xs
xsm
sm
md
lg

สิทธิประโยชน์ทวีคูณของสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค

เผยแพร่:   โดย: วันเพ็ญ หรูจิตตวิวัฒน์

ด้วยนโยบายที่ส่งเสริมให้บริษัทข้ามชาติเข้ามาตั้งศูนย์กลางการบริหารจัดการในประเทศไทย เพื่อบริหารสาขาของกลุ่มบริษัทในประเทศต่างๆ อันจะส่งผลให้เกิดการลงทุนในประเทศมากยิ่งขึ้น กระทรวงการคลังจึงกำหนดมาตรการทางภาษี เพื่อสนับสนุนให้นักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาจัดตั้งสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค (Regional Operating Headquarters - ROH) ขึ้นในประเทศไทย ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Office of the Board of Investment - BOI) หรือบีโอไอ ได้กำหนดไว้ในหมวดที่ 7 ประเภท 7.9 กิจการสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค ที่สามารถขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอได้

ลักษณะของสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค กำหนดตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 405) พ.ศ. 2545 กล่าวคือ สำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค หรือ ROH หมายถึง บริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยเพื่อประกอบกิจการให้บริการด้านการบริหาร ด้านเทคนิค หรือการให้บริการสนับสนุนแก่วิสาหกิจในเครือหรือสาขาของตน ไม่ว่าจะตั้งอยู่ในประเทศไทยหรือต่างประเทศ

วิสาหกิจในเครือหมายถึง บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีความสัมพันธ์กับกิจการ ROH ในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง กล่าวคือ

(1) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลถือหุ้นในกิจการ ROH ไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของทุนทั้งหมด

(2) ROH ถือหุ้นในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของทุนทั้งหมด

(3) กิจการตาม (1) ถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของทุนทั้งหมด

(4) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีอำนาจควบคุมกิจการ หรือกำกับดูแลการดำเนินงาน และการบริหารงานของกิจการ ROH

(5) ROH มีอำนาจควบคุมกิจการ หรือกำกับดูแลการดำเนินงาน และการบริหาร และ

(6) กิจการตาม (4) มีอำนาจควบคุมกิจการ หรือกำกับดูแลการดำเนินงาน และการบริหารงาน

นอกจากนั้น ROH ยังต้องมีคุณสมบัติครบทั้ง 5 ประการ ตามมาตรา 10 แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 405) พ.ศ. 2545 ประกอบด้วย

(1) มีทุนชำระแล้วในวันสุดท้ายของแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี ตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป

(2) ให้บริการวิสาหกิจในเครือต่างประเทศหรือสาขาของตนในต่างประเทศอย่างน้อย 3 ประเทศ โดยกรณีมีสาขาที่จีน ไต้หวัน และฮ่องกง ให้นับเป็น 3 ประเทศ เพราะถือเป็นแต่ละหน่วยทางภาษี

(3) มีรายได้จากวิสาหกิจในเครือต่างประเทศ หรือสาขาในต่างประเทศไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของรายได้ทั้งหมดของ ROH เว้นแต่ใน 3 รอบระยะเวลาบัญชีแรก นับแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่แจ้งการเป็นกิจการ ROH ต่อกรมสรรพากร จะมีรายได้จากต่างประเทศไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของรายได้ทั้งหมดของ ROH นั้นก็ได้ อย่างไรก็ตาม กรณีมีเหตุสุดวิสัย ไม่สามารถทำรายได้จากต่างประเทศแม้ด้วยสัดส่วน 1 ใน 3 อธิบดีกรมสรรพากรก็มีอำนาจพิจารณาผ่อนผันให้น้อยกว่าอัตราร้อยละที่กำหนดนั้นได้ แต่ให้ผ่อนผันได้เพียง 1 รอบระยะเวลาบัญชีเท่านั้น

(4) ได้จดแจ้งการเป็น ROH ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด

(5) ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขอื่นที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด

หากจะใช้สิทธิภายใต้กรมสรรพากรจึงต้องมีคุณสมบัติข้างต้น ขณะที่ภายใต้บีโอไอแต่เดิมจะให้สิทธิประโยชน์ที่ไม่เกี่ยวกับภาษีอากรเท่านั้น ปัจจุบันบีโอไอได้ออกประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่ ส.1/2551 เรื่อง การแก้ไขปรับปรุงประเภทกิจการ 7.9 กำหนดเงื่อนไขกิจการประเภท 7.9 มีเงื่อนไข 6 ข้อ รวมถึงให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากรสำหรับกิจการที่จะขอรับการส่งเสริม คือ

(1) ต้องกำกับดูแลกิจการของสาขา หรือบริษัทในเครือในต่างประเทศไม่น้อยกว่า 3 ประเทศ

(2) ต้องมีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท

(3) อนุญาตให้ต่างชาติถือหุ้นข้างมาก หรือทั้งสิ้นได้

(4) ต้องได้รับใบอนุญาตดำเนินการจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง

(5) ต้องมีแผนดำเนินการ และขอบข่ายธุรกิจตามที่คณะกรรมการให้ความเห็นชอบ

(6) ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรเฉพาะการยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรที่ใช้ในการวิจัยและพัฒนา และฝึกอบรม

สำหรับขอบข่ายธุรกิจของ ROH ตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 405) พ.ศ. 2545 ได้กำหนดการให้บริการสนับสนุนไว้ 10 ประเภท ได้แก่

(1) การบริหารงานทั่วไป การวางแผนทางธุรกิจ และการประสานงานทางธุรกิจ

(2) การจัดหาวัตถุดิบและชิ้นส่วน

(3) การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์

(4) การสนับสนุนด้านเทคนิค

(5) การส่งเสริมด้านการตลาดและการขาย

(6) การบริหารงานด้านบุคคลและการฝึกอบรมในภูมิภาค

(7) การให้คำปรึกษาด้านการเงิน

(8) การวิเคราะห์และวิจัยด้านเศรษฐกิจและการลงทุน

(9) การจัดการและควบคุมสินเชื่อ

(10) การให้บริการสนับสนุนด้านอื่นๆ ตามที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด

ทั้งนี้ขอบข่ายธุรกิจข้างต้นปรากฏตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่ ป.4/2545 เรื่อง กำหนดแผนการดำเนินการและขอบข่ายกิจการสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค โดยประเภทที่ (10) เป็นการให้บริการสนับสนุนอื่นๆ ตามที่บีโอไอเห็นสมควร ซึ่งจะพิจารณาเป็นกรณีไป ดังนั้นกิจการซื้อมาขายไปจึงไม่เข้าข่ายการเป็นกิจการ ROH

ส่วนสิทธิประโยชน์ที่กิจการ ROH จะได้รับภายใต้กรมสรรพากรปรากฏตามพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 405) พ.ศ. 2545 และพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 406) พ.ศ. 2545 โดยแยกเป็นสิทธิประโยชน์สำหรับกิจการ ROH และคนต่างชาติที่ทำงานในกิจการ ROH

กิจการ ROH ได้ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลจากร้อยละ 30 ของกำไรสุทธิ คงเหลือเพียงร้อยละ 10 สำหรับรายได้ 3 ประเภท คือ รายได้จากการให้บริการวิสาหกิจในเครือหรือสาขา รายได้ค่าสิทธิที่ ROH ได้รับจากการวิจัยและพัฒนาจากบริษัทในเครือหรือสาขา เฉพาะที่เกิดจากผลงานที่กระทำขึ้นในประเทศไทย รวมถึงค่าสิทธิที่ได้รับจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้นำผลการวิจัยและพัฒนาของ ROH ไปให้บริการแก่วิสาหกิจในเครือหรือสาขาของ ROH และรายได้จากดอกเบี้ยที่ ROH ได้รับจากวิสาหกิจในเครือหรือสาขา เฉพาะส่วนที่ ROH กู้มาเพื่อให้วิสาหกิจในเครือกู้ต่อ

ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ให้กับเงินปันผลที่ ROH ได้รับจากวิสาหกิจในเครือทั้งจากในและต่างประเทศ และเงินปันผลที่จ่ายจากกำไรของกิจการ ROH ที่จ่ายให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย ให้หักค่าเสื่อมราคาสำหรับทรัพย์สินประเภทอาคารถาวรที่ ROH ซื้อหรือได้รับโอนกรรมสิทธิ์มาเพื่อใช้ประกอบกิจการในอัตราร้อยละ 25 ของมูลค่าต้นทุนในวันที่ได้ทรัพย์สินมา และทยอยหักส่วนที่เหลือภายใน 20 ปี

กรณีที่กิจการจดทะเบียนจัดตั้งเป็นกิจการ ROH ภายใต้กฎหมายไทยต่อกระทรวงพาณิชย์ และประกอบกิจกรรมของ ROH แล้ว จึงมาขอจดทะเบียนเป็นกิจการ ROH ต่อกรมสรรพากรภายหลังกิจการ ROH สามารถใช้สิทธิประโยชน์ของ ROH ได้เต็มรอบปีบัญชีที่จดทะเบียนต่อกรมสรรพากร แม้ว่าจะย้อนขึ้นไปก่อนวันที่จดทะเบียนต่อกรมสรรพากร แต่ไม่ก่อนวันที่จดทะเบียนเป็นกิจการ ROH ต่อกระทรวงพาณิชย์

นอกจากนั้น รอบปีบัญชีใดก็ตามที่กิจการขาดคุณสมบัติการเป็นกิจการ ROH ก็จะใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีภายใต้กรมสรรพากรไม่ได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อคนต่างด้าวที่ทำงานในกิจการ ROH ในการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีด้วย ทั้งนี้ หากกิจการมีการประกอบการทั้งกิจกรรม ROH และ Non ROH กิจการต้องแยกบัญชีของกิจกรรมทั้งสองต่างหากจากกัน เพื่อความชัดเจนในการใช้สิทธิประโยชน์ โดยสามารถใช้สิทธิประโยชน์ได้เฉพาะกิจการ ROH เท่านั้น

สำหรับคนต่างชาติที่ทำงานในกิจการ ROH ในประเทศไทย จะได้รับสิทธิเลือกถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้ที่ได้รับเนื่องจากการจ้างแรงงานของ ROH (อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปกติ เป็นอัตราก้าวหน้าอยู่ระหว่างร้อยละ 10 - 37) โดยจะได้รับสิทธิติดต่อกันไม่เกิน 4 ปีนับแต่วันที่รับงาน ROH ในประเทศไทย ไม่ว่าในช่วงเวลาดังกล่าว คนต่างชาตินั้นจะเดินทางออกจากประเทศไทยหรือไม่ ตามพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 461) พ.ศ. 2549 และคนต่างชาติที่ได้รับสิทธิติดต่อกันเป็นเวลา 4 ปีแล้วสามารถได้รับสิทธิอีก หากคนต่างชาติดังกล่าวเว้นระยะเวลาการทำงาน ROH ในประเทศไทยเกินกว่า 1 ปี ก่อนที่จะกลับเข้ามาทำงาน ROH ในประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง (หรือแม้ว่าจะยังคงทำงานใน ROH ต่อไปในปีที่ 5 ก็จะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ข้างต้น แต่จะได้รับสิทธิในปีที่ 6 ถึงปีที่ 9 ต่อไป) ทั้งนี้ เฉพาะกรณีที่คนต่างชาตินั้นไม่ขอรับเงินภาษีที่ถูกหักไว้คืน หรือไม่ขอเครดิตเงินภาษีที่ถูกหักไว้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

หากคนต่างชาติที่ทำงานประจำ ROH ในประเทศไทย แล้วถูกส่งไปปฏิบัติงานในต่างประเทศ จะได้รับสิทธิยกเว้นไม่ต้องนำเงินที่ได้รับเนื่องจากการจ้างแรงงานในต่างประเทศมาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ในประเทศไทย หากไม่มีการนำเงินได้ที่จ่ายให้ในต่างประเทศมาหักเป็นรายจ่าย ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการคำนวณภาษีเงินได้ของ ROH หรือวิสาหกิจในเครือในประเทศไทย

คนต่างชาติที่ทำงานใน ROH จะได้รับสิทธิทางภาษีดังกล่าว เมื่อกิจการที่คนต่างชาติทำงานนั้นสามารถใช้สิทธิประโยชน์ของ ROH ได้ โดยกิจการต้องมีคุณสมบัติของกิจการ ROH ครบทุกประการ และประกอบกิจกรรมการให้บริการต่อวิสาหกิจในเครือที่ครอบคลุมกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งข้างต้น โดยคนต่างชาตินั้นสามารถใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันที่เข้าทำงานในกิจการ ROH แต่ไม่ก่อนวันที่กิจการนั้นจดทะเบียนเป็นกิจการ ROH ต่อกรมสรรพากร

กิจการประเภท 7.9 ROH ภายใต้บีโอไอ สิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากรเป็นการยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรที่ใช้ในการวิจัยและพัฒนา และฝึกอบรม ตามประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่ ส.1/2551 เรื่อง การแก้ไขปรับปรุงประเภทกิจการ 7.9 ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2551 เป็นต้นไป

สำหรับสิทธิประโยชน์ที่ไม่เกี่ยวกับภาษีอากร กิจการ ROH ที่มีพนักงานเป็นคนต่างชาติ การได้รับส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอก็จะช่วยอำนวยความสะดวกในการขอใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) และใบอนุญาตการอยู่ในประเทศไทย (Visa) จากศูนย์บริการวีซ่าและใบขออนุญาตทำงาน หรือ One Stop Service Center for Visas and Work Permits นอกจากนั้น กิจการ ROH ยังสามารถขอถือกรรมสิทธิ์ที่ดินเพื่อประกอบกิจการตามโครงการที่ได้รับการส่งเสริมได้อีกด้วย

กิจการ ROH ที่มีคุณสมบัติครบตามที่กรมสรรพากร และบีโอไอกำหนด สามารถได้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากรภายใต้กรมสรรพากร และบีโอไอ ทำให้กิจการ และพนักงานชาวต่างชาติประหยัดภาษีอากร ทำให้ต้นทุนทางภาษีลดลง รวมทั้งได้รับความสะดวกในการประกอบกิจการ ทำงาน และอยู่ในประเทศไทย

ผู้สนใจสามารถสืบค้นรายละเอียดของกรมสรรพากรได้ที่เว็บไซต์ http://www.rd.go.th/publish/8577.0.html และบีโอไอที่ http://www.boi.go.th นอกจากนั้น ในส่วนของบีโอไอยังสามารถโทรศัพท์สอบถามได้ที่ศูนย์บริการลงทุน โทร. 0-2537-8111 ต่อ 1101-1108 หรือ E-mail: head@boi.go.th


ติดต่อขอข้อมูล ติชม และเสนอแนะความคิดเห็นได้ที่ศูนย์บริการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 0-2537-8161 หรือที่ head@boi.go.th
กำลังโหลดความคิดเห็น