xs
xsm
sm
md
lg

"คลังอาเซียน+3"ฮั้วค่าเงิน ลงขัน1.2แสนล้านดอลลาร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวภูเก็ต/ASTVผู้จัดการรายวัน - การประชุม รมว.คลังอาเซียน+3 ที่ภูเก็ตบรรลุข้อตกลงกรอบความร่วมมือ CMIM ชูการขยายวงเงินเป็น 120,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ยึดหลัก 5 ประเทศเศรษฐกิจหลักอาเซียนส่งเงินสมทบกองทุนในสัดส่วนที่เท่าเทียมกัน สรุปประชุมอาเซียนที่บาหลี พ.ค.นี้ "มาร์ค" เดินทางไปต้อนรับ พร้อมร่วมรับประทานอาหารกระชับความสัมพันธ์ เผยผลหารือ รมว.คลังอาเซียน+3 มี 3 ประเด็นที่เป็นหัวใจสำคัญของความร่วมมือ เน้นขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ต่อยอดมาตรการริเริ่มเชียงใหม่และเพิ่มตลาดตราสาร "กรณ์" จี้ให้มีการประสานงานค่าเงินแทนการแข่งขัน หวังอัตราแลกเปลี่ยนมีเสถียรภาพในระยะยาวของทุกประเทศ

วานนี้ (22 ก.พ.) ที่ห้องประชุมอันดามัน บอลรูม ที่โรงแรมเชอราตัน แกรนด์ ลากูน่า อ.ถลาง จ.ภูเก็ต การประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียนบวก 3 สมัยพิเศษได้เริ่มขึ้นแล้ว โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประเทศเกาหลีกล่าวเปิดการประชุม โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่มาประชุมด้วยตัวเองจำนวน 10 ประเทศ

ส่วนที่เหลืออีก 3 ประเทศ คือ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และกัมพูชา จะเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการหรือระดับปลัดกระทรวงการคลัง นอกจากนี้เลขาธิการอาเซียนและประธานธนาคารพัฒนาแห่งเอเชียเข้าร่วมด้วย เพื่อหารือความร่วมมือในด้านการเงินการลงทุนโดยเฉพาะแนวทางความร่วมมือในการรับมือภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบกับประเทศในภูมิภาคนี้

ส่วนการหารือแบบทวิภาคีระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของจีน และระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของไทยกับกรรมาธิการการเงินการคลัง สภาผู้แทนญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้แทนรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 ก.พ.ที่ผ่านมา ประเด็นหลักอยู่ที่การขอสนับสนุนด้านการลงทุน โดยเฉพาะในโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ ซึ่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี มีกำหนดเดินทางเยือนจีนในเร็วๆ นี้

อย่างไรก็ตาม ในเวลา 12.00 น.วานนี้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีของไทยได้เดินทางมาร่วมต้อนรับและรับประทานอาหารกลางวันกับรัฐมนตรี และผู้แทนทุกประเทศด้วยเพื่อตอกย้ำถึงแนวทางความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นระหว่างกัน อันจะนำข้อหารือครั้งนี้ไปสู่ที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์

ในขณะที่บรรยากาศทั่วไปนั้นมีผู้สื่อข่าวทั้งชาวไทยและต่างประเทศสนใจมาร่วมทำข่าวเป็นจำนวนมาก เช่นเดียวกับการรักษาความปลอดภัย ซึ่งได้มีการจัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจมาดูแลรักษาความปลอดภัยเป็นจำนวนมากตั้งแต่บริเวณปากทางเข้าโรงแรมจนถึงภายในบริเวณที่มีการจัดประชุม ภายในโรงแรมด้วย

ทั้งนี้ นายอภิสิทธิ์ ให้สัมภาษณ์หลังรับประทานอาหารเที่ยงร่วมกับรัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลังอาเซียน+3 และหารือร่วมกับประธานธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ว่า หัวใจสำคัญของการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน+3 ในครั้งนี้ คือ การแสดงออกถึงการขยายความมือทางด้านการเงินในช่วงภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลก

ความร่วมมือที่เกิดขึ้นในการประชุมครั้งนี้มี 3 ส่วนที่สำคัญ คือ 1.การร่วมมือเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ต่างๆ แม้ว่าในปัจจุบันสภาพปัญหาทางด้านการเงินจะไม่เหมือนเมื่อ 10 ปีที่แล้ว แต่เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องมีระบบที่ดี

2.การต่อยอดจากมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ให้กลายเป็นความร่วมมือพหุภาคีและมีการขยายวงเงินสำรองที่จะเกี่ยวข้อง ซึ่งทางกลุ่มประเทศอาเซียนมีความตั้งใจที่จะเพิ่มวงเงินเป็น 120,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนสูตรที่จะสมทบวงเงินจะเริ่มจากการแบ่งสัดส่วนระหว่างอาเซียนกับ 3 ประเทศ และในกลุ่มอาเซียนก็จะตกลงกันอีกครั้งหนึ่ง

3.การดูลู่ทางที่จะเพิ่มตลาดตราสารในภูมิภาค เพราะเราอาจจะมองเศรษฐกิจโลกที่ไม่สมดุล จะเห็นได้ว่าประเทศในภูมิภาคนี้ค่อนข้างที่จะสะสมเงินสำรองไว้เป็นจำนวนมาก แต่ในที่สุดเงินสำรองเหล่านี้ก็ย้อนไปสู่ภูมิภาคอื่น มากกว่าที่จะมาสนับสนุนขบวนการการลงทุนและพัฒนาในภูมิภาคนี้ได้

"ทั้ง 3 ประเด็น ที่ได้หารือกันนี้เป็นสาระหลักที่ทางรัฐมนตรีคลังได้มีการพูดคุยหารือกัน"

นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวถึงการกีดกันทางการค้าว่า การกีดกันทางการค้านั้น ได้มีการพูดกันมาตลอด ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช้เฉพาะเวทีของรัฐมนตรีคลังเพียงอย่างเดียว แต่น่าจะเป็นเวทีของผู้นำและโดยเฉพาะเวทีของรัฐมนตรีทางการค้ามากกว่า โดยขณะนี้สิ่งที่ทุกประเทศจะต้องระมัดระวังนั้นจะต้องไม่ให้แต่ละประเทศใช้มาตรการกีดกันทางค้า ด้วยความหวังว่าจะนำพาเศรษฐกิจของตัวเองรอดด้วยวิธีนี้ เพราะในที่สุดบทเรียนของวิกฤตเศรษฐกิจโลก หากทุกประเทศทำแบบนี้จะไม่เกิดประโยชน์กับทุกประเทศ

ทั้งนี้ ตนและประธานาธิบดีอินโดนีเซียจะเป็นตัวแทนไปประชุม จี 20 ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ จะเป็นสัญญาณและเสียงของอาเซียน ที่จะส่งเสียงเพื่อเป็นแบบอย่างว่า ประเทศในกลุ่มประเทศอาเซียนไม่ใช้วิธีการแบบนี้ ซึ่งการกีดกันทางการค้านั้น มีทั้งที่ใช้มาตรการทางด้านภาษีและไม่ใช้มาตรการทางด้านภาษี แต่วิกฤตเศรษฐกิจมี 2 รูปแบบที่จะต้องระวัง คือ การเรียกเงินทุนกลับ อาจจะในช่วงที่เกิดไม่เรียกว่าเป็นการกีดกันทางการค้า แต่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อประเทศที่ถูกเรียกเงินทุนกลับ กับเรื่องของค่าเงิน ซึ่งขณะนี้ทุกประเทศใช้นโยบายการเงินการคลังของตัวเอง โดยมีจังหวะเวลาที่ไม่พร้อมกัน เช่น บางประเทศใช้นโนบายทุ่มเงินและลดดอกเบี้ยก่อน ส่งผลต่อความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นอีกจุดหนึ่งที่ต้องเฝ้าดู ในเรื่องของค่าเงิน จะต้องพยายามดูแลให้เคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อไม่ให้เกิดความผันผวน

ส่วนกรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังญี่ปุ่น ไม่ได้เดินทางมาร่วมประชุมจะส่งผลกระทบต่อการประชุมหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ทางญี่ปุ่นได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุม และไม่มีปัญหาอะไร เพราะในช่วงที่เดินทางไปเยือนญี่ปุ่นนั้น ได้ยืนยันหนักแน่นที่ต้องการจะผลักดันความร่วมมือ และต้องการเป็นหุ้นส่วนสำคัญกับการทำงานในอาเซียน

ประสานงานอัตราแลกเปลี่ยนใกล้ชิด

เวลา 17.00 น.นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของไทย พร้อมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน+3 ร่วมกันแถลงข่าวผลการประชุมฯ โดยนายกรณ์ กล่าวว่า การประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน+3 ได้ข้อตกลงกรอบการขยายวงเงินมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ (Chiang Mai Initiative) หรือ CMIM จาก 80,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 120,000 ล้านเหรียญสหรัฐโดยยืนยันสัดส่วนการขยายวงเงินกองทุนที่ประเทศกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศ อยู่ที่ 20% ส่วน 3 ประเทศ เกาหลี จีน และญี่ปุ่น ในสัดส่วน 80%
นอกจากนั้น ได้มีการพูดคุยเพิ่มว่าในกลุ่มประเทศอาเซียนนั้นมีการแบ่งสัดส่วนระหว่าง 5 ประเทศเศรษฐกิจหลัก คือ ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และสิงคโปร์ ในระบบที่สูงกว่า 5 ประเทศที่เศรษฐกิจเล็กกว่า ในสัดส่วนของ 5 ประเทศเศรษฐกิจหลักของอาเซียนนั้น ยังยึดหลักปฏิบัติเดิมคือการแบ่งสัดส่วนที่เท่าเทียมกัน

ส่วนรายละเอียดของจำนวนเงินที่แต่ละประเทศ จะส่งเข้าสมทบกองทุนนั้นจะมีการหารือกันอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งจนจะมีการนำเสนอในการประชุมอาเซียน ที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ในเดือน พ.ค.นี้

นายกรณ์ กล่าวถึงผลที่เกิดจากความร่วมมือในครั้งนี้ว่า การพูดคุยในช่วง 1 วันเศษที่ผ่านมา เป็นการพูดคุยที่ตรงต่อวัตถุประสงค์ และความต้องการของประเทศสมาชิกที่ขอให้มีการจัดประชุมวาระพิเศษอาเซียน 3 ขึ้น โดยอันดับแรกโอกาสในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวความคิดที่มีต่อภาคเศรษฐกิจในปัจจุบัน ตลอดจนแนวทางในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบายที่เหมาะสมของรัฐมนตรีกระทรวงการคลังจากทุกประเทศ

"มีการยืนยันในช่วงวิกฤตเช่นนี้มีความสำคัญยิ่งยวด ที่ทุกประเทศต้องประสานแนวทางและนโยบายเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งในส่วนของนโยบายการคลังและการเงิน ยกตัวอย่างที่สำคัญ ในเรื่องนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งจะต้องเป็นนโยบายที่ประสานกันอย่างใกล้ชิด หากจะแข่งขันกันควรแข่งขันกันในมิติอื่นๆ ที่ไม่ใช่เป็นการแข่งขันกันด้วยอัตราการแลกเปลี่ยน ซึ่งจะทำให้การแข่งขันมีระดับความเสมอภาค และมีเสถียรภาพในระยะยาวของทุกประเทศในเอเชีย"

