xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องของอาจารย์มหา’ลัยคนหนึ่ง

เผยแพร่:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ

เฉลยกันตั้งแต่ต้นเรื่องเลยว่า ผมกำลังเขียนถึงคนที่ชื่อ พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ความจริงแล้วหลายครั้งหลายหนที่มีคนมาถามผมถึงความเห็นของอาจารย์คนนี้ที่ชอบกระแทกแดกดันพันธมิตรฯ ผมก็ได้แต่บอกไปว่า ไม่อยากจะเขียนถึงและให้ราคา ถึงแม้ผมจะเป็นคนต่ำต้อย เมื่อเทียบกับด็อก-เตอร์ และการเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศของคนที่ผมเอ่ยนามข้างบนนี้

พิชญ์ ใช้พื้นที่ของเขาในเนชั่นสุดสัปดาห์ในนามของเพี้ยน นักเรียนนอก นามปากกาที่สะท้อนให้เห็นถึงชนชั้นแห่งความโก้เก๋เพื่ออวดค่านิยมของสังคม

ผมอ่านบทความของเขาโดยบังเอิญเรื่อง “อยากเขียนเรื่องอื่นที่ไม่ใช่การประเมินผลงานของรัฐบาล” แล้วสุดท้ายเขาก็พุ่งเป้าด้วยการโจมตีไปที่ “ระบอบไม่เอาทักษิณ” โดยสรุปว่า คนเหล่านั้นต้องการโค่นล้มทักษิณด้วยวิธีใดก็ได้ ไม่ว่าวิธีการนั้นจะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ก็ตาม

ก่อนอื่นผมขอเคลียร์คำว่า “ระบอบไม่เอาทักษิณ” ก่อน ผมคิดว่า คำนี้คงเป็นการสับสนทางความคิดหรือการบัญญัติศัพท์ให้ดูเท่ของคนเขียน ถ้าเขาหมายถึงพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย ผมคงต้องทำความเข้าใจว่า พันธมิตรฯ คือ กลุ่มที่เอาไม่เอาระบอบทักษิณ แน่นอนไม่เอาทักษิณ แต่ไม่ใช่ระบอบไม่เอาทักษิณ

ผมเพิ่งรู้ว่า มีระบอบไม่เอาทักษิณอยู่ด้วย ทำให้ผมต้องครุ่นคิด และนึกได้แต่คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ซึ่งหย่ากับทักษิณแล้ว และไม่น่าจะเป็นระบอบ (regime) ได้

พันธมิตรฯ ไม่ได้ปฏิเสธทักษิณตั้งแต่ต้น หลายคนเคยชื่นชอบและเชียร์ทักษิณมาก่อน แต่เมื่อเห็นว่า วิธีการของเขากำลังสร้างระบอบใหม่ขึ้นมา กลายเป็นเพียงตัวแทนกลุ่มผลประโยชน์ของกลุ่มทุนของตัวเองและพวกพ้อง ไม่ใช่ตัวแทนผลประโยชน์ของประชาชน พันธมิตรฯ จึงออกมาต่อต้านและขับไล่ และเมื่อเกิดนอมินีของระบอบทักษิณ พันธมิตรฯ ก็ได้ให้โอกาส แต่เมื่อนอมินีของระบอบทักษิณต้องการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อฟอกผิดให้ทักษิณ พันธมิตรฯ จึงต้องรวมตัวเพื่อขับไล่อีกรอบ

น่าเสียดายพิชญ์ใช้คำว่า “พันธมิตรที่ไม่เอาทักษิณ” โดยไม่ได้ชี้ให้ชัดเจนว่า กลุ่มไหนบ้างที่เขากำลังวิพากษ์วิจารณ์และเรียกว่า “ระบอบไม่เอาทักษิณ” เพียงแต่แยกแยะว่า คนที่วิจารณ์ทักษิณและไม่เอาทักษิณนั้น จำนวนหนึ่งไม่ได้เป็นคนที่เอาด้วยกับระบอบไม่เอาทักษิณ ซึ่งผมเข้าใจเอาว่า เขาหมายถึงตัวเขาเอง ซึ่งเป็นพวกที่พยายามอธิบายตัวเองว่า ไม่เอาทั้งทักษิณและพันธมิตรฯ

พวกนี้พยายามบอกว่า ทั้งทักษิณและพันธมิตรฯ นั้นไม่ถูกต้อง แต่พอวิจารณ์พันธมิตรฯ เขาจะมีน้ำเสียงไปทางชื่นชมทักษิณ แต่พอพันธมิตรฯ ตอบโต้ พวกนี้จะบอกว่า เขาเคยวิจารณ์ทักษิณมาก่อน

แท้จริงแล้วถ้าอธิบายด้วยภาษาอันอลเวงของพิชญ์เอง พิชญ์และพวกก็เป็นพวก “ระบอบไม่เอาพันธมิตรฯ” นั่นเอง

ความคลุมเครือที่ไม่อธิบายให้ชัดว่า “พันธมิตรที่ไม่เอาทักษิณ” หรือ “ระบอบไม่เอาทักษิณ” หมายถึงใครบ้าง ผมจึงถือว่า บทความชิ้นนี้ทิ่มแทงมาที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยด้วย หรืออย่างน้อยทำให้คนอ่านเข้าใจได้ว่า พิชญ์กำลังด่าพันธมิตรฯ ดังนั้นนี่เป็นมุมมองของผมในแง่พันธมิตรฯ คนหนึ่ง (เป็นความเห็นตามความเข้าใจของผมไม่ใช่ในฐานะองค์กร) แม้ว่า บทความชิ้นนี้จะไม่ค่อยเป็นเหตุเป็นผล เป็นวัวพันหลักและมีแต่โวหารซึ่งเป็นสไตล์ของนักวิชาการผู้นี้

พิชญ์บอกว่า คนที่ไม่เอาทักษิณในแง่วิพากษ์วิจารณ์ หรือกดดันขับไล่ทักษิณก่อนการรัฐประหาร ไม่ใช่พวกเดียวกับบรรดาพันธมิตรฯ ที่ไม่เอาทักษิณที่สถาปนาตัวเองขึ้นเป็นระบอบไม่เอาทักษิณ ซึ่งเข้ามายึดครองอำนาจรัฐแล้วในสองครั้งโดยการโค่นล้มระบอบทักษิณโดยรัฐประหารและการโค่นล้มระบอบทักษิณด้วยเกมในสภา และการรัฐประหารเงียบในลักษณะการขัดขืนในการปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาลโดยทหาร

เมื่อถึงตรงนี้ ฟังดูเหมือนว่า พิชญ์จะไม่ได้หมายถึงพันธมิตรฯ เลย เพราะพันธมิตรฯ ไม่เคยเข้าไปยึดครองอำนาจรัฐทั้งหลังรัฐประหารและหลังการโค่นล้มด้วยเกมในสภา ถ้าจะพยายามทำให้เข้าใจว่า พันธมิตรฯ เข้าไปยึดครองอำนาจรัฐด้วย ก็คงเป็นเพราะต้องการบิดเบือนหรือไม่ก็ไร้เดียงสา

ทั้งพันธมิตรฯ เองก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร เพราะคณะรัฐประหารอ้างว่า จะมีประชาชนทั้งสองฝ่ายออกมาปะทะกัน แน่นอนฝ่ายหนึ่งคือพันธมิตรฯ ที่ชุมนุมกดดันขับไล่ทักษิณ อีกฝ่ายหนึ่งคือ ประชาชนที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้น ซึ่งพิชญ์ก็ไม่เคยอธิบายว่า รัฐบาลประชาธิปไตยทักษิณที่พิชญ์พยายามอ้างความชอบธรรมให้นั้น จัดตั้งประชาชนขึ้นมาเพื่อปะทะกับประชาชนที่ชุมนุมขับไล่นั้น เป็นส่วนหนึ่งของระบอบประชาธิปไตยหรือไม่

แต่ถ้ามองข้ามประสิทธิภาพการทำงานของรัฐบาลอภิสิทธิ์ซึ่งผมวิพากษ์วิจารณ์อยู่แล้ว ผมไม่เห็นว่า เกมในสภาที่ทำให้อภิสิทธิ์เป็นนายกฯ จะก้าวออกนอกกระบวนการของระบอบประชาธิปไตยตรงไหน พิชญ์เองก็ไม่อธิบายนอกจากประดิษฐ์ถ้อยเพื่อทำร้ายกันทางวาทกรรมเท่านั้น

พิชญ์พยายามอธิบายว่า ทักษิณนั้นอยู่ในระบอบประชาธิปไตย แต่พวกไม่เอาทักษิณนั้น ต้องการโค่นล้มทักษิณด้วยวิธีใดก็ได้ ไม่ว่าวิธีนั้นจะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ก็ตาม และอธิบายว่า ผู้คนจำนวนมากที่เข้าร่วมระบอบไม่เอาทักษิณนั้น ไม่ได้เกี่ยวพันกับประชาธิปไตยในฐานะกระบวนการ อันนี้พิชญ์หมายถึงพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยแน่

น่าตลกนะครับ ถ้ามีคนบอกว่า การที่ประชาชนจำนวนมากร่วมเดินขบวนชุมนุมประท้วงอย่างยืดเยื้อเพื่อขับไล่รัฐบาล ไม่ใช่กระบวนการของระบอบประชาธิปไตย นอกเหนือจากที่มีคนโจมตีพันธมิตรฯ เรื่องมาตรา 7 ทั้งที่มาตรา 7 ก็อยู่ในรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งคนกลุ่มหนึ่งเชื่อว่า เป็นประชาธิปไตยที่ดีที่สุดเท่าที่เคยมีมา

และจากการที่ผมไม่ได้เป็นด็อกเตอร์ทางรัฐศาสตร์ ผมจึงไม่ทราบว่า มีตำราเล่มไหนในโลกที่เขียนว่า ประชาชนที่ออกมาชุมนุมขับไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่ใช่กระบวนการหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย

แต่ผมได้ยินคนขับตุ๊กตุ๊กพูดว่า ปรัชญาเมธีทางการเมืองเขียนไว้ตั้งแต่สมัยนครรัฐกรีกด้วยซ้ำไปที่ประชาชนมีสิทธิลุกขึ้นมาขับไล่รัฐบาลที่ไม่ชอบธรรม

และถ้าตัดอำนาจทหารออกไป ประชาชนย่อมมีสิทธิลุกขึ้นมาขับไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หากรัฐบาลใช้อำนาจนั้นอย่างไม่ชอบธรรม ไม่ว่าการโค่นรัฐบาลที่ชั่วช้านั้นจะเรียกว่า การปฏิวัติหรืออะไรก็ตาม

ผมคงไม่ต้องอธิบายอีกว่า รัฐบาลทักษิณไม่ชอบธรรมอย่างไร (เพราะพิชญ์ไม่ใช่พวกเสื้อแดง) และคนที่เป็นอาจารย์รัฐศาสตร์คงไม่อธิบายแค่ว่า เพราะทักษิณมาจากการเลือกตั้ง ถ้าจะอธิบายให้ง่ายที่สุดว่า ถ้าทักษิณยังมีอำนาจอยู่บ้านเมืองจะเป็นอย่างไร ผมอยากให้พิชญ์ไปอ่านสถานการณ์ในเวียดนามใต้ในบันทึกของเหงียนเกากี ที่ “พงษ์ พินิจ”แปลเป็นไทยในชื่อ “สิ้นชาติ”

บอกตรงๆ ครับว่า ผมอ่านแล้วรู้สึกเป็นห่วง เมื่อนึกถึงนักศึกษาในชั้นเรียนรัฐศาสตร์ของ “ด็อก-เตอร์พิชญ์”

                                                 surawhisky@hotmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น