xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

บีโอไอ:สำนักงานผู้แทน...ธุรกิจข้ามชาติรูปแบบใดดีกว่ากัน (ตอนที่ 2)

เผยแพร่:   โดย: วันเพ็ญ หรูจิตตวิวัฒน์

ธุรกิจข้ามชาติจำนวนไม่น้อยนิยมที่จะเข้ามาตั้งสำนักงานผู้แทน (Representative Office) สำนักงานภูมิภาค (Regional Office) หรือสำนักงานสาขา (Branch Office) แต่ในปัจจุบันมีอีก 2 รูปแบบธุรกิจที่นิยมเช่นกัน ได้แก่ สำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค (Regional Operating Headquarters – ROH) และสำนักงานสนับสนุนการค้าและการลงทุน (Trade and Investment Support Offices – TISO) สำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค และสำนักงานสนับสนุนการค้าและการลงทุน เหมือนหรือต่างกัน การที่จะสามารถจัดตั้งตามรูปแบบนั้นได้ จะต้องดำเนินการตามระเบียบและหลักเกณฑ์อย่างไร

ความเดิมตอนที่ 1 ได้ให้นิยามของสำนักงานสาขา และจะเรียก สำนักงานสาขา (Branch Office) ในที่นี้ เมื่อธุรกิจข้ามชาติเข้ามาประกอบธุรกิจใดๆ ในประเทศไทย ไม่ได้จำกัดว่าต้องครอบคลุมธุรกิจ 5 ประเภทในสำนักงานผู้แทน หรือธุรกิจ 7 ประเภทในสำนักงานภูมิภาค

สำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค หรือ ROH เป็นกิจการประเภท 7.9 ตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่ ป. 11/2543 เรื่อง กำหนดแผนการดำเนินการและขอบข่ายธุรกิจสำหรับกิจการสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค โดยกิจการสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค ให้หมายความถึง การกำกับดูแลและหรือการให้บริการแก่สาขาหรือบริษัทในเครือในประเทศและต่างประเทศ และมีแผนการดำเนินการและขอบข่ายธุรกิจ 9 ประเภท คือ

ประเภทแรก การบริหารและการจัดการในองค์กร

ประเภทที่สอง การวางแผนธุรกิจ การตลาด และส่งเสริมการขาย

ประเภทที่สาม การศึกษาวิจัยความเป็นไปได้ของการลงทุน และวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจการลงทุน

ประเภทที่สี่ การวิจัยและพัฒนา

ประเภทที่ห้า การฝึกอบรม และพัฒนาบุคลากร

ประเภทที่หก การจัดการ และพัฒนาระบบสารสนเทศ

ประเภทที่เจ็ด การให้บริการทางวิศวกรรม และเทคนิคที่ไม่รวมถึงการให้บริการทางสถาปัตยกรรม และวิศวกรรมโยธา

ประเภทที่แปด การให้คำปรึกษา และแนะนำในการประกอบธุรกิจด้านต่างๆ เช่นการเงิน การตลาด ระบบบัญชี เป็นต้น

ประเภทที่เก้า การให้บริการจัดซื้อจัดหาวัตถุดิบ ชิ้นส่วน และสินค้าสำเร็จรูป รวมทั้งบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการจัดซื้อ

สำนักงานสนับสนุนการค้าและการลงทุน หรือ TISO จัดเป็นกิจการประเภท 7.10 ตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่ ป. 12/2543 เรื่อง กำหนดขอบเขตธุรกิจสำหรับกิจการสนับสนุนการค้าและการลงทุน และประกาศสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่ ป.9/2546 เรื่อง การกำหนดขอบข่ายธุรกิจสำหรับกิจการในหมวด 7 กิจการบริการและสาธารณูปโภค กำหนดให้กิจการสนับสนุนการค้าและการลงทุนครอบคลุมกิจการ 9 ประเภท ดังนี้

ประเภทแรก การกำกับดูแลและหรือการให้บริการบริษัทในเครือ ทั้งนี้ให้รวมถึงการให้บริการจัดหาหรือให้เช่าอาคารสำนักงาน หรืออาคารโรงงานให้บริษัทในเครือด้วย

ประเภทที่สอง การให้คำปรึกษาและแนะนำในการประกอบธุรกิจ ยกเว้นธุรกิจด้านซื้อขายหลักทรัพย์และด้านแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ สำหรับธุรกิจด้านบัญชี กฎหมาย โฆษณา สถาปัตยกรรม และวิศวกรรม ต้องได้รับอนุญาตจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า หรือส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ก่อนยื่นคำขอรับการส่งเสริมฯ

ประเภทที่สาม การให้บริการข้อมูลข่าวสารด้านการจัดซื้อ และจัดหาสินค้า

ประเภทที่สี่ การให้บริการด้านวิศวกรรม และเทคนิค ที่ไม่รวมถึงการให้บริการด้านสถาปัตยกรรม และวิศวกรรมโยธา

ประเภทที่ห้า การทดสอบและออกใบรับรองมาตรฐานสินค้า มาตรฐานการผลิต และมาตรฐานการบริการ

ประเภทที่หก การค้าสินค้าส่งออก

ประเภทที่เจ็ด กิจกรรมทางธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องจักร เครื่องกล เครื่องมือ และอุปกรณ์ เช่น การนำเข้าเพื่อการค้าส่ง การให้บริการฝึกอบรม การติดตั้ง บำรุงรักษา และซ่อมแซม รวมถึงการปรับ (Calibration)

ประเภทที่แปด การออกแบบและพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (ซอฟต์แวร์)

ประเภทที่เก้า การค้าส่งสินค้าที่ผลิตในประเทศ

จะเห็นได้ว่าขอบข่ายการดำเนินธุรกิจของทั้ง ROH และ TISO มี 9 ประเภทที่เหมือนกัน แต่แตกต่างกันในรายละเอียด ที่เห็นได้ชัดเจนคือ ขอบข่ายธุรกิจประเภทแรกของ TISO สำหรับลูกค้าที่เป็นบริษัทในเครือเท่านั้น ไม่ว่าจะอยู่ในประเทศ หรือต่างประเทศก็ตาม ขณะที่ขอบข่ายธุรกิจประเภทที่สองถึงเก้า ลูกค้าจะเป็นบริษัทในเครือหรือไม่ก็ได้ แตกต่างกับลูกค้าของ ROH ที่ต้องเป็นสาขาหรือบริษัทในเครือในประเทศและต่างประเทศเท่านั้น

สำหรับขอบข่ายธุรกิจทั้งหมดของ ROH เน้นการให้บริการ ขณะที่ขอบข่ายธุรกิจของ TISO ครอบคลุมทั้งการให้บริการ และการค้า

ตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 บัญญัติให้ผู้ที่ได้รับการส่งเสริมฯ ต้องเป็นบริษัท มูลนิธิ หรือสหกรณ์ ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น โดยสำนักงานสาขาที่ประสงค์จะขอรับการส่งเสริมฯ เมื่อได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมฯ แล้ว ต้องไปจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจเป็นบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือตามกฎหมายบริษัทมหาชนจำกัด ตามลำดับ เช่นเดียวกับ ROH และ TISO หากยื่นขอรับการส่งเสริมฯ ในนามบุคคลธรรมดา

นอกจากนั้นทุนขั้นต่ำตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ที่กำหนดให้คนต่างด้าวต้องมีคุณสมบัติพื้นฐานในการประกอบธุรกิจที่ได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์ หรือแม้แต่ประเภทกิจการที่อยู่นอกขอบข่ายของบัญชีท้ายกฎหมาย ซึ่งไม่ต้องขออนุญาตประกอบธุรกิจ แต่ก็ยังต้องดำรงจำนวนทุนขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 2 ล้านบาท ทั้งนี้หากได้รับการส่งเสริมฯ ธุรกิจจะไม่ต้องคำนึงถึงจำนวนทุนขั้นต่ำ แต่ต้องปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่ 2/2543 เรื่อง ประเภท ขนาด และเงื่อนไขของกิจการที่ให้การส่งเสริมฯ ซึ่งออกตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 กำหนดให้ขนาดการลงทุนขั้นต่ำต้องไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน เว้นแต่จะมีเงื่อนไขประเภทกิจการกำหนดไว้โดยเฉพาะ สำหรับทุกประเภทกิจการที่ให้การส่งเสริมฯ ได้

โดยเงินลงทุน (Total Investment) หมายความถึง เงินลงทุนทั้งหมดที่นำมาลงในกิจการเพื่อให้สามารถประกอบการได้ตามวัตถุประสงค์ อาจอยู่ในรูปของเงินสด เงินกู้ หนี้สินหมุนเวียนหรือหนี้สินถาวรอื่น ที่ดิน เครื่องจักร อุปกรณ์ หรือสินค้าทุนอื่น ขณะที่ทุนหมุนเวียน (Working Capital) หมายถึง เงินทุนที่ใช้หมุนเวียนในกิจการ อาจเป็นเงินสด เงินกู้ระยะสั้น หรือหนี้สินระยะสั้นอื่นก็ได้ และเมื่อได้รับการส่งเสริมฯ แล้ว ก็ยังคงต้องยื่นขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ตามมาตรา 12 หากเป็นธุรกิจตามบัญชีสองและ/หรือบัญชีสามท้ายพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะพิจารณาออกหนังสือรับรองฯ ให้ทุกรายต่อไป

สำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค กิจการประเภทนี้มีเงื่อนไขสำคัญตามประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่ ส.1/2551 เรื่อง การแก้ไขปรับปรุงประเภทกิจการ 7.9 เช่น ต้องกำกับดูแลกิจการของสาขาหรือบริษัทในเครือในต่างประเทศไม่น้อยกว่า 3 ประเทศ ต้องมีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท อนุญาตให้ต่างชาติถือหุ้นข้างมากหรือทั้งสิ้นได้ ต้องได้รับใบอนุญาตดำเนินการจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ต้องมีแผนดำเนินการและขอบข่ายธุรกิจตามที่คณะกรรมการให้ความเห็นชอบ ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรเฉพาะการยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรที่ใช้ในการวิจัยและพัฒนาและฝึกอบรม

สำนักงานสนับสนุนการค้าและการลงทุน เงื่อนไขกิจการประเภทนี้ประกอบด้วย ต้องได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ต้องมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานปีละไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท ต้องมีแผนดำเนินการและขอบข่ายธุรกิจตามที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนกำหนด ซึ่งมี 9 ขอบข่าย และให้ได้รับสิทธิและประโยชน์ที่ไม่เกี่ยวกับภาษีอากรเท่านั้น

ความเห็นชอบจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องขึ้นอยู่กับประเภทกิจการที่ขอรับการส่งเสริมฯ หากเป็นธุรกิจตามบัญชีสองและ/หรือบัญชีสามท้ายพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 โดยที่บัญชีสามครอบคลุมธุรกิจบริการทุกประเภท เมื่อได้รับบัตรส่งเสริมฯ แล้ว ให้ไปยื่นเรื่องขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์

สิทธิประโยชน์ที่ไม่เกี่ยวกับภาษีอากร ได้แก่ การถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน และการใช้บริการศูนย์บริการวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน หรือ One Stop Service Center for Visas and Work Permits

เงื่อนไขพื้นฐานเรื่องเงินลงทุนไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียนไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาทใช้กับ TISO แต่ ROH มีเงื่อนไขเฉพาะกำหนดทุนจดทะเบียนต้องไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท อีกทั้งภายใต้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Office of the Board of Investment – BOI) หรือบีโอไอ ROH มีสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร และไม่ใช่ภาษีอากร ขณะที่ TISO ได้รับสิทธิประโยชน์ที่ไม่ใช่ภาษีอากรเท่านั้น

สำหรับตอนต่อไปนั้นจะได้กล่าวถึงสิทธิประโยชน์ของ ROH ภายใต้กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง ซึ่งครอบคลุมทั้งสิทธิประโยชน์ทางภาษีเงินได้นิติบุคคล และสิทธิประโยชน์ทางภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา อีกทั้งเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างสำนักงานภูมิภาค และสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค ซึ่งมีชื่อที่คล้ายคลึงกัน จัดเป็นประเภทเดียวกันหรือไม่ ดังนั้นสำนักงานผู้แทน สำนักงานภูมิภาค สำนักงานสาขา สำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค รวมทั้งสำนักงานสนับสนุนการค้าและการลงทุน รูปแบบใดดีกว่ากัน โปรดติดตามในตอนจบ

ติดต่อขอข้อมูล ติชม และเสนอแนะความคิดเห็นได้ที่ศูนย์บริการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 0-2537-8161 หรือที่ head@boi.go.th
กำลังโหลดความคิดเห็น