xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.สั่งแบงก์รื้อแผนธุรกิจใหม่ เล็งคลายกฎเหล็กขอกู้เพิ่มเติม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธปท.สั่งแบงก์พาณิชย์ทบทวนแผนธุรกิจให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทั้งแนวทางดูแลสภาพคล่อง เงินกองทุน หนี้เอ็นพีแอล พร้อมเล็งผ่อนคลายกฎปล่อยกู้เพิ่ม ขณะที่โครงการปล่อยกู้ธุรกิจเอสเอ็มอียอดขอกู้กระเตื้องมากกว่า 3 หมื่นล้านบาท ระบุมีโอกาสขอวงเงินเพิ่มเติมจากรัฐ

นายสรสิทธิ์ สุนทรเกศ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ได้ให้ธนาคารพาณิชย์เสนอแผนธุรกิจประจำปี 2552 ในช่วงเดือนก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่มีหารือกันเรื่องสภาพคล่องในระบบการเงิน หลังจากที่ธุรกิจขนาดใหญ่หันมากู้เงินภายในประเทศมากขึ้น ทำให้ธปท.อยากทราบแนวทางการดูแลสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ในระบบ แม้ขณะนี้ในระบบจะมีสภาพคล่องจำนวนมาก แต่อาจจะส่งผลต่อสภาพคล่องหดหายได้ในอนาคต

ขณะเดียวกันมีการหารือกันในเรื่องเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) และการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งธปท.กำชับให้ธนาคารพาณิชย์ทบทวนแผนธุรกิจว่าจะสามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายหรือไม่ ซึ่งช่วงนั้นตั้งเป้าหมายไว้ที่ระดับ 5-8% แต่ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจ นโยบายรัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในอนาคตด้วย

"ธปท.ให้แบงก์ทบทวนแผนธุรกิจในปีนี้มีความเป็นไปได้แค่ไหน รวมทั้งข้อสมมติฐานต่างๆ ในการทำธุรกิจ อาทิ การกันสำรองหนี้เสีย ยอดเอ็นพีแอลเมื่อเทียบกับรายได้จะเป็นตัวถ่วงต่อการทำธุรกิจในอนาคตอย่างไร โดยขณะนี้แบงก์ชาติพยายามสร้างบรรยากาศที่ดีให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจทั้งลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับต่ำและดูแลอัตราแลกเปลี่ยนในระบบให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม พร้อมทั้งดูแลความมั่นคงของสถาบันการเงิน ซึ่งส่วนหนึ่งกำลังอยู่ระหว่างทบทวนอุปสรรคที่มีผลต่อการปล่อยสินเชื่อเพิ่มเติม"

ผู้ช่วยผู้ว่าการธปท. กล่าวว่า ส่วนกรณีที่ลูกค้าธนาคารพาณิชย์บางรายปลอมแปลงเอกสารในการขอสินเชื่อนั้นมองว่าเป็นเรื่องปกติ แต่ธนาคารพาณิชย์ควรให้ความสำคัญต่อกระบวนการภายใน โดยเฉพาะขั้นตอนระบบปฏิบัติการและตรวจเอกสารอย่างดี ขณะเดียวกันธปท.ได้มีการวางกฎเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อขั้นต่ำให้เป็นแนวทางในการดำเนินการพิจารณาสินเชื่ออยู่แล้วด้วย

สำหรับโครงการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ให้แก่ธุรกิจขนาดกลางและย่อม(เอสเอ็มอี) โดยมีบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.) ค้ำประกันในวงเงิน 3 หมื่นล้านบาทนั้น ขณะนี้มีความคืบหน้าไปมากแล้ว โดยในเดือนนี้ ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่อยู่ที่กระบวนการภายในทั้งการคัดเลือกลูกค้า เอกสารขอสินเชื่อ วิธีการรับ-ส่งลูกค้าให้แก่บสย. รวมทั้งแนวทางการติดตามลูกหนี้หลังจากได้ปล่อยสินเชื่อไปแล้ว จึงคาดว่าในเดือนพ.ค.น่าจะมีความคืบหน้ามากขึ้น และมีความเป็นไปได้ที่อาจขอรัฐบาลอนุมัติวงเงินในโครงการนี้เพิ่มเติม เนื่องจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีแจ้งความจำนงในเบื้องต้นวงเงินมากกว่า 3 หมื่นล้านบาทแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น