xs
xsm
sm
md
lg

ครม.มาร์คก่อหนี้2.7แสนล้าน บินไทยนำร่องรสก.เขมือบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รัฐบาลก่อหนี้เพิ่มอีก 2.7 แสนล้าน เปิดโอดีพร้อมใช้ 2 ก้อน แบ่งเป็นเงินกู้ต่างประเทศ 7 หมื่นล้าน กู้ในประเทศ 2 แสนล้าน "กรณ์" ส่งสัญญาณกู้ต่อเนื่อง เผยยังเหลือเพดานเป็นหนี้อีกเกือบแสนล้าน แจงที่ไปเงินก้อนแรกใช้เพิ่มทุน 3 แบงก์รัฐ 1.2 หมื่นล้าน ที่เหลือไว้ให้ใช้ตามใจ ครม.เพื่อกระตุ้น-พยุงเศรษฐกิจ ส่วน 2 แสนล้านให้รัฐวิสาหกิจถลุง รัฐบาลจะได้คล่องตัว การบินไทยจ่อกู้รายแรก อายุเงินกู้ไม่เกิน 18 เดือน คิดดอกเบี้ยเท่าเรตดอกเบี้ยฝากประจำ 6 เดือน ธปท.ชี้ไม่กระทบสภาพคล่องภายใน

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (3 ก.พ.) มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงการคลังในการกู้เงินเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (70,000 ล้านบาท) และการจัดตั้งเงินกู้ Short term facility เพื่อให้รัฐวิสาหกิจอีก 200,000 ล้านบาท รวมทั้ง 2 รายการ เป็นเงิน 270,000 ล้านบาท การเปิดวงเงินกู้ครั้งนี้ หากไม่มีการนำเงินออกมาใช้ ก็ไม่ต้องเสียดอกเบี้ย โดยได้ระบุไว้ในแผนการก่อหนี้ของรัฐบาลปีงบประมาณ 2553 แล้ว

นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง กล่าวว่า การก่อหนี้ของรัฐบาลขณะนี้มีเพดานเหลือเกือบ 100,000 ล้านบาท ส่วนวงเงินค้ำประกัน ตาม พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ บัญญัติไว้ว่ารัฐบาลไม่ควรค้ำประกันวงเงินกู้เกิน 20% ซึ่งขณะนี้รัฐบาลก็ค้ำประกันไปแล้ว 10-17% ของงบประมาณโดยรวม ซึ่งจะค้ำประกันได้อีกไม่เกิน 4%

รมว.คลังชี้แจงว่า การกู้เงินก้อนแรก 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ว่า กู้จากต่างประเทศ 3 แหล่ง คือ ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) และ องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (ไจก้า) เพื่อสนับสนุนนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจและการลงทุนในโครงการพื้นฐานภาครัฐ กระตุ้นเศรษฐกิจและเพิ่มการจ้างงาน จากสภาวการณ์วิกฤตเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรง ในช่วงปี 2552

นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มทุนให้กับสถาบันการเงินของรัฐรองรับการขยายสินเชื่อให้แก่ผู้ส่งออก ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งการค้ำประกันให้แก่ผู้ส่งออกและผู้ประกอบการรายย่อย มีการเพิ่มทุนให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจ 3 แห่ง 1.2 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย เอสเอ็มอีแบงก์ 2 พันล้านบาท ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) 5 พันล้านบาท และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) 5 พันล้านบาท

มีการลงทุนในโครงการภาครัฐเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเศรษฐกิจและสังคมที่มีความจำเป็นต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และเพิ่มผลิตภาพต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม กรอบระยะเวลาดำเนินงานไม่เกิน 36 เดือน หรือสนับสนุนโครงการ กิจกรรมตามนโยบายที่ ครม.มอบหมาย

