กว่า 7 แสนคะแนนที่คนกรุงเทพฯ เลือกเธอ กว่า 7 เดือนในการทำหน้าที่สมาชิกวุฒิสภาของ รสนา โตสิตระกูล การทำหน้าที่ตรวจสอบอย่างเข้มข้นและบทบาทท่าทีของเธอ ทำให้เธอเป็นนักการเมืองประเภทสายล่อฟ้าที่มีแรงเสียดทานสูง ล่าสุดถูกยื่นถอดถอนในข้อหาทุจริตต่อหน้าที่ เนื่องจากเหตุการณ์ในวันที่ 7 ตุลาคม
“ช่วงนั้นที่ดิฉันเข้าไปในสภาเพราะต้องการบอกกับนายกฯ ว่าคุณจะแถลงนโยบายอยู่ได้ยังไง ท่ามกลางสภาพข้างนอกที่เหมือนกับเกิดจลาจลในเมืองหลวง ยังมีการยิงกัน มีประชาชนบาดเจ็บสาหัส มีคนบาดเจ็บจำนวนมาก”
จากบทบาทของเอ็นจีโอผู้ทำงานด้านสุขภาพและตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชันสู่ตำแหน่ง ส.ว. เธอได้เรียนรู้ พบเห็น และเผชิญกับอะไรบ้าง ‘ปริทรรศน์’ เดินทางไปพูดคุยกับเธอที่รัฐสภา กับเรื่องราวช่วงชีวิตของการเป็นนักการเมือง กับบทสนทนาที่ตีแผ่ผู้แทนเมืองไทยแบบตรงไปตรงมาและค่อนข้างเผ็ดร้อน
*การอภิปรายเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาเป็นยังไงครับ คิดว่าผลออกมาจะเป็นยังไง
เชื่อว่าไม่มีอะไร เพราะว่าข้อกล่าวหาในการถอดถอนไม่ได้มีความจริงประกอบ เนื่องจาก 2 ข้อที่เขายกขึ้นมาเป็นเหตุก็คือ หนึ่ง-การไม่เข้าประชุม โดยอ้างว่าการไม่เข้าประชุมทำให้ไม่ครบองค์ประชุมถือว่าเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ ซึ่งถ้าถือว่าการไม่เข้าประชุมเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ พวกบรรดา ส.ส. ที่โดดร่มทำให้การประชุมล่มก็ต้องถือว่าถูกถอดถอนหมดสิ
และวันที่ดิฉันไม่ได้เข้าประชุมเนื่องจากไม่สามารถยอมรับการที่รัฐบาลสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงจนประชาชนบาดเจ็บสาหัส เพื่อที่จะเข้ามาแถลงนโยบายที่นี่ ถ้ารัฐบาลย้ายที่เราก็เต็มใจที่จะเข้าไปประชุมอยู่แล้ว เพราะว่าดิฉันเป็นคนหนึ่งที่มีรายชื่อที่มีสิทธิ์ในการอภิปราย แล้วเราก็เตรียมตัวมาที่จะอภิปรายอยู่แล้ว แต่ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 7 ตุลาคม ภาพที่ปรากฏตอนเช้าในทีวีทำให้เรารู้สึกว่า เราไม่สามารถเข้าไปรับรองความชอบธรรมของรัฐบาลได้ และการที่เข้าไปพูด เราถือว่าเราเข้าไปพูดแทนประชาชนทั้งหมดว่ารัฐบาลไม่มีสิทธิที่จะใช้วิธีการแบบนี้ ตรงจุดนี้ดิฉันคิดว่าดิฉันไม่ได้ทุจริตต่อหน้าที่แน่นอน
ส่วนข้อที่ 2 ที่เขากล่าวหาว่ามีการพาคนข้างนอกเข้าไป ก็เป็นการทุจริตอีกแหละ ดิฉันยืนยันว่าไม่ได้พาผู้ติดตามเข้าไป ซึ่งมีความพยายามของกลุ่ม ส.ส. ที่จะใส่ความว่านอกจากพาเข้าไปในการประชุมรัฐสภาแล้ว เรายังได้ข่าวจาก ส.ว. บางท่านว่าดิฉันได้พาผู้ติดตามเข้าไปในการประชุมวุฒิสภาบ่อยครั้ง ซึ่งไม่จริงเลย เป็นการใส่ความอย่างแน่นอน วันนั้นไม่ได้ตั้งใจจะพาเข้าไปข้างใน ให้อยู่ข้างนอกแล้วฝากกระเป๋าไว้ แล้วดิฉันเข้าไป แต่ในช่วงที่พูดก็มีพวก ส.ส. มารุมชี้หน้าด่าด้วยความรุนแรง ผู้ติดตามซึ่งก็คือสามีดิฉันเป็นห่วงจึงเดินเข้ามาดู จุดนี้มันผิดระเบียบ ใช่ แต่มันต้องแยกแยะกันว่ามันเป็นเรื่องความผิดเฉพาะบุคคลซึ่งไม่เกี่ยวกับดิฉัน ดิฉันไม่ได้พาเข้ามา แต่เขาก็พยายามบอกว่าดิฉันเป็นคนพาคนนอกเข้ามา และตรงนี้คือการทุจริตต่อหน้าที่ ซึ่งความเห็นแบบนี้ไม่น่าเข้าข้อกฎหมายเลย หรือข้ออ้างว่าหลังจากพูดแล้วดิฉันก็ออกจากสภาเลย เพราะพันธมิตรฯ ยอมให้ออกไป โดยหาว่าดิฉันเป็นพวกพันธมิตรฯ ว่างั้นเถอะ มีการแบ่งหน้าที่กันทำเพื่อที่จะทำลายการประชุมในรัฐสภา ซึ่งดิฉันก็บอกว่าไม่จริง ดิฉันอยู่ในสภาไปถึง 6 โมงเย็น จนเขามาสลายการชุมนุมตอน 4 โมงเย็นแล้วให้ ส.ส. ส.ว. ออกจากที่นี่ประมาณ 5 โมงเศษ ดิฉันกว่าจะออกจากที่นี่ได้ก็เกือบท้ายๆ แล้ว
*เป็นเพราะท่าทีของคุณเองหรือเปล่าที่ดูเหมือนว่าจะเอนเอียงไปทางฝั่งพันธมิตรฯ เคยเข้าไปในม็อบ เคยขึ้นเวทีที่ทำเนียบ จึงทำให้หลายฝ่ายเชื่อว่าคุณเป็นพวกพันธมิตรฯ
เขามีสิทธิ์ที่จะคิดอย่างนั้น แต่ปกติการเข้าไปที่เวทีพันธมิตรฯ สองสามครั้ง ดิฉันเข้าไปในช่วงที่มีการสลายการชุมนุมทุกครั้งนะ มันเกิดเหตุ เกิดวิกฤตการณ์ขึ้นมา อันนี้ดิฉันถือเป็นหน้าที่ของเราในฐานะตัวแทนประชาชนที่ต้องเข้าไปยับยั้งเหตุหรือระงับเหตุร้ายที่จะเกิดขึ้น
เวลานี้เราชอบแบ่งแยกประชาชนว่าอันนี้เป็นกลุ่มพันธมิตรฯ อันนี้เป็นกลุ่ม นปช. (แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ) แต่สำหรับดิฉันในฐานะที่เป็นตัวแทน เราไม่ควรแบ่งแยกว่าเป็นกลุ่มไหน ประชาชนก็คือประชาชน กลุ่ม นปช. ที่บาดเจ็บจากการปะทะในช่วงต้นเดือนกันยายนที่มีคนตาย ดิฉันก็ไปเยี่ยมคนเจ็บที่โรงพยาบาล รวบรวมเงินของ ส.ว. ไปให้ ไปช่วย แม้แต่ผู้ที่เสียชีวิต ดิฉันก็เอาเงินช่วยเหลือไปให้ทางพี่สาว แต่หลังจากนั้นวันถัดมาก็ถูกใส่ร้ายทันทีเลยว่าดิฉันไปเสี้ยมสอนพี่สาวผู้เสียชีวิตว่าให้บอกว่าน้องชายแกเป็นพันธมิตรฯ แล้วพวกพันธมิตรฯ ก็จะมาช่วย โอ้โห ดิฉันไม่เคยพูดเลย เอา ส.ว. คนอื่นๆ มาให้ปากคำได้เลยว่าเราไม่เคยพูดอย่างนั้น แต่สื่อมวลชนลงข่าวในลักษณะแบบนั้นหลายฉบับ ซึ่งอันนี้ก็ไม่ค่อยเป็นธรรมนะในแง่ของการบิดเบือนข้อเท็จจริง
สำหรับดิฉัน ประชาชนก็คือประชาชน ประชาชนมีความขัดแย้งกัน แต่ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่คนเหล่านั้นถูกทำร้ายหรือบาดเจ็บซึ่งเราต้องเข้าไปช่วยเยียวยา เข้าไปดูว่าเขามีปัญหาอะไรที่เราต้องช่วยเหลือ
การเข้าไปที่ม็อบพันธมิตรฯ เราไม่ได้คิดว่าเขาเป็นพันธมิตรฯ เราถือว่าประชาชนอยู่ตรงจุดนั้นและเจ้าหน้าที่ประกาศว่าจะสลายการชุมนุม หรือมีการใช้กำลังเข้าไปสลายการชุมนุมแบบย่อยๆ เราก็เข้าไปดู และเวลาเราเข้าไป เราก็เข้าไปเยี่ยมตำรวจด้วย เราเห็นใจนะ ตำรวจที่มาจากต่างจังหวัดหลายนาย เขามาแล้วก็เหนื่อย เขาไม่ได้นอน เบี้ยเลี้ยงก็อาจไม่มี อาหารก็อาจไม่มี ความเครียดเขามีแน่นอน เวลาเราไป เราก็ไปให้กำลังใจเขาว่าเดี๋ยวก็คงได้กลับบ้านแล้วนะ ให้มีความอดทน อย่าทำร้ายประชาชนกันนะ เพราะยังไงเราก็เป็นคนไทยด้วยกัน เป็นพี่น้องกัน เราก็ยังเดินทางไปถึง บช.น. เพื่อไปคุยกับท่านพัชรวาท (พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ) ว่าต้องไม่ใช้กำลังสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรง ซึ่งวันนั้นเป็นวันที่เขาจะไปปิดหมายตอนเช้า แล้วก็มีการสลาย รื้อเต็นท์กัน ก็มีคนบาดเจ็บไป ท่านพัชรวาทก็รับปากว่าจะไม่มีการสลาย รับปากช่วงบ่าย พอช่วงเย็นก็ปาระเบิดแก๊สน้ำตา
แต่ว่าปัญหาหนึ่งเวลานี้คือมันทำให้คนเกิดความกลัวนะ ว่าถ้าเราไปแสดงความรู้สึกเห็นใจใครก็ตาม เราจะถูกติดตราหรือแปะป้ายว่าเป็นฝ่ายนั้น อคติจากความกลัวทำให้เราไม่กล้าที่จะเข้าไปแก้ไขปัญหา จุดนี้ดิฉันคิดว่ามันทำให้ความรุนแรงในสังคมมันทวีขึ้น เพราะคนกลางๆ ไม่กล้าออกมาแสดงบทบาทอะไร กลัวจะถูกกล่าวหา จึงทำให้คนกลางๆ ซึ่งมีจำนวนมากนิ่งเฉยต่อสิ่งที่เกิดขึ้น
ในขณะที่ดิฉันบอกว่ามีความสุจริตใจ เราทำหน้าที่ในฐานะตัวแทนของประชาชน แล้วการทำหน้าที่เป็นตัวแทน เราก็ต้องอดทนต่อแรงเสียดทาน เราจะถูกกล่าวหาว่าคุณเป็นฝ่ายไหน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ดิฉันคิดว่ามันพิสูจน์ได้ด้วยกาลเวลา ดิฉันบอกว่าไม่แคร์นะ เพราะเรารู้ว่าเราเป็นใคร เราทำอะไร
*ก่อนหน้านี้คุณเป็นเอ็นจีโอที่ทำงานด้านสุขภาพและการตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชัน พอเปลี่ยนบทบาทหน้าที่มาเป็น ส.ว. ได้ประมาณ 7 เดือนแล้ว รสชาติเป็นยังไงบ้างครับ
เคยคาดหวังว่าสภาน่าจะทำงานในแง่ของการแก้ปัญหาของประชาชนได้มากกว่านี้ แต่พอเข้ามาแล้วเราก็เห็นว่าในระบบของสภาจะเป็นการใช้เสียงส่วนใหญ่เป็นหลัก พอเป็นแบบนี้ สภาพของโครงสร้างในเชิงกฎหมายหรือโครงสร้างทางการเมือง มันก็ไม่ค่อยเอื้อในการแก้ปัญหานะ
ยกตัวอย่าง ดิฉันเองเพิ่งจะเข้าใจซาบซึ้งมากขึ้นที่เขาเรียกว่าสภาฝักถั่ว คือเราเคยคาดหวังว่าสภาผู้แทนฯ หรือใครก็ตามที่เป็นผู้แทนจะต้องเป็นตัวแทนปากเสียงของประชาชน แต่พอเข้ามาจริงๆ ในด้านพฤตินัย ผู้แทนทุกคนกลายเป็นตัวแทนของพรรค ไม่ใช่ตัวแทนของประชาชน คือดิฉันได้ดูข้อตกลง ข้อกฎหมายที่ต้องผ่านสภา อย่างกรณีข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) กับกรอบการเจรจาไทย-กัมพูชา ซึ่งสองเรื่องนี้เข้าตามหลักเกณฑ์มาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญที่ก่อนการเจรจาจะต้องผ่านสภา เรื่องพวกนี้มีความซับซ้อน มีรายละเอียดเยอะมาก เอกสารภาษาอังกฤษเป็นตั้งๆ นะ ดิฉันไม่เชื่อว่าจะมี ส.ส. คนไหนที่มาอ่านละเอียดทุกมาตรา เพราะฉะนั้นเวลาที่เราอภิปรายในสภา ไม่มี ส.ส. มาฟังนะ ออกไปนั่งกินกาฟงกาแฟ พอเขากดออด ก็เข้ามากด เห็นด้วยหมดเลย
ขณะที่ดิฉันรู้สึกว่าไอ้ข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ มันมีข้ออันตรายหลายอย่าง ประเทศที่เขาพัฒนาแล้วเขาต้องการส่งขยะของเสียมายังประเทศกำลังพัฒนาอย่างพวกเรา เพราะประเทศเขามันล้นเกิน ไม่มีที่จะเก็บ ขยะมันกลายเป็นสินค้าที่ส่งเข้ามา แล้วประเทศเรากระบวนการในการควบคุมมันอ่อนด้อยมาก กำลังความสามารถในการกำจัดของเสียอุตสาหกรรมอย่างถูกวิธีปีหนึ่งเราทำได้แค่ล้านเดียวจาก 2 ล้านตัน อีก 1 ล้านตันคือเรี่ยราดทิ้งไปตามท้องไร่ท้องนาซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม ดิฉันบอกได้เลยว่าถ้าเอเจเซ็ปเข้ามาโดยเราไม่ตั้งข้อสงวนให้เข้มงวด ต่อไปประเทศเราจะกลายเป็นถังขยะของโลก แล้วประชาชนเราจะอยู่ยังไง แต่สิ่งเหล่านี้ไม่เคยทำให้ ส.ส. ส.ว. เกิดความตื่นตัวว่าเรื่องนี้มันไม่ได้ เราต้องเอาจริงเอาจัง จะให้มันผ่านไปเร็วๆ ไม่ได้ แต่มันเหมือนสายพานให้ผ่านไป ผู้แทนฯ ที่เข้ามา ดิฉันคิดว่าคุณอยู่ได้สบายนะ คุณไม่ต้องคิดอะไร คุณว่าตามมติพรรค
ทำให้ดิฉันเกิดความรู้สึกว่าแล้วคนเหล่านี้จะมาเป็นตัวแทนปากเสียงของประชาชนได้ยังไง แม้แต่กรอบการเจรจาไทย-กัมพูชา ดิฉันบอกได้เลยว่าไทยเสียดินแดนแน่นอน ไปพิสูจน์กันในอนาคต คือปราสาทพระวิหารเราต้องให้เขาอยู่แล้ว แต่ว่าพื้นที่อื่นๆ ที่ทางกัมพูชาพยายามจะรุกเข้ามาโดยเขามีแผนที่ฉบับของฝรั่งเศส ปัญหาคือไทยเองมีความสามารถในการเจรจาในเวทีโลกแค่ไหน กัมพูชาถูกแบ็กอัพโดยประเทศมหาอำนาจจำนวนมาก และดิฉันเชื่อว่าคนอย่างสมเด็จฮุนเซน ลีลา ความสามารถในการเจรจาทางการทูตเขาเหนือชั้นกว่าเราแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมันเป็นผลประโยชน์ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่น่าห่วง
ดิฉันมีความรู้สึกว่าผู้แทนฯ ในสภาศึกษาน้อย แล้วปล่อยให้เรื่องมันผ่านไปโดยมีความรู้สึกว่ามันก็เป็นไปตามกระบวนการ มันเหมือนพิธีกรรมในสภา ขณะที่ของจริงที่เราต้องห่วงใยว่า เฮ้ย มันจะเกิดอะไรแก่ประเทศเรา ทำให้ว่าเจ็ดแปดเดือนที่เข้ามาอยู่ในสภา หลายครั้งก็รู้สึกว่าน่าห่วงใยบ้านเมือง มันเดินไปโดยขาดคนที่เอาใจใส่จริงๆ ที่จะควบคุมให้ไปในทางที่จะได้ประโยชน์แก่ประเทศ หรือลักษณะความคิดเรื่องประโยชน์อาจจะต่างกันก็ได้นะ ดิฉันก็ไม่รู้ แต่ดิฉันรู้สึกว่าผู้แทนฯ ที่ศึกษาเอกสารข้อมูลต่างๆ เพื่อจะอภิปรายมีน้อย ในสภาก็อภิปรายน้อย ดูสิ เวลาอภิปรายแต่ละเรื่อง แค่สิบยี่สิบคนเท่านั้น ส.ส. ส.ว. รวมกัน 630 คนนะ แต่จริงๆ 600 กว่าหัวนี่ไม่ได้ใช้ ใช้มติพรรคเท่านั้นเอง ดิฉันในฐานะผู้แทนฯ และประชาชนก็รู้สึกกังวลนะว่าบ้านเมืองเราใช้จ่ายเงินทองจำนวนมากในการดูแลผู้แทนฯ แต่ผู้แทนฯ เป็นตัวแทนผลประโยชน์ประชาชนจริงๆ หรือเปล่า
*เขาอาจจะบอกว่าในพรรคได้กลั่นกรองมาแล้วจึงมีมติออกมาอย่างนั้น
นั่นก็ต้องมาดีเบตกันไง อย่างประเด็นคำถามเรื่องเอเจเซปทึ่ว่าทำไมเราไม่ตั้งข้อสงวนหรือแม้แต่การนำผู้ที่เชี่ยวชาญซึ่งอาจเป็นคนภายนอกมาให้ความรู้กับผู้แทนฯ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเราจะให้ความรู้เขาได้หรือเปล่าเพราะเขาก็ทำตามมติพรรค แต่ ส.ว. ยังเป็นไปได้เพราะไม่มีพรรค ตรงนี้เป็นสิ่งที่พวกเราเริ่มคิดกันนะว่า ต่อไปเวลามีเรื่องสำคัญๆ เข้าสภาอาจจำเป็นต้องจัดการพูดคุยเพื่อให้สมาชิกวุฒิสภาได้รับรู้ว่ามีประเด็นอะไรบ้างที่ต้องระวังเพื่อให้เขามีประเด็นที่จะอภิปรายหรือคิดต่อ เพราะหลายเรื่องมันซับซ้อน ถ้าไม่มีพื้นเลยเราก็จะจับต้นชนปลายไม่ถูก
*คุณกำลังจะบอกว่าความเป็นจริงไม่เป็นไปอย่างที่เคยคาดหวัง
อันที่จริงไม่ใช่ว่าจะคาดหวังขนาดนั้นหรอก ยุคก่อนๆ หลายคนก็พูดกับดิฉันเสมอว่าเข้าไปในวุฒิสภาทำอะไรไม่ได้หรอกรสนา ไม่มีประโยชน์ แต่ดิฉันก็ยังมีความรู้สึกว่าอย่างน้อยที่สุดเมื่อเข้ามาแล้วเราก็ทำให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ว่าไอ้ความคาดหวังที่จะทำได้มากจริงๆ จนเกิดการเปลี่ยนแปลงมันก็ยังน้อยเกินไป
*เคยคิดมั้ยว่าถ้ายังอยู่ในบทบาทเดิมอาจจะทำอะไรได้มากกว่า
มันก็ไม่เชิง มันเป็นคนละแบบกัน เวลาที่เราเป็นประชาชนเราไม่ได้อยู่ในศูนย์กลางอำนาจ เราจะมาพูดมันยาก การเข้าถึงข้อมูลก็ยาก แต่เราอาจเคลื่อนไหวได้สะดวก แต่การมาอยู่ตรงจุดนี้ดิฉันก็คิดว่ามันทำให้เราสามารถเข้าถึงข้อมูลมากขึ้น มีเครื่องมือบางอย่างมากขึ้น
แต่ดิฉันเองก็เห็นนะว่าตัวแทนเพียงอย่างเดียวโดยไม่มีกำลังของประชาชนที่จะเชื่อมต่อกันมันทำอะไรได้น้อย ส่วนนี้ดิฉันเองจะพยายามเชื่อมต่อพลังสองส่วนเข้าด้วยกัน เพื่อทำให้การทำงานขับเคลื่อนบางอย่างสามารถทำได้ แต่เราคงทำได้บางประเด็นจะหวังทำทุกประเด็นก็ไม่ได้ ที่จริงอยู่ข้างนอกก็ทำได้บางประเด็นเหมือนกันนะ เพียงแต่ว่าอยู่ข้างนอกเราฟ้องเองได้ อยู่ข้างในทำไม่ได้ บทบาทมันจะเปลี่ยนไป การทำบทบาทตรงนี้คือเราต้องให้ข้อมูลกับสังคมให้มากขึ้น ให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น แล้วสังคมจะมีโอกาสขับเคลื่อนและทำอะไรได้มากขึ้น
ดิฉันไม่ได้คิดว่าการเข้ามาตรงนี้มันไร้ประโยชน์นะ เพียงแต่รู้สึกว่ามันทำอะไรได้น้อยกว่าที่เราอยากให้เป็น
*คุณนิยามตัวเองว่าเป็นนักการเมืองหรือเปล่า
เราก็เป็นนักการเมืองอยู่แล้ว เพราะเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่ดิฉันคิดว่านักการเมืองในความหมายของดิฉันไม่ใช่นักการเมืองที่ต้องลอยแยกขาดจากประชาชน เราต้องถือว่านักการเมืองเป็นคนที่จะเป็นปากเป็นเสียงให้ประชาชน แล้วจะต้องไวต่อทุกข์สุขของเขา
อันนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่าในวันที่ 7 ตุลาคมที่ดิฉันเข้าไปพูดในสภาว่าทำไม่ได้ที่จะยอมรับการเข้ามาร่วมประชุม แต่ส่วนใหญ่คนก็รู้สึกว่ามันเป็นระเบียบ ก็โอเค ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะคิดแตกต่างกันได้ แต่ดิฉันทำไม่ได้และรู้สึกว่าต้องเข้าไปพูด ก็รู้นะว่าพูดแล้วจะเกิดอะไรขึ้น โอ้โห มันคงแตก ความรู้สึกในกลุ่มคนมันจะแตกออกมา ก่อนที่จะเข้ามาเราก็รู้ว่าคนเรามีความคิดเห็นที่แตกต่าง แต่เราก็พยายามจะแสวงหาจุดร่วมและสงวนจุดต่างเอาไว้ แต่วันนั้นที่เราเข้าไปพูดปุ๊บ ดิฉันรู้เลยว่ามันจะทำให้จุดต่างถูกขยายมาก จนทำให้ต่อไปจุดร่วมหลายอย่างมันจะน้อยลงหรือเปล่า ดิฉันก็ไม่แน่ใจนะ แต่วันนั้นเกิดความรู้สึกนั้นจริงๆ
*อย่างนี้ต้องเรียกว่าเป็นนักการเมืองประเภทสายล่อฟ้า
(หัวเราะ) ไม่รู้เหมือนกัน ดิฉันก็ไม่ได้ตั้งใจให้มันเป็นสายล่อฟ้านะ
*มีคนพูดว่าถ้าอยากรู้ว่าเราเคยทำเรื่องอะไรไม่ดีไว้บ้าง ให้มาเป็นนักการเมือง แล้วจะถูกขุดทุกอย่างออกมา เป็นอย่างนั้นมั้ย
ก็อาจจะเป็นไปได้นะ เพราะนักการเมืองก็เป็นบุคคลสาธารณะที่ใครๆ ก็จะขุดอะไรต่ออะไรได้
*โดนขุดบ้างหรือยัง
ก็นี่ไง ที่เขาพยายามเล่นว่าเอาคนนอกเข้าไปในสภา ยังไม่ได้ขุดเรื่องอื่นนะ ไม่รู้ว่ายังขุดไม่เจอหรือไม่มีอะไรให้ขุด แต่ส่วนใหญ่จะขุดแบบใส่ร้ายเลย เช่น เติมสีสันมากขึ้นว่า โอ๊ย พาคนติดตามเข้าไปประชุมบ่อยครั้งบ้าง ดิฉันบอกได้เลยว่าผู้ติดตามคือสามีของดิฉันไม่เคยกินเงินเดือนที่นี่นะ เขาเป็นแค่คนที่มีบัตรติดตามดิฉันเข้ามาในที่นี้เท่านั้น เพราะเขาเป็นนักเขียน เขาดูแลคลินิกแพทย์แผนไทยของมูลนิธิสุขภาพไทย เวลาที่เขาตามดิฉันมาก็แค่ขับรถมาอยู่เป็นเพื่อน เพราะบางทีเราก็กลับดึก แล้วการทำงานอย่างนี้อาจจะเป็นอย่างที่พูด สายล่อฟ้า กลัวฟ้าจะผ่าเรามั้ง เขาก็ต้องติดตามมาคอยเป็นเพื่อนดูแล แต่ถ้าไม่ต้องทำอะไรเขาก็จะนั่งเขียนหนังสือ ไม่มายุ่งอะไรกับการงานของดิฉัน แล้วปกติก็ไม่เคยข้ามไปที่ตึก 1 เลย โดยเฉพาะชั้นบนนะ แต่ว่าข้างล่างเวลาแถลงข่าวบางทีก็เข้าไปบ้าง
แต่ตอนนี้จะถูกใส่ร้ายไงว่าดิฉันพาผู้ติดตามเข้าไป และถ้าไปอ่านในเว็บนะ อู๊ย จะมีการเติมแต่งว่าพาสัตว์เลี้ยง ลูกหลาน อะไรต่อมิอะไรเข้าไปวิ่งกันพล่านในสภา หรือแม้แต่พูดลามปามไปถึง...ดิฉันว่ามันเป็นการละเมิดสิทธิสตรีนะ อะไร! เป็นนางสาวแล้วมีผัวได้เหรอ? พวกนี้ไม่รู้หรือไงว่ากฎหมายเวลานี้ไม่มีความจำเป็นว่าผู้หญิงที่แต่งงานแล้วจะต้องใช้นางหรือใช้นามสกุลของสามี แต่คนเขาก็พยายามหยิบเอาเรื่องแบบนี้มาดิสเครดิต มาพูดหยามเหยียด เฮ้ย ผู้หญิงอะไรเป็นนางสาว ตกลงมีผัวเหรอ ตกลงเป็นกิ๊กหรือเป็นชู้หรือเปล่า หรือด่าอะไรไปเลอะเทอะ ก็ไม่ได้สนใจ คงด่าอย่างอื่นไม่ได้แล้วก็ด่าเรื่องพวกนี้
***************
เรื่อง-กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล