xs
xsm
sm
md
lg

รัฐฯ เพิ่มทุน บสย.อีก 3,000 ลบ. คาดประกันสินเชื่อเอสเอ็มอีกว่าหมื่นราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บสย. สานนโยบายรัฐฯ หลังอนุมัติจัดหาแหล่งทุน 3,000 บาท ส่งผลยอดทะลุ 6,500 ล้านบาท เน้นค้ำประกันสินเชื่อธุรกิจโรงแรม ท่องเที่ยว ร้านอาหาร และผู้ประกอบการเอสเอ็มอี คาดจะเยียวยาเอสเอ็มอีได้ 15,000 ราย เกิดการจ้างงาน 3 แสนคน ด้านความเสี่ยงหากมีเอ็นพีแอลไม่เกิน 12% บสย.จะรับภาระหนี้ครอบคลุมได้ 100%

นายทวีศักดิ์ ฟุ้งเกียรติเจริญ กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กล่าวว่า หลังจากคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจอนุมัติให้กระทรวงการคลังจัดหาแหล่งทุนเพิ่มทุนให้กับ บสย.จำนวน 3,000 ล้านบาท จะทำให้กองทุนเพิ่มจาก 3,500 ล้านบาท เพิ่มเป็น 6,500 ล้านบาท และจะทำให้การค้าประกันสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการจาก 10,000 ล้านบาทเป็นเพิ่ม 30,000 ล้านบาท โดยปกติ บสย.จะค้ำประกันสินเชื่อสัดส่วนร้อยละ 30 ของยอดสินเชื่อซึ่งจะทำให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อออกสู่ระบบได้ถึง 1 แสนล้านบาท จากการหารือกับสถาบันการเงิน จะทำการส่งพอร์ตลูกหนี้ที่พิจารณาปล่อยสินเชื่อมาให้ค้ำประกันเป็นกลุ่มใหญ่ครั้งละประมาณ 1,000-5,000 ล้านบาท

ทั้งนี้การค้ำประกันสินเชื่อจะเน้นช่วยเหลือกลุ่มท่องเที่ยวที่ประสบปัญหาในปัจจุบัน ทั้งโรงแรม ร้านอาหาร รวมถึงเอสเอ็มอีกลุ่มอื่น ๆ โดยจะให้ความเป็นธรรมในการกระจายค้ำประกันกับแบงก์ต่าง ๆ อย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่กระจุกตัวกับแบงก์ใดแบงก์หนึ่ง และปกติการค้ำประกันเฉลี่ยประมาณ 2 ล้านบาทต่อราย ซึ่งจะทำให้การค้ำประกันสินเชื่อครอบคลุมเอสเอ็มอีประมาณ 15,000 ราย ก่อให้เกิดการจ้างงานทั้งเอสเอ็มอีและอุตสาหกรรมต่อเนื่องประมาณ 3 แสนคน และการค้ำประกันสินเชื่อของเอสเอ็มอีจะช่วยให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบ 9-10 เท่า หรือประมาณ 3 แสนล้านบาท

สำหรับการร่วมรับความเสี่ยงได้ตกลงกับสถาบันการเงินแล้วว่า หากตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของแบงก์รายใดไม่เกินร้อยละ 12 บสย.จะรับภาระหนี้ครอบคลุมร้อยเปอร์เซ็นต์ หากภาระหนี้เอ็นพีแอลอยู่ระหว่างร้อยละ 12-14 บสย.จะเข้ารับความเสียหายร้อยละ 75 ธนาคารที่ปล่อยสินเชื่อรับภาระร้อยละ 25 หากเอ็นพีแอลอยู่ที่ร้อยละ 14-18 บสย.จะรับความเสี่ยงคนละครึ่งกับแบงก์ที่ปล่อยสินเชื่อ โดยหลังจากมีความเสียหายเกิดขึ้นจะสามารถเคลมภาระหนี้กับ บสย. ได้ภายใน 3-5 วัน แต่ค่าธรรมเนียมในการค้ำประกันความเสี่ยงยังคงเก็บเท่าเดิมที่ร้อยละ 1.75 ของยอดสินเชื่อ แม้ว่าเศรษฐกิจถดถอยมีความเสี่ยงต่อหนี้เสียเพิ่มแทนที่บสย.จะปรับเพิ่มค่าธรรมเนียม แต่ยังคงจัดเก็บอัตราเท่าเดิม เพราะต้องการช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยโครงการดังกล่าวจะให้สถาบันการเงินส่งลูกค้าให้พิจาณาค้ำประกันในช่วง 5 ปี
กำลังโหลดความคิดเห็น