xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.หารือแบงก์พาณิชย์ จี้ลด ดบ.เงินกู้-สินเชื่อ "เอสเอ็มอี" กระตุ้น ศก.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แบงก์ชาติ เรียกแบงก์พาณิชย์เข้าหารือทิศทางตลาดการเงิน พร้อมจี้ให้ลด ดบ.เงินกู้ เพื่อกระตุ้น ศก. โดยพิจารณาให้เหมาะสมกับความเสี่ยง และโครงสร้างแต่ละแบงก์ พร้อมเรียกดูแผนสินเชื่อ "เอสเอ็มอี" เพื่อตรวจการบ้าน

มีรายงานข่าวว่า นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เชิญผู้บริหารธนาคารพาณิชย์หารือเกี่ยวกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียมการชำระคืนเงินก่อนกำหนด และโครงการค้ำประกันสินเชื่อของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ให้กับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี)

นายปกรณ์ พรรธนะแพทย์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK เปิดเผยว่า ธปท.ให้ธนาคารพาณิชย์พิจารณาว่า จะสามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงให้เหมาะสมกับความเสี่ยง รวมทั้งความเหมาะสมในการทำธุรกิจได้หรือไม่ โดยมอบหมายให้แต่ละธนาคารไปพิจารณากันเอง เนื่องจากแต่ละธนาคารมีโครงสร้างและความเสี่ยงต่างกัน

“ธปท.ไม่ได้มองเห็นความเสี่ยงอะไร แต่ที่ผ่านมามีลูกค้าร้องเรียนเข้ามายัง ธปท. ธปท.จึงฝากให้แต่ละธนาคารไปพิจารณาอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้เหมาะสมกับความเสี่ยง และโครงสร้างของแต่ละธนาคารกันเอง ซึ่งเรื่องนี้ทางสมาคมธนาคารไทยจะมีการหารือกันเองต่อไป”

นายปกรณ์ กล่าวอีกว่า อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ให้กับเอสเอ็มอีในปัจจุบันถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำ หากเทียบกับปี 2540 ที่อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 17-18 จึงเชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยระดับนี้ธุรกิจเอสเอ็มอียังมีกำไร โดยปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่เอ็มแอลอาร์ บวกร้อยละ 2-3 ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของลูกค้า ซึ่งวงเงินค้ำประกันสินเชื่อมี ทั้งสิ้น 50,000 ล้านบาท เป็นสัดส่วนของธนาคารกสิกรไทยประมาณ 10,000 ล้านบาท

ส่วนค่าธรรมเนียมการชำระคืนเงินก่อนกำหนด หากลูกค้าต้องการรีไฟแนนซ์นั้น ธปท.อยากให้ทางธนาคารพาณิชย์ยกเว้นเป็นการชั่วคราว เนื่องจากมีลูกค้าร้องเรียนเข้ามายัง ธปท.เช่นกัน ว่าเมื่อลูกค้าต้องการรีไฟแนนซ์จากธนาคารหนึ่งไปอีกธนาคารหนึ่ง ธนาคารแรกจะคิดอัตราค่าธรรมเนียมในอัตราที่สูง จึงต้องการให้ธนาคารพิจาณาในเรื่องนี้ เพื่อให้ลูกค้ามีความคล่องตัวขึ้น

นอกจากนี้ ธปท.ได้สอบถามถึงความคืบหน้าในโครงการค้ำประกันสินเชื่อของ บสย. ให้กับธุรกิจเอสเอ็มอี โดย ธปท.กำหนดให้แต่ละธนาคารส่งแผน รวมทั้งรายละเอียดของลูกค้า หรือสรุปจำนวนลูกค้าที่มีศักยภาพที่จะสามารถได้รับสินเชื่อในโครงการนี้ว่า แต่ละธนาคารมีจำนวนเท่าใดให้กับ ธปท. ภายในวันนี้ (15 พฤษภาคม 2552)

สำหรับเกณฑ์ในการพิจารณาการให้สินเชื่อกับลูกค้าของธนาคารกสิกรไทย ไม่ได้พิจารณาถึงหลักทรัพย์ในการประกันเป็นสำคัญ แต่พิจารณาถึงความเป็นไปได้ของธุรกิจและโอกาสหรือความเสี่ยงในการเกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) มากกว่า

อย่างไรก็ตาม แม้ไม่มีโครงการค้ำประกันสินเชื่อของ บสย. ให้กับเอสเอ็มอี ธนาคารก็มีนโยบายในการสนับสนุนการสินเชื่อกับเอสเอ็มอีอยู่แล้ว ซึ่งลูกค้าที่ธนาคารกสิกรไทย พิจารณาให้ปล่อยสินเชื่อ ส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจอาหารและธุรกิจค้าปลีก ที่เป็นธุรกิจอุปโภค บริโภค เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีความยืดหยุ่นสูง
กำลังโหลดความคิดเห็น