ที่ประชุม ครม.อนุมัติเจรจากู้เงินจากสถาบันการเงิน และองค์กรระหว่างประเทศ 2.7 ล้านบาท ตามข้อเสนอกระทรวงการคลัง “กรณ์” อ้าง จำเป็นรองรับวิกฤต ค้ำดุลเศรษฐกิจประเทศ “บินไทย” จ่อกู้รายแรก ช่วย รสก.เน่า
วันนี้ (3 ก.พ.) นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง แถลงภายหลังการประชุมว่า ครม.เห็นชอบให้กระทรวงการคลัง เจรจากู้เงินจากสถาบันการเงินและองค์กรระหว่างประเทศ 3 แหล่ง คือธนาคารโลก ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) และองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ ไจก้า วงเงิน 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 70,000 ล้านบาท เพื่อนำมาฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยมีต้นทุนอยู่ที่ 2.38-3.70% ต่อปี
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะนำเงินกู้จากสถาบันการเงินและองค์กรต่างประเทศจำนวน 70,000 ล้านบาท มาใช้ใน 4 โครงการ คือ เพิ่มทุนให้แก่สถาบันการเงินของรัฐเพื่อนำไปขยายสินเชื่อตามนโยบายของรัฐบาล, ลงทุนในโครงการภาครัฐทั้งขนาดกลางและขนาดเล็ก เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนและสร้างการจ้างงานในระยะสั้นไม่เกิน 15 เดือน (มี.ค.52-พ.ค.53), ลงทุนในโครงการเมกะโปรเจกต์เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเศรษฐกิจและสังคม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและผลิตภาพ มีเวลาดำเนินการไม่เกิน 36 เดือน (มี.ค. 52-ก.พ.55) และสนับสนุนโครงการ แผนงานและกิจกรรมตามนโยบายของรัฐบาล
“เรามีความจำเป็นที่จะต้องวางแผนเพื่อรองรับวิกฤตเศรษฐกิจ เพราะ ณ เวลานี้ รัฐบาลมีความจำเป็นใช้งบขาดดุล เพื่อนำเงินมาค้ำดุลเศรษฐกิจ” รมว.คลัง กล่าว
นายกรณ์ กล่าวต่อว่า ครม.เห็นชอบให้กระทรวงการคลัง เจรจาจัดหาเงินกู้ในลักษณะช็อตเทิร์ม ฟาซิลิตี้ (Short term facility) อีกไม่เกิน 2 แสนล้านบาท ระยะเวลา 3 ปี โดยมีแหล่งเงินจากธนาคารพาณิชย์ที่ประกอบกิจการในประเทศไทย และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เพื่อให้รัฐวิสาหกิจและสถาบันการเงินภาครัฐสามารถกู้เงินในประเทศระยะสั้นได้โดยตรง ซึ่งหนึ่งในนั้น น่าจะมีบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) อยู่ด้วย ซึ่งใน 1-2 สัปดาห์นี้ จะมีการสรุปผลรายละเอียดมายังตน
ทั้งนี้ เป็นการเพิ่มความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการ และยังเป็นเครื่องมือในการจัดสรรการกู้เงินของภาครัฐไม่ให้เกิดภาวะกระจุกตัวในช่วงใดช่วงหนึ่งด้วย ถือเป็นวงเงินสำรองกู้เงินและให้รัฐวิสาหกิจมีทางเลือกในการกู้เงิน โดยกระทรวงการคลังจะค้ำประกันวงเงินแบบเต็มจำนวนหรือแบบบางส่วน เพื่อลดสัดส่วนของการค้ำประกัน เพื่อให้ภาระการค้ำประกันอยู่ในกรอบเพดานในแต่ละปี ที่กำหนดไว้เป็นสกุลเงินบาทไม่เกิน 20% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี โดยมีอายุเงินกู้ระยะไม่เกิน 18 เดือน
นายกรณ์ กล่าวว่า รัฐบาลได้เตรียมเพิ่มทุนให้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐอีก 3 แห่ง ได้แก่ ธนาคารเพื่อการนำเข้าและส่งออกแห่งประเทศไทย (Exim Bank) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ธพว.) และบรรษัทบริหารสินทรัพย์ขนาดกลางและขนาดย่อม (บสย.) โดยวงเงินเพิ่มทุนดังกล่าวกระทรวงการคลังจะดึงมาจากเงินกู้ที่จะขอกู้จากธนาคารโลก ADB และ JICA
ทั้งนี้ การใช้เงินจากแหล่งเงินกู้นั้น จะนำมาใช้ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศในปี 2553 ที่จะเป็นงบขาดดุล ดังนั้น หนี้สาธารณะจำเป็นที่จะต้องปรับสูงขึ้น และปี 2553 ก็มีแนวโน้มที่สูงขึ้น และเชื่อว่า จะเป็นหนี้ที่สามารถแบกรับได้ด้วยรายได้ของประเทศ และสามารถชำระได้ เมื่อเศรษฐกิจดีรายได้ประเทศก็จะมาจากภาษีที่สูงขึ้น ขณะเดียวกันเร็วเกินไปที่จะบอกว่ามีโครงการใดที่มีประโยชน์ ซึ่งบางโครงการจะต้องเสนอขอความเห็นชอบจาก ครม.ก่อน
คาดรายได้ปี 53 อยู่ที่ 1.42 ล้านล้านบาท
นายกรณ์ เปิดเผยว่า จากการหารือเรื่องการจัดทำงบประมาณปี 53 ในเบื้องต้นระหว่างหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงการคลังที่ประเมินจากหลักเหตุ และผลของภาวะเศรษฐกิจและสภาพแวดล้อม พบว่าการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 53 อาจไม่สูงกว่าปีงบประมาณ 52 เบื้องต้นคาดว่า การจัดเก็บรายได้ปีงบประมาณ 53 จะอยู่ที่ 1.42 ล้านล้านบาท แต่มีแนวโน้มจะปรับเพิ่มขึ้นอีก 10 เปอร์เซ็นต์ โดยคาดการณ์ว่าจีดีพี ปี 53 จะปรับตัวดีขึ้นกว่าปี 52 ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 1 เปอร์เซ็นต์ ส่วนวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 53 คาดว่าจะใกล้เคียงกับปี 52 ที่กำหนดไว้ที่ 1.8 ล้านล้านบาท โดยยังคงเป็นงบประมาณขาดดุลเบื้องต้นที่ 3.5 แสนล้านบาทเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ มองว่าระดับการจัดเก็บรายได้ปีงบประมาณ 53 จะต้องทำอย่างระมัดระวัง เพราะหากประเมินการจัดเก็บรายได้ที่สูงเกินไป อาจทำให้เกิดการขาดดุลงบประมาณที่มากขึ้น และกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจได้
นายกรณ์ กล่าวอีกว่า ส่วนการจัดตั้งเงินกู้ระยะสั้น เพื่อเป็นวงเงินสำรองสำหรับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจและสถาบันการเงินของรัฐ จำนวน 200,000 ล้านบาท ยืนยันว่า จะไม่กระทบต่อภาระหนี้สินสาธารณะ เพราะเป็นการตั้งวงเงินรองรับการหมุนเวียนเงินสำหรับการใช้หนี้เดิมของรัฐวิสาหกิจ ตามโครงการที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี