xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.ชี้กลุ่มSMEsขอสินเชื่อทะลุแสนล. เล็งเซ็นMOUแบงก์-บสย.สัปดาห์หน้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธปท.คาดลูกค้าเอสเอ็มอีรายใหม่ของแบงก์แห่ขอสินเชื่อจากบสย.ไม่ต่ำกว่าแสนล้านบาท ทะลุยอดสินเชื่อที่รัฐบาลค้ำประกันที่ให้แก่บสย.3 หมื่นล้านบาท เผยเน้นลูกค้ารายใหม่ที่มีศักยภาพ รวมถึงหลักทรัพย์ค้ำประกันที่ดี ขณะเดียวกันรัฐบาลรับผิดชอบหนี้ที่กลายเป็นเอ็นพีแอลไม่เกิน 15.5% พร้อมเล็งปลายสัปดาห์หน้านัดผู้บริหารแบงก์พาณิชย์และบสย.เซ็นเอ็มโอยู

เมื่อวันที่ 25 ก.พ.ที่ผ่านมา ธปท. ตัวแทนจากกระทรวงการคลังและบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.) ได้หารือกับธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งในระบบ เพื่อรับฟังนโยบายและกระบวนการ รวมถึงหลักเกณฑ์ในการค้ำประกันสินเชื่อให้แก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี)ตามนโยบายค้ำประกันสินเชื่อของภาครัฐ

นายสรสิทธิ์ สุนทรเกศ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า บสย.ได้รับวงเงินค้ำประกันสินเชื่อจำนวน 30,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนนี้เป็นวงเงินที่รัฐบาลจะชดเชยให้ประมาณ 2,000 ล้านบาท โดยอย่างน้อยผู้ขอกู้ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกันไม่น้อยกว่า 30%ของสินเชื่อที่ขอ ส่วนที่เหลืออีก 70% บสย.จะค้ำประกันสินเชื่อเต็มจำนวนทั้ง 100% ซึ่งการจัดสรรวงเงินแต่ละสถาบันการเงิน ขึ้นอยู่กับศักยภาพลูกหนี้และหลักทรัพย์ค้ำประกันที่จะนำขอสินเชื่อโครงการนี้ จึงคาดว่าจะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายใหม่มาขอสินเชื่อนี้ประมาณ 60,000-100,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ การให้สินเชื่อดังกล่าวจะปล่อยให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีสินทรัพย์ไม่เกิน 200 ล้านบาท ซึ่งไม่รวมมูลค่าที่ดิน และเน้นรายใหม่ที่มีศักยภาพที่มีความสามารถในการทำธุรกิจก่อน ส่วนลูกหนี้ที่ไม่มีหลักประกันหรือต้องการรีไฟแนนซ์จะพิจารณาถัดไป อย่างไรก็ตามในส่วนของลูกหนี้กลุ่มรีไฟแนนซ์ เชื่อว่าธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งได้มีการดูแลกลุ่มมนี้เป็นอย่างดีอยู่แล้ว ทำให้การมาขอสินเชื่อนี้อาจไม่มากนัก จึงอยากให้ได้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายใหม่มากกว่า

สำหรับความเสี่ยงที่บสย.จะค้ำประกัน หากเกิดลูกหนี้โครงการนี้ผิดนัดชำระหนี้จนกลายเป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) โดยหากลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์มีหนี้เสียเกิดขึ้นในสัดส่วนไม่เกิน 12% ของพอร์ตสินเชื่อของแต่ละธนาคารพาณิชย์ ทางบสย.จะจ่ายเงินทั้งหมด หรือ 100% หากหนี้เสียเกิน 12-14% บสย.จะจ่ายในสัดส่วน 75% หากเกิดหนี้เสีย 14-18% ทางบสย.จะจ่ายสัดส่วน 50% และหากเกิดหนี้เสียมากากว่า 18% ทางธนาคารพาณิชย์ต้องรับผิดชอบไป จึงเป็นเรื่องที่ธนาคารพาณิชย์ต้องดูแลตัวเองด้วย ดังนั้น ทางบสย.จะรับผิดชอบหนี้เสียที่เกิดขึ้นในระบบธนาคารพาณิชย์เฉลี่ยไม่เกิน 15.5%ของสินเชื่อที่รัฐบาลค้ำประกัน

ขณะเดียวกันธปท.ผ่อนผันไม่ให้ธนาคารพาณิชย์คิดน้ำหนักความเสี่ยงการให้สินเชื่อลูกค้าที่ได้รับสินเชื่อจากโครงการนี้ จากปกติที่ธนาคารพาณิชย์ให้น้ำหนักความเสี่ยง 75% รวมทั้งไม่ต้องมีเงินกองทุนรองรับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจนเป็นเอ็นพีแอลกับยอดสินเชื่อที่ได้รับจากโครงการนี้

“ในปลายสัปดาห์หน้าจะมีการลงนามบันทึกความเข้าใจเบื้องต้น(เอ็มโอยู) ระหว่างธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งในระบบกับบสย. ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างพูดคุยกับผู้บริหารแบงก์ต่างๆ และติดต่อให้นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นพยานร่วมกับธปท.ด้วย ซึ่งคาดว่าหากมีการเซ็นเอ็มโอยูแล้วก็สามารถปล่อยกู้ได้ทันที เพราะมั่นใจแบงก์อยากให้สินเชื่อแก่ลูกค้าเอสเอ็มอีอยู่แล้ว แต่เมื่อรัฐบาลเข้ามาช่วยรับความเสี่ยงก็เชื่อว่าทุกอย่างจะคล่องตัวมากขึ้น จึงคาดว่าเมื่อผู้กู้ยื่นเรื่องมาแล้ว แบงก์จะดูรายละเอียดภายใน 3-5 วันก็สามารถอนุมัติได้เลย”นายสรสิทธิ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม วงเงินที่รัฐบาลจะชดเชยให้ประมาณ 2,000 ล้านบาทคาดว่าอาจจะน้อยไป จึงคาดว่ารัฐบาลกำลังอยู่ระหว่างคิดโครงการอื่นๆ เพิ่มเสริมส่วนนี้ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น