xs
xsm
sm
md
lg

อาเซียนสรุปส่งเงินกองทุน CMIM พ.ค.ที่บาหลี-ให้เอดีบีเพิ่มทุนอีก 200% ปล่อยปีละ 1.3 หมื่นล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียน บรรลุข้อตกลงกรอบความร่วมมือ CMIM ขยายวงเงินเป็น 120,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ 5 ประเทศเศรษฐกิจหลักอาเซียนส่งเงินสมทบกองทุนในสัดส่วนที่เท่าเทียมกันสรุปประชุมอาเซียนที่บาหลี พ.ค.นี้ พร้อมทั้งเห็นชอบให้ธนาคารพัฒนาเอเชียเพิ่มทุนอีก 200 เปอร์เซ็นต์

ที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนบรรลุข้อตกลงกรอบความร่วมมือ CMIM ขยายวงเงินเป็น 120,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ 5 ประเทศเศรษฐกิจหลักอาเซียน ส่งเงินสมทบกองทุนในสัดส่วนที่เท่าเทียมกันสรุปประชุมอาเซียนที่บาหลี พ.ค.นี้ พร้อมทั้งเห็นชอบให้ธนาคารพัฒนาเอเชีย เพิ่มทุนอีก 200% เพื่อให้สามารถปล่อยกู้ได้ปีละ 13,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เชื่อ การประชุมครั้งนี้เกิดประโยชน์กับทุกประเทศ

เมื่อเวลา 17.00 น.วันนี้ (22 ก.พ.) นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน+3 ร่วมกันแถลงข่าว ผลการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน+3 ระหว่างวันที่ 21-22 ก.พ.2552 ณ โรงแรมเชอราตัน แกรนด์ ลากูน่า ภูเก็ต อ.ถลาง จ. ภูเก็ต

นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน+3 ได้ข้อตกลงกรอบการขยายวงเงินมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ (Chiang Mai Initiative) หรือ CMIM จาก 80,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็น 120,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยยืนยันสัดส่วนการขยายวงเงินกองทุนที่ประเทศกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศ อยู่ที่ 20% ส่วน 3 ประเทศ คือ เกาหลี จีน และ ญี่ปุ่น ในสัดส่วน 80%

นอกจากนั้น ได้มีการพูดคุยเพิ่มว่า ในกลุ่มประเทศอาเซียนนั้น มีการแบ่งสัดส่วนระหว่าง 5 ประเทศเศรษฐกิจหลัก คือ ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และ สิงคโปร์ ในระบบที่สูงกว่า 5 ประเทศที่เศรษฐกิจเล็กกว่า ในสัดส่วนของ 5 ประเทศเศรษฐกิจหลักของอาเซียนนั้น ยังยึดหลักปฏิบัติเดิม คือ การแบ่งสัดส่วนที่เท่าเทียมกัน

ส่วนรายละเอียดของจำนวนเงินที่แต่ละประเทศ จะส่งเข้าสมทบกองทุนนั้น จะมีการหารือกันอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งจนจะมีการนำเสนอในการประชุมอาเซียน ที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ในเดือน พ.ค.นี้

ส่วนกรณีข้อตกลงในการเพิ่มทุนของธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) นั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การเพิ่มทุนของธนาคารพัฒนาเอเชียนั้น มีอยู่ 3 ข้อเสนอ ในแง่ของปริมาณ ซึ่งประเทศสมาชิกทั้งหมด เห็นว่า บทบาทของธนาคารพัฒนาเอเชียมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในกลุ่มอาเซียนและที่ผ่านมาธนาคารพัฒนาเอเชียไม่ได้เพิ่มทุนมาตลอด 15 ปี

ดังนั้น ควรที่จะเพิ่มทุนในระดับที่สูงสุดตามที่ขอเสนอมา ซึ่งรายละเอียดทั้งหมดจะมีการหารือกับทางธนาคารพัฒนาเอเชียอีกครั้งหนึ่ง ว่า ถ้ามีการเพิ่มทุนตามอัตราส่วนที่สูงที่สุดจะส่งผลต่อการขยายวงเงินกู้ของธนาคารพัฒนาเอเชียอย่างไรบ้าง เท่าที่ได้รับการชี้แจงน่าที่จะมีการเพิ่มทุน 200% เทียบกับทุนในปัจจุบัน ซึ่งจะทำให้ธนาคารพัฒนาเอเชียมีความสามารถในการปล่อยกู้ได้ปีละ 13,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯต่อเนื่องทุกๆ ปี

นายกรณ์ กล่าวถึงผลที่เกิดจากความร่วมมือในครั้งนี้ ว่า การพูดคุยในช่วง 1 วันเศษที่ผ่านมา เป็นการพูดคุยที่ตรงต่อวัตถุประสงค์ และความต้องการของประเทศสมาชิกที่ขอให้มีการจัดประชุมวาระพิเศษอาเซียน+3 ขึ้น โดยอันดับแรกโอกาสในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวความคิดที่มีต่อภาคเศรษฐกิจในปัจจุบัน ตลอดจนแนวทางในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบายที่เหมาะสมของรัฐมนตรีกระทรวงการคลังจากทุกประเทศ

“มีการยืนยันในช่วงวิกฤตเช่นนี้มีความสำคัญยิ่งยวด ที่ทุกประเทศต้องประสานแนวทางและนโยบายเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งในส่วนของนโยบายการคลังและการเงิน ยกตัวอย่างที่สำคัญ ในเรื่องนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งจะต้องเป็นนโยบายที่ประสานกันอย่างใกล้ชิด หากจะแข่งขันกันควรแข่งขันกันในมิติอื่นๆ ที่ไม่ใช่เป็นการแข่งขันกันด้วยอัตราการแลกเปลี่ยน ซึ่งจะทำให้การแข่งขันมีระดับความเสมอภาค และมีเสถียรภาพในระยะยาวของทุกประเทศในเอเชีย”

ส่วนข้อตกลงที่มีความคืบหน้าไปอย่างมาก ในส่วนของการขยายบทบาทของการริเริ่มเชียงใหม่ ซึ่งจะมีผลอย่างแน่นอนต่อการสร้างความเชื่อมั่นให้กับสมาชิก ซึ่งในส่วนของประเทศไทยมีทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูงมาก ฉะนั้น เราอาจจะมองไม่เห็นว่าในระยะสั้นการริเริ่มเชียงใหม่จะมีผลต่อเราอย่างไร แต่ความเชื่อมั่นที่การริเริ่มเชียงใหม่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศในเอเชียจะลดผลที่อาจจะเกิดกับปัญหาที่เกิดขึ้นในกระเทศในกรณีที่เกิดปัญหาสภาพคล่อง โดยรวมมีความเชื่อมั่นว่าข้อตกลงทั้งหมดทั้งแนวทางการบริหารเศรษฐกิจทางด้านนโยบายการคลัง ในแง่ของแนวทางการจัดตั้งรูปลักษณะของกองทุนขึ้นมาเพื่อดูแลทุกๆ ประเทศในมาตรฐานเดียวกัน ในการสร้างความเชื่อมั่นและการสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของทุกประเทศในเอเชีย

โดยเป็นที่ยอมรับกันว่า ในการประชุม จี 20 ซึ่งนอกจากประเทศในเอเชีย ซึ่งเป็นสมาชิกของจี 20 แล้ว ได้มีการเชิญนายกรัฐมนตรีไทยของเราไปร่วมประชุมด้วย ในฐานะที่เป็นประธานอาเซียน ซึ่งคิดว่าประเทศทางตะวันตกคงมีความตั้งใจที่จะพึ่งพาอัตราการขยายตัวของประเทศในกลุ่มเอเชียเป็นแนวทางส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาประเทศของเขาด้วย เพราะฉะนั้นบทบาทของประเทศเอเชียในการประชุม จี 20 จึงมีมากกว่าที่มีมาในอดีต และในการประชุมครั้งนี้ก็ได้ข้อตกลงกันได้ว่าจะมีประเด็นหลักใดบ้างที่จะนำไปเสนอในการประชุม จี 20 ทั้งสิทธิประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศเอเชีย เพื่อจะได้มีส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของโลก

ในส่วนข้อหารือที่ได้จากการประชุมทวิภาคีกับจีนและญี่ปุ่น นายกรณ์ กล่าวว่า ในระยะหลังมีการพบกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในเดือนมีนาคมนี้นายกรัฐมนตรีมีแผนที่จะเดินทางไปเยือนจีนอย่างเป็นทางการ ส่วนของประเทศญี่ปุ่นก็ได้เดินทางไปเยือนอย่างเป็นทางการเมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งจากการประชุมทวีภาคีกับญี่ปุ่นนั้นก็ได้มีการหารือเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องของเศรษฐกิจทั้งการลงทุนและการค้า

ในส่วนของการลงทุนมีการพูดถึงโครงการยกระดับสาธารณูปโภคของไทยหลายๆ โครงการที่อาศัยแหล่งเงินจากองค์กรของรัฐบาลญี่ปุ่น และเป็นการยืนยันกันอีกครั้งหนึ่งถึงเจตนาความตั้งใจ และความพร้อมของทั้งสองฝ่าย ส่วนการค้ามีการพูดถึงประโยชน์ที่ได้จากข้อสัญญาเจซิป้าในอดีต และการพูดถึงในรายละเอียดมาตรการของสัญญาเจซิป้าซึ่งจะมีการหยิบยกมาเพื่อพิจารณาเป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่ายมากขึ้น

ส่วนกับประเทศจีนนั้นมีการพูดคุยถึงความร่วมในมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ เพราะจีนเป็นพี่ใหญ่หนึ่งในประเทศเอเชียที่จะเดินหน้าไปด้วยความสำเร็จ นอกจากนั้นยังได้มีการพูดคุยโอกาสที่ทางจีนจะยื่นมือเข้ามามีส่วนร่วม ในการขับเคลื่อนการลงทุนขนาดใหญ่ในประเทศของเราด้วย

ทั้งนี้ ได้เรียนกับทั้งสองประเทศถึงแนวความคิดของไทย ที่จะขยายวงเพิ่มเงินลงทุนทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ที่อยู่ในประเทศไทยและบริษัทชั้นนำ และเป็นนักลงทุนจากต่างประเทศด้วย ซึ่งก็ได้รับความสนใจ และยืนยันว่า นอกจากมาตรการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในระยะสั้นแล้ว รัฐบาลยังได้ประกาศมาตรการการยกระดับขีดความสามารถด้านการแข่งขันของประเทศไทยด้วยการลงทุนวงเงินเกือบ 2 ล้านล้านบาทในช่วง 5 ปีข้างหน้า




กำลังโหลดความคิดเห็น