เป็นเวลากว่า 10 ปีแล้วที่ธนาคารกรุงเทพให้การสนับสนุนธุรกิจเอสเอ็มอี ภายใต้ชื่อ “โครงการบัวหลวง เอสเอ็มอี” วัตถุประสงค์เพื่อเสริมความเข้มแข็งให้กับธุรกิจเอสเอ็มอี เน้นการเพิ่มองค์ความรู้ด้านต่างๆ ให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งธนาคารได้พัฒนา และจัดอบรมหลักสูตรพื้นฐานความรู้ด้านการประกอบการต่างๆ แก่กลุ่มลูกค้าธุรกิจเอสเอ็มอี รวมทั้งขยายผลด้านความรู้ให้ทันสมัย และทันต่อการเปลี่ยนแปลง
นายวีระศักดิ์ สุตัณฑวิบูลย์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้อำนวยการลูกค้าธุรกิจรายกลางนครหลวง ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวถึงการสนับสนุนธุรกิจเอสเอ็มอีของธนาคารว่าเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2542 โดยธนาคารให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอีเป็นอย่างมาก มีการจัดสัมมนาเอสเอ็มอี ประจำครึ่งปี และประจำปี ซึ่งในการจัดสัมมนาแต่ละครั้งนั้นได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากวิทยากรในหน่วยงานและสถาบันการศึกษาต่างๆ รวมทั้งนักธุรกิจเอสเอ็มอีที่ประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการ ที่มาถ่ายทอดความรู้เชิงวิชาการ ตลอดจนประสบการณ์ที่มีคุณค่าจากความสำเร็จของผู้ประกอบการ
ทั้งนี้เพื่อสร้างพัฒนาการด้านความรู้ต่างๆ ที่มีประโยชน์ รวมถึงกระตุ้นให้ผู้ประกอบการได้หมั่นเรียนรู้ ในการนำไปปรับใช้กับธุรกิจ เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจ อาจกล่าวได้ว่าธนาคารกรุงเทพเป็นธนาคารแห่งแรกที่มีการจัดทำเรื่องหลักสูตรการอบรมให้กับผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอี โดยร่วมกับสถาบันคีนันฯ ในการพัฒนาหลักสูตรเรื่องแผนธุรกิจต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ยังได้ร่วมมือกับสถาบันการศึกษา คือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดยการให้ทุนนักศึกษาเพื่อนำองค์ความรู้จากสถาบันการศึกษาไปถ่ายทอดให้กับผู้ประกอบการ เมื่อนักศึกษาเหล่านี้สำเร็จการศึกษาแล้ว ต้องไปทำงานในบริษัทลูกค้าของธนาคารตามเงื่อนไขที่กำหนด ซึ่งเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยยกระดับขีดความรู้ความสามารถของผู้ประกอบการ
สำหรับแนวคิดในการดำเนินธุรกิจของเอสเอ็มอีที่ดูจะสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันมากที่สุดคือ การดำเนินการภายใต้แนวคิด “พันธมิตรแห่งนวัตกรรมและการเรียนรู้” ซึ่งเป็นแนวคิดในการที่จะสร้างความแตกต่างให้กับผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอี โดยเน้นให้ความสำคัญในเรื่องของนวัตกรรมและความรู้เป็นพิเศษ นอกจากนี้ ธนาคารยังได้ร่วมมือกับหน่วยงานของภาครัฐอีกหลายหน่วยงาน ในการให้สินเชื่อเพื่อพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีต่างๆ อีกด้วย
การที่ผู้ประกอบการมีนวัตกรรม จะก่อให้เกิดผลดีกับตัวผู้ประกอบการเอง และสามารถช่วยยกระดับผลผลิตหรือสินค้าให้มีคุณภาพและมาตรฐานที่สูงขึ้นได้ ซึ่งผู้ประกอบการในปัจจุบันเริ่มให้ความสนใจในการพัฒนาทางด้านนวัตกรรมเพื่อสร้างความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์ของตนเองเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้เพื่อให้ธุรกิจยังคงอยู่ต่อไป และแข่งขันในตลาดได้