ครม.ยังเห็นชอบ ให้กระทรวงการคลังจัดทำกรอบการเจรจาวัตถุประสงค์การกู้เงินและการนำเสนอกรอบการเจรจา ขั้นตอนในการลงนามในสัญญาเงินกู้ เนื่องจากเป็นการกู้เงินจากองค์กรระหว่างประเทศซึ่งมีผลผูกพันต่อการใช้งบประมาณในอนาคต ตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งปลัดกระทรวงการคลังจะไปร่างรายละเอียดในการเจรจาเพื่อเข้าถึงแหล่งเงินกู้ เพื่อกลั่นกรองแนวทางในการให้เงินกู้ เสนอเสนอต่อรัฐสภาต่อไป

รายงานข่าวแจ้งว่าต้นทุนดอกเบี้ยที่รัฐบาลต้องจ่ายให้ 3 แบงก์ต่างประเทศ คือ เวิลด์แบงก์อัตราดอกเบี้ย 2.93-3.70% เอดีบี 2.52% และไจก้า 2.38% อายุเงินกู้เฉลี่ย 10 ปี

***อ้างคล่องตัวกู้หนี้ รสก. 2 แสนล.

นายกรณ์กล่าวถึงวงเงินกู้ในประเทศ 200,000 ล้านบาทด้วยว่า เป็นการเพิ่มความยืดหยุ่นในการบริหารและจัดการ รัฐยังสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการจัดสรรการกู้เงินของภาครัฐไม่ให้เกิดภาวะกระจุกตัวในช่วงใดช่วงหนึ่งได้ และจากการมี Short term facility ไว้เพื่อเป็นวงเงินสำรองการกู้เงินจะทำให้รัฐวิสาหกิจและสถาบันการเงินภาครัฐมีทางเลือกในการกู้เงินได้ หนึ่งในนั้นน่าจะมีบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) อยู่ด้วย ซึ่งใน 1-2 สัปดาห์นี้จะมีการสรุปผลรายละเอียดมายังกระทรวงการคลัง

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะค้ำประกันวงเงินแบบเต็มจำนวนหรือแบบบางส่วน เพื่อลดสัดส่วนของการค้ำประกัน เพื่อให้ภาระการค้ำประกันอยู่ในกรอบเพดานในแต่ละปี เชื่อว่าจะเป็นเครื่องมือในการจัดการให้การกู้เงินในประเทศของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ โดยมีระยะเวลา 3 ปี

"แหล่งเงินคือแบงก์พาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ อายุเงินกู้ระยะไม่เกิน 18 เดือน การใช้เงินจะแจ้งให้แบงก์ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 5 วันทำการ ดอกเบี้ยใช้อัตราต่ำสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 6 เดือน ประเภทบุคคลธรรมดาของ 4 ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่เฉลี่ย" นายกรณ์กล่าวและว่า กรอบและหลักเกณฑ์การกู้เงิน เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย โครงการลงทุนหรือชำระคืนเงินกู้เดิมเพื่อเป็นการบริหารและจัดการเงินกู้ในประเทศของรัฐวิสาหกิจที่ได้รับการบรรจุในแผนการบริหารหนี้สาธารณะ เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นแก่กระทรวงการคลังในกรณีที่เกิดความเสี่ยงในการผิดชำระดอกเบี้ยหรือเงินต้นของรัฐวิสาหกิจ

**ธปท.ชี้ไม่กระทบสภาพคล่อง**

นายสรสิทธิ์ สุนทรเกศ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธปท.กล่าวว่า การกู้เงินของรัฐบาล ธปท.มองว่าเป็นการสนับสนุนเศรษฐกิจที่ดี และเชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องในระบบ เนื่องจากขณะนี้มีในระบบธนาคารพาณิชย์มีสภาพคล่องจำนวนมาก แม้ขณะนี้ในระบบธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่มีการปรับเป้าหมายสินเชื่อกันมาก ซึ่งปัจจุบันโดยเฉลี่ยนในระบบอยู่ที่ระดับ 5-6% ขณะที่การแข่งขันระดมเงินฝากของธนาคารพาณิชย์มีน้อยลง หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงถึง 1.75%ต่อปีแล้ว เพราะสภาพคล่องในระบบที่มีจำนวนมาก

**หนี้สาธารณะเพิ่มเป็น 41%

นายจักรกฤช ธาราพันธกุล โฆษกสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เปิดเผยว่า กรอบวงเงินกู้ที่ทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นมีเพียงส่วนที่เป็นการกู้เงินจากต่างประเทศ 7 หมื่นล้านบาทเท่านั้น ซึ่งจะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะในปี 2552 เพิ่มเป็น 41% หรือ 3.9 ล้านล้านบาทของจีดีพี จากเดิมที่ระดับ 36% ของจีดีพี หรือ 3.4 ล้านล้านบาท ซึ่งยังอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดไว้

รายงานข่าวจากที่ประชุม ครม. แจ้งว่า ครม.รับทราบรายงานผลการดำเนินการตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 ประจำปีงบประมาณ 2551 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อนำเสนอสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภารับทราบ ทั้งนี้เนื่องจากมีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ กระทรวงการคลัง จึงได้เสนอ ครม.พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ตามพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ.2548

กระทรวงการคลังได้ดำเนินการบริหารและจัดการหนี้สาธารณะตามกรอบแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2551 เป็นจำนวนทั้งสิ้น 794,846.15 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 80.35 ของแผนฯ และเมื่อรวมกับการกู้เงินและบริหารหนี้ที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องอยู่ภายใต้กรอบเพดานการกู้เงินและบริหารหนี้ของแผนการบริหารหนี้สาธารณะ จำนวน 62,261.90 ล้านบาทแล้ว กระทรวงการคลังและรัฐวิสาหกิจได้กู้เงินและบริหารหนี้รวม 857,108.05 ล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็นการกู้เงินใหม่ จำนวน 306,862.28 ล้านบาท และการบริหารหนี้ 540,245.77 ล้านบาท

การดำเนินการดังกล่าว นอกจากจะสามารถจัดหาเงินกู้เพื่อใช้จ่ายเงินตามแผนงานที่กำหนดแล้ว ยังทำให้สามารถลดยอดหนี้คงค้างได้ 60,126.94 ล้านบาท ลดภาระดอกเบี้ยได้ 2,296.88 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงการคลังได้ใช้เครื่องมือทางการเงินและอาศัยโอกาสที่ตลาดการเงินเอื้ออำนวยดำเนินการบริหารหนี้ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้การบริหารจัดการหนี้สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด

“หนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2551 มีจำนวน 3,408,231 ล้านบาท หรือร้อยละ 36.22 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ" รายงานระบุ

**นายกฯ ยันเพื่อความไม่ประมาท

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลไม่มีปัญหาเรื่องเสถียรภาพเงินคงคลัง เพราะขณะนี้ยังมีทุนสำรองอยู่ในระดับที่สูง แต่การอนุมัติกรอบวงเงินกู้จำนวน 270,000 ล้านบาท ครั้งนี้ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นเป็นการเตรียมมาตรการสำรองไว้ เพราะรัฐบาลไม่ต้องการทำงานอยู่บนความประมาท โดยเมื่อถึงเวลาจำเป็นก็สามารถดำเนินการได้ทันที

"รัฐบาลยังไม่ทิ้งแนวทางการส่งเสริมการออมของประชาชน เพียงแต่เบื้องต้นรัฐบาลจำเป็นต้องรักษาระดับการใช้จ่ายของประชาชนเพื่อไม่ให้กระทบกับรายได้ และยืนยันว่ารัฐบาลจะพยายามดูแลไม่ให้เกิดปัญหาเงินฝืด หลังจากอัตราเงินเฟ้อในเดือน ม.ค.52 ติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปี ซึ่งรัฐบาลจะติดตามตัวเลขทางเศรษฐกิจอยู่ตลอดเวลา" นายกรัฐมนตรีกล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น