xs
xsm
sm
md
lg

สถาบันการเงินหวั่นผลัดชำระหนี้พุ่ง ตั้งราคาสูง-ปรับเงื่อนไขเข้มรับมือ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธปท.เผยแนวโน้มสถาบันการเงินยังคงเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น เหตุห่วงโอกาสผลัดชำระหนี้พุ่ง โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอี ขณะที่สินเชื่อที่อยู่อาศัย-สินเชื่อครัวเรือนหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อ ชี้ความต้องการบริโภคอ่อนตัว หวั่นกระทบสินเชื่อบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เพราะดอกเบี้ยสูงและการแข่งขันจากแหล่งเงินทุนด้านอื่นมากขึ้น ด้านสถาบันการเงินปรับกลยุทธ์รับมือความเสี่ยงตั้งราคาที่สูงขึ้นและปรับเงื่อนไขเข้มงวดขึ้น ส่วนธุรกิจเอสเอ็มอีปรับอายุสัญญาเงินกู้ที่เข้มงวดมากขึ้น

รายงานข่าวแห่งประเทศไทย(ธปท.) แจ้งว่า สายนโยบายสถาบันการเงินของธปท.ได้ทำการสอบถามธนาคารพาณิชย์ไทย สาขาธนาคารต่างชาติ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจจำนวน 23 แห่ง ซึ่งครอบคลุมสินเชื่อมากว่า 86%ของสินเชื่อทั้งระบบ พบว่า แนวโน้มในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ สถาบันการเงินจะยังคงเข้มงวดมาตรฐานการให้สินเชื่อทุกประเภทมากขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อที่ให้แก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่มีความกังวลด้านคุณภาพ ขณะที่ความต้องการสินเชื่อภาคธุรกิจจะทรงตัวใกล้เคียงกับไตรมาส 4 ของปี 51 ด้านครัวเรือนมีความต้องการสินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อครัวเรือนอื่นๆ หดตัว ทำให้สินเชื่อบัตรเครดิตจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

ทั้งนี้ ในสัดส่วนสูงถึง 84.2% สถาบันการเงินคาดว่าสินเชื่อโดยรวมจะมีแนวโน้มการผลัดชำระหนี้ (Delinquency) เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี อย่างไรก็ตาม ความช่วยเหลือหลักที่ธุรกิจเอสเอ็มอีต้องการจากภาครัฐ 3 อันดับแรก คือ การให้ค้ำประกันสินเชื่อ การจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และการลดอัตราดอกเบี้ย นอกจากนี้ยังเป็นที่น่าสังเกตว่าความต้องการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อครัวเรือนอื่นๆ หดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าความต้องการบริโภคที่อ่อนตัวมาก

อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจภาวะการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 51 พบว่า ความต้องการสินเชื่อภาคธุรกิจ โดยรวมเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้จากการสำรวจในไตรมาสที่ 3 ของปี 51 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อในธุรกิจเอสเอ็มอีทั้งที่ใช้เป็นเงินหมุนเวียน และปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งเป็นผลจากการแข่งขันการให้สินเชื่อจากสถาบันการเงินอื่น ขณะที่ความต้องการสินเชื่อภาคธุรกิจขนาดใหญ่หดตัวเล็กน้อย เพราะการลดกำลังการผลิต เพื่อลดสินค้าคงคลัง

“ภายใต้ความเข้มงวดในการปล่อยกู้ของสถาบันการเงิน ทำให้เงื่อนไขการให้สินเชื่อแก่ภาคธุรกิจมีความเข้มงวดมากขึ้นผ่านการตั้งราคาที่สูงขึ้นเห็นได้จากกำไรที่กว้างขึ้นสำหรับลูกค้าที่มีความเสี่ยงและลูกค้าทั่วไป อีกทั้งยังสะท้อนผ่านเงื่อนไขอื่นๆ เช่น วงเงินสินเชื่อ และเงื่อนไขประกอบสัญญาเงินกู้ที่เข้มงวดขึ้น และเป็นที่น่าสังเกตว่าสถาบันการเงินมีเงื่อนไขด้านอายุสัญญาเงินกู้ที่เข้มงวดมากขึ้นสำหรับสินเชื่อที่ให้แก่ธุรกิจเอสเอ็มอี”

นอกจากนี้ธุรกิจขนาดใหญ่ยังพยายามพยุงธุรกิจของตัวเองด้วยการระดมทุนผ่านช่องทางอื่น อาทิ ใช้เงินทุนภายในของบริษัท เงินกู้จากธนาคารหรือสถาบันการเงินอื่น ระดมทุนผ่านตลาดหุ้นหรือออกตราสารหนี้ อย่างไรก็ตามปัจจัยด้านอัตราดอกเบี้ยยังคงอยู่ในระดับที่เอื้อต่อความต้องการสินเชื่อภาคธุรกิจขนาดใหญ่

ส่วนความต้องการสินเชื่อบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ซึ่งต่ำกว่าที่สถาบันการเงินได้คาดการณ์ไว้เป็นผลสำคัญจากปัจจัยทางด้านอัตราดอกเบี้ยและการแข่งขันจากแหล่งเงินทุนอื่นๆ ทั้งจากสถาบันการเงินอื่นและบริษัทที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์(นอนแบงก์) ส่วนความต้องการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยลดลงมากกว่าที่สถาบันการเงินคาดการณ์ไว้ในไตรมาสก่อน ซึ่งเป็นผลจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ ทำให้มีการรอประเมินทิศทางแนวโน้มตลาดที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะจากมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ของทางการ จึงเป็นที่น่าสังเกตว่าไตมาสนี้อัตราดอกเบี้ยไม่ได้เป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภค

ทั้งนี้ ในสัดส่วน 60.9%ของสถาบันการเงินได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้โดยรวมตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ลดลง 1% เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.ที่ผ่านมา ขณะเดียวกันจากการสำรวจยังพบว่าในสัดส่วน 56.5% สถาบันการเงินได้ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้แก่ธุรกิจเอสเอ็มอีลงเช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น