xs
xsm
sm
md
lg

“นายทุนแดง” คลี่คลายแนวทางพรรคคอมมิวนิสต์จีน

เผยแพร่:   โดย: อู่จง

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

‘Red capitalists’ unravel the party line
By Wu Zhong
16/10/2008

รองประธานาธิบดี สีจิ้นผิง ของจีน ได้ทำการปลดชนวนการถกเถียงทางอุดมการณ์อันเจ็บปวดที่ดำเนินมาถึง 30 ปี ด้วยการประกาศว่า เวลานี้พรรคคอมมิวนิสต์จีนเติบใหญ่เจริญวัยเต็มที่จนก้าวจากการเป็น “พรรคปฏิวัติ” ไปเป็น “พรรคปกครองประเทศ” แล้ว การพูดเช่นนี้ย่อมทำให้สามารถอธิบายได้ง่ายยิ่งขึ้นว่า ทำไมพรรคที่ถือว่าเป็นของชนชั้นกรรมาชีพ จึงสามารถพัฒนาเศรษฐกิจแบบนายทุนได้ด้วย อย่างไรก็ตาม นี่คือ “การปลดปล่อยความคิด” หรือว่าเป็นเพียงการเล่นโวหารเท่านั้น ?

ฮ่องกง – ในความเคลื่อนไหวซึ่งดูเหมือนจะเป็นการปลดชนวนการโต้เถียงทางอุดมการณ์ที่ดำเนินมาหลายสิบปี รองประธานาธิบดี สีจิ้นผิง ของจีน ผู้ได้รับการจับตามองอย่างกว้างขวางว่าจะเป็นทายาทสืบทอดประธานาธิบดีหูจิ่นเทา ได้ออกมาประกาศว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีน (พคจ.) ได้แปรตนเองจากการเป็น “พรรคปฏิวัติ” ไปสู่การเป็น “พรรคปกครองประเทศ” แล้ว

สำหรับผู้สังเกตการณ์ภายนอก การที่ พคจ.เป็นพรรคผู้ปกครองประเทศของจีนคือสิ่งที่เห็นกันได้โต้งๆ อยู่แล้ว ดังนั้นคำพูดของสีจึงฟังดูเหมือนการพูดซ้ำซากเพ้อเจ้อ ทว่าสำหรับสมาชิกพรรคและประชาชนจีนโดยรวม นี่คือการให้คำนิยามแก่ พคจ. กันใหม่ที่มีความสำคัญใหญ่หลวงทั้งในทางทฤษฎีและในทางปฏิบัติ กระทั่งอาจจะกลายเป็นการผ่าทางตันสู่ “การปลดปล่อยความคิด” รอบใหม่กันทีเดียว

ภูมิปัญญาทางการเมืองของเติ้งเสี่ยวผิง ผู้นำทรงอำนาจสูงสุดของจีนซึ่งล่วงลับไปแล้ว อยู่ตรงที่นำเอาประเด็นปัญหาอันเจ็บปวดต่างๆ ที่อาจขัดขวางความก้าวหน้า เก็บใส่เข้าลิ้นชักเอาไว้ก่อน ตัวอย่างเช่น ในเดือนเมษายน 1978 เกิดมีการถกเถียงอภิปรายกันในเรื่องอำนาจอธิปไตยเหนือหมู่เกาะเตี้ยวอวี๋ (ในญี่ปุ่นเรียกชื่อว่าหมู่เกาะเซนกากุ) ซึ่งเป็นเกาะเล็กเกาะน้อยไร้พืชพรรณกลุ่มหนึ่ง ที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเกาะไต้หวัน และทางตอนใต้ของหมู่เกาะริวกิว ปรากฏว่าเรื่องนี้ทำท่าบานปลายจนคุกคามที่จะกลายเป็นอุปสรรคขัดขวางการลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพระหว่างจีนกับญี่ปุ่น

เติ้งได้เรียกร้องให้เก็บการโต้แย้งเรื่องดินแดนนี้เข้าลิ้นชักไว้ก่อน ในเดือนตุลาคมของปีนั้น เติ้งได้ไปเยือนญี่ปุ่นและเข้าร่วมพิธีแลกเปลี่ยนหนังสือให้สัตยาบันรับรองสนธิสัญญาสันติภาพและมิตรภาพจีน-ญี่ปุ่นฉบับดังกล่าว เมื่อเขาถูกถามถึงเรื่องปัญหาหมู่เกาะเตี้ยวอวี๋ เติ้งก็ตอบว่า “ปัญหาหมู่เกาะเตี้ยวอวี๋ ... สามารถที่จะวางเอาไว้ก่อนได้ในขณะนี้ บางทีคนรุ่นหลังๆ จะมีความฉลาดกว่าพวกเรา และจะพบวิธีแก้ปัญหาที่นำมาใช้ปฏิบัติได้”

เมื่อกลับมาประเทศจีนแล้ว ในเวลาต่อมาของปีเดียวกันนั้น เติ้งได้เริ่มดำเนินการปฏิรูปต่างๆ ทางเศรษฐกิจที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อแปรเปลี่ยนเศรษฐกิจสั่งการแบบสังคมนิยม ให้กลายเป็นเศรษฐกิจตลาดสไตล์ทุนนิยม เขาตระหนักเป็นอย่างดีว่านี่คือการปฏิวัติที่จะจุดชนวนให้เกิดการโต้เถียงอันดุเดือดในทางการเมืองและทางอุดมการณ์ จนกระทั่งอาจพังทลายเป้าหมายของเขาไปเลย ดังนั้น เขาจึงใช้อำนาจทุกอย่างที่มีอยู่เพื่อกดข่มปราบปรามความพยายามทั้งหลายที่จะยั่วยุให้เกิดการถกเถียงดังกล่าวขึ้นมา ประเด็นปัญหาที่ว่าการปฏิรูปต่างๆ ทางเศรษฐกิจเหล่านี้ เป็นสังคมนิยมหรือทุนนิยม “จักต้องไม่ให้มีการถกเถียงกัน ไม่ให้พูดกันในระยะ 100 ปีต่อจากนี้ไป” เติ้งกล่าวไว้ในสิ่งที่ต่อมาเรียกขานกันว่าเป็น “พินัยกรรมทางการเมือง” ของเขา ระหว่างการเดินทางตรวจงานทางภาคใต้ของประเทศเมื่อปี 1992 ซึ่งเป็นการปรากฏตัวต่อสาธารณชนครั้งสุดท้ายของเขา

วิธีการแบบเน้นผลทางปฏิบัติของเติ้ง ได้รับการพิสูจน์ว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีในการผลักดันการปฏิรูปต่างๆ ทางเศรษฐกิจให้คืบหน้าไป อย่างไรก็ตาม จุดยืนอันเข้มงวดเช่นนี้ก็หมายความด้วยว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและทางอุดมการณ์อันจำเป็นเป็นจำนวนมากจะถูกพักเอาไว้ก่อน และขณะนี้ก็ถึงเวลาที่จะต้องกลับมาสะสางกัน ในสภาพที่กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงในขั้นพื้นฐานจำนวนมากในสังคมจีน

เรื่องแรกสุดในบรรดาประเด็นปัญหาเหล่านี้ก็คือ จะให้คำนิยามแก่ พคจ. อย่างไร ในสภาพที่ระบบเศรษฐกิจของจีนกลายเป็นเศรษฐกิจตลาดสไตล์ทุนนิยม

ตามทฤษฎีคลาสสิกของนักลัทธิมาร์กซ์ นักลัทธิเลนิน และนักลัทธิเหมาเจ๋อตง พรรคการเมืองทั้งหลายย่อมต้องเป็นผลผลิตของการต่อสู้ทางชนชั้น โดยที่แต่ละพรรคจะเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของชนชั้นหนึ่งชนชั้นใดในสังคม ทั้งนี้พรรคคอมมิวนิสต์ถือว่า เป็นกองหน้าของชนชั้นกรรมาชีพ

อันที่จริง ธรรมนูญพรรคของ พคจ.ในปัจจุบันก็ยังกล่าวย้ำในเรื่องนี้ โดยเขียนไว้ว่า “พคจ.คือกองหน้าของชนชั้นกรรมาชีพจีน ... อุดมคติสูงสุดและเป้าหมายยาวไกลสุดของพรรคคือเพื่อบรรลุลัทธิคอมมิวนิสต์” ธรรมนูญพรรคยังบอกไว้ว่า จีนจะต้อง “ยึดมั่นในหนทางสังคมนิยม ยึดมั่นในเผด็จการประชาธิปไตยของประชาชน ยึดมั่นในการนำของ พคจ. ยึดมั่นในลัทธมาร์กซ์ ลัทธิเลนิน และความคิดเหมาเจ๋อตง ... และคัดค้านการแปรเปลี่ยนไปสู่เสรีนิยมแบบชนชั้นนายทุน”

แต่ถ้า พคจ.ยังคงเป็นพรรคปฏิวัติที่เป็นตัวแทนผลประโยชน์ของชนชั้นผู้ใช้แรงงานแล้ว พรรคจะสามารถนำการปฏิรูปต่างๆ ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจตลาดสไตล์ทุนนิยมได้อย่างไรเล่า

ภายหลังการมรณกรรมของเติ้งในปี 1997 “ความขัดแย้ง”เช่นนี้ได้เคยถูกนำมาใช้โดยพวกนักลัทธิมาร์กซ์เคร่งคัมภีร์ที่นำโดย เติ้งหลี่ฉุน อดีตหัวหน้าใหญ่ด้านงานโฆษณาของ พคจ. เพื่อโจมตีการปฏิรูปทางเศรษฐกิจและนโยบายเปิดประตูประเทศด้านต่างๆ โดยตีตราว่าสิ่งเหล่านี้คือความพยายามที่จะ “ฟื้นฟูทุนนิยม” ในทัศนะของเติ้งหลี่ฉุนและผู้ติดตามของเขา นี่เป็นการคัดค้านหลักการต่างๆ ของพรรคโดยตรงทีเดียว ระยะไม่กี่ปีหลังมานี้ เติ้งหลี่ฉุนได้ผู้ติดตามวัยเยาว์หลายสิบคน ส่วนใหญ่พำนักอยู่กันในกรุงปักกิ่ง

กระนั้นก็ตาม ในทางปฏิบัติแล้ว พคจ.ได้นำเอาวิธีแบบมุ่งผลทางปฏิบัติมาประยุกต์ใช้กับปัญหานี้อย่างเงียบๆ ด้วยการยอมรับคนที่มาจากภาคส่วนทางสังคมหลายหลาก รวมทั้ง “นายทุนแดง” ให้เข้ามาเป็นสมาชิกพรรค วิธีการนี้กำลังค่อยๆ เปลี่ยนแปลง พคจ.ให้กลายเป็น “พรรคของประชาชนทั้งมวล” แทนที่จะเป็นสิ่งที่เรียกกันว่า “กองหน้าของชนชั้นกรรมาชีพ”

ตามคำแถลงของรองประธานาธิบดีสี จำนวนสมาชิก พคจ.ที่มีอยู่ 4.4 ล้านคนในปี 1949 อันเป็นปีที่พรรคยึดอำนาจได้ปกครองประเทศจีน ได้เติบใหญ่ขยายตัวขึ้นเป็นมากกว่า 36 ล้านคนในปี 1978 เมื่อถึงสิ้นปี 2007 จำนวนสมาชิกพรรคได้กระโจนพรวดเป็น 74 ล้านคน โดยที่ประมาณ 70% เป็นสมาชิกใหม่ที่เข้าพรรคภายหลังมีการปฏิรูปทางเศรษฐกิจของเติ้งเสี่ยวผิง สมาชิก พคจ.ในเวลานี้ที่เป็นผู้อยู่ในกิจการภาคเอกชน มีจำนวนทั้งสิ้นมากกว่า 4 ล้านคน

ทว่าการเปลี่ยนแปลงของ พคจ.เหล่านี้เป็นไปอย่างเงียบๆ เมื่ออยู่ต่อหน้าสาธารณชน พรรคหลีกเลี่ยงไม่มีการประกาศละทิ้งถ้อยคำโวหารแบบนักปฏิวัติ จวบจนกระทั่งมาถึงเวลานี้นี่แหละ

จังหวะเวลาในขณะนี้ถือว่าเยี่ยมทีเดียว หลังจากผ่านไป 30 ปี นโยบายการปฏิรูปและการเปิดประตูประเทศของเติ้งได้หยั่งรากลงลึกแล้ว นักปฏิวัติอาวุโสและนักอุดมการณ์เคร่งคัมภีร์ที่ยังมีชีวิตอยู่ไม่กี่คน ต่างก็กำลังแก่หง่อมเต็มที (เติ้งหลี่ฉุนเวลานี้อายุ 93 ปี) ส่วนพวกผู้ติดตามวัยเยาว์ของคนเหล่านี้ก็แทบไม่สามารถสร้างอิทธิพลบารมีอะไรได้ การจัดการกับประเด็นนี้ภายใต้บรรยากาศทางการเมืองและทางเศรษฐกิจในวันนี้ ไม่น่าที่จะกระตุ้นให้เกิดการโต้เถียงรุนแรงสาหัสอะไร

ภายใต้สภาพการณ์ฉากหลังเช่นนี้เอง ในวันที่ 1 กันยายน สีจิ้นผิงได้บอกกับบรรดานักศึกษาใหม่ ณ โรงเรียนพรรคส่วนกลาง อันเป็นศูนย์ฝึกอบรมระดับสูงสุดของ พคจ.ที่ตัวสีเองเป็นประธานอยู่ ว่า พคจ.เติบใหญ่เจริญวัยเต็มที่แล้วจากการเป็นพรรคแห่งการปฏิวัติ และเปลี่ยนไปเป็นพรรคที่ “ยึดกุมอำนาจทำการปกครองประเทศในระยะยาว” คำปราศรัยฉบับเต็มของเขา ซึ่งรวมแล้วเป็นอักษรภาษาจีน 23,000 ตัวอักษร ในเวลาต่อมาก็ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่โดย “Study Times” หนังสือพิมพ์ทางการของโรงเรียนพรรคส่วนกลาง

พวกนักวิเคราะห์บอกว่า แน่นอนที่สีไม่ได้เพียงแค่เสนอความคิดเห็นส่วนตัวของเขาเท่านั้น แต่กำลังประกาศการตัดสินใจทางด้านนโยบายของคณะผู้นำสูงสุดของ พคจ. เรื่องนี้เป็นการส่งสัญญาณว่า ภายหลัง 30 ปีแห่งการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ และการเปิดประตูประเทศ ในที่สุด พคจ. ก็พรักพร้อมที่จะประกาศตัวถอยห่างออกจากการปฏิวัติ

“มันเป็นเรื่องดีที่ในที่สุด พคจ.ก็กล่าวคำอำลากับการปฏิวัติอย่างเปิดเผย เมื่อพูดถึง “การปฏิวัติ” มันมักจะทำให้ผู้คนย้อนระลึกถึงการต่อสู้อย่างเหี้ยมโหดในช่วงแรกๆ แห่งการปกครองของ พคจ.ภายใต้เหมาเจ๋อตง นอกจากนั้นการประกาศว่าตนเองคือพรรคปกครองประเทศ ทำให้ พคจ.ต้องพยายามสืบต่อและรวมศูนย์อำนาจการปกครองของตน ด้วยการอุทิศความพยายามไปในเรื่องการรับใช้ประชาชนที่ดีขึ้นกว่าเดิม และจะต้อง “เอาอกเอาใจ” ผู้คนส่วนข้างมากในสังคม แทนที่จะพึ่งพาอาศัยวิธีการอันรุนแรงต่างๆ นี่ถือเป็นความก้าวหน้าครั้งใหญ่” ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ที่เกษียณอายุแล้วผู้หนึ่งแห่ง มหาวิทยาลัยหนานไค บอกกับเอเชียไทมส์ออนไลน์

เขากล่าวต่อไปว่า พคจ.ยังอาจจะต้องทำการแก้ไขธรรมนูญพรรค เพื่อสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงนี้ และการเน้นย้ำอย่างใหม่ที่จะต้องถือว่าประชาชนสำคัญอันดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม พวกคนจีนที่เห็นแตกต่างจากทางการและเวลานี้ลี้ภัยอยู่ต่างแดน ต่างพากันวิพากษ์วิจารณ์การประกาศคราวนี้ โดยระบุว่ามันไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพลักษณะที่แท้จริงของ พคจ.แต่อย่างใด ตัวอย่างเช่น สือสุ่ยเหลียง เขียนว่า การเรียก พคจ.เป็น “พรรคปกครองประเทศ” ไม่ได้เปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงที่ว่า พรรคนี้ยังคงเป็นเผด็จการพรรคเดียวอยู่นั่นเอง เพราะถึงอย่างไร ก็ยังไม่อนุญาตให้มีพรรคฝ่ายค้านอยู่ดี

อย่างไรก็ตาม มีความแตกต่างอยู่จริงๆ ระหว่างการเป็นพรรคปฏิวัติ กับการเป็นพรรคปกครองประเทศ ด้วยการเรียกตัวเองเป็น “พรรคปกครองประเทศ” พคจ.ก็จะต้องรับผิดชอบต่อการปกครองของตน ดังนั้น พวกผู้ปฏิบัติงานของ พคจ.จะต้องแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นภายใต้ขอบเขตอำนาจหน้าที่ของพวกตน บัดนี้ พคจ.จะต้องขึ้นต่อการกำกับตรวจสอบของสาธารณชนแล้ว ขณะที่หากยังเป็นพรรคปฏิวัติอยู่ พรรคก็ยังสามารถที่จะปราบปรามพวกที่ไม่เห็นด้วยกับตน ในนามของ “การปฏิวัติ” ได้อยู่เสมอ

ระหว่างการเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 30 ปีแห่งการปฏิรูปของเติ้ง พวกผู้นำจีนรวมทั้งหูจิ่นเทาเอง ต่างส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้ปฏิบัติงานทั้งหลาย “ปลดปล่อยความคิดของพวกเขา” ให้มากขึ้นอีก มองจากแง่มุมนี้แล้ว รองประธานาธิบดีสีก็กำลังทำตนเป็นตัวอย่างที่ดี ด้วยการดำเนินการแก้ไขประเด็นปัญหาเชิงอุดมการณ์ที่สร้างความเจ็บปวดมายาวนาน

หวังใจว่า นี่จะส่งเสริมให้ผู้ปฏิบัติงานอื่นๆ กระทำตาม และมีแนวความคิดใหม่ๆ สามารถหยั่งรากผลิใบกันได้มากยิ่งขึ้น

อู่จง เป็นบรรณาธิการโต๊ะจีน ของเอเชียไทม์ออนไลน์
กำลังโหลดความคิดเห็น