ครม.ไฟเขียว “คลัง” กู้เงินในประเทศ 2 แสนล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องให้รัฐวิสาหกิจ และกู้ต่างประเทศ 7 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ และเป็นก๊อก 2 สำรองในยามฉุกเฉิน เตรียมเพิ่มทุน 3 แบงก์เฉพาะกิจ เร่งอัดฉีดเม็ดเงินลงสู่ระบบ
รายงานข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ แจ้งว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบให้กระทรวงการคลังกู้เงินจากสถาบันการเงินภายในประเทศวงเงิน 2 แสนล้านบาท และกู้จากต่างประเทศจำนวน 7 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้กระตุ้นเศรษฐกิจในปี 2552
นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุม โดยระบุว่า ครม.มีมติเห็นชอบให้กระทรวงการคลังกู้เงินจากสถาบันการเงินและองค์กรระหว่างประเทศ 3 แหล่ง ได้แก่ ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) และองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) วงเงิน 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 70,000 ล้านบาท เพื่อนำมาฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ
พร้อมกันนี้ กระทรวงการคลังยังได้เสนอขออนุมัติในหลักการกู้เงิน Short term facility สำหรับเสริมสภาพคล่องให้แก่รัฐวิสาหกิจอีกวงเงินไม่เกิน 2 แสนล้านบาท โดยยังไม่ระบุที่มาของแหล่งทุน แต่คาดว่า จะใช้แหล่งเงินกู้ภายในประเทศ
นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงการเพิ่มสภาพคล่องให้กับระบบสถาบันการเงิน โดยรัฐบาลได้เตรียมเพิ่มทุนให้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐอีก 3 แห่ง ได้แก่ ธนาคารเพื่อการนำเข้าและส่งออกแห่งประเทศไทย (Exim Bank) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ธพว.) และบรรษัทบริหารสินทรัพย์ขนาดกลางและขนาดย่อม (บสย.) โดยวงเงินเพิ่มทุนดังกล่าวกระทรวงการคลังจะดึงมาจากเงินกู้ที่จะขอกู้จากธนาคารโลก ADB และ JICA
นายจักรกฤศฎิ์ พาราพันธกุล รองผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวยอมรับว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบกรอบวงเงินกู้ 2.7 แสนล้านบาท ให้กับกระทรวงการคลังเพื่อนำไปใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยแบ่งเป็นการกู้เงินในประเทศ 2 แสนล้านบาท และการกู้เงินจากต่างประเทศอีก 7 หมื่นล้านบาท
สำหรับรายละเอียดในการกู้เงินในประเทศ 2 แสนล้านบาท เพื่อนำไปใช้เสริมสภาพคล่องให้กับรัฐวิสาหกิจ ซึ่งจะเจรจาขอกู้จากสถาบันการเงินในประเทศ โดยจะมีการออกหนังสือแจ้งไปยังสถาบันการเงินในประเทศทุกแห่งเพื่อให้แจ้งความจำนงที่จะปล่อยกู้กับกระทรวงการคลัง ขณะที่รัฐวิสาหกิจที่จะขอใช้เงินกู้ในส่วนนี้จะต้องมีการจัดทำแผนงานและรายละเอียดเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณาความเหมาะสมก่อน และจะอนุมัติวงเงินเพื่อเสริมสภาพคล่องไม่เกิน 18 เดือนเท่านั้น หลังจากนั้นสามารถที่จะเสนอ ครม.ขออนุมัติขยายเวลาเป็นรายกรณีไป
ส่วนการกู้เงินจากต่างประเทศอีก 7 หมื่นล้านบาทนั้น คาดว่ารัฐบาลจะต้องทำประชาพิจารณ์ และขอความเห็นชอบจากรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 หลังจากผ่านขั้นตอนดังกล่าวแล้วจึงจะมีการเจรจารายละเอียดกับองค์กรระหว่างประเทศทั้ง 3 แห่ง
รองผู้อำนวยการ สบน.กล่าวว่า กรอบวงเงินกู้ดังกล่าวเฉพาะส่วนที่เป็นการกู้เงินจากต่างประเทศ 7 หมื่นล้านบาทเท่านั้น ที่ทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะในปี 2552 เพิ่มขึ้น 42% ของรายได้ประชาชาติ (จีดีพี) จากเดิมที่ระดับ 36% ของจีดีพี แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดไว้
ส่วนวาระอื่นๆ ที่น่าสนใจ มีดังนี้ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี เสนอขออนุมัติการเช่ารถยนต์ใช้ในราชการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เพื่อใชในภารกิจถวายอารักขาและรักษาความปลอดภัยในขบวนเสด็จเดโชชัย ภารกิจงานป้องกันปราบปรามอาชญากรรม และภารกิจงานอำนวยการ
พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี เสนอขออนุมัติหลักการดำเนินโครงการสร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวเดินทางระหว่างประเทศ (Transit Passenger), กระทรวงมหาดไทย เสนอร่าง พ.ร.ฎ.ให้นำราคากลางของที่ดินที่ใช้ในการประเมินภาษีบำรุงท้องที่ประจำปี 2521-2524 มาใช้ในการประเมินภาษีบำรุงท้องที่ปี 2552 กระทรวงพาณิชย์ เสนอผลการประชุมของคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ที่มีมติให้เพิ่มสินค้า 4 รายการมาอยู่ในบัญชีสินค้าควบคุม ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง กาแฟผงสำเร็จรูป และแป้งสาลี