xs
xsm
sm
md
lg

ครม.ศก.อัดฉีดหมื่นล้าน! ดัน2แบงก์ปล่อยกู้หนุนส่งออก-SMEเพิ่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ครม.เศรษฐกิจไฟเขียว อนุมัติวงเงินหมื่นล้านบาท ให้ "ธสน.-บสย." ประกอบด้วยเงินเพิ่มทุนรวม 8 พันล้าน อีก 2 พันล้าน เป็นวงเงินชดเชยความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นตามนโยบายรัฐ รมว.คลังหวังผล 2 แบงก์ช่วยขยายวงเงินค้ำประกัน-ปล่อยสินเชื่อเพิ่มมากกว่าแสนล้าน

นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) วานนี้ (11 ก.พ.) อนุมัติการเพิ่มทุนให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) วงเงิน 5,000 ล้านบาท ตามมาตรการลดความเสี่ยงและขยายการค้ำประกันผู้ส่งออก โดยเชื่อว่าจะทำให้ ธสน. ขยายการค้ำประกันการส่งออก ได้เพิ่มขึ้น 100,000-150,000 ล้านบาท ในเวลา 3 ปี โดยมอบหมายให้กระทรวงการคลังจัดหาแหล่งเงินการเพิ่มทุนให้เหมาะสมกับ ธสน.ต่อไป

ขณะเดียวกัน ได้อนุมัติการเพิ่มทุนให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จำนวน 3,000 ล้านบาท เพื่อให้ บสย. ขยายวงเงินค้ำประกันสินเชื่อผู้ประกอบการ SMEs ได้ 30,000 ล้านบาท และจะทำให้ บสย.ขยายสินเชื่อ ได้ไม่ต่ำกว่า 60,000-100,000 ล้านบาท โดยมอบหมายให้กระทรวงคลังจัดหาแหล่งเงินเพิ่มทุนเช่นกัน

ทั้งนี้ หาก ธสน.และ บสย.มีความเสียหายต่อเนื่องจากภาวะวิกฤติจากการค้ำประกันสินเชื่อตามนโยบายรัฐบาล ที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจเห็นชอบให้มีการเบิกงบประมาณชดเชยตามจำนวนที่เกิดขึ้น แต่คาดว่าจะอยู่ในวงเงินไม่เกิน 2,000 ล้านบาท เมื่อรวมเม็ดเงินเพิ่มทุน 2 ธนาคาร ทำให้รัฐบาลใช้เงินในการเพิ่มทุนรวม 8,000-10,000 ล้านบาท โดยก่อนหน้านี้ ครม.ได้อนุมัติการกู้เงินต่างประเทศ 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (70,000 ล้านบาท) จาก 3 สถาบันการเงินคือ ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบี) และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (ไจก้า)

รมว.คลังกล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจได้เห็นชอบมาตรการด้านสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ คือ ธสน. และ บสย. ใน 2 มาตรการหลัก คือ มาตรการลดความเสี่ยงให้ผู้ส่งออก ในการได้รับการชำระเงินค่าสินค้า และลดความเสี่ยงให้ธนาคารของผู้ส่งออก และช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ส่งออก ที่ต้องการขยายตลาดส่งออกใหม่ ๆ

ส่วนมาตรการค้ำประกันสินเชื่อ ผ่าน บสย. เป็นการค้ำประกันลักษณะ Portfolio Scheme พิจารณาค้ำประกันเป็นรายกลุ่ม ดำเนินการร่วมกับ บสย.กับสถาบันการเงินอื่นๆ แบ่งสัดส่วนความรับผิดชอบตามความเหมาะสม

"การเพิ่มทุนของสถาบันการเงินของรัฐ 2 แห่ง จะทำให้เสร็จโดยเร็ว คาดว่าจะเป็นการจัดหาแหล่งเงินจากในประเทศ" นายกรณ์กล่าวและว่า กรอบการใช้เงินกู้ต่างประเทศจำนวน 7 หมื่นล้านบาท เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ได้มีการหารือในกรอบใหญ่ 3 ด้าน ประกอบด้วย 1.การเพิ่มทุนให้กับสถาบันการเงินของรัฐเพื่อรองรับการขยายสินเชื่อตามนโยบายรัฐบาล โดยจะพิจารณาจัดสรรวงเงินเพิ่มทุนตามความจำเป็นในการขยายสินเชื่อ พร้อมกับประเมินสถานะเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของสถาบันการเงินรัฐ เพื่อให้มีความมั่นคง

2.โครงการลงทุนภาครัฐขนาดกลางและขนาดเล็ก จะพิจารณาโครงการที่ส่งผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและการจ้างงานในระยะสั้นที่กระจายในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการไม่เกิน 15 เดือนเริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม 2552 ถึงเดือนพฤษภาคม 2553

3.โครงการลงทุนภาครัฐขนาดใหญ่เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยจะพิจารณาจัดสรรให้โครงการขนาดใหญ่ที่มีความจำเป็นต้องดำเนินการเร่งด่วนตามนโยบายรัฐบาล เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และเพิ่มผลิตภาพเศรษฐกิจโดยรวม โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการไม่เกิน 36 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม 2552 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2555.
กำลังโหลดความคิดเห็น