สำหรับการพิจารณาเพื่อให้สินเชื่อแก่ลูกค้าเอสเอ็มอีของธนาคารนั้น นอกจากจะยึดตามระเบียบของทางราชการแล้ว สิ่งที่ธนาคารมักจะพิจารณาควบคู่ไปด้วย คือ เรื่องของผลประกอบการ วงเงินที่เกี่ยวข้อง และสินทรัพย์ของลูกค้า เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจเอสเอ็มอีแต่ละประเภทล้วนมีความแตกต่างกันทั้งในด้านของต้นทุน และการดำเนินงาน การที่ธุรกิจประเภทใดจะเติบโตหรือไม่เติบโต มักขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจในช่วงนั้นๆ ด้วย ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาธุรกิจเอสเอ็มอีด้านการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ มีผลประกอบการอยู่ในเกณฑ์ดีมาโดยตลอด แต่เมื่อภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกถดถอย จึงส่งผลกระทบต่อกำลังการผลิตรถยนต์โดยอัตราการผลิตลดลงร้อยละ 20 - 30 ทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีในกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก
นอกจากนี้ธนาคารยังมีการให้สินเชื่อกับผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอีที่เข้าไปประกอบธุรกิจในประเทศลาว กัมพูชา และเวียดนาม เนื่องจากประเทศต่างๆ เหล่านี้ยังมีอัตราค่าจ้างแรงงานถูก และผู้ประกอบการยังได้รับสิทธิพิเศษทางด้านภาษีอีกด้วย
ปัจจุบันธนาคารมีการให้สินเชื่อกับลูกค้าที่ประกอบธุรกิจเอสเอ็มอีประมาณ 1 - 2 แสนราย แต่ถ้าในภาพรวมทั้งประเทศน่าจะอยู่ที่ประมาณ 7 - 8 ล้านราย
สำหรับผลประกอบการของธุรกิจเอสเอ็มอีนั้น มักขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจ หากเศรษฐกิจเติบโต ธุรกิจเอสเอ็มอีก็เติบโตด้วย แต่เมื่อใดที่เศรษฐกิจประสบปัญหา ธุรกิจเอสเอ็มอีมักจะได้รับผลกระทบตามไปด้วย ส่วนความเข้มแข็งของธุรกิจเอสเอ็มอีนั้น หากเป็นธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีขนาดเล็กความแข็งแรงจะมีน้อย ทั้งนี้หากมีอะไรมากระทบธุรกิจเอสเอ็มอีขนาดเล็ก จะทำให้ธุรกิจดังกล่าวได้รับผลกระทบหนักมาก เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ผลิตเพื่อขายในประเทศเป็นหลัก
ในปี 2551 ถือว่าเป็นปีที่ผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอีประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงต้นปี แต่เมื่อภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกเกิดการชะลอตัว ทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีได้รับผลกระทบจากวิกฤติดังกล่าวด้วย ซึ่งภาวะดังกล่าวน่าจะดำเนินต่อไปอีกนาน ทั้งนี้เมื่อบริษัทที่ทำการผลิตเพื่อการส่งออกได้รับผลกระทบ สินค้าอื่นๆ ต่างก็ได้รับด้วย รวมทั้งความมั่นใจของคนในประเทศ ต่างก็ไม่มั่นใจในสถานการณ์ดังกล่าวจึงมีการชะลอการจับจ่ายใช้สอยลง ดังนั้นแม้จะเป็นเอสเอ็มอีที่ไม่เกี่ยวข้องกับการส่งออกก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน
การให้สินเชื่อกับธุรกิจเอสเอ็มอีของธนาคารในช่วงที่ผ่านมานั้น มีอัตราสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอลในอัตราไม่สูงมากนัก แต่ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะด้านธุรกิจบริการ ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม ร้านอาหาร สปา แหล่งท่องเที่ยว ฯลฯ ในส่วนนี้ธนาคารได้ให้ความช่วยเหลือลูกค้าโดยการหารือร่วมกันว่าจะมีแนวทางการผ่อนชำระหนี้อย่างไรในกรณีที่รายได้ลดลง ซึ่งส่งผลทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ลดลงด้วย ธนาคารจึงให้ความช่วยเหลือโดยการขยายเวลาการผ่อนชำระหนี้ให้ยาวขึ้น โดยพิจารณาตามความจำเป็นและเหมาะสมของผู้ประกอบการแต่ละราย
สำหรับแนวโน้มของผู้ประกอบธุรกิจเอสเอ็มอีของธนาคารในปี 2552 นั้น ยังไม่ถึงขั้นที่จะต้องล้มเลิกกิจการ แต่ขอให้ใช้เวลาในช่วงนี้สำหรับการปรับตัวและหาทางป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเพื่อให้ธุรกิจดำเนินอยู่ต่อไป โดยสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการคือ การพัฒนาขีดความสามารถของตนเองในการแข่งขันในธุรกิจให้ดียิ่งขึ้น ถ้าสามารถทำได้จะทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีเติบโตได้อีกมาก
ส่วนความสามารถในการหาตลาดของผู้ประกอบธุรกิจเอสเอ็มอีของไทยนั้น ถือว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจ เพราะการประกอบธุรกิจนั้นอย่างน้อยต้องมีตลาดถึงจะเกิดธุรกิจ ดังนั้นความสามารถพื้นฐานที่ผู้ประกอบธุรกิจเอสเอ็มอีต้องมีเป็นลำดับแรกคือ ต้องมีความรู้เรื่องตลาดเป็นอย่างดี จากนั้นจึงไปดูเรื่องของการผลิต เทคโนโลยี เครื่องจักร ฯลฯ
ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาเพื่อยกระดับให้เป็นเอสเอ็มอีที่มีความรู้ และอาจมีบางธุรกิจที่ไม่พร้อมจะดำเนินการ จึงมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเข้ามาให้ความช่วยเหลือ เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ให้ความช่วยเหลือเรื่องทุนวิจัย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ให้เรื่ององค์ความรู้ต่างๆ โดยจัดการอบรมเพื่อเสริมความรู้ให้กับผู้ประกอบการ เพื่อให้มีความรู้มากยิ่งขึ้น
ในส่วนของผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นของผู้ประกอบธุรกิจเอสเอ็มอี เช่น ผู้ผลิตแผ่นอะคริลิก ซึ่งได้พัฒนาแผ่นดังกล่าวให้มีความเหนียว สามารถนำไปผลิตเป็นหน้ากากหมวกกันน็อก และล่าสุดได้พัฒนาไปอีกระดับหนึ่งที่สามารถใช้กันกระสุน นอกจากนี้ยังมีผู้ผลิตเส้นใยไหมสายพันธุ์ใหม่ที่มีคุณภาพสูงมาก ซึ่งนำไปใช้สำหรับทอเป็นกิโมโนในพระราชวังของประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งประเทศไทยยังเป็นแหล่งผลิตวาซาบิเทียม เพื่อการส่งออกเป็นรายใหญ่ของโลกด้วย
นอกจากนี้ นายวีระศักดิ์ ยังได้กล่าวถึงปัญหาของผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอีว่า ส่วนใหญ่จะไม่ถนัดในการทำงานร่วมกับนักวิชาการ โดยเฉพาะเมื่อมีผลงานการวิจัยที่น่าสนใจออกมา แต่ผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอีไม่สามารถนำผลงานเหล่านั้นไปใช้งานได้ในทันที เนื่องจากติดปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ เรื่องผลตอบแทนต่างๆ ที่บางครั้งสูงเกินกว่าที่ผู้ประกอบการจะรับได้
สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาคือ
1. ภาครัฐต้องดำเนินการรวบรวมผลงานวิจัยต่างๆ ว่ามีการทำวิจัยในเรื่องใดบ้าง และมีเรื่องใดที่สามารถนำมาต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้
2. ควรมีศูนย์กลางที่ผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอีจะสามารถเข้าไปตรวจสอบหรือ
ค้นคว้าว่างานวิจัยที่สนใจนั้นมีอยู่ที่ใดบ้าง เพื่อนำมาต่อยอดต่อไป เนื่องจากผลงานการวิจัยของไทยส่วนใหญ่จะอยู่ในสถาบันการศึกษาต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ ที่มีผลงานการวิจัยเป็นจำนวนมาก โดยอยู่ตามภาควิชาต่างๆ เช่น วิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เกษตรศาสตร์ ฯลฯ
ในขณะนี้เป็นช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกเกิดการชะลอตัวจึงส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอี ดังนั้นผู้ประกอบการต้องระมัดระวังตัว พยายามดูแลธุรกิจให้ดี โดยเฉพาะในเรื่องต่างๆ เหล่านี้จำเป็นต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษคือ
1. ต้นทุนการผลิต นับจากนี้ไปต้องเข้าไปดูแลอย่างจริงจังแล้วว่าต้นทุนการผลิต ยัง
สามารถแข่งขันได้หรือไม่ โดยสิ่งที่ต้องระวังเป็นพิเศษในช่วงที่เศรษฐกิจหดตัวคือ เรื่องสงครามราคา ฉะนั้นหากต้นทุนไม่สามารถแข่งขันได้จะลำบาก
2. ผู้ประกอบการควรเลิกคิดว่าธุรกิจของผู้อื่นดีกว่า แต่ควรคิดว่าเราแตกต่างอย่างไร ต้องใช้ความต่างให้เป็นประโยชน์
3. ต้องให้ความสำคัญเรื่องการตลาด เพราะในขณะที่เศรษฐกิจหดตัว เราต้องพยายามขายสินค้าให้อยู่ในปริมาณเท่าเดิม ซึ่งการตลาดคงต้องทำงานหนักขึ้น และยังท้าทายความสามารถในการที่จะไปหยิบโอกาสของธุรกิจนั้นขึ้นมา
ติดต่อขอข้อมูล ติชม และเสนอแนะความคิดเห็นได้ที่ศูนย์บริการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 0-2537-8161 หรือที่ head@boi.go.th