ศูนย์ข่าวภูเก็ต - นายกรัฐมนตรี เผย หารือรมต.คลังอาเซียน+3 มี 3 ประเด็นที่เป็นหัวใจสำคัญของความร่วมมือ ทั้งการขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจ มาตรการริเริ่มเชียงใหม่ ที่จะเพิ่มวงเงินเป็น 120,000 ล้าน และการหาตลาดตราสาร เตือนทุกประเทศอย่าใช้มาตรการเรียกเงินทุนกลับและปล่อยอัตราแลกเปลี่ยนผันผวน จะส่งผลกระทบเศรษฐกิจรุนแรง
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ที่โรงแรมเชอราตัน แกรนด์ ลากูน่า ภูเก็ต อ.ถลาง จ.ภูเก็ต หลังรับประทานอาหารเที่ยงร่วมกับรัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลังอาเซียน+3 และหารือร่วมกับประธานธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ว่า หัวใจสำคัญของการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน+3 ในครั้งนี้ คือ การแสดงออกถึงการขยายความมือทางด้านการเงินในช่วงภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลก
ความร่วมมือที่เกิดขึ้นในการประชุมครั้งนี้ มี 3 ส่วนที่สำคัญ คือ การร่วมมือเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ต่างๆ แม้ว่าในปัจจุบันสภาพปัญหาทางด้านการเงินจะไม่เหมือนเมื่อ 10 ปีที่แล้ว แต่เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องมีระบบที่ดี
การต่อยอดจากมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ให้กลายเป็นความร่วมมือพหุภาคี และมีการขยายวงเงินสำรองที่จะเกี่ยวข้อง ซึ่งทางกลุ่มประเทศอาเซียนมีความตั้งใจที่จะเพิ่มวงเงินเป็น 120,000 เหรียญสหรัฐ ส่วนสูตรที่จะสมทบวงเงิน จะเริ่มจากการแบ่งสัดส่วนระหว่างอาเซียนกับ 3 ประเทศ และในกลุ่มอาเซียนก็จะตกลงกันอีกครั้งหนึ่ง
การดูลู่ทางที่จะเพิ่มตลาดตราสารในภูมิภาค เพราะเราอาจจะมองเศรษฐกิจโลกที่ไม่สมดุล จะเห็นได้ว่าประเทศในภูมิภาคนี้ค่อนข้างที่จะสะสมเงินสำรองไว้เป็นจำนวนมาก แต่ในที่สุดเงินสำรองเหล่านี้ก็ย้อนไปสู่ภูมิภาคอื่น มากกว่าที่จะมาสนับสนุนขบวนการการลงทุนและพัฒนาในภูมิภาคนี้ได้
“ทั้ง 3 ประเด็น ที่ได้หารือกันนี้เป็นสาระหลักที่ทางรัฐมนตรีคลังได้มีการพูดคุยหารือกัน”
นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวถึงการกีดกันทางการค้า ว่า การกีดกันทางการค้านั้น ได้มีการพูดกันมาตลอด ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช้เฉพาะเวทีของรัฐมนตรีคลังเพียงอย่างเดียว แต่น่าจะเป็นเวทีของผู้นำและโดยเฉพาะเวทีของรัฐมนตรีทางการค้ามากกว่า โดยขณะนี้สิ่งที่ทุกประเทศจะต้องระมัดระวังนั้นจะต้องไม่ให้แต่ละประเทศใช้มาตรการกีดกันทางค้า ด้วยความหวังว่าจะนำพาเศรษฐกิจของตัวเองรอดด้วยวิธีนี้ เพราะในที่สุดบทเรียนของวิกฤตเศรษฐกิจโลก หากทุกประเทศทำแบบนี้จะไม่เกิดประโยชน์กับทุกประเทศ
ทั้งนี้ ตนและประธานาธิบดีอินโดนีเซีย จะเป็นตัวแทนไปประชุม จี 20 ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ จะเป็นสัญญาณและเสียงของอาเซียน ที่จะส่งเสียงเพื่อเป็นแบบอย่างว่า ประเทศในกลุ่มประเทศอาเซียนไม่ใช้วิธีการแบบนี้ ซึ่งการกีดกันทางการค้านั้น มีทั้งที่ใช้มาตรการทางด้านภาษีและไม่ใช้มาตรการทางด้านภาษี แต่วิกฤตเศรษฐกิจมี 2 รูปแบบที่จะต้องระวัง คือ การเรียกเงินทุนกลับ อาจจะในช่วงที่เกิดไม่เรียกว่าเป็นการกีดกันทางการค้า แต่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อประเทศที่ถูกเรียกเงินทุนกลับ กับเรื่องของค่าเงิน ซึ่งขณะนี้ทุกประเทศใช้นโยบายการเงินการคลังของตัวเอง โดยมีจังหวะเวลาที่ไม่พร้อมกัน เช่น บางประเทศใช้นโนบายทุ่มเงินและลดดอกเบี้ยก่อน ส่งผลต่อความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นอีกจุดหนึ่งที่ต้องเฝ้าดู ในเรื่องของค่าเงิน จะต้องพยายามดูแลให้เคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อไม่ให้เกิดความผันผวน
ส่วนกรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังญี่ปุ่น ไม่ได้เดินทางมาร่วมประชุมจะส่งผลกระทบต่อการประชุมหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ทางญี่ปุ่นได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุม และไม่มีปัญหาอะไร เพราะในช่วงที่เดินทางไปเยือนญี่ปุ่นนั้น ได้ยืนยันหนักแน่นที่ต้องการจะผลักดันความร่วมมือ และต้องการเป็นหุ้นส่วนสำคัญกับการทำงานในอาเซียน