xs
xsm
sm
md
lg

“กรณ์” จุดพลุประชุม รมต.คลังอาเซียน+3 ภูเก็ต ปลดล็อกวิกฤตเอเชีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“กรณ์” เตรียมจุดพลุ ประชุม รมต.คลังอาเซียน+3 รมว.คลัง ที่ภูเก็ต 22 ก.พ.นี้ ชี้เป้าหมายจัดประชุม Special AFMM+3 หนุนสมาชิก 10 ประเทศ รวมถึงจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี ร่วมมือพัฒนาโครงสร้างการเงินกันอย่างเข้มแข็ง เตรียมเจรจาพหุภาคี เพื่อเป็นกลไกในการเสริมสภาพคล่องทางการเงินระยะสั้นระหว่างกัน โดยริเริ่มพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งตลาดการเงินเอเชีย ทั้งในด้านการเพิ่มอุปสงค์-อุปทาน และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน พร้อมผลักดัน Cross Investing เสริมศักยภาพตลาดหุ้นเอเชีย เพื่อให้นักลงทุนมีความคล่องตัวมากขึ้น

นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การประชุม รัฐมนตรีคลังอาเซียน+3 วาระพิเศษ (Special ASEAN+3 Finance Ministers’ Meeting: Special AFMM+3) ที่จะเริ่มขึ้นในวันที่ 22 เดือนกุมภาพันธ์ 2552 ที่จะถึงนี้ ถือเป็นการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจการเงินการคลังระหว่างประเทศอาเซียน+3 และกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมาชิกให้มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้นในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย ระบบการเงินขาดเสถียรภาพ และราคาน้ำมันมีความผันผวน

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมดังกล่าวขึ้นที่โรงแรมเชอราตัน แกรนด์ ลูน่า จังหวัดภูเก็ต โดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของไทยและสาธารณรัฐเกาหลีจะเป็นประธานร่วม (Co-chair) และมีผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย รัฐมนตรีคลังอาเซียน 10 ประเทศ รัฐมนตรีคลังญี่ปุ่น สาธารณรัฐประชาชนจีน และสาธารณรัฐเกาหลี เลขาธิการอาเซียน และประธานธนาคารเพื่อพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB)

การประชุมครั้งนี้จะมีการแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลก ภาวะเศรษฐกิจของภูมิภาค โดยเน้นเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกอาเซียน+3 และหารือเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายและมาตรการของภูมิภาคอาเซียน+3 เพื่อให้เศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียน+3 หลุดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และกลับมาเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจโลกอีกครั้ง

พร้อมกันนั้น จะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลแนวทางการแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ G-20 ตลอดจนการพิจารณาความคืบหน้าในการดำเนินความร่วมมือตามมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่พหุภาคี(Chiang Mai Initiative Multilateralisation:CMIM) เพื่อเป็นกลไกในการเสริมสภาพคล่องทางการเงินระยะสั้นระหว่างกัน รวมถึงการหารือเกี่ยวกับมาตรการริเริ่มพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย(Asian Bond Market Initiative:ABMI) เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของตลาดพันธบัตรเอเชีย ทั้งในด้านการเพิ่มอุปสงค์และอุปทาน และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน(Market Infrastructure)

สำหรับการประชุม Special AFMM+3 นี้ นับเป็นการประชุมวาระพิเศษเป็นครั้งแรก โดยปกติการประชุม รมว.คลังอาเซียน+3 (ASEAN+3 Finance Ministers’ Meeting) จะจัดประชุมปีละ 1 ครั้งในเดือนพฤษภาคม ก่อนการประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารพัฒนาเอเชีย ซึ่งในปีนี้การประชุม AFMM+3 ครั้งที่ 12 จะจัดขึ้นในวันที่ 3 พฤษภาคม 2552 ที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย

รมว.คลัง กล่าวอีกว่า ส่วนหนึ่งในการประชุมครั้งนี้ อาจจะมีการหารือถึงความท้าทายด้านตลาดทุนของเอเซีย ซึ่งมี 2 ระดับ คือ การวางแนวทางให้นักลงทุนในเอเซียมีโอกาสลงทุนในตลาดทุนของเอเชียมากขึ้น เพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกการลงทุน ดังนั้น ในระดับหนึ่ง อาจมีการหารือในเรื่องของ Cross Investing เพิ่มความสะดวก รวดเร็ว ของกฎระเบียบต่างๆ และเป็นการกระจายการลงทุนของนักลงทุนในเอเซีย และเปิดโอกาสให้ตลาดหุ้นไทย ได้รับเงินลงทุนจากเอเชียมากขึ้น

นอกจากนี้ ประเทศในกลุ่มเอเชีย อาจมีการกำหนดนโยบายร่วมกัน เพื่อให้ สร้างความน่าสนใจของตลาดทุนเอเซีย ในสายตาของนักลงทุนนอกกลุ่มเอเซีย เพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรอง และสร้างความน่าใจใจของนักลงทุน

ทั้งนี้ นอกจากนักลงทุนจะได้รับประโยชน์จาก Cross Investing แล้ว ทางโบรกเกอร์เอง ก็จะได้รับผลดี ในการลงทุนในต่างประเทศ สามารถเสนอขายสินค้าในตลาดต่างประเทศได้ และเป็นกลไกของโบรกเกอร์ที่จะเข้าถึงวิธีการซื้อขายหุ้นในตลาดอื่นๆ มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การหารือครั้งนี้ คงจะยังไม่พูดถึง แนวคิดการจดทะเบียนข้ามตลาด (Cross Listing) หรือการรวมตลาด แต่ในแผนพัฒนาตลาดทุน คงมีแนวทางการบรรลุเป้าหมายใดเป้าหมายหนึ่ง ภายในปี 2015 ที่จะมีการจัดตั้งประชาคมอาเซียน

“ยอมรับว่า เรื่อง Cross Investing อาจยังมีอุปสรรคเรื่องการควบคุมการเคลื่อนไหวของเงินทุน ซึ่งในเอเชียยังไม่มีการพัฒนาไปสู่การใช้เงินสกุลร่วมกัน ดังนั้น ในการพัฒนาตลาดทุนของเอเซียยังมีข้อจำกัด และในปี 2015 ที่มีการรวมประชาคมอาเซียน ก็ยังไม่มีการรวมถึงการเคลื่อนไหวทางการเงินใดๆ”

ด้าน นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า การประชุม Special AFMM+3 ประเทศสมาชิกอาจมีการทำข้อตกลงเบื้องต้นเกี่ยวกับ CMIM หลังจากก่อนหน้านี้ ประเทศญี่ปุ่น ได้เสนอให้ขยายวงเงินจาก 80,000 ล้านดอลลาร์ เป็น 120,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นเพียงการตั้งวงเงินเพื่อแสดงความเจตนาความร่วมมือของประเทศสมาชิก

วงเงินดังกล่าว ประเทศในกลุ่มอาเซียน จะสมทบสัดส่วน 20% ขณะที่ประเทศ +3 สมทบสัดส่วน 80% ส่วนไทย พร้อมใช้เงินสำรองระหว่างประเทศจัดวงเงินตามข้อตกลงจำนวน 4,000 ล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ ผู้อำนวยการ สศค.ยืนยันว่า การจัดตั้งวงเงิน CMIM เป็นข้อตกลงเบื้องต้นของประเทศสมาชิก ยังไม่มีข้อผูกมัดระหว่างประเทศใดๆ ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องนำเรื่องเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบ ตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ
กำลังโหลดความคิดเห็น