xs
xsm
sm
md
lg

ประเทศจีนยืนอยู่ตรงทางแยก: จะไปทางขวาหรือทางซ้าย?

เผยแพร่:   โดย: เจี่ยนจวินปอ

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

China at a crossroad: Right or left?
By Jian Junbo
23/04/2009

สภาพการณ์ทางการเมืองอย่างใหม่กำลังก่อรูปขึ้นในประเทศจีน “ฝ่ายซ้ายใหม่”กำลังได้รับความสนับสนุนจากประชาชนอย่างกว้างขวางขึ้นเรื่อยๆ ในการต่อสู้กับการทุจริตคอร์รัปชั่นในวงราชการ ตลอดจนการต่อสู้กับช่องว่างในการแบ่งสรรความมั่งคั่งร่ำรวย ขณะที่ “ฝ่ายขวา” ซึ่งเป็นปรปักษ์กับพวกซ้ายใหม่ กลับเชื่อในการปฏิรูปเศรษฐกิจสไตล์ทุนนิยม ตลอดจน “การเปิดกว้าง” อย่างไรก็ตาม เมื่อศึกษาจากบทเรียนที่ผ่านมาในอดีต รัฐบาลน่าที่จะปฏิเสธฝ่ายสุดโต้งทั้งสองด้าน และเลือกที่จะเดินบนทางสายกลาง

เซี่ยงไฮ้ –ขณะที่ประเทศจีนกำลังรู้สึกถึงแรงบีบรัดของภาวะทรุดตัวทางเศรษฐกิจอยู่นี้เอง รัฐบาลจีนก็กำลังตกอยู่ใต้แรงกดดันมากขึ้นเรื่อยๆ จาก “ฝ่ายซ้ายใหม่” และ “ฝ่ายขวา” พวกฝ่ายขวานั้นต้องการให้ปักกิ่งเร่งเดินหน้าดำเนินกระบวนการสร้างประชาธิปไตยทางการเมือง ขณะที่พวกซ้ายใหม่เรียกร้องให้ฟื้นฟูลัทธิสังคมนิยมในบางรูปบางลักษณะขึ้นมาใหม่ เมื่อไม่นานมานี้ทั้งสองค่ายต่างก็เพิ่มความรุนแรงในการวิพากษ์วิจารณ์กันและกัน เพื่อช่วงชิงให้ได้มีอิทธิพลเหนือสาธารณชน

ความขัดแย้งดังกล่าวนี้แสดงให้เห็นถึงทางแยกที่ประเทศจีนกำลังยืนอยู่ ภายหลังช่วงเวลา 30 ปีแห่งการปฏิรูปเศรษฐกิจและการเปิดกว้าง ถ้าหากมีการเก็บรับบทเรียนที่ผ่านมาในอดีตแล้ว พรรคคอมมิวนิสต์จีนก็น่าจะต้องปฏิเสธความสุดโต่งทั้งสองข้างนี้ และแสวงหาหนทางสายกลาง

ฝ่ายซ้ายใหม่เริ่มที่จะแสดงบทบาทคึกคักขึงขังตั้งแต่เมื่อสองสามปีก่อน ทว่าอิทธิพลของพวกเขายังคงจำกัดจวบจนกระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้ ท่ามกลางภาวะทรุดตัวทางเศรษฐกิจ ประเด็นปัญหาความไม่เป็นธรรมทางสังคม อย่างเช่น การทุจริตคอร์รัปชั่นในวงราชการ และช่องว่างทางความมั่งคั่งร่ำรวยที่ถ่างกว้างขึ้นเรื่อยๆ ก็กลายเป็นเรื่องสำคัญขึ้นมา และสภาพเช่นนี้ก็เท่ากับเสนอโอกาสทองทางการเมืองให้แก่ฝ่ายซ้ายใหม่ การสำรวจเมื่อเร็วๆ นี้หลายๆ ครั้งแสดงให้เห็นว่า ความไม่เป็นธรรมทางสังคม กำลังกลายเป็นเรื่องซึ่งสาธารณชนจีนรู้สึกขุ่นเคืองไม่พอใจสูงสุด

พวกซ้ายใหม่ประกอบด้วยปัญญาชนรุ่นหนุ่มสาวและวัยกลางคน อาทิ จั่วต้าเพย (Zuo Dapei) แห่งบัณฑิตยสถานทางสังคมศาสตร์ของจีน, หวางฮุ่ย (Wang Hui) และ ชุ่ยซื่อหยวน (Cui Zhiyuan) จากมหาวิทยาลัยชิงหวา, หวางเส่ากวง (Wang Shaoguang) จากมหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกง, กั่นหยาง (Gan Yang) แห่งมหาวิทยาลัยฮ่องกง, และ เวินเถี่ยจวิน (Wen Tiejun)แห่ง มหาวิทยาลัยประชาชนแห่งประเทศจีน

พวกเขาถูกเรียกว่าฝ่ายซ้ายใหม่ ก็เพื่อแยกพวกเขาออกจากฝ่ายซ้ายเก่าในยุคทศวรรษ 1980 ผู้ซึ่งคัดค้านหัวชนฝาต่อการดำเนินนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจในตอนนั้นของ เติ้งเสี่ยวผิง ผู้นำคนสำคัญยิ่งที่ล่วงลับไปแล้ว สำหรับฝ่ายซ้ายใหม่นั้นไม่ได้คัดค้านเศรษฐกิจแบบตลาด ทว่าเรียกร้องให้รัฐบาลมีบทบาทที่เข้มแข็งมากขึ้นทั้งในระบบเศรษฐกิจ และในการแบ่งสรรความมั่งคั่งร่ำรวย

สำหรับฝ่ายขวาเป็นกลุ่มที่มีขนาดใหญ่กว่ามาก ส่วนใหญ่แล้วประกอบด้วยพวกปัญญาชนเสรีนิยม, สมาชิกพรรคที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมานาน, และพวกนักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มนี้สนับสนุนการปฏิรูปเศรษฐกิจในสไตล์ทุนนิยม ตลอดจน “การเปิดกว้าง” ของประเทศจีน และมักถูกมองว่าเป็นพวกนิยมตะวันตก

วิกฤตการเงินระดับโลกที่กำลังลุกลามอยู่ในเวลานี้ ในประเทศจีนมองกันว่าเป็นเครื่องแสดงถึงความล้มเหลวของเศรษฐกิจแบบปล่อยเสรีโดยรัฐไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว และฝ่ายซ้ายใหม่ก็หยิบฉวยโอกาสนี้มาเร่งเพิ่มการโจมตีกระหน่ำใส่ฝ่ายขวาที่กำลังทำท่าคอตกพูดไม่ค่อยออก จากการโจมตีดังกล่าวนี้ พวกเขาก็สามารถกดดันรัฐบาลให้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานต่างๆ ในนโยบายเศรษฐกิจ และด้วยการตอกย้ำประเด็นปัญหาทางสังคม กลุ่มนี้ก็สามารถดึงดูดความสนใจจากสาธารณชนได้มาก

เมื่อหลายวันก่อน ณ ร้านหนังสือ อู่โหยว โฮมทาวน์ บุ๊กช็อป (Wu You Hometown Bookshop) อันเป็นศูนย์รวมของฝ่ายซ้ายใหม่ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในกรุงปักกิ่ง ตอนช่วงรายการแสดงปาฐกถาว่าด้วยปัญหาสังคม มีผู้เข้าฟังแน่นขนัด จนกระทั่งพวกที่มาทีหลังต้องไปยืนกันอยู่ตามช่องทางเดิน เหตุการณ์อย่างนี้ไม่ใช่มีเพียงครั้งเดียวแล้วก็ยุติลงอย่างแน่นอน เนื่องจากร้านหนังสือแห่งนี้สามารถดึงดูดฝูงชนที่ฝักใฝ่แนวทางซ้ายใหม่ได้เป็นประจำอยู่แล้ว ด้วยการจัดรายการแสดงปาฐกถาและการประชุมสัมมนาอย่างต่อเนื่อง อันที่จริงชื่อ อู่โหยว โฮมทาวน์ ของร้านหนังสือแห่งนี้ ก็เป็นสัญลักษณ์ของอุดมการณ์แบบซ้ายใหม่ เนื่องจากในวรรณคดีจีนนั้น คำๆ นี้มีนัยไปถึงโลกในอุดมคติทำนองเดียวกับยูโทเปีย

พูดกันอย่างกว้างๆ แล้ว พวกซ้ายใหม่เหล่านี้เชื่อว่า พวกเขาเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของผู้คนระดับรากหญ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ชนบท ด้วยการชี้ให้เห็นถึงช่องว่างที่ถ่างกว้างขึ้นทุกทีระหว่างคนรวยกับคนจน และระหว่างเมืองใหญ่กับชนบท พวกซ้ายใหม่ก็กำลังตั้งคำถามเกี่ยวกับเส้นทางมุ่งสู่ความทันสมัยที่จีนกำลังเดินอยู่ พวกเขาอ้างว่าเส้นทางสายนี้อิงอยู่กับค่านิยมของโลกตะวันตกซึ่งพวกฝ่ายขวาป่าวร้องสนับสนุนอยู่ อาทิ เศรษฐกิจแบบตลาดเสรี และ “รัฐบาลที่มีขนาดเล็ก”

ทางฝ่ายขวานั้นกล่าวอ้างถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะทรุดตัวขึ้นมาในเวลานี้ว่า ต้องประณามกล่าวโทษการที่ดำเนินปฏิรูปทางการเมืองล้าหลังไม่ทันการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ แต่ไม่ใช่ความผิดของเศรษฐกิจตลาดเสรีเลย พวกเขาเรียกร้องให้ดำเนินการปฏิรูปทางการเมือง เพื่อจะได้นำเอาสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า “ค่านิยมสากล” มาใช้กัน ค่านิยมสากลที่พวกเขากล่าวถึงก็มีอย่างเช่น ประชาธิปไตย, สิทธิมนุษยชน, และอิสรภาพ

เป็นเวลานานทีเดียว ที่พวกฝ่ายขวาจะเป็นที่นิยมชมชื่นมากกว่า เนื่องจากทัศนะหลายๆ อย่างของพวกเขาอยู่ในแนวทางเดียวกับนโยบายการปฏิรูปและการเปิดกว้างของรัฐบาล ซึ่งหลายๆ คนบอกว่าได้นำพาให้เศรษฐกิจของจีนก้าวผงาดขึ้นมา นี่เองทำให้พวกฝ่ายขวาจำนวนมากคิดว่าพวกเขากำลังยืนอยู่ในฝ่ายที่ถูกต้องของประวัติศาสตร์ และการผงาดขึ้นของประเทศนั้นก็มาจากการเข้าบูรณาการอยู่ในโลก “อารยะ” ซึ่งครอบงำโดยพวกประเทศตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐฯ

ด้วยสภาพเช่นนี้เอง พวกฝ่ายขวาจึงเย้ยหยันฝ่ายซ้ายใหม่โดยบอกว่าพวกซ้ายใหม่นั้นไม่ได้รู้อะไรเกี่ยวกับความเป็นจริงทางเศรษฐกิจเอาเลย ฝ่ายขวายังวิพากษ์วิจารณ์ซ้ายใหม่ว่าขาด “ความสำนึกทางศีลธรรม” เนื่องจากซ้ายใหม่ไม่เชื่อใน “ค่านิยมสากล” เกี่ยวกับอิสรภาพ และประชาธิปไตย ของพวกฝ่ายขวา

ทั้งสองค่ายยังได้ตั้งข้อกล่าวหาผิดๆ มาโจมตีกันและกันอีกด้วย ฝ่ายขวาบอกว่าพวกซ้ายใหม่ต้องการฟื้นฟูลัทธิเผด็จการเบ็ดเสร็จสไตล์ลัทธิเหมาเจ๋อตงขึ้นมา ทั้งที่จริงแล้วพวกซ้ายใหม่มีความแตกต่างจากฝ่ายซ้ายเดิมๆ ซึ่งสนับสนุนการฟื้นลัทธิเหมา

ในอีกด้านหนึ่ง พวกซ้ายใหม่ก็บอกว่า ข้อเสนอต่างๆ ของฝ่ายขวาที่จะให้บูรณาการเข้ากับฝ่ายตะวันตกนั้น จะทำลายอธิปไตยของจีน ทว่าไม่ใช่ฝ่ายขวาทุกคนหรอกที่คิดว่าควรนำเอาค่านิยมแบบตะวันตกมาประยุกต์ใช้กับประเทศจีน

อย่างไรก็ตาม ทั้งสองกลุ่มยังมีสิ่งที่ร่วมกันอยู่ นั่นคือการส่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ฝ่ายซ้ายใหม่นั้นไม่พอใจกับการพัฒนาไปสู่เศรษฐกิจทุนนิยมอย่างรวดเร็ว โดยพวกเขาอ้างว่าเป็นสาเหตุทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมทางสังคม ขณะที่ฝ่ายขวาก็วิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐบาลเชื่องช้าเกินไปในการปฏิรูปทางการเมืองเพื่อไปสู่กระบวนการสร้างประชาธิปไตย

เป็นเรื่องลำบากที่จะทำนายว่าการโต้เถียงเช่นนี้จะดำเนินไปยาวนานแค่ไหน ทว่าเป็นเรื่องแน่นอนที่ความสำเร็จของจีนนั้นไม่สามารถอิงอยู่กับทัศนะของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพียงกลุ่มเดียว แถมทั้งสองฝ่ายนี้ก็ไม่ได้ต้องการที่จะทำให้เกิดความสมดุลระหว่างความยุติธรรมทางสังคมและการพัฒนาของประเทศชาติ

ความยุติธรรมทางสังคมที่เรียกร้องโดยพวกซ้ายใหม่นั้น ไม่สามารถนำไปสู่การเติบโตของประเทศชาติได้อย่างอัตโนมัติ ขณะที่การสนับสนุนต่อเศรษฐกิจตลาดเสรีของฝ่ายขวา ก็ย่อมหนีไม่พ้นที่จะส่งผลกระทบกระเทือนระดับความเท่าเทียมกันในสังคม

การที่ฝ่ายซ้ายใหม่วิพากษ์วิจารณ์ฝ่ายขวาอย่างเต็มไปด้วยความรู้สึก บ่อยครั้งมักเป็นการกระตุ้นอารมณ์ในทางชาตินิยม ดังที่ปรากฏอยู่ในหนังสือขายดีเล่มใหม่ที่ใช้ชื่อว่า “ประเทศจีนไม่พอใจ” (จงกว๋อปู้เกาซิ่ง) ขณะเดียวกัน ข้ออ้างของฝ่ายขวาในเรื่องศีลธรรมอันสูงส่งก็เป็นเพียงภาพมายา หากพวกเขามองตัวเองว่าเป็นนักสากลนิยมแล้ว พวกเขาก็ควรถามตัวเองว่า ทำไมพวกเขาจึงถูกพวกฝ่ายซ้ายใหม่ระบุว่าเป็นเพียงสมุนบริวารของพวกนายทุน “ชั่วร้าย” จากประเทศจีนและต่างแดน

กระนั้นก็ดี การโต้แย้งระหว่างพวกซ้ายใหม่กับฝ่ายขวาเช่นนี้ ก็สะท้อนให้เห็นถึงความขัดแย้งที่สังคมจีนกำลังเผชิญอยู่ เมื่อประเด็นปัญหาต่างๆ จำนวนมากขึ้นๆ ปรากฏขึ้นมา ก็จำเป็นจะต้องมีการปฏิรูปอันลึกซึ้งยิ่งขึ้นและกระทั่งรุนแรงมากขึ้นเพื่อมาแก้ไขปัญหา ทั้งสองกลุ่มต่างอวดอ้างว่าตนเองยืนอยู่ในฝ่ายที่ถูกต้องของประวัติศาสตร์และของสัจธรรม ทว่าโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่กำลังเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจทั่วโลกเช่นนี้ พวกเขาควรที่จะขบคิดเกี่ยวกับอนาคตของประเทศจีนให้มากขึ้น

ความสมดุลระหว่างความสำเร็จทางเศรษฐกิจเหล่านี้และความยุติธรรมทางสังคมนั้น เป็นเรื่องที่สำคัญมากทั้งสำหรับชีวิตของประชาชนชาวจีนและสำหรับความชอบธรรมในการเป็นผู้ปกครองของรัฐบาล เมื่อมองจากมุมมองเช่นนี้ คณะผู้นำชุดปัจจุบันก็น่าที่จะเดินตามภูมิปัญญาของเติ้งเสี่ยวผิง และเลือกเส้นทางสายกลางระหว่างฝ่ายซ้ายกับฝ่ายขวา ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ภารกิจเช่นนี้เป็นเรื่องที่พูดง่ายดายกว่าทำนักหนา

ดร.เจี่ยนจวินปอ เป็นรองศาสตราจารย์แห่งสถาบันการระหว่างประเทศศึกษา มหาวิทยาลัยฟู่ตั้น นครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน
กำลังโหลดความคิดเห็น