xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

บีโอไอ:ทุน ทุนขั้นต่ำ และเงินลงทุน ความเหมือนที่แตกต่าง (ตอนที่ 1)

เผยแพร่:   โดย: วันเพ็ญ หรูจิตตวิวัฒน์

คำว่า ทุน และทุนขั้นต่ำ ปรากฏอยู่ในพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ส่วนคำว่า เงินลงทุน อยู่ในเรื่องการลงทุนตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 ทั้ง 3 คำนี้มีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร เป็นเรื่องที่นักลงทุนพึงรู้ เพื่อจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย

นิยามของคนต่างด้าว

พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 บังคับใช้กับบุคคลธรรมดา และนิติบุคคลที่เป็นคนต่างด้าวที่ต้องขออนุญาตประกอบธุรกิจในประเทศไทยเท่านั้น

นิยามของคนต่างด้าวตามมาตรา 4 ของกฎหมายนี้ ครอบคลุมทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล คือ บุคคลธรรมดาซึ่งไม่มีสัญชาติไทย นิติบุคคลซึ่งไม่ได้จดทะเบียนในประเทศไทย นิติบุคคลซึ่งจดทะเบียนในประเทศไทย แต่มีหุ้นอันเป็นทุนหรือลงทุนมีมูลค่าตั้งแต่กึ่งหนึ่งของนิติบุคคลนั้นถือโดยบุคคลหรือนิติบุคคลข้างต้น ห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือห้างหุ้นส่วนสามัญที่จดทะเบียน ซึ่งหุ้นส่วนผู้จัดการหรือผู้จัดการเป็นบุคคลธรรมดาซึ่งไม่มีสัญชาติไทย หรือนิติบุคคลซึ่งจดทะเบียนในประเทศไทยมีหุ้นอันเป็นทุนหรือลงทุนมีมูลค่าตั้งแต่กึ่งหนึ่งของนิติบุคคลนั้นถือโดยบุคคลหรือนิติบุคคลที่กล่าวข้างต้น

ทุนและทุนขั้นต่ำเหมือนหรือต่างกันอย่างไร

มาตรา 4 ยังได้กำหนดนิยามคำว่า “ทุน” และ “ทุนขั้นต่ำ” ไว้ กล่าวคือ

ทุน หมายถึง ทุนจดทะเบียนของบริษัทจำกัด หรือทุนชำระแล้วของบริษัทมหาชนจำกัด หรือเงินที่ผู้เป็นหุ้นส่วนหรือสมาชิกนำมาลงหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือนิติบุคคลนั้น

สำหรับ ทุนขั้นต่ำ นั้น หมายถึง ทุนของคนต่างด้าวที่อาจมาจาก 2 แหล่ง คือ ทุนจดทะเบียน และทุนที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร

ทุนขั้นต่ำจะเป็นทุนจดทะเบียนเมื่อคนต่างด้าวเป็นนิติบุคคลซึ่งจดทะเบียนในประเทศไทย กรณีนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นเงินตราต่างประเทศ แม้ว่าหุ้นส่วนจะเป็นคนต่างด้าวก็ตาม

ทุนขั้นต่ำจะเป็นทุนที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร เมื่อคนต่างด้าวเป็นนิติบุคคลซึ่งไม่ได้จดทะเบียนในประเทศไทย หรือเป็นบุคคลธรรมดาซึ่งไม่มีสัญชาติไทย โดยต้องเป็นเงินตราต่างประเทศที่นำเข้ามาใช้เริ่มต้นประกอบธุรกิจ

กรณีเป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย ทุนขั้นต่ำเป็นทุนจดทะเบียน โดยหากเป็นของบริษัทจำกัดหมายถึง ทุนจดทะเบียนของบริษัทมหาชนหมายถึง ทุนที่ชำระแล้ว และห้างหุ้นส่วนหมายถึง เงินที่ผู้เป็นหุ้นส่วนหรือสมาชิกนำมาลงหุ้น

กรณีเป็นนิติบุคคลที่ไม่ได้จดทะเบียนในประเทศไทย ทุนขั้นต่ำเป็นทุนที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยเป็นเงินตราต่างประเทศ การคำนวณเป็นเงินตราไทยให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนตามอัตราอ้างอิงในวันที่นำหรือส่งทุนขั้นต่ำเข้ามาในประเทศไทยเป็นเกณฑ์

จำนวนทุนขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 2 หรือ 3 ล้านบาท

เรื่องของทุนขั้นต่ำมีกฎกระทรวงกำหนดทุนขั้นต่ำและระยะเวลาในการนำหรือส่งทุนขั้นต่ำเข้ามาในประเทศไทย พ.ศ. 2545 โดยมาจากบทบัญญัติเรื่องจำนวนทุนขั้นต่ำตามมาตรา 14 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ที่กำหนดจำนวนทุนขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 2 ล้านบาท หากคนต่างด้าวประกอบธุรกิจนอกบัญชีท้ายกฎหมาย และทุนขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 3 ล้านบาท หากคนต่างด้าวได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจตามบัญชีท้ายกฎหมาย ตามลำดับ

การคำนวณมูลค่าทุนขั้นต่ำ

ทุนขั้นต่ำที่คนต่างด้าวใช้เริ่มต้นประกอบธุรกิจตามบัญชีท้ายกฎหมายต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของค่าเฉลี่ยต่อปีของประมาณการรายจ่ายในการประกอบธุรกิจสำหรับแต่ละธุรกิจของคนต่างด้าวนั้นเป็นเวลา 3 ปี แต่ต้องมีจำนวนตั้งแต่ 3 ล้านบาทขึ้นไปสำหรับแต่ละธุรกิจ หากระยะเวลาประกอบธุรกิจไม่ถึง 3 ปี ให้เฉลี่ยตามระยะเวลาที่ประกอบธุรกิจ แต่ต้องคิดเฉลี่ยต่อปีของระยะเวลาที่ประกอบธุรกิจ ทั้งนี้ ต้องมีจำนวนตั้งแต่ 3 ล้านขึ้นไป

ประมาณการรายจ่าย หมายถึง จำนวนเงินที่คนต่างด้าวจะใช้ในประเทศไทยสำหรับการประกอบธุรกิจเพื่อให้ได้มาซึ่งสินทรัพย์ถาวรและเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการประกอบธุรกิจแต่ละปีด้วย

สูตรการคำนวณทุนขั้นต่ำ

- กรณีระยะเวลาของโครงการประกอบธุรกิจที่ขออนุญาตเกิน 3 ปี

ยอดรวมประมาณการรายจ่าย 3 ปี x 25% = ทุนขั้นต่ำ
                      3 ปี

- กรณีระยะเวลาของโครงการประกอบธุรกิจที่ขออนุญาตไม่ถึง 3 ปี

ยอดรวมประมาณการรายจ่าย x 12 x 25% = ทุนขั้นต่ำ
         จำนวนเดือนเต็มโครงการ


คนต่างด้าวซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่ไม่ได้จดทะเบียนในประเทศไทยต้องนำหรือส่งเงินตราต่างประเทศที่เป็นทุนขั้นต่ำเข้ามาในประเทศไทยให้ครบตามเกณฑ์ภายในเวลา 3 ปีนับตั้งแต่วันที่เริ่มต้นประกอบธุรกิจ โดย 3 เดือนแรกต้องนำหรือส่งเข้ามาไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของทุนขั้นต่ำ และต้องครบร้อยละ 50 ของทุนขั้นต่ำภายในเวลา 1 ปี ส่วนที่เหลือให้นำหรือส่งเข้ามาปีละไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของทุนขั้นต่ำ แต่หากระยะเวลาประกอบธุรกิจไม่ถึง 3 ปี ต้องนำหรือส่งเงินตราต่างประเทศที่เป็นทุนขั้นต่ำเข้ามาภายใน 6 เดือนนับตั้งแต่วันที่เริ่มต้นประกอบธุรกิจ ในกรณีประกอบธุรกิจนอกบัญชีท้ายกฎหมาย หรือนับตั้งแต่วันที่ได้รับอนุญาตในกรณีประกอบธุรกิจตามบัญชีท้ายกฎหมาย

นอกจากนั้น กฎกระทรวงยังได้กำหนดให้คนต่างด้าวแสดงหลักฐานการนำหรือส่งทุนขั้นต่ำเข้ามาในประเทศไทย รวมทั้งคำนวณเป็นเงินตราไทยโดยใช้อัตราอ้างอิงในวันที่นำหรือส่งทุนขั้นต่ำเข้ามาในประเทศไทยเป็นเกณฑ์ โดยยื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าภายใน 15 วันนับตั้งแต่วันที่นำหรือส่งทุนขั้นต่ำเข้ามาในประเทศไทย

                   “ทุนขั้นต่ำ หมายถึง ทุนของคนต่างด้าว
        ทุนขั้นต่ำจะเป็นทุนจดทะเบียนเมื่อคนต่างด้าวเป็นนิติบุคคล
                        ซึ่งจดทะเบียนในประเทศไทย
             ทุนขั้นต่ำจะเป็นทุนที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร
    เมื่อคนต่างด้าวเป็นนิติบุคคลซึ่งไม่ได้จดทะเบียนในประเทศไทย
                  หรือเป็นบุคคลธรรมดาซึ่งไม่มีสัญชาติไทย”

คนต่างด้าวที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทย หรือที่เป็นนิติบุคคลจดทะเบียนในประเทศไทย โดยสนธิสัญญาทวิภาคีที่ประเทศไทยเป็นภาคี ซึ่งให้สิทธิเป็นการยกเว้นแก่คนชาติภาคีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นการต่างตอบแทน ให้นำหรือส่งเงินตราต่างประเทศที่เป็นทุนขั้นต่ำเข้ามาในประเทศไทยให้ครบตามเกณฑ์ข้างต้นภายใน 5 ปีนับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ สำหรับคนต่างด้าวที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทยโดยสนธิสัญญาทวิภาคีที่ให้สิทธิต่างตอบแทนดังกล่าวก่อนวันที่กฎกระทรวงใช้บังคับ และยังไม่ได้นำหรือส่งเงินตราต่างประเทศที่เป็นทุนขั้นต่ำเข้ามาในประเทศไทยให้ครบตามเกณฑ์ข้างต้น ต้องดำเนินการให้ครบตามเกณฑ์ภายใน 5 ปีนับตั้งแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ (กฎกระทรวงกำหนดทุนขั้นต่ำและระยะเวลาในการนำหรือส่งทุนขั้นต่ำเข้ามาในประเทศไทย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2547 ให้ไว้ ณ วันที่ 14 กรกฎาคม 2547)

อย่างไรก็ตาม มาตรา 14 วรรคท้าย ได้บัญญัติข้อยกเว้นไว้โดยไม่ให้นำเรื่องทุนขั้นต่ำมาใช้บังคับในกรณีที่คนต่างด้าวนำเงินหรือทรัพย์สินอันเกิดจากรายได้ที่ได้มาจากการประกอบธุรกิจเดิมที่เริ่มดำเนินการมาก่อนแล้วในประเทศไทยไปเริ่มประกอบธุรกิจรายอื่นหรือนำไปลงหุ้นหรือลงทุนในกิจการหรือในนิติบุคคลอื่น ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้มีการลงทุนต่อ

กรณีศึกษาเรื่องทุนและทุนขั้นต่ำ

กรณีตัวอย่างบริษัทที่เข้าข่ายเป็นคนต่างด้าวซึ่งต้องปฏิบัติตามกฎหมายธุรกิจของคนต่างด้าว มีข้อหารือเกี่ยวกับทุนและทุนขั้นต่ำ ดังนี้

กรณีแรก บริษัทได้รับอนุมัติในหลักการให้ประกอบธุรกิจตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 จะสามารถกู้เงินมาใช้ในการประกอบธุรกิจที่ได้รับอนุญาตได้จำนวนเท่าใด จึงจะไม่ผิดเงื่อนไขที่ได้รับอนุมัติหลักการ

ด้วยนิยามของทุนดังกล่าวข้างต้น บริษัทสามารถ กู้เงินได้ไม่เกิน 7 เท่าของเงินทุนข้างต้น แล้วแต่กรณี ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2516) ออกตามความในประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515 ข้อ (1) เงินกู้ทั้งสิ้นที่จะใช้ในการประกอบธุรกิจที่ได้รับอนุญาต ต้องไม่เกินเจ็ดเท่าของเงินทุนส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้น ผู้เป็นหุ้นส่วน หรือเจ้าของกิจการแล้วแต่กรณี โดยกฎกระทรวง ข้อ (1) ยังมีผลบังคับใช้ เนื่องจากยังไม่มีกฎกระทรวงในเรื่องนี้ ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ที่ใช้บังคับในปัจจุบัน

กรณีที่สอง บริษัทมีฐานะเป็นคนต่างด้าวจะผลิตสินค้าเกี่ยวกับเคมีภัณฑ์เพื่อจำหน่ายให้แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมรายอื่นๆ ในประเทศไทย เป็นธุรกิจที่คนต่างด้าวสามารถประกอบการได้หรือไม่ และบริษัทต้องมีทุนขั้นต่ำเท่าใดตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542

การประกอบธุรกิจผลิตสินค้าเกี่ยวกับเคมีภัณฑ์ไม่เป็นธุรกิจตามบัญชีท้ายกฎหมาย บริษัทจึงสามารถประกอบธุรกิจดังกล่าวได้โดยไม่ต้องขออนุญาต อย่างไรก็ตาม แม้ไม่เป็นธุรกิจตามบัญชีท้ายกฎหมาย แต่มาตรา 14 วรรคหนึ่ง กำหนดว่า ทุนขั้นต่ำที่คนต่างด้าวใช้ประกอบธุรกิจในประเทศไทยต้องมีทุนขั้นต่ำไม่น้อยกว่าที่กำหนดในกฎกระทรวง แต่ต้องไม่น้อยกว่าสองล้านบาท ฉะนั้น บริษัทต้องมีทุนขั้นต่ำตามที่กำหนดในกฎกระทรวง กำหนดทุนขั้นต่ำและระยะเวลาในการนำหรือส่งทุนขั้นต่ำเข้ามาในประเทศไทย พ.ศ. 2545 ข้อ 1 ระบุให้มีจำนวนตั้งแต่สองล้านบาทขึ้นไป

ทุนหรือทุนขั้นต่ำเป็นปัจจัยสำคัญต่อการประกอบธุรกิจที่จะก่อให้เกิดการหมุนเวียนของเงินทุนในระบบ ในตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ จะได้กล่าวถึงเงินลงทุนตามกฎหมายส่งเสริมการลงทุน รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างทุน ทุนขั้นต่ำ และเงินลงทุน ซึ่งหากเป็นคนต่างด้าวที่เข้านิยามตามกฎหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว และได้รับส่งเสริมการลงทุนด้วย จะต้องมีทุนประกอบการเท่าใด รวมทั้งต้องปฏิบัติตามกฎหมายฉบับใดจึงจะถูกต้อง และชอบด้วยกฎหมาย

ติดต่อขอข้อมูล ติชม และเสนอแนะความคิดเห็นได้ที่ศูนย์บริการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 0-2537-8161 หรือที่ head@boi.go.th
กำลังโหลดความคิดเห็น