ส่วนข้อตกลงที่มีความคืบหน้าไปอย่างมาก ในส่วนของการขยายบทบาทของการริเริ่มเชียงใหม่ ซึ่งจะมีผลอย่างแน่นอนต่อการสร้างความเชื่อมั่นให้กับสมาชิก ซึ่งในส่วนของประเทศไทยมีทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูงมาก ฉะนั้นเราอาจจะมองไม่เห็นว่าในระยะสั้นการริเริ่มเชียงใหม่จะมีผลต่อเราอย่างไร แต่ความเชื่อมั่นที่การริเริ่มเชียงใหม่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศในเอเชียจะลดผลที่อาจจะเกิดกับปัญหาที่เกิดขึ้นในกระเทศในกรณีที่เกิดปัญหาสภาพคล่อง โดยรวมมีความเชื่อมั่นว่าข้อตกลงทั้งหมดทั้งแนวทางการบริหารเศรษฐกิจทางด้านนโยบายการคลัง ในแง่ของแนวทางการจัดตั้งรูปลักษณะของกองทุนขึ้นมาเพื่อดูแลทุกๆ ประเทศในมาตรฐานเดียวกัน ในการสร้างความเชื่อมั่นและการสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของทุกประเทศในเอเชีย

โดยเป็นที่ยอมรับกันว่าในการประชุมจี 20 ซึ่งนอกจากประเทศในเอเชียซึ่งเป็นสมาชิกของจี 20 แล้ว ได้มีการเชิญนายกรัฐมนตรีไทยของเราไปร่วมประชุมด้วยในฐานะที่เป็นประธานอาเซียน ซึ่งคิดว่าประเทศทางตะวันตกคงมีความตั้งใจที่จะพึ่งพาอัตราการขยายตัวของประเทศในกลุ่มเอเชียเป็นแนวทางส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาประเทศของเขาด้วย เพราะฉะนั้นบทบาทของประเทศเอเชียในการประชุมจี 20 จึงมีมากกว่าที่มีมาในอดีต และในการประชุมครั้งนี้ก็ได้ข้อตกลงกันได้ว่าจะมีประเด็นหลักใดบ้างที่จะนำไปเสนอในการประชุมจี 20 ทั้งสิทธิประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศเอเชีย เพื่อจะได้มีส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของโลก

ในส่วนข้อหารือที่ได้จากการประชุมทวิภาคีกับจีนและญี่ปุ่น นายกรณ์ กล่าวว่า ในระยะหลังมีการพบกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในเดือนมีนาคมนี้นายกรัฐมนตรีมีแผนที่จะเดินทางไปเยือนจีนอย่างเป็นทางการ ส่วนของประเทศญี่ปุ่นก็ได้เดินทางไปเยือนอย่างเป็นทางการเมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งจากการประชุมทวีภาคีกับญี่ปุ่นนั้นก็ได้มีการหารือเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องของเศรษฐกิจทั้งการลงทุนและการค้า

ในส่วนของการลงทุนมีการพูดถึงโครงการยกระดับสาธารณูปโภคของไทยหลายๆ โครงการที่อาศัยแหล่งเงินจากองค์กรของรัฐบาลญี่ปุ่น และเป็นการยืนยันกันอีกครั้งหนึ่งถึงเจตนาความตั้งใจและความพร้อมของทั้งสองฝ่าย ส่วนการค้ามีการพูดถึงประโยชน์ที่ได้จากข้อสัญญาเจซิป้าในอดีต และการพูดถึงในรายละเอียดมาตรการของสัญญาเจซิป้าซึ่งจะมีการหยิบยกมาเพื่อพิจารณาเป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่ายมากขึ้น

ส่วนกับประเทศจีนนั้นมีการพูดคุยถึงความร่วมในมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ เพราะจีนเป็นพี่ใหญ่หนึ่งในประเทศเอเชียที่จะเดินหน้าไปด้วยความสำเร็จ นอกจากนั้นยังได้มีการพูดคุยโอกาสที่ทางจีนจะยื่นมือเข้ามามีส่วนร่วม ในการขับเคลื่อนการลงทุนขนาดใหญ่ในประเทศของเราด้วย

ทั้งนี้ ได้เรียนกับทั้งสองประเทศถึงแนวความคิดของไทย ที่จะขยายวงเพิ่มเงินลงทุนทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ที่อยู่ในประเทศไทยและบริษัทชั้นนำ และเป็นนักลงทุนจากต่างประเทศด้วย ซึ่งก็ได้รับความสนใจ และยืนยันว่านอกจากมาตรการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในระยะสั้นแล้ว รัฐบาลยังได้ประกาศมาตรการการยกระดับขีดความสามารถด้านการแข่งขันของประเทศไทยด้วยการลงทุนวงเงินเกือบ 2 ล้านล้านบาทในช่วง 5 ปีข้างหน้า

ถกอาเซียนโอกาสทองเรียกความเชื่อมั่น

ก่อนหน้านี้นายอภิสิทธิ์ ได้กล่าวในรายการ "เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯอภิสิทธิ์" ว่า ขณะนี้ไทยมีความพร้อมเป็นเจ้าภาพประชุมอาเซียน ซึ่งถือเป็นโอกาสทองเพื่อให้ประชาชนตื่นตัวในการร่วมเป็นเจ้าภาพและเรียกความเชื่อมั่นเพื่อให้การแก้ปัญหาได้รับการสนับสนุนจากนานาชาติ

ส่วนกรณีที่กลุ่มคนเสื้อแดงอยุธยา จะไปพักร้อนที่หัวหิน และชะอำ ในช่วงที่มีการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนยังมั่นใจว่า เราไม่ต้องการให้ต่างประเทศมองเราในแง่ลบ ไม่ว่าจะมีความคิดเห็นทางการเมืองอย่างไร เพราะฉะนั้นยังคิดว่า ทุกคนจะช่วยกันรักษาบรรยากาศให้เป็นไปอย่างเรียบร้อย

นายอภิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า การประชุมอาเซียนที่กำลังจะเกิดขึ้น ก็อยากให้เกิดความเชื่อมั่นว่าขณะนี้ประเทศไทยกำลังกลับเข้าสู่ภาวะปกติ อยากให้เห็นบทบาทของเราในการรับผิดชอบกับภูมิภาคในฐานะประธานอาเซียน และเข้าไปมีบทบาทในการทำให้ความร่วมมืออาเซียนก้าวหน้าไป ซึ่งจะเป็นผลดีกับการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี ที่เป็นส่วนสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ดังนั้นการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนจึงอยากให้ทุกฝ่ายช่วยกันสนับสนุน

ด้าน ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน กล่าวถึงกฎบัตรอาเซียนชุดใหม่ว่า หลังจากนี้ประเทศสมาชิกอาเซียน จะต้องปฏิบัติตามกฎบัตรซึ่งเหมือนกับเป็นแผนภูมิของอาเซียน เพราะใน 4 ทศวรรษ ที่ผ่านมา อาเซียนยังไม่มีทิศทางอะไรที่ชัดเจน แต่ในครั้งนี้ ตั้งใจจะสร้างประชาคมอาเซียนร่วมกัน บนเสาหลัก 3 เสา คือ ด้านความมั่นคง และการเมือง ด้านเศรษฐกิจที่จะต้องบูรณาการ สร้าง 10 ระบบเศรษฐกิจให้เป็นหนึ่งเดียว ในจำนวนประชากร 570 ล้านคน

รวมทั้งด้านสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งจะทำให้ประชาชนในประเทศอาเซียนรู้จักกันมากยิ่งขึ้น รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของอาเซียน และกฎบัตรนี้ต้องการที่จะทำให้อาเซียนเป็นของประชาชน ซึ่งแตกต่างจากที่ผ่านมาที่เรื่องของอาเซียน เป็นเรื่องของผู้นำ นักการทูต รัฐมนตรี แต่ต่อไปนี้ประชาชนจะมีส่วนร่วมและมีพื้นที่เข้ามาแสดงออกและเป็นเจ้าของมากขึ้น.
กำลังโหลดความคิดเห็น