร.บ.สภาเกษตรกรแห่งชาติ พ.ศ. ... ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาอย่างไม่มีข้อโต้แย้ง เพราะถ้าสภาเกษตรกรแห่งชาติปราศจากสิทธิเกษตรกรก็จะว่างเปล่าไร้ความหมาย กลายเป็นแค่เครื่องมือของทุนและการเมือง

อีกทั้งเพื่อให้หลักการพื้นฐานของสภาเกษตรกรกลมกลืนเป็นเอกภาพกับเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ การกำหนดให้นโยบายสาธารณะการเกษตรต้องมาจากกระบวนการมีส่วนร่วมของเกษตรกรเพื่อ ‘การตัดสินใจที่ดีกว่า’ แล้ว ยังควรกำหนดเป็นลายลักษณ์อักษรลงไปเลยว่าการดำเนินการของสภาเกษตรกรต้องยืนหยัดอยู่บนประเด็นทางยุทธศาสตร์ต่อไปนี้

1) ปรัชญาแนวคิดระบบการเกษตรเพื่อการพึ่งตนเองตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง 2) การพัฒนาสิทธิเกษตรกร 3) เป้าหมายที่พึงประสงค์ของการเกษตร 4) สถานการณ์การเกษตรและเกษตรกรของประเทศ 5) การสร้างความร่วมมือและเชื่อมโยงระบบการผลิต การแปรรูป และการตลาด 6) การจัดให้มีหลักประกันและความคุ้มครองต่อเกษตรกรและพื้นที่เกษตรให้เกิดระบบเกษตรกรรมที่ยั่งยืน 7) การจัดให้มีหลักประกันในการเข้าถึงสวัสดิการพื้นฐานของเกษตรกร

8) การผลิตอาหารที่ปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้บริโภค 9) การสร้าง เผยแพร่ ส่งเสริมถ่ายทอดองค์ความรู้ภูมิปัญญาเกษตรไทย 10) การคุ้มครองพัฒนาแหล่งพันธุกรรมเกษตร 11) การให้การศึกษาเรียนรู้เพื่อสืบทอดองค์ความรู้ภูมิปัญญาและจิตวิญญาณการเกษตรแก่เกษตรกร บุตรเกษตรกรและบุคลากรด้านเกษตร 12) การส่งเสริมความเข้มแข็งองค์กรเกษตรกร 13) การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารการเกษตร และ 14) การส่งเสริมการพัฒนาสถาบันการเงินของเกษตรกร

พัฒนาการด้านระบบสิทธิเกษตรกรที่เคียงคู่มากับการพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ปรับตัวของเกษตรกร การจัดทำระบบฐานข้อมูลการเกษตรที่สำคัญระดับพื้นที่ และการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันและวิเคราะห์เศรษฐกิจการเกษตร ท้ายสุดจะทำให้ฉากชีวิตเกษตรกรไทยส่วนใหญ่ที่ไม่มีความมั่นคงและเป็นอิสระกลับมามั่นคงเป็น ‘อิสรชน’ ได้

เกษตรกรไทยที่ไม่ยอมตนตกใต้อำนาจบรรษัทอุตสาหกรรมเกษตรระดับชาติและข้ามชาติจึงต้องการสภาเกษตรกรที่มีความเป็นอิสระและให้ความสำคัญกับสิทธิเกษตรกรในฐานะกลไกขับเคลื่อนชีวิตให้มีสุขภาวะสมบูรณ์ทั้งกาย จิต สังคม และปัญญา

มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) www.thainhf.org
กำลังโหลดความคิดเห